15thJanuary

15thJanuary

15thJanuary

 

March 13,2022

ค้าน‘ลอยอังคาร’แม่มูล หวั่นดื่มน้ำแช่กระดูก ร้องทุกข์ ๓๐ ครั้งยังไม่หยุด

ราษฎรและองค์กรผู้ใช้น้ำในพื้นที่ท่าช้างร้องเรียนธุรกิจรับลอยอังคาร นำเถ้ากระดูกและของใช้คนตายทิ้งลงแม่น้ำมูล แหล่งน้ำสาธารณะและใช้ผลิตน้ำประปา หวั่นต้องดื่มน้ำแช่กระดูก อาจเกิดโรคระบาด ซ้ำยังส่งผลถึงสภาพแวดล้อมและธรรมชาติ ราชการประกาศห้ามแต่ยังฝ่าฝืน ด้านผู้ประกอบการระบุไม่ผิด เพราะทิ้งในที่ของ ตัวเองหลังจากเลิกกิจการดูดทรายแล้ว


หวั่นดื่มน้ำแช่กระดูก

ตามที่ “โคราชคนอีสาน” ได้รับการร้องเรียนจากผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายยางบ้านส้ม อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี พ.ศ.๒๕๖๔ เนื่องจากได้รับความเดือดร้อนจากการนําเถ้ากระดูกคนตายที่ฌาปนกิจแล้ว ทิ้งลงลำน้ำมูล (ลอยอังคาร) โดยมีผู้ได้รับผลกระทบตลอดลำน้ำมูล ๗ หมู่บ้าน ซึ่งกระทบต่อสภาพจิตใจของประชาชนในพื้นที่ เสียภาพลักษณ์อําเภอเฉลิมพระเกียรติ กระทบสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ลำน้ำมูลสกปรกซึ่งต้องใช้น้ำอุปโภค และวิถีชุมชนซึ่งเคยจับปลาเป็นอาหาร อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดโรคระบาดทางน้ำได้ โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศกําลังประสบปัญหาภัยจากโรคระบาดโควิด-๑๙ และเนื่องจากแหล่งน้ำนี้ยังเป็นแหล่งผลิตน้ำประปาของการประปาส่วนภูมิภาคจอหอด้วย ประชาชนจึงไม่ต้องการดื่มน้ำแช่กระดูก โดยมีการยื่นเรื่องร้องทุกข์ไปยังหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และยังมีการทำเป็นในลักษณะของธุรกิจของสวนอาหารแห่งหนึ่งในพื้นที่ดังกล่าวด้วย

ประชาชนเดือดร้อน

สำหรับปัญหาการลอยอังคารที่บริเวณแม่น้ำมูล อำเภอเฉลิมพระเกียรติ มีการยื่นหนังสือร้องเรียนตั้งแต่วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๖๔ ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ซึ่งวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ อำเภอเฉลิมพระเกียรติโดยนายจีรศักดิ์ แสงหอย นายอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ออกประกาศเรื่องห้ามมิให้ผู้ใด เท ทิ้ง หรือทำด้วยประการใดๆ ให้สิ่งของหรือสิ่งปฏิกูลใดๆ (อัฐิเถ้ากระดูก) ลงในแม่น้ำพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ทั้งนี้ เนื่องจากศูนย์ดำรงธรรมอำเภอฯ ได้รับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน หมู่ที่ ๑๑ ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ว่า มีการนำเถ้ากระดูกคนตายที่ฌาปนกิจแล้ว พร้อมด้วยพานธูปเทียน เครื่องใช้ ที่นอน หมอน ของใช้ผู้ตาย มาทิ้งที่ท่าน้ำลำน้ำมูลบริเวณสวนภูมิทัศน์ สวนสาธารณประโยชน์ บ้านหนองบัว หมู่ ๑๑ ตำบลท่าช้าง เฉลี่ยวันละ ๓-๕ ราย ซึ่งทำให้ประชาชนที่อยู่บริเวณแม่น้ำมูลประมาณ ๗ หมู่บ้านได้รับความเดือดร้อน กระทบต่อสภาพจิตใจ ภาพลักษณ์สิ่งแวดล้อม และอาจเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรค เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จึงขอประกาศห้ามมิให้ผู้ใดเท ทิ้ง หรือกระทำด้วยประการใดๆ ในสิ่งของหรือสิ่งปฏิกูลใดๆ (อัฐิเถ้ากระดูก) ลงในแม่น้ำพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ผู้ใดฝ่าฝืนจะดำเนินคดีตามกฎหมายให้ถึงที่สุด

ผวจ.ประกาศห้ามลอยอังคาร

นอกจากนี้ ในที่ประชุมกรมการจังหวัดนครราชสีมา ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้ประกาศห้ามลอยอังคาร โดยประกาศให้กรมการจังหวัดกว่า ๒๐๐ แห่งรับทราบทั่วกัน โดยที่ผ่านมากลุ่มผู้ใช้น้ำอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ได้ร้องเรียนไปยังส่วนราชการต่างๆ แต่ปัญหาก็ไม่ถูกแก้ไข อีกทั้งปัญหายังหนักขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะช่วงเดือนมกราคม ๒๕๖๕ แต่ละวันมีการไปลอยอังคารหลายศพ

ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดฯ แจ้งผล

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๕ ศูนย์ดํารงธรรมจังหวัดนครราชสีมา ยังมีหนังสือตอบนางสมัย เหล็กหมื่นไวย ซึ่งระบุว่า ตามที่ท่านได้ยื่นเรื่องร้องเรียนร้องทุกข์เพิ่มเติมอ้างว่า เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๔ ศูนย์ดํารงธรรมอําเภอเฉลิมพระเกียรติได้เชิญส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมแก้ไขปัญหา และมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแนวเขตพื้นที่ปักป้ายเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล ให้แล้วเสร็จภายใน ๔๕ วัน แต่ปัจจุบันท่านไม่ได้รับแจ้งผลการดําเนินการแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวแต่อย่างใด จึงมีความประสงค์ติดตามผลการดําเนินการนั้น จังหวัดนครราชสีมาขอแจ้งผลการดําเนินการ ดังนี้

๑.สํานักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขานครราชสีมา รายงานว่า ได้ดําเนินการติดตั้งกล้องวงจรปิด เพื่อตรวจตราบริเวณท่าน้ำของสวนสาธารณะ บ้านหนองบัว หมู่ที่ ๑๑ ตําบลท่าช้าง อําเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดนครราชสีมา เพื่อตรวจตราในบริเวณดังกล่าว หากพบผู้กระทําผิดจะดําเนินการตามกฎหมายทันที

๒.อําเภอเฉลิมพระเกียรติรายงานผลการ ดําเนินการ ดังนี้ ๒.๑) ประเด็นการประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการนําเถ้ากระดูกผู้ตายมาทิ้งในลำมูลนั้น ผู้ประกอบการชื่อ สวนแสงเพชร ได้เลิกการประกอบธุรกิจลอยอังคารแล้ว พร้อมทั้งปิดป้ายประกาศ ณ สถานประกอบการว่าไม่รับลอยอังคารแล้ว ๒.๒) ประเด็นการนําเถ้ากระดูกผู้ตายมาทิ้งที่ท่าน้ำมูลนั้น อําเภอเฉลิมพระเกียรติได้แจ้งให้สํานักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขานครราชสีมา เพื่อดําเนินการตามอํานาจหน้าที่ต่อไปแล้ว ๒.๓) ประเด็นการกั้นแนวเขตเป็นบริเวณกว้างพร้อมปิดป้ายเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลนั้น เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๔ อําเภอเฉลิมพระเกียรติได้เชิญผู้อํานวยการสํานักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขานครราชสีมา ผู้แทนสํานักงานที่ดินจังหวัดนครราชสีมา สาขาจักราช ผู้แทนนายกเทศมนตรี ตําบลท่าช้าง นายกองค์การบริหารส่วนตําบลท่าช้าง ผู้อํานวยการกองช่างเทศบาลตําบลท่าช้าง กํานันตําบลท่าช้าง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ ๑, ๔, ๕, ๑๐, ๑๑, ๑๒ ตําบลท่าช้าง และตัวแทนผู้ประกอบการสวนแสงเพชร ประชุมปรึกษา หาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน และได้มีมติที่ประชุมให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการกั้นแนวเขต พร้อมทั้งปักป้ายเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลรุกล้ำในลำน้ำมูล ในการนี้ จังหวัดนครราชสีมาได้แจ้งให้อําเภอเฉลิมพระเกียรติติดตามผลการดําเนินการ กรณีดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ หากท่านพบการกระทําความผิดสามารถแจ้งเบาะแสต่ออําเภอเฉลิมพระเกียรติโดยตรง

นายอำเภอเรียกประชุม

ต่อมาวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๕ นายอำเภอเฉลิมพระเกียรติได้ทำหนังสือเชิญผู้กํากับการสถานีตํารวจภูธรเฉลิมพระเกียรติ นายกเทศมนตรีตําบลท่าช้าง กํานันตําบลท่าช้าง ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๑ หมู่ที่ ๔ หมู่ที่ ๕ หมู่ที่ ๑๐ หมู่ที่ ๑๑ หมู่ที่ ๑๒ ตําบลท่าช้าง และผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๙ ตําบลช้างทอง มาประชุมเรื่องปัญหาการนํากระดูกจากการเผาศพมาทิ้งในลำน้ำมูล (ลอยอังคาร) เนื่องจากอําเภอเฉลิมพระเกียรติ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ว่ายังมีการลักลอบนํากระดูกจากการเผาศพมาทิ้งในลำน้ำมูล (ลอยอังคาร) ทําให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อย และเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน อําเภอเฉลิมพระเกียรติ จึงขอเชิญท่านร่วมประชุมปรึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ในวันพุธที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๐.๐๐ น. ณ ศาลาประชาคมบ้านหนองบัว หมู่ที่ ๑๑ ตําบลท่าช้าง ทั้งนี้ให้ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ ๑๑ ตําบลท่าช้าง แจ้งให้ชาวบ้านหมู่ที่ ๑๑ ตําบลท่าช้าง เข้าร่วมประชุมด้วยนั้น

คนแห่ใช้บริการวันละหลายราย

ทั้งนี้ จากการลงพื้นที่ของ “โคราชคนอีสาน” ในช่วงวันเสาร์ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ บริเวณสวนอาหารแห่งหนึ่งในพื้นที่ โดยทางเข้ามีป้ายประชาสัมพันธ์ว่ารับทำพิธีลอยอังคารโดยอาจารย์ น. (อักษรย่อ) พบว่า ยังมีการทำธุรกิจรับลอยอังคารและมีประชาชนนำอัฐิเถ้าของผู้เสียชีวิตมารอทำพิธีหลายราย และมีการนำลงเรือไปลอยอังคารในลำน้ำมูล ซึ่งบางรายเคยมาใช้บริการลอยอังคารที่นี้ ๒-๓ ครั้งแล้ว โดยผู้ประกอบการรับลอยอังคารได้อธิบายขั้นตอนและสิ่งของที่ต้องเตรียมมาทำพิธีอย่างละเอียด และจะมีเจ้าหน้าที่นำลงเรือเพื่อไปลอยอังคาร โดยใช้เวลาไป-กลับประมาณ ๓๐ นาที ซึ่งเรือ ๑ ลำจะลงได้ประมาณ ๕-๖ คน พร้อมระบุว่า เป็นการดำเนินการอย่างถูกกฎหมาย เพราะที่ที่นำไปลอยเป็นที่ของตนเอง มีโฉนดที่ดินถูกต้อง โดยการลอยอังคารนี้คิดค่าบริการรายละ ๑,๕๐๐ บาท นอกจากนี้ยังมีค่ายกครูให้กับผู้ทำพิธีด้วยอาจจะรายละ ๒๐๐-๓๐๐ บาท และต้องเตรียมเงินเหรียญจำนวน ๓๒ บาทมาด้วย โดยระบุว่าเพื่อให้เกิดมาให้มีอวัยวะครบ ๓๒ รายการ สำหรับการลอยอังคารก็มีแค่การนำเถ้าและกระดูกไปลอยเท่านั้น

ยืนยันไม่ผิดกฎหมาย

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการรับลอยอังคาร ยังระบุว่า “การลอยอังคารนี้ ดำเนินการโดย ๒ พี่น้องซึ่งเป็นทายาทของสวนอาหารแห่งนี้ โดยหากขับรถเข้ามาแล้วเลี้ยวขวาจะเป็นของพี่สาว และหากเลี้ยวซ้ายจะเป็นของน้องชาย (อาจารย์ น.)” และมีการกล่าวอ้างอีกว่า “การลอยอังคารผิดกฎหมายหากทำในที่สาธารณะ แต่ตนมีที่ดินของตัวเอง แม้แต่ในน้ำก็เป็นที่ดินของตนเอง ซึ่งมีประมาณ ๑๐ ไร่ (แยกออกไปจากลำมูลแต่อยู่ในเวิ้งของแม่น้ำมูล) โดยเรื่องนี้มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ เพราะไม่อยากให้ไปลอยหน้าบ้านของตัวเอง ซึ่งเจ้าท่าฯ บอกว่า ถ้ามีที่ของตัวเองก็สามารถทำได้ ขอให้มั่นใจว่า ที่ในน้ำมีของอาจารย์ น. คนเดียว ซึ่งเมื่อก่อนบรรพบุรุษประกอบธุรกิจดูดทรายจึงทำให้อาจารย์ น.ได้รับที่ดินในน้ำ โดยจะมีการสอบเขตให้ถูกต้อง หากใครบอกว่าทำไม่ได้ ผิดกฎหมาย ขอยืนยันว่าที่นี่ทำถูกต้อง เพราะเรื่องต่างๆ ส่งไปอำเภอหมดแล้ว”

รวมทั้งยังกล่าวว่า “มีการใช้พื้นที่บริเวณนี้ ลอยอังคารมากว่า ๑๐-๒๐ ปีแล้ว แต่ช่วงที่มีโรคระบาด คนมาแน่นมาก เจ้าท่าฯ โทรมาบอกให้หยุดก่อน ตนก็หยุดและเคลียร์เรื่องที่มีคนไปร้องเรียน ซึ่งก็ทำตามที่ราชการบอกและทางราชการบอกให้ทำให้ถูกต้อง เพราะต้องรับทำพิธีนี้ตลอดไป ตอนนี้ก็สบายใจและทำถูกต้อง”

ไม่มีสิทธิ์กั้นลำน้ำ

แหล่งข่าวในองค์กรผู้ใช้น้ำฯ เปิดเผยประเด็นนี้กับ “โคราชคนอีสาน” ว่า ในกรณีที่เขาอ้างว่า นำไปลอยในพื้นที่ของตัวเอง เรื่องนี้เคยให้อำเภอตรวจสอบ เนื่องจากเขาไปกั้นเขตน่านน้ำ ทางกลุ่มฯ ได้ทักท้วงไปว่า ไม่มีสิทธิ์ไปกั้นแนวน้ำมูล ที่ผ่านมามีการประชุม ณ ที่ว่าการอำเภอ ๒ รอบ และได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งพื้นที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่บ่อทราย โดยยุติดูดทรายเมื่อปี ๒๕๓๕ ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากที่ดินแปลงนี้ สำหรับพื้นที่บ่อทรายนี้ คือ พื้นที่ที่นายแสง มณีเพชร เป็นผู้ไปดูดทรายร่วมกับหุ้นส่วน แต่ภายหลังได้ยกเลิก เนื่องจากไม่ให้ทำการดูดทราย จึงยุติการดูดทรายตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ เป็นต้นมา ดังนั้น ลำน้ำมูลกับที่ดินเอกชนนี้ จึงเข้าหากันโดยธรรมชาติ เขาจึงอ้างว่า พื้นที่นั้นเป็นของเขา ซึ่งประชาชนทั่วไปก็ใช้ทำมาหากิน และทางสำนักงานที่ดินก็ชี้ชัดว่า ไม่สามารถกล่าวอ้างได้ ในการประชุม ณ ที่ว่าการอำเภอจึงมีข้อสรุปว่า จะต้องรื้อถอน ถ้าไม่รื้อถอนจะมีการยกเรื่องขึ้นศาล แต่เขาก็นำหลักฐานมาแสดงแต่ก็มีความคลุมเครือ ไม่สามารถชี้แจงได้ ซึ่งอำเภอยืนยันให้รื้อถอน แต่ก็ยังไม่มีการรื้อถอน”

ส่งหนังสือติดตามเรื่องร้องทุกข์

ต่อมาเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ นายสุรเดช โอทองหลาง ประธานองค์กรผู้ใช้น้ำกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายยางบ้านส้ม อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ได้ส่งหนังสือไปรษณีย์ลงทะเบียนถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะประธานอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดนครราชสีมา เพื่อติดตามข้อร้องทุกข์และขอร้องทุกข์เพิ่มเติม กรณีขอให้แก้ไขปัญหาการนํากระดูกจากการเผาศพมาทิ้งลำน้ำมูล และรุกล้ำปักป้ายเป็นที่ส่วนบุคคลกลางลุ่มน้ำมูล บริเวณไทรงามเฉลิมพระเกียรติ อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา โดยหนังสือนี้ระบุว่า

“องค์กรผู้ใช้น้ำกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายยางบ้านส้ม อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา หนังสือสำคัญการจดทะเบียนองค์กรผู้ใช้น้ำทะเบียนเลขที่ ๐๕๓๐-๒๕๖๔-๐๐๑๔๐ ขอร้องทุกข์ต่อศูนย์ดํารงธรรม จังหวัดนครราชสีมา ได้รับความเดือดร้อนจากการนําเถ้ากระดูกคนตายที่ฌาปนกิจแล้ว ลงลำน้ำมูล โดยมีผู้ได้รับผลกระทบตลอดลำน้ำมูล ๗ หมู่บ้าน ซึ่งกระทบต่อสภาพจิตใจของประชาชนในพื้นที่ เสียภาพลักษณ์อําเภอเฉลิมพระเกียรติ กระทบสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ลำน้ำมูลสกปรกซึ่งต้องใช้น้ำอุปโภค และวิถีชุมชนซึ่งเคยจับปลาเป็นอาหาร อาจเป็นมูลเหตุให้เกิดโรคระบาดทางน้ำได้ โดยเฉพาะสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศกําลังประสบปัญหาภัยจากโรคระบาดโควิด-๑๙ และได้ยื่นเรื่องร้องทุกข์อย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไข ยังมีการฝ่าฝืนกฎหมายอย่างต่อเนื่อง รายละเอียดตาม (เอกสารแนบ ๑) นั้น

ยังฝ่าฝืนกฎหมาย

และเมื่อวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๕ ศูนย์ดํารงธรรมอําเภอเฉลิมพระเกียรติ ได้ประชุมปรึกษาหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน (เอกสารแนบ ๒) พบว่าปัจจุบันผู้ประกอบการล่องแพลอยอังคาร ชื่อ “สวนแสงเพชร” ยังคงฝ่าฝืนประกาศอําเภอเฉลิมพระเกียรติ ได้ดําเนินการธุรกิจลอยอังคารเป็นปกติต่อเนื่องได้ โดยดําเนินการกั้นแนวเขตเป็นบริเวณกว้างพร้อมปักป้ายเป็นพื้นที่ส่วนบุคคล สวนแสงเพชร บริเวณไทรงามบ้านใหม่ บ้านสามแคว บ้านหนองบัวรี ซึ่งทั้ง ๓ หมู่บ้านใช้ทําน้ำประปาและเป็นลุ่มน้ำมูลสาธารณประโยชน์ และเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๖๔ ศูนย์ดํารงธรรมอําเภอเฉลิมพระเกียรติ ได้เชิญส่วนงานและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม แก้ไขปัญหา และมีมติให้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแนวเขตพื้นที่ที่ปักป้ายเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลและให้แล้ว เสร็จภายใน ๔๕ วันนั้น พบว่าปัจจุบันยังไม่ทราบผลการแก้ไขปัญหา

ดังนั้น จึงขอความอนุเคราะห์ประธานอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดนครราชสีมา ได้ช่วยแก้ไขปัญหาการทิ้งเถ้ากระดูกลอยอังคารลงลุ่มน้ำมูล และเข้าตรวจสอบการกั้นแนวเขตแนวเขตเป็นบริเวณกว้าง พร้อมปักป้ายเป็น “พื้นที่ส่วนบุคคล สวนแสงเพชร” ว่าเป็นการรุกที่ลุ่มน้ำสาธารณประโยชน์หรือไม่ กรณี พบว่าเป็นการรุกล้ำลุ่มน้ำมูลสาธารณประโยชน์ขอให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดแก้ไขต่อไป

โดยมีเอกสารแนบว่า ได้ยื่นร้องทุกข์ผ่านศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเฉลิมพระเกียรติ และศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ แก้ไขปัญหาการนำเถ้ากระดูกจากการเผาศพมาทิ้งในลำน้ำมูล จากกรณีผู้ประกอบการล่องแพเปิดล่องแพบริการรับลอยอังคารเถ้ากระดูกผู้ตายลงในลำน้ำมูลพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จ.นครราชสีมา ซึ่งมีจำนวน ๒๖ ครั้ง

๑ ปีร้องเรียนกว่า ๒๙ ครั้ง

ทั้งนี้ แหล่งข่าวในองค์กรผู้ใช้น้ำฯ เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า ในรอบ ๑ ปีที่ผ่านมา ร้องเรียนผ่านหน่วยงานต่างๆ ดังนี้ ๑.สำนักพุทธศาสนาจังหวัดฯ ๒.อบจ.นครราชสีมา ๓.สำนักงานสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครราชสีมา ๔.กรมเจ้าท่า ๕.สำนักงานเจ้าท่านครราชสีมา ๖.สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ภาค ๓ (จ.ขอนแก่น) ๗.ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดฯ และศูนย์ดำรงธรรมอำเภอเฉลิมพระเกียรติ (แห่งละ ๕ ครั้ง) ได้รับการตอบกลับเป็นลายลักษณ์อักษรทุกครั้ง แต่แก้ปัญหาไม่ได้ นอกจากนี้ ยังส่งหนังสือร้องเรียน เพื่อให้ส่วนงานต่างๆ ที่มีหน้าที่ตามกฎหมายช่วยยุติปัญหา ประมาณ ๒๙ ฉบับ จาก ๗ ส่วนงาน

“โคราชคนอีสาน” จะนำเสนอข่าวนี้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งนำข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมานำเสนอต่อไป


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๕๑๘ ประจำวันที่ ๙-๑๕ เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๖๕

 


138 1,828