29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

February 20,2022

‘คลังพลาซ่า’เดินหน้า พลิกสู่‘อาภาญา’ ๓ ชาติร่วมลงทุน

ตระกูลมานะศิลป์สู้ต่อ หลังต้องปิดตัว “คลังพลาซ่า จอมสุรางค์” เปิดตัว“อาภาญา” อาคารแห่งการเรียนรู้ นำทีมโดยทายาทสาวคนเดียว และหุ้นส่วนจากใต้ฟ้าอิเล็คโทรนิค พร้อมชาวสิงคโปร์และมาเลเซีย มั่นใจตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ พร้อมเปิดตัวในเดือนมีนาคมนี้ วอนคนโคราชสนับสนุนคนโคราช

ในช่วงเช้าวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ เกิดการเปลี่ยนแปลงกับอาคาร “คลังพลาซ่า จอมสุรางค์” หรือ “คลังใหม่” บนถนนจอมสุรางค์ยาตร์ เขตเทศบาลนครราชสีมา หลังจากเจอพิษเศรษฐกิจและการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (โควิด-๑๙) ซึ่งแพร่ระบาดไปทั่วโลก ส่งผลให้คลังพลาซ่า จอมสุรางค์ต้องปิดตัวลงในวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔

และ “โคราชคนอีสาน” เสนอข่าวโดยถูกต้องเป็นรายแรกของประเทศว่า วันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ มีบริษัทป้ายโฆษณาได้เข้าไปทำการติดตั้งป้ายใหม่ และเตรียมปลดป้ายคลังพลาซ่าลง สร้างความสนใจให้กับผู้สัญจรผ่านบริเวณนั้นอย่างมาก ซึ่งลุ้นว่า จะเปลี่ยนเป็นกิจการอะไร ในขณะที่บริเวณที่เคยเป็นร้านกาแฟ Biz cafe ก็มีขึ้นป้ายเตรียมเปิดเป็นอีกสาขาของร้านชานม Kita Tea Stand สาขา arpaya ด้วย

ทั้งนี้ จากการติดตามของ “โคราชคนอีสาน” และเพจเฟซบุ๊ก “koratdaily” อย่างใกล้ชิด พบว่าในการติดตั้งป้ายใหม่ มีตัวอักษรที่นำมาประกอบด้วย ARPAYA และภาษาไทยเล็กๆ ด้านบนว่า “อาภาญา” จึงทราบว่าเป็นบริษัท อาภาญา จำกัด ซึ่งจัดตั้งเมื่อวันที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๖๔ ทุนจดทะเบียน ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยระบุวัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียนว่า ประกอบกิจการบริการที่สนับสนุนการศึกษา เช่น บริการแนะแนวการศึกษา โครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษา ซึ่งสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ ๒๔ ถนนจอมสุรางค์ยาตร์ อำเภอเมืองนครราชสีมา มีกรรมการบริษัท ๒ คน ได้แก่ นางชนิดา จงเจริญใจ (เจ้าของร้านใต้ฟ้าอิเล็คโทรนิค) และนางสาวประภากร(เง็ก/ป๊อป) มานะศิลป์ ซึ่งเป็นลูกสาวคนเดียวของนายไพศาล-นางเสาวลักษณ์ มานะศิลป์ ผู้ก่อตั้งคลังพลาซ่า โดยเผยแพร่ข่าวในเพจ koratdaily เมื่อบ่ายวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ ก่อนสื่ออื่นในประเทศไทย

ต่อมาในเช้าวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ “โคราชคนอีสาน” ได้ติดต่อสัมภาษณ์นายไพรัตน์ (เหลียง) มานะศิลป์ รองประธานกรรมการ บริษัท คลังพลาซ่า จำกัด ลูกชายคนโตของนายไพศาล-นางเสาวลักษณ์ มานะศิลป์ ซึ่งเปิดเผยว่า  “อาภาญาเป็นบริษัทใหม่ที่จะเข้ามาบริหารพื้นที่คลังพลาซ่า โดยบริษัทนี้มีน้องสาวผมเป็นผู้บริหาร ปัจจุบันอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ มีเพื่อนชาวต่างชาติสนใจจะมาร่วมลงทุนที่โคราช จึงเป็นการร่วมกันลงทุนของคน ๓ สัญชาติ คือ ไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ในการร่วมบริหารพื้นที่คลังพลาซ่า สาขาจอมสุรางค์ยาตร์ โดยใช้ชื่อบริษัทว่า “อาภาญา” มีความหมายว่า “แสงสว่างแห่งปัญญา” ส่วนนางชนิดา (ใต้ฟ้าอิเล็คโทรนิค) เป็นเพื่อนน้องสาวผม ซึ่งเขาอยู่โคราชจึงง่ายต่อการดูแล เพราะปัจจุบันน้องสาวยังอยู่ที่สิงคโปร์ ยังเดินทางกลับมาไม่ได้ เนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-๑๙

“สำหรับห้างสรรพสินค้ารูปแบบเดิมต้องยอมรับว่า ล้าสมัย ไม่ได้รับความนิยมแล้ว การรวมแผนกเสื้อผ้าชาย-หญิง ๒๐ ยี่ห้อ หรือเสื้อผ้าเด็ก ๑๕ ยี่ห้อ มันเก่าแล้ว ปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง คนไม่มาช้อปปิ้งแบบนั้นแล้ว ส่วนคนที่ยังช้อป อยู่ก็อายุมากขึ้นตามอายุห้างฯ และน้อยลงเรื่อยๆ ดังนั้น ต้องหารูปแบบใหม่ๆ มาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า โดยเราเน้นเป็นด้านการศึกษา เช่น โรงเรียน ซึ่งจะเป็นรูปเป็นร่างประมาณเดือนมีนาคมนี้ โดยรายละเอียดทั้งหมดต้องถามผู้บริหารของอาภาญา เพราะผมถอยมาดูภาพรวมของบริษัทแล้ว จึงเป็นเพียงที่ปรึกษา ในส่วนของการบริหารจึงเป็นของบริษัทใหม่ทั้งหมด แต่อาภาญาก็ถือว่าเป็นบริษัทในเครือของคลังพลาซ่า โดยภายในอาคารอาภาญาจะมีทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ เทคโนโลยี กีฬา และอีกมากมาย โดยเราทำในรูปแบบที่มีการทำวิจัยหรือการศึกษาร่วมกับนักลงทุนจากประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย โดยเลือกมาลงทุนที่โคราชเป็นแห่งแรก และจะเปิดตัวในเดือนมีนาคมนี้ หากสำเร็จแล้วก็ค่อยว่ากันถึงการขยายไปที่อื่นต่อไป” นายไพรัตน์ กล่าว

นายไพรัตน์ (เหลียง) มานะศิลป์ รองประธานกรรมการ บริษัท คลังพลาซ่า จำกัด

นายไพรัตน์ มานะศิลป์ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นขอเรียนให้ทราบว่า ธุรกิจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ดำเนินการมา ๖๔ ปี ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงตามภาวะตลาดและพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป ทุกอาชีพได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีเข้ามา ทุกกิจการต้องปรับเปลี่ยนเพื่อความอยู่รอด หากจะเป็นแบบเดิม ผู้ใช้บริการก็จะน้อยลงเรื่อยๆ สุดท้ายคงจะประกอบการไม่ได้ จึงคิดว่า เราจะทำให้รอด โดยการปรับเปลี่ยนให้ตรงกับความต้องการตลาด ดังนั้น ขอให้คนโคราชอุดหนุนคนโคราชด้วยกัน เรายังให้บริการด้วยความยินดี เรายังคงก้าวต่อไป ไม่ได้ไปไหน ยังอยู่ในธุรกิจค้าปลีก แต่ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบไป ซึ่งธุรกิจนี้จะตอบโจทย์คนโคราชแน่นอน เพราะมีการทำวิจัยตั้งแต่ช่วงที่ปิดคลังพลาซ่าจอมสุรางค์แล้ว ประชุมกันไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ ผ่านทาง Zoom กับต่างประเทศ กว่าจะตกผลึกทางความคิด การเป็นรูปแบบทางธุรกิจใหม่ ผมก็ไม่เคยเห็นแบบนี้ แล้วภาพมันจะชัดขึ้นเรื่อยๆ โดยที่เราไม่ได้เปิดตู้มเดียวเต็ม ๑๐๐% แต่ประมาณ ๔๐% ก็เปิดได้แล้ว เริ่มจากชั้นล่างขึ้นไปชั้นบน เป็นอาคารที่สามารถใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน เป็น Mix Use เมื่อคนมาก็ต้องการพักผ่อน และต้องการจุดรับประทานอาหาร คนมาใช้บริการก็เข้าออกง่าย ไม่ต้องใช้เวลามาก เรื่องทำเลคือจุดแข็งหลักของเรา

“สำหรับสัญญาเช่าพื้นที่จะหมดอายุในปี พ.ศ.๒๕๗๘ เหลืออีก ๑๔ ปี ยังสู้อยู่ ยังสู้ต่อไป ขอฝากให้คนโคราชมาใช้บริการและอุดหนุนธุรกิจของคนโคราช สืบต่อไปเป็นร้อยปี” นายไพรัตน์ กล่าวท้ายสุด

ทั้งนี้ ในเฟซบุ๊ก “อาภาญา ฟิวเจอร์ เลิร์นนิง” ได้โพสต์ข้อความว่า “สนใจพื้นที่เช่า อาคาร อาภาญา ติดต่อสอบถามได้ที่ ๐๖๔-๐๘๐๒๙๖๘ หรือเข้ามาดูพื้นที่จริงได้ตั้งแต่เวลา ๙:๓๐-๑๖:๓๐ น.” พร้อมติดแฮชแท็กว่า #ออฟฟิศสำนักงานให้เช่า #ตลาดนัดติดแอร์ #โรงเรียนกวดวิชา #ร้านค้าเช่า

นางสาวประภากร(เง็ก/ป๊อป) มานะศิลป์ (ภาพจากเฟซบุ๊ก prapakorn manasilp)

อนึ่ง “คลังพลาซ่า” เติบโตมาจากการขายหนังสือพิมพ์อย่างเดียว ดำเนินธุรกิจในห้องแถวเล็กๆ ๑ คูหา ต่อมาด้วยความมานะของนายไพศาล มานะศิลป์ ประธานกรรมการ บริษัท คลังพลาซ่า จำกัด จึงขยับขยายกิจการมาจำหน่ายหนังสือแบบเรียน เครื่องเขียน และอุปกรณ์การเรียนต่างๆ ภายใต้ชื่อ “คลังวิทยา” เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ ริมถนนราชดำเนิน อำเภอเมืองนครราชสีมา ธุรกิจเจริญก้าวหน้าจึงเพิ่มพื้นที่ค้าขายเป็น ๔ คูหา ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๙ เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการดำเนินธุรกิจ จากร้าน ๔ คูหา มาเป็นห้างสรรพสินค้าอย่างเต็มรูปแบบ บริเวณถนนอัษฎางค์ เพื่อรองรับความต้องการเพิ่มมากขึ้น และเปลี่ยนชื่อเป็น “คลังวิทยา ดีพาร์ท เม้นท์สโตร์” จำหน่ายสินค้าหลากหลายประเภท รวมถึงศูนย์อาหารและสวนสนุก นับว่าเป็นห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในขณะนั้น

ต่อมาปี พ.ศ.๒๕๒๙ เปลี่ยนชื่อเป็น “คลังพลาซ่า สาขาอัษฎางค์” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “คลังเก่า” จากนั้นมาในปี พ.ศ.๒๕๓๔ เปิด “คลังพลาซ่า สาขาจอมสุรางค์” นับเป็นสาขา ๒ (คลังใหม่) โดยเช่าพื้นที่จากตระกูลมหาสันทนะ เพื่อเป็นศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่ทันสมัยครบวงจร บนทำเลใจกลางเมืองโคราช ห่างจากอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ประมาณ ๑๐๐ เมตร และต่อยอดเป็น Community Mall โดยการลงทุนขยายคลัง ๓ ภายใต้ชื่อ “คลังวิลล่า” เป็นผลสำเร็จเมื่อเดือนมกราคม ปี พ.ศ.๒๕๕๔

และกลางปี ๒๕๕๖ ทำการปรับปรุง “คลังพลาซ่า จอมสุรางค์” ครั้งใหญ่ ด้วยงบกว่า ๑,๐๐๐ ล้านบาท ปรับเปลี่ยนทั้งโลโก้ รวมทั้งภาพลักษณ์และรูปโฉมใหม่ที่มีความทันสมัยครบวงจร สอดรับกับไลฟ์สไตล์กลุ่มลูกค้าทุกเซ็กเม้นท์ และรองรับการขยายตัวของกำลังซื้อที่เป็นคนในพื้นที่และคนต่างพื้นที่ โดยขยายพื้นที่ของห้างฯ เพิ่มขึ้น ๓๓% จากเดิม ๒๐,๐๐๐ ตร.ม. เป็น ๓๐,๐๐๐ ตร.ม. อีกทั้งเพิ่มพื้นที่จอดรถ และเพิ่มร้านค้า ร้านอาหารซึ่งเป็นที่นิยมอีกหลายร้าน โดยใช้เวลาดำเนินการทั้งสิ้น ๑๓ เดือน และเปิดให้บริการสำหรับรูปโฉมใหม่แบบเต็มรูปแบบในเดือนกันยายน ๒๕๕๗ กระทั่งในช่วงปี ๒๕๖๓ มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ ในประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อธุรกิจต่างๆ รวมทั้ง “คลังพลาซ่า” ทำให้ต้องปิดตัว “คลังพลาซ่า จอมสุรางค์” เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เหลือเพียง “คลังพลาซ่า อัษฎางค์” (คลังเก่า) บริหารในนามบริษัท คลังพลาซ่า จำกัด และ “คลังวิลล่า” ถนนสุรนารายณ์ ซึ่งบริหารโดยบริษัท คลังมาร์เก็ต สุรนารายณ์ จำกัด

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๑๕ ประจำวันพุธที่ ๑๖ - วันอังคารที่  ๒๒  เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช  ๒๕๖๕


1012 1640