March 13,2022
สร้างเศรษฐกิจใหม่ ๓ แสนล้าน เน้นคนรักษ์สุขภาพและต่างชาติ
เปิดประชุมรับฟังความคิดเห็นกรอบและแนวทางเขตระเบียงเศรษฐกิจสภาวะสุขภาพองค์รวม พื้นที่ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย สร้างเศรษฐกิจใหม่ ๓ แสนล้านบาท เน้นกลุ่มคนรักษ์สุขภาพและนักท่องเที่ยวต่างชาติ
เมื่อเวลา ๑๓.๓๐ น. วันที่ ๘ มีนาคม ๒๕๖๕ ที่ห้องมงกุฎเพชร โรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น นายสุเทพ มณีโชติ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิดการประชุมการรับฟังความคิดเห็นกรอบและแนวทางการเขตระเบียงเศรษฐกิจเวลเนส ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับ สมาคมโรงแรมภาคอีสาน, กฎบัตรไทย, สมาคมการผังเมืองไทย พร้อมองค์กรเครือข่าย จัดประชุมขึ้น โดยมีผู้ประกอบการด้านสุขภาพ และนักวิชาการด้านสุขภาพ และการแพทย์แผนไทย ในเขต จ.อุดรธานี ขอนแก่น และหนองคาย เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ อย่างเข้มงวด
นายฐาปนา บุณยประวิตร นายกสมาคมการผังเมืองไทย ในฐานะเลขานุการกฎบัตรไทย กล่าวว่า พื้นที่ภาคอีสานตอนกลางและตอนบน มีลักษณะเป็นประตูเชื่อมต่อโครงข่ายเศรษฐกิจระดับอนุภูมิภาค ปัจจุบันได้รับอานิสงค์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาลไทยและรัฐบาลจีน ที่สามารถเชื่อมต่อการค้าการลงทุนกับประเทศในอนุภูมิภาคได้โดยตรงทั้งทางถนน ทางราง และทางอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเชื่อมต่อการขนส่งทางอากาศที่มีท่าอากาศยานนานาชาติอุดรธานีและท่าอากาศยานนานาชาติขอนแก่น รวมทั้ง การขนส่งทางรางที่เชื่อมต่อทางตรงกับ สปป.ลาว และประเทศจีน ทั้งหนองคาย อุดรธานี และขอนแก่น ต่างเป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง สามารถรองรับปริมาณการเดินทางและการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ได้
“ปัจจุบันกิจกรรมเศรษฐกิจมากกว่าร้อยละ ๒๕ ได้เชื่อมโยงการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศ เมื่อรวมกิจกรรมเศรษฐกิจที่ทั้ง ๓ จังหวัดผลิตได้ จะมีมูลค่ามากกว่าร้อยละ ๓๐ ของจังหวัดในภาคอีสานทั้งหมด ไม่นับรวมความเข้มแข็งของศูนย์เศรษฐกิจใจกลางเมืองของ ๒ จังหวัด คือเทศบาลนครอุดรธานีกับเทศบาลนครขอนแก่น ที่มีความหนาแน่นของประชากรและมีความหนาแน่นของกิจกรรมเศรษฐกิจสูงระดับสูง อีกทั้งพื้นที่นี้ ยังมีจุดแข็งจากการเป็นฐานการวิจัย ฐานการพัฒนานวัตกรรมและเป็นศูนย์รวมของความเชี่ยวชาญบุคลากรด้านการแพทย์และสุขภาพของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งความพร้อมและความแข็งแกร่งที่กล่าวนั้น สามารถต่อยอดพัฒนาเป็นศูนย์บริการเวลเนสระดับอนุภูมิภาคได้ไม่ยากและด้วยศักยภาพของพื้นที่ภาคอีสานตอนกลางและอีสานตอนบน กระทรวงสาธารณสุข โดยคณะทำงานขับเคลื่อนนิเวศอุตสาหกรรม Wellness Hub ได้คัดเลือกให้ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย เป็นพื้นที่พัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็น ๑ ใน ๗ ระเบียงเศรษฐกิจเวลเนสประเทศไทยที่กระทรวงจะเสนอขออนุมัติจัดตั้งจากคณะรัฐมนตรี สำหรับตำแหน่งด้านการตลาดของพื้นที่ เบื้องต้นคณะทำงานฯ ให้คงบทบาทการเป็นศูนย์บริการทางการแพทย์ของขอนแก่นไว้ เนื่องจากขอนแก่นเป็นที่ตั้งของคณะวิชาด้านการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ โดยได้เพิ่มความเข้มข้นกิจกรรมเศรษฐกิจเวลเนสสาขาผลิตภัณฑ์ความงามและเวชศาสตร์ชะลอวัย (Personal care, Beauty, Anti-aging) และสาขาการแพทย์สมัยใหม่ (Preventive, Personalized Medicine) เพื่อต่อยอดสร้างความโดดเด่น ด้วยปัจจุบันมีกิจการเวลเนสประเภทโรงพยาบาลและคลินิก รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญในสาขาดังกล่าวเปิดให้บริการอยู่เป็นจำนวนมาก”
นายฐาปนา กล่าวต่ออีกว่า สำหรับอุดรธานีและหนองคาย ได้เสนอให้มีตำแหน่งที่โดดเด่นด้านอาหารสุขภาพ (Healthy Eating & Nutrition) การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก (Traditional & Complementary Medicine) และการท่องเที่ยวส่งเสริมสุขภาพ (Wellness Tourism) เนื่องจากมีทรัพยากรด้านต่างๆ ที่สามารถพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าสูงได้ ทั้งนี้ จากการประมาณการของกฎบัตรไทย เชื่อว่า เศรษฐกิจเวลเนสของ ๓ จังหวัดจะมีมูลค่ามากกว่า ๓ แสนล้านบาทในปีที่ ๓ ภายหลังจากดำเนินการพัฒนาเขตระเบียงเศรษฐกิจแล้วเสร็จ
ด้านนายชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์ ประธานกรรมการโรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น ในฐานะนายกสมาคมโรงแรมภาคอีสาน กล่าวว่า การพัฒนานิเวศอุตสาหกรรม Wellness Hub ที่ได้เลือกพื้นที่อีสานตอนกลางและตอนบนเป็นเขตระเบียงเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายชัดเจนในการยกระดับสมรรถนะกิจการโรงแรมและกิจการส่งเสริมสุขภาพให้เป็นกิจการเวลเนสที่ได้มาตรฐาน โดยได้ร่วมกับกฎบัตรไทยเปิดหลักสูตรการจัดการโรงแรมและกิจการเวลเนสสำหรับผู้บริการ ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วในพื้นที่อันดามัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างการฝึกอบรมในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยมีโครงการที่จะเปิดหลักสูตรในพื้นที่ภาคอีสานในเดือนมิถุนายนนี้ นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่โรงแรมจะได้ยกระดับเป็นโรงแรมเวลเนส (Wellness Hotel) ที่สมบูรณ์ สามารถรองรับนักท่องเที่ยวสุขภาพจากต่างชาติให้เข้ามายังภาคอีสาน ช่วยสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและเพิ่มอัตราการจ้างงานให้กับประชาชนในพื้นที่ได้
“หากโรงแรมพัฒนาเป็นโรงแรมเวลเนส จะก่อให้เกิดการเพิ่มขึ้นของมูลค่าทางเศรษฐกิจของกิจการและรายได้ไม่น้อยกว่า ๕ เท่า สามารถจ้างงานมูลค่าสูงให้กับผู้เชี่ยวชาญ นักเทคนิคการแพทย์ พร้อมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพส่งเสริมสุขภาพจำนวนมาก ไม่รวมการเพิ่มขึ้นของมูลค่าเศรษฐกิจด้านการเกษตรและอาหารปลอดภัยที่เกษตรกรและผู้ประกอบการในซัพพลายเชนจะได้รับต่อไป” นายชาติชาย กล่าว
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๕๑๘ ประจำวันที่ ๙-๑๕ เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๖๕
95 1,698