16thApril

16thApril

16thApril

 

March 05,2022

โคราชติดเชื้อเกือบพันรายทุกวัน สสจ.วอนปฏิบัติตามมาตรการ

สสจ.เตรียมพร้อมรับโควิด-๑๙ เป็นโรคประจำถิ่น ผู้ป่วยสีเขียวอาการไม่รุนแรงต้องรักษาตัวที่บ้าน ขอความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค พบคลัสเตอร์โรงเรียนกีฬาปิดสถานที่และสนามกีฬา ๑๐ วัน

เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๐.๐๐ น. ที่ห้องประชุมสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นพ.วิญญู จันทร์เนตร รองนายแพทย์ สสจ.นครราชสีมา และหัวหน้าส่วนราชการ ร่วมประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดนครราชสีมา

นพ.วิญญู จันทร์เนตร กล่าวว่า “สถานการณ์ผู้ป่วยสะสมของจังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้มี ๒๔ อำเภอเป็นพื้นที่สีแดง คือ พบผู้ป่วยสะสมใน ๑ สัปดาห์ที่ผ่านมา เกิน ๕๐ ราย โดยวันนี้พบผู้ป่วยยืนยันผลด้วย RT-PCR  ๕๐๒ ราย และตรวจด้วย ATK ๒๙๖ ราย รวม ๗๙๘ ราย มีผู้เสียชีวิต ๑ ราย ในส่วนของผู้ป่วยสะสมตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๕ มีทั้งหมด ๑๗,๕๕๗ ราย ซึ่งรักษาอยู่ ๗,๕๖๔ ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยสีแดง มีอาการรุนแรง ๔๕ ราย ผู้ป่วยสีเหลือง ๑,๐๔๕ ราย และผู้ป่วยสีเขียว ๖,๔๗๔ ราย โดยผู้ป่วยที่กำลังรักษาอยู่ใน Home Isolution (HI) ๓,๗๓๖ ราย อยู่ใน Community isolution (CI) ๑,๖๖๗ ราย อยู่ในโรงพยาบาลสนาม ๒๒๓ ราย และอยู่ในโรงพยาบาล ๑,๙๓๖ ราย ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า มาตรการการรักษาตัวที่บ้านหรือ HI กำลังมีบริการอย่างทั่วถึงทุกชุมชน หากดูยอดผู้ติดเชื้อรายวันตั้งแต่ ๑ มกราคม ๒๕๖๕ จะเห็นว่า มีการติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ โดยช่วงนี้เป็นขาขึ้นของโควิด-๑๙ แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ การระบาดรอบนี้เป็นสายพันธ์ุโอมิครอน ซึ่งมีความรุนแรงน้อย ทำให้มีผู้เสียชีวิตน้อยลง”

ติดโควิดรักษาตัวที่บ้าน

นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวว่า มีหนังสือจากกระทรวงสาธารณสุข ส่งมาถึงจังหวัดนครราชสีมา เรื่องการดูแลผู้โควิด-๑๙ กรณีผู้ป่วยไม่แสดงอาการหรืออาการเล็กน้อย โดยระบุว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด -๑๙ ทั่วโลก สำหรับประเทศตรวจพบการติดเชื้อในสายพันธุ์โอมิครอนอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เพื่อเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้ป่วยแบบโรคประจำถิ่น ตั้งแต่วันที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๕ ขอให้เพิ่มการจัดบริการแบบผู้ป่วยนอก (OPD) สำหรับผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการหรือป่วยเล็กน้อย ให้สังเกตตัวเองที่บ้านตามความสมัครใจ ขอสอบถาม นพ.วิญญู จันทร์เนตร ว่า จากรายละเอียดข้างต้นหมายถึงว่า โควิด-๑๙ เป็นโรคประจำถิ่นแล้วใช่หรือไม่ ซึ่งโรคประจำถิ่นคืออะไร เหมือนกับไข้หวัดใหญ่หรือไม่ และจะมีวิธีการจัดการกับผู้ป่วยไม่แสดงอาการกับอาการเล็กน้อยอย่างไร

 นพ.วิญญู จันทร์เนตร กล่าวว่า “การระบาดของโควิด-๑๙ ขณะนี้นับเป็นรอบที่ ๔ โดยตัวโอมิครอนพิสูจน์แล้วว่า มีอาการไม่รุนแรง ทำให้อัตราการเสียชีวิตน้อยลง เมื่อไหร่ก็ตามที่มีวัคซีน ภูมิคุ้มกัน และการจัดระบบสาธารณสุขหรือระบบทางการแพทย์เพียงพอแล้ว นับจากนี้ไป ๔ เดือน ประเทศไทยจะประกาศให้โควิด-๑๙ เปลี่ยนจากโรคระบาดเป็นโรคประจำถิ่น แต่การจะประกาศได้ก็ต้องมีการเตรียมความพร้อมไว้ การดูแลผู้ป่วยแบบ OPD ไม่ได้หมายความว่า ผู้ป่วยจะเดินเข้าไปใน OPD แล้วขอตรวจ แต่วิธีการยังคงเหมือนเดิม คือ ถ้ามีความเสี่ยง ก็ต้องตรวจ ATK ด้วยตัวเอง ถ้าพบผลบวกจะต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบทันที เพื่อให้เตรียมตรวจ ATK แบบ Professional Use ซึ่งหลังจากนี้จะเน้นการตรวจแบบ ATK เป็นหลัก ส่วนการรักษาแบบ OPD คือ การให้ผู้ป่วยกลับไปรักษาตัวที่บ้าน คล้ายกับ HI แต่มีความแตกต่าง คือ HI จะมีการให้อุปกรณ์วัดออกซิเจนปลายนิ้ว และเรื่องอาหาร แต่การทำ OPD จะไม่มีเรื่องเหล่านี้ให้ แปลว่า มั่นใจผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นสีเขียวแน่ๆ ไม่มีอาการ ต้องอยู่ที่บ้านด้วยตนเอง มีความเข้าใจที่จะทำให้ตัวเองและคนที่บ้านปลอดภัย เรื่องนี้เป็นการวางยุทธศาสตร์ให้ประชาชนรับทราบและเข้าใจว่า เราอยู่กับโควิด-๑๙ ได้อย่างปลอดภัย ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนจะประกาศให้โควิด-๑๙ เป็นโรคประจำถิ่นในอีก ๔ เดือนข้างหน้า”

เตรียมมาตรการบนเครื่องบิน

นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวว่า “เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ จังหวัดนครราชสีมา มีการหารือร่วมกับสายการบินนกแอร์ เบื้องต้นคาดว่า จะเริ่มดำเนินการบินในช่วงปลายเดือนเมษายน ๒๕๖๕ ซึ่งมาตรการทางสาธารณสุขบนเครื่องบิน โคราชไม่เคยพูดถึงมาก่อน ผมคิดว่า หลังจากนี้อาจจะเป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องกำหนดมาตรการ เช่น มีการตรวจ ATK ก่อนขึ้นเครื่อง เมื่อถึงวันที่เปิดให้จองตั๋วโดยสารจะได้พูดถึงมาตรการด้วย ขอให้เตรียมการไว้”

คลัสเตอร์โควิด-๑๙

สำหรับความคืบหน้าของคลัสเตอร์ในจังหวัดนครราชสีมา นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา สสจ.นครราชสีมา รายงานว่า วันนี้มี คลัสเตอร์ ประกอบด้วย ๑.บ้านขนายดี หมู่ที่ ๑๐ ตำบลบิง อำเภอโนนสูง พบผู้ติดเชื้อ ๘๒ ราย ๒.บ้านกุดพิมาน หมู่ที่ ๗ ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด พบผู้ติดเชื้อ ๑๖ ราย ๓.บ้านหนองขอน หมู่ที่ ๘ ตำบลสุขเกษม อำเภอปักธงชัย พบผู้ติดเชื้อ ๒๔ ราย ๔.ตำบลท่าลาด อำเภอชุมพวง พบผู้ติดเชื้อ ๑๖ ราย ๕.บ้านใหม่ศรีประทาน หมู่ที่ ๑๑ ตำบลโนนแดง อำเภอโนนแดง พบผู้ติดเชื้อ ๑๓ ราย ๖.หมู่ที่ ๘ บ้านหนองปื้ด ตำบลหนองขาม อำเภอจักราช พบผู้ติดเชื้อ ๑๗ ราย ๗.บริษัท คาร์กิลมีทส์(ไทยแลนด์) จำกัด ตำบลกระโทก อำเภอโชคชัย พบผู้ติดเชื้อ ๔๐ ราย ๘.บริษัทคุนิมิซึ คาร์บอน จำกัด อำเภอสีคิ้ว พบผู้ติดเชื้อ ๗๘ ราย ๙.พนักงานโรงงานปริ้นเตอร์ อำเภอสูงเนิน พบผู้ติดเชื้อ ๔๓ ราย ๑๐.โรงงานไก่แปรรูป อำเภอขามทะเลสอ พบผู้ติดเชื้อ ๒๑๑ ราย ๑๑.โรงงานอุตสาหกรรมโคราช ตำบลหนองระเวียง อำเภอพิมาย พบผุ้ติดเชื้อ ๒๔ ราย ๑๒.บริษัท จินตนา อินเตอร์เทรด จำกัด อำเภอเมือง พบผู้ติดเชื้อ ๑๖๔ ราย ๑๓.ตลาดสดเทศบาลตำบลขามทะเลสอ พบผู้ติดเชื้อ ๒๘๐ ราย และ ๑๔.งานศพบ้านโนนเสี้ยว ตำบลโนนจาน อำเภอบัวลาย พบผู้ติดเชื้อ ๕๑ ราย

นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ กล่าวว่า “สังเกตจากคลัสเตอร์ที่เกิดขึ้น มีทั้งงานศพ โรงงาน ตลาดสด และสำคัญคลัสเตอร์ในชุมชน ซึ่งในหลายพื้นที่มีการติดเชื้อขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงขอฝากให้ทุกภาคส่วนช่วยดูแลเรื่องการเข้าพื้นที่ โดยเฉพาะการเข้าพื้นที่ที่มีการระบาดเป็นคลัสเตอร์”

มาตรการป้องกันเชื้อ

นพ.วิญญู จันทร์เนตร กล่าวเสริมว่า “หากดูเรื่องของการแพร่ระบาด จะพบการกระจายในครอบครัว ตลาดสด โรงงานอุตสาหกรรม พูดง่ายๆ คือ มีการระบาดทุกกิจกรรมและกิจการ เช่น งานศพ งานแต่ง งานบวช หลักปฏิบัติง่ายๆ คือ การ์ดไม่ตก นำมาตรการ DMHTTA ไปใช้กับตัวเอง โดยตัว D ย่อมาจาก Distancing คือการเว้นระยะห่างกับคนอื่นอย่างน้อย ๑-๒ เมตร เพราะละอองฝอยจากการพูด ไอ จาม จะฟุ้งมากในระยะ ๑-๒ เมตร ตัว M ย่อมาจาก Mask Wearing คือ การสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัยเพื่อลดการฟุ้งกระจายของละอองฝอย โดยประชาชนทั่วไปสามารถสวมหน้ากากผ้าได้ตลอด เพราะยิ่งซักบ่อยก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพในการกรองเชื้อที่ดี ตัว H ย่อมาจาก Hand Washing คือการหมั่นล้างมือบ่อยๆ ทั้งน้ำสบู่ และเจลแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ เพราะมีโอกาสที่เราจะนำมามาสัมผัสใบหน้าโดยไม่รู้ตัวได้ ตัว T ย่อมาจาก Testing คือ ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายสม่ำเสมอ ทั้งก่อนเข้าทำงาน ร้านสะดวกซื้อ และหากทราบว่ามีประวัติไปพื้นที่เสี่ยง ควรเข้ารับการตรวจโควิด-๑๙ ตัว T ย่อมาจาก Thai Cha na คือ การสแกนแอปไทยชนะทุกครั้งที่เดินทางไปสถานที่ต่างๆ และโหลดแอปหมอชนะพร้อมลงทะเบียนหากทำได้ เพื่อให้ทราบความเสี่ยงติดโรคของตนเอง หากมี SMS แจ้งเตือนว่ามีประวัติไปที่เสี่ยงมา จะได้กักตัว หรือตรวจโควิด-๑๙ ได้อย่างรวดเร็ว และตัว A ย่อมาจาก ATK หรือ Application โดยเน้นการตรวจ ATK เสมอเมื่อพบว่ามีความเสี่ยง และเวลาไปสถานที่ต่างๆ ก็ขอให้มีการเช็กอินในแอปพลิเคชันเสมอ”

สำหรับมาตรการส่วนรวมในกิจกรรมและกิจการต่างๆ ขอให้ทุกคนปฏิบัติตามมาตรการ VUCA ซึ่งส่วนใหญ่ที่มารวมกลุ่ม ขอให้รับวัคซีนเพียงพอแล้วทุกคน ซึ่งเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการป้องกันการติดเชื้อและลดอาการรุนแรง ส่วนการป้องกันอาจจะทำ DMHTTA มาปรับใช้ด้วย เพื่อให้เป็นการป้องกันแบบคลอบจักรวาล และที่สำคัญ ทุกกิจกรรมและกิจการ จะต้องมี Covid Free Setting จะทำอะไรหรือจัดงานอะไร ต้องมีการเช็กประวัติสุขภาพย้อนหลัง ๗๒ สัปดาห์ มีการตรวจ ATK ก่อนร่วมกิจกรรมภายใน ๒ ชั่วโมง ขอให้ทุกคนทำเป็นหลักปฏิบัติ เพื่อให้อยู่ในสังได้อย่างปลอดภัยมากยิ่งขึ้น” นพ.วิญญู กล่าว

ปรับมาตรการรวมกลุ่ม

จากนั้น นางสาวทิพวรรณ ศรีทรมาศ นักระบาดวิทยา สสจ.นครราชสีมา นำเสนอการปรับเปลี่ยนมาตรการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ สำหรับหน่วยงานและองค์กร ว่า “ขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามมาตรการแบบคลอบจักรวาล โดยขอให้ประชาชนงดออกจากบ้านหากไม่จำเป็น เน้นการเว้นระยะห่าง ๑-๒ เมตร สวมหน้ากากอนามัยและล้างมือเสมอ หากผู้ใดพบว่ามีความเสี่ยง ให้แยกตัวจากผู้อื่นประมาณ ๗-๑๐ วัน ตรวจคัดกรอดด้วย ATK หลังพบความเสี่ยง และถ้าไม่พบเชื้อให้ตรวจซ้ำใน ๓-๔ วัน หรือเมื่อมีอาการ นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือประชาชนปฏิบัติตามคำสั่งจังหวัด คือ พื้นที่นำร่อง ๗ อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง เฉลิมพระเกียรติ โชคชัย ปากช่อง พิมาย วังน้ำเขียว และสีคิ้ว สามารถรวมกลุ่มได้ไม่เกิน ๕๐๐ คน จากเดิมกำหนดไว้ ๑,๐๐๐ คน ส่วนพื้นที่ควบคุม ๒๕ อำเภอ สามารถรวมกลุ่มได้ไม่เกิน ๒๕๐ คน จากเดิมกำหนดไว้ ๕๐๐ คน การจำหน่ายหรือดื่มสุราในร้านอาหารทำได้ไม่เกินเวลา ๒๒.๐๐ น. ส่วนกิจกรรมประเพณีหรืองานรื่นเริง ขอให้เน้นอาหารแบบชุด”

นพ.วิญญู จันทร์เนตร กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับมาตรการจะมีทั้งการขอความร่วมมือและคำสั่ง โดยคำสั่งจะเป็นบทบังคับ มีการลงโทษหากไม่ปฏิบัติตาม ส่วนการขอความร่วมมือจะไม่ใช่การบังคับ แต่ถ้าหากพบการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ขึ้น ก็จะดำเนินการตามมาตรการอื่นๆ ต่อไป”

ผู้ติดเชื้อในอำเภอเมือง

ต่อมา เจ้าหน้าที่สาธารณสุขอำเภอเมืองนครราชสีมา รายงานกรณีพบผู้ป่วยมากกว่า ๑๐ ราย ว่า “วันนี้อำเภอเมืองพบผู้ติดเชื้อ ๑๔๐ ราย อยู่ในการดูแลของโรงพยาบาลค่ายสุรนารี ๑๒ ราย เทศบาลนครนครราชสีมา ๔๙ ราย และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอเมืองนครราชสีมา ๗๙ ราย ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สัมผัสติดเชื้อในครอบครัว เมื่อพบเชื้อคนหนึ่งก็ทำให้ติดเชื้อกันทั้งบ้าน อีกส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยง เช่น ขายของในตลาดสด ตลาดนัด และทำงานในโรงงาน”

ปิดสนามกีฬาเทศบาลนครฯ

เจ้าหน้าที่สำนักสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม เทศบาลนครนครราชสีมา กล่าวเสริมว่า “ในพื้นที่เทศบาลนครนครราชสีมา ส่วนใหญ่เป็นการระบาดแบบกระจายหลายพื้นที่ โดยมีคลัสเตอร์ที่น่าสนใจได้แก่ คลัสเตอร์ร้านอาหารเบิร์นบาร์ มีพนักงานติดเชื้อ ๖ ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค จึงขอให้ผู้ไปใช้บริการไปตรวจหาเชื้อด้วย และคลัสเตอร์โรงเรียนกีฬาเทศบาลฯ วันนี้พบติดเชื้อเพิ่ม ๒๐ ราย อยู่ในกลุ่มนักกีฬาฟุตบอล ตะกร้อ และมวยไทยหรือสากล ขณะนี้ ศปก.เทศบาลนครฯ ได้ลงพื้นที่จัดทำ School Isolution เรียบร้อยแล้ว มีผู้สัมผัสเสี่ยง ๑๐๗ ราย และมีการจัดทำ Bubble and Seal แล้ว เนื่องจากโรงเรียนเทศบาลฯ เป็นโรงเรียนประจำ สามารถควบคุมได้ โดยวันนี้จะขอหารือที่ประชุมว่า ในพื้นที่โรงเรียนกีฬาฯ มีสนามกีฬาที่มีประชาชนเข้าไปออกกำลังกายจำนวน จึงมีความจำเป็นต้องปิดสถานที่ ซึ่งคลัสเตอร์นี้อาจจะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

นพ.วิญญู จันทร์เนตร กล่าวว่า “พื้นที่สนามกีฬาสำหรับการออกกำลังกาย ถือเป็นพื้นที่ใช้งานร่วมกันกับโรงเรียนกีฬาเทศบาลฯ จึงน่าจะปิดชั่วคราวก่อนระยะหนึ่งหรือ ๑๐ วันตามระยะเวลาการกักตัว เมื่อพ้นระยะแล้วค่อยกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง โดยปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ ตามที่สาธารณสุขกำหนด เพื่อจะได้ใช้ชีวิตปกติที่สุด”

ในขณะเดียวกันที่บริเวณใต้อาคาร ๓ โรงเรียนกีฬาเทศบาลนครนครราชสีมา นายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา พร้อมบุคลากรกลุ่มงานป้องกันโรคและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการค้นหาเชิงรุก โดยการตรวจ ATK ให้กลุ่มเสี่ยง ประกอบด้วย ผู้บริหาร บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน ๓๔๐ ราย เบื้องต้นพบนักเรียนมีผลบวก ๓ ราย จึงสอบสวนโรค เพื่อค้นหากลุ่มเสี่ยงจากนั้นได้นำเข้าสู่ขั้นตอนการรักษาต่อไป

นายไกรสีห์ หล่อธราประเสริฐ เปิดเผยว่า “คลัสเตอร์โรงเรียนกีฬาฯ พบผู้ป่วยรายแรกเป็นนักเรียนที่เดินทางไปเข้าค่ายเก็บตัวฝึกซ้อมกีฬามวยสมัครเล่นที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เมื่อกลับเข้ามาจะต้องผ่านการตรวจ ATK จึงพบผลบวก และค้นหากลุ่มเสี่ยง เนื่องจากเป็นโรงเรียนประจำหรือโรงเรียนกินนอน โดยมีนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ๓๑๐ คน การใช้ชีวิตประจำวันจึงมีโอกาสติดเชื้อค่อนข้างง่าย ปรากฏว่ามีผู้ป่วย ๒๓ ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักมวยรวม ๒๒ ราย และบุคลากร ๑ ราย จึงคัดแยกนำผู้ป่วยทั้งหมดมีอาการสีเขียวกักตัวตามมาตรการสาธารณสุขภายในโรงเรียน ส่วนกลุ่มเสี่ยง ๑๐๗ ราย ได้ปรับอาคารเรียนเป็นสถานที่กักตัวชั่วคราว”

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๑๗ วันพุธที่ ๒ - วันอังคารที่  ๘  เดือนมีนาคม พุทธศักราช  ๒๕๖๕

 

 


995 1370