April 30,2022
‘อุดรเมืองแห่งแมลง’ ฮับโปรตีน อนาคตโลก
เมื่อไม่นานมานี้ ณ ศูนย์ประชุมมลทาทิพย์ฮอลล์ จังหวัดอุดรธานี นายจำรัส กังน้อย รองผวจ.อุดรธานี เป็นประธานเปิดงาน “มหกรรมอุดรธานี เมืองแห่งแมลง ฮับโปรตีน อนาคตโลก” โดยมีนายประเสริฐ ฝ่ายชาวนา พาณิชย์จังหวัดอุดรธานี รศ.ดร.สุนทร สุทธิบาก คณบดีคณะเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี นายสไกร อินทร์นาง บริษัท แมลงรวย จำกัด ตัวแทนจากปศุสัตว์จังหวัดอุดรธานี เกษตรกร และผู้มีเกียรติ ร่วมงาน
นายจำรัส กังน้อย รองผวจ.อุดรธานี
นายอเนก รัตน์รองใต้ เกษตรจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า งาน “มหกรรมอุดรธานีเมืองแห่งแมลง ฮับโปรตีนอนาคตโลก” เป็นความร่วมมือกันระหว่างอุดรธานีกับบริษัท แมลงรวย จำกัด เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรชาวจังหวัดอุดรธานี หันมาเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดกันมากขึ้น เนื่องจาก “จิ้งหรีด” เป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกใหม่ที่ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) สนับสนุนให้ใช้เป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกของโลก ประกอบกับจิ้งหรีดยังสามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาพภูมิอากาศร้อนชื้น ของประเทศไทย อีกทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดนโยบายส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาเพาะเลี้ยงจิ้งหรีด เพื่อเป็นการสร้างงานสร้างรายได้สร้างอาชีพที่สอดคล้องกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก เป็นการส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรอย่างยั่งยืน สร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และส่งเสริมให้ประเทศไทย เป็นแหล่งผลิตโปรตีนที่สำคัญของโลกในอนาคต
ภายในงาน มีการลงนามรับซื้อจี้งหรีดจากฟาร์มของเกษตรกรผู้เลี้ยงเข้าสู่โรงงานแปรรูปแมลงรวย รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าการลงทุน แลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างกัน มอบประกาศนียบัตรแก่เกษตรกรผู้ผ่านการอบรมมาตรฐาน GAP รับฟังนโยบายความมั่นคงด้านอาหารจากจี้งหรีดโดยนายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารมว.เกษตรและสหกรณ์ ผ่านระบบ ZOOM นิทรรศการจัดแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหารจากจิ้งหรีด รวมไปถึงการเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสร้างจังหวัดอุดรธานีให้เป็นแหล่งผลิตโปรตีนอนาคตโลก สามารถสร้างงาน สร้างรายได้ให้พี่น้องเกษตรกรชาวอุดรธานี อย่างมั่นคง และยั่งยืน นำโดยนายอเนก รัตน์รองใต้ เกษตรจังหวัดอุดรธานี นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และคณะ
นายจำรัส กังน้อย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี กล่าวว่า รัฐบาลได้ให้ความสำคัญในการกำหนดนโยบายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตแมลง “ฮับแมลงโลก” รับเทรนด์อุตสาหกรรมอาหารใหม่ (Novel Food) สอดรับแนวทางขององค์การอาหาร และเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ที่ประกาศให้ “แมลงเป็นแหล่งอาหาร ในอนาคตของโลก” ซึ่ง FAO คาดการณ์ว่า จำนวนประชากรโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ของโลก ซึ่งเป็นแหล่งโปรตีนเพิ่มขึ้น ๓๐% ภายใน ๑๕ ปีข้างหน้า และได้คาดการณ์ความต้องการบริโภคแมลงว่า จะมีอัตราขยายตัว ๒๓.๘% ภายในปี ๒๐๒๓ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “จิ้งหรีด” เป็นตัวเลือกแมลงที่เหมาะสมที่สุด ถือเป็นแมลงเศรษฐกิจตัวใหม่ที่จะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร และนำรายได้เข้าประเทศได้ในอนาคต การจัดงานในครั้งนี้ จึงนับว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญและน่าสนใจอย่างยิ่ง เป็นโอกาสอันดีของพี่น้องเกษตรกรจังหวัดอุดรธานี ที่มีทั้งหน่วยงานราชการและหน่วยงานเอกชน ที่ได้ให้การส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงจิ้งหรีดได้ตามมาตรฐาน และส่งเสริมแนวทางการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหารจากจิ้งหรีด อันจะส่งผลให้จังหวัดอุดรธานี เป็นเมืองแห่งแมลง ฮับโปรตีนที่สำคัญของโลกได้ในอนาคต
นายสไกร อินทร์นาง ผู้บริหารบริษัท แมลงรวย จำกัด กล่าวว่า การจัดงานเพื่อกระตุ้นสร้างการเรียนรู้ในมุมมองของการแปรรูปสินค้าทางการเกษตร โดยความร่วมมือของภาครัฐต่างๆ ให้การสนับสนุนและให้โอกาสแมลงรวย ซึ่งเป็นบริษัทแปรรูปและจัดจำหน่ายสินค้าจำพวกแมลง ได้แนะนำสินค้า พร้อมแกรนด์โอเพ่นนิ่งในครั้งนี้ และเรากำลัง พูดถึงว่าประเทศไทยกำลังจะเป็นผู้นำด้านการส่งออกแมลงของโลก ด้วยภูมิประเทศ อากาศและความเหมาะสมในการเลี้ยงแมลง ประเทศไทยเท่านั้นดีที่สุด เราจึงพยายามที่จะผลักดันและรักษาโอกาสนี้ให้คนไทย เกษตรกรไทยเท่านั้นที่จะได้สิทธินี้ ไม่ใช่ต่างประเทศได้สิทธินี้ไป สินค้าทางเกษตรประเทศไทยปัจจุบัน ข้าว ผลไม้ โดนยึดไปหมดแล้ว สิ่งที่คงอยู่และสามารถสร้างมูลค่าได้ก็คือแมลง แล้วทำไมเราไม่ให้แมลงเป็นโอกาสและเป็นทางเลือกให้เกษตรกร ณ เวลานี้ จึงเกิดงานในครั้งนี้ เราพยายามมาแล้ว ๓ ปีกว่าจะถึงวันนี้ ตั้งแต่ตั้งบริษัทและผลักดันมาเรื่อยๆ สร้างสินค้าและพร้อมที่จะเป็นผู้นำด้านการส่งออกและแปรรูปแมลงเพื่อใช้กับชีวิตทุกคนได้ วันนี้เป็นครั้งแรกที่ได้มีการพูดคุยกับทุกคนในส่วนของคำว่า “แมลง” ที่ผ่านมาทุกคนเข้าใจว่าเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตหรือศัตรูพืช ไม่เคยให้ความสำคัญมองว่าเป็นอาหาร แต่วันนี้จะเป็นธุรกิจและอนาคตแมลงไทยจะยิ่งใหญ่ที่อุดรฯ
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๒๓ วันพุธที่ ๒๗ เดือนเมษายน - วันอังคารที่ ๓ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
102 1,729