20thApril

20thApril

20thApril

 

March 20,2022

โคราชยังครองแชมป์ลงทุน ๒,๘๖๓ ล.แม้เผชิญโควิด ภาคอีสานรวม ๔,๕๐๔ ล.

‘บีโอไอ’ สรุปส่งเสริมการลงทุนปี ๒๕๖๔ ในพื้นที่ ๘ จังหวัดอีสานตอนล่าง รวม ๓๗ โครงการ มูลค่าเงินลงทุน ๔,๕๐๔ ล้านบาท กระจุกตัวอยู่ในโคราช ๒๔ โครงการ มูลค่า ๒,๘๖๓ ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร รวมทั้งอุตสาหกรรมพลังงาน สาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม ยํ้าแม้จะเผชิญกับโควิด-๑๙ สายพันธุ์โอมิครอน แต่เศรษฐกิจยังขับเคลื่อนได้ เพราะมีการผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ทําให้พลิกกลับมาฟื้นตัวได้

นางสาวทยาภรณ์ ศรีสังข์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ หรือบีโอไอโคราช ซึ่งรับผิดชอบเขตพื้นที่ ๘ จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี เปิดเผยภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนปี ๒๕๖๔ โดยภาพรวมทั้งประเทศ มีจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน ๑,๕๗๒ โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ ๕ และมีมูลค่าเงินลงทุน ๕๑๑,๙๐๐ ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ ๔๒ โครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมในพื้นที่ ๘ จังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างหรืออีสานตอนล่าง ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ มีจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน จำนวน ๓๗ โครงการ มูลค่าเงินลงทุน ๔,๕๐๔ ล้านบาท โดยอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ๒๔ โครงการ มูลค่าการลงทุน ๒,๘๖๓ ล้านบาม เกิดการจ้างงาน ๙๕ คน, ชัยภูมิ ๓ โครงการ มูลค่าการลงทุน ๑๓๗ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๖๐๔ ล้านบาท, บุรีรัมย์ ๔ โครงการ มูลค่าการลงทุน ๑๓๗ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๑๓๘ คน, สุรินทร์ ๒ โครงการ มูลค่าการลงทุน ๗๓๒ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๒๑ คน, อุบลราชธานี ๔ โครงการ มูลค่าการลงทุน ๒๕๓ ล้านบาท เกิดการจ้างงาน ๓๒ ราย นอกจากนี้ในปี ๒๕๖๔ มีโครงการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ เงินลงทุนรวมประมาณ ๘๒ ล้านบาท เป็นโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาอาคาร ในพื้นที่ ๖ จังหวัด โดยในทางสถิตินับเป็น ๑ โครงการ ตั้งอยู่ที่จังหวัดชัยภูมิ สำหรับเงินลงทุนนับเป็นรายจังหวัด ดังนี้ จังหวัดชัยภูมิ เงินลงทุน ๑๒  ล้านบาท จังหวัดสุรินทร์ เงินลงทุน ๒๐ ล้านบาท จังหวัดบุรีรัมย์ เงินลงทุน ๑๙ ล้านบาท จังหวัดศรีสะเกษ เงินลงทุน ๑๕ ล้านบาท จังหวัดยโสธร เงินลงทุน ๑๐ ล้านบาท และจังหวัดอุบลราชธานี เงินลงทุน ๖ ล้านบาท    
 
สำหรับการลงทุนกระจุกตัวในจังหวัดนครราชสีมา โดยในปี ๒๕๖๔ จำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมในพื้นที่อีสานตอนล่างนั้น จังหวัดนครราชสีมา มีจำนวนโครงการมากที่สุด ๒๔ โครงการ คิดเป็นร้อยละ ๖๕ ของพื้นที่อีสานตอนล่าง และคิดเป็นร้อยละ ๓๗ ของพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด รองลงมา คือ จังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดละ ๔ โครงการ จังหวัดชัยภูมิ ๓ โครงการ และจังหวัดสุรินทร์ ๒ โครงการ ในณะที่เงินลงทุนในโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมในพื้นที่อีสานตอนล่างในปี ๒๕๖๔ จังหวัดนครราชสีมา มีจำนวนเงินลงทุนมากที่สุด มูลค่าเงินลงทุน ๒,๘๖๓ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๖๔ ของพื้นที่อีสานตอนล่าง และคิดเป็นร้อยละ ๓๓ ของพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด รองลงมา คือ จังหวัดสุรินทร์ เงินลงทุน ๗๓๒ ล้านบาท จังหวัดบุรีรัมย์ เงินลงทุน ๔๙๔ ล้านบาท จังหวัดอุบลราชธานี เงินลงทุน ๒๕๓ ล้านบาท จังหวัดชัยภูมิ ๑๓๗ ล้านบาท จังหวัดศรีสะเกษ ๑๕  ล้านบาท และจังหวัดยโสธร เงินลงทุน ๑๐ ล้านบาท

ทั้งนี้ เป็นโครงการใหม่ ๒ โครงการ อยู่ในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดชัยภูมิ เป็นโครงการขยายกิจการ ๓๕ โครงการ อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ๒๓ โครงการ จังหวัดบุรีรัมย์ ๔ โครงการ จังหวัดอุบลราชธานี ๔ โครงการ จังหวัดชัยภูมิ ๒ โครงการ และจังหวัดสุรินทร์ ๒ โครงการ ในขณะที่การกระจายสัดส่วนผู้ถือหุ้นนั้น เป็นโครงการที่คนไทยถือหุ้นทั้งหมด ๒๓ โครงการ คิดเป็นร้อยละ ๖๒ ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง และมีเงินลงทุน ๒,๐๙๔ ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๔๗ ของเงินลงทุน ในพื้นที่อีสานตอนล่าง ส่วนโครงการที่มีต่างชาติถือหุ้นทั้งสิ้น มีจำนวน ๖ โครงการ คิดเป็นร้อยละ ๑๖ ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง และมีเงินลงทุน ๓๔๕ ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๘ ของเงินลงทุน ในพื้นที่อีสานตอนล่าง ในขณะที่โครงการที่เป็นการร่วมลงทุนระหว่างคนไทยและต่างชาติ มีจำนวน ๘ โครงการ คิดเป็นร้อยละ ๒๒ ของจำนวนโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง และมีเงินลงทุน ๒,๐๖๕ ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๔๖ ของเงินลงทุนในพื้นที่อีสานตอนล่าง

นางสาวทยาภรณ์ ศรีสังข์ ผู้อำนวยการศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ หรือบีโอไอโคราช

การอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการพิเศษในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๘ จังหวัด ในปี ๒๕๖๔ มีโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน จำนวน ๘ โครงการ เงินลงทุน ๕๗๑ ล้านบาท เป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านประหยัดพลังงานใช้พลังงานทดแทนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน ๓ โครงการ เงินลงทุน ๕๘ ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านประหยัดพลังงานใช้พลังงานทดแทน จำนวน ๒ โครงการ ได้แก่ โครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในกิจการผลิตลูกสุกรและสุกรขุน ในจังหวัดบุรีรัมย์ และโครงการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เพื่อใช้ในกิจการสถานพยาบาล ในจังหวัดอุบลราชธานี และเป็นโครงการตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จำนวน ๑ โครงการ ได้แก่ โครงการ นำระบบดักจับฝุ่นแบบไฟฟ้าสถิตย์เพื่อใช้ในกิจการผลิตเชื้อเพลิงชีวมวล ในจังหวัดนครราชสีมา  

สำหรับโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านปรับเปลี่ยนเครื่องจักร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตและการนำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์มาใช้ในการผลิต ในกิจการผลิตแป้ง แปรรูป กิจการผลิตอาหารสัตว์ กิจการผลิตดิสก์เบรก Disc Brake Caliper และกิจการผลิตกระป๋องอลูมิเนียม รวม ๕ โครงการ เงินลงทุน ๕๑๓ ล้านบาท อยู่ในจังหวัดนครราชสีมาทั้งหมด

ในขณะที่มาตรการส่งเสริม SMES ในปี ๒๕๖๔ มีโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน จำนวน ๕ โครงการ เงินลงทุน ๒๔๘ ล้านบาท เป็นกิจการผลิตเกลือบริสุทธิ์ ในจังหวัดนครราชสีมา  ๑ โครงการ กิจการผลิตเสื้อผ้า สำเร็จรูป และกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ (Biogas) ในจังหวัดชัยภูมิ ๒ โครงการ กิจการผลิตอาหารสัตว์ ในจังหวัดบุรีรัมย์ ๑ โครงการ และกิจการผลิตเครื่องจักรอัตโนมัติที่มีขั้นตอนการออกแบบระบบอัตโนมัติและระบบควบคุมการปฏิบัติงานด้วยสมองกลเอง ในจังหวัดอุบลราชธานี ๑ โครงการ  

สำหรับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนในปี ๒๕๖๔ มีการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย ๒๐ จังหวัดที่มีรายได้ ต่อหัวต่ำ ซึ่งจะได้รับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคของรัฐบาล โดยในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่างมีโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน จำนวน ๔ โครงการ เงินลงทุน ๘๒๙ ล้านบาท เป็นกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ เงินลงทุน ๑๒ ล้านบาท และกิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล จำนวน ๗๐๐ ล้านบาท ในจังหวัดสุรินทร์ รวม ๒ โครงการ กิจการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจากการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ ในจังหวัดบุรีรัมย์ จำนวน ๑ โครงการ เงินลงทุน ๕๙ ล้านบาท และกิจการผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) ในจังหวัดอุบลราชธานี จำนวน ๑ โครงการ เงินลงทุน ๕๘ ล้านบาท
 
ทั้งนี้ สำหรับโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนนั้น แยกเป็นกลุ่มอุตสาหกรรม ดังนี้ ๑.กลุ่มอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร ซึ่งเป็นกิจการผลิตแป้งแปรรูปและสิ่งปรุงแต่งอาหาร ๔ โครงการ กิจการผลิตอาหารสัตว์ ๒ โครงการ กิจการผลิตสาคู ๑ โครงการ กิจการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อสัตว์ ๑ โครงการ กิจการผลิตลูกสุกร ๑ โครงการ กิจการผลิตขนมขบเคี้ยว ๑ โครงการ และกิจการผลิตแผ่นยางสำเร็จรูปจากยางธรรมชาติ ๑ โครงการ ๒.กลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ เป็นกิจการผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) ๒ โครงการ ๓.กลุ่มอุตสาหกรรมทางการแพทย์ เป็นกิจการสถานพยาบาล ๑ โครงการ ๔.กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกล เป็นกิจการผลิตเครื่องจักรอัตโนมัติ ๑ โครงการ และกิจการผลิตเครื่องพิมพ์หน้ากว้าง ๑ โครงการ ๕.กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นกิจการผลิตแม่ปั๊มเบรกและชิ้นส่วน ๒ โครงการ ๖.กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เป็นกิจการการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์และผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องจากการออกแบบทางอิเล็กทรอนิกส์ ๑ โครงการ และกิจการผลิต  Earphone/Headphone  และชิ้นส่วนของ Earphone/Headphone ๑ โครงการ ๗.กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน เป็นกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ๙ โครงการ กิจการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลและกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าชชีวภาพ (Biogas) กิจการละ ๒ โครงการ ๘.กลุ่มอุตสาหกรรมแร่ โลหะ และวัสดุ เป็นกิจการผลิตชิ้นส่วนเหล็กหล่อ ๑ โครงการ เป็นกิจการผลิตกระป๋องอลูมิเนียม ๑ โครงการ ๙.กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เคมีเพื่อการอุตสาหกรรม เป็นกิจการผลิตเกลือบริสุทธิ์ ๑ โครงการ และ ๑๐.กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป็นกิจการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ๑ โครงการ   

นางสาวทยาภรณ์ ศรีสังข์ กล่าวสรุปว่า ภาพรวมของการส่งเสริมการลงทุนในปี ๒๕๖๔ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ๘ จังหวัด จำนวนโครงการส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงานสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม ส่วนมูลค่าการลงทุนอยู่ในอุตสาหกรรมเกษตรและแปรรูปอาหาร นอกจากนี้โครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการผลิตและการนำระบบอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์มาใช้ใน การผลิต มีจำนวนโครงการและเงินลงทุนเพิ่มสูงขึ้น ถึงแม้ว่าการกลับมาแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-๑๙ ระลอกใหม่นับตั้งแต่ปลายปี ๒๕๖๓ และการระบาดของไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่กระจายเป็นวงกว้างในประเทศไทยช่วงไตรมาสสามของปี ๒๕๖๔ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว ในหลายภาคอุตสาหกรรมก็เกิดภาวะชะงักงันในสายการผลิต เนื่องจากปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ ขาดแคลน การขาดแคลนวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูป อีกทั้งเกิดการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่โอมิครอนในช่วงปลายปี ๒๕๖๔ ถึงแม้จะมีแนวโน้มการแพร่กระจายมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถกลับมาด าเนินการต่อไปได้ และผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก สะท้อนจากการเติบโตของตลาดส่งออก ทำให้การส่งออกซึ่งเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจในปี ๒๕๖๔ สามารถพลิกกลับมาขยายตัวได้ในอัตราที่สูงขึ้น ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวของการส่งออก  

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๑๙ วันพุธที่ ๑๖ - วันอังคารที่  ๒๒  เดือนมีนาคม  พุทธศักราช  ๒๕๖๕


1014 1398