14thNovember

14thNovember

14thNovember

 

December 06,2012

๕ ทศวรรษงานช้าง ให้โอกาสเอกชนกอบโกย

3

เวทีเสวนา ๕ ทศวรรษงานช้างสุรินทร์ ดีขึ้นหรือเสื่อมลง ครบปีที่ ๕๒ ย้ำขาดอัตลักษณ์สุรินทร์ ซ้ำประชาชนไม่มีส่วนร่วม ผู้ว่าฯ ปล่อยให้ผู้รับจัดงานมุ่งเป็นธุรกิจมากไป ทำลายชื่อเสียงซึ่งโด่งดังระดับโลก

เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ สำนักสุรินทร์สโมสร ร่วมกับห้องภาพเมืองสุรินทร์ และประชาสังคมคนสุรินทร์ จัดเวทีเสวนา “๕ ทศวรรษงานช้างสุรินทร์” ณ สถานีรถไฟสุรินทร์ ซึ่งในปีนี้งานมหัศจรรย์งานช้างสุรินทร์ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๔-๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ ซึ่งในอดีตที่ผ่านมานักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศรู้จักกันในชื่อภาษาอังกฤษในตอนนั้นว่า “Elephant Round Up at Surin” แต่ปัจจุบันเติบโตเป็นงานแสดงช้างที่ยิ่งใหญ่ มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก และนับเป็นงานที่สร้างความภาคภูมิใจให้ชาวสุรินทร์เป็นอย่างมาก แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนความภูมิใจในความสำเร็จของการจัดงานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเปลี่ยนแปลงไป สำหรับวงเสวนา ๕ ทศวรรษงานช้างสุรินทร์ มีนายดำเถิง โถทอง อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา โดยผู้ร่วมวงเสวนาหลักประกอบด้วย นายสุขะ กิ่งมณี อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองสุรินทร์ อดีตครูใหญ่โรงเรียนบ้านตากลาง ต.กระโพ อ.ท่าตูม จ.สุรินทร์ เป็นอดีตผู้ร่วมก่อการจัดแสดงงานช้างสุรินทร์ครั้งแรกที่ อ.ท่าตูม นายโสภณ วัฒนชัย อดีตสรรพสามิตอำเภอท่าตูม อดีตนายกอบต.นอกเมือง ชาวสุรินทร์ที่เห็นงานช้างมากว่า ๕๒ ปี และนางสาวขวัญทวี ไทยยิ่ง ผู้จัดการหจก.สะเร็นทัวร์ ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้วย ผู้เข้าร่วมเสวนาเสนอความคิดเห็นว่า  เกรงว่างานช้างสุรินทร์ที่ยิ่งใหญ่ ดังไกลไปทั่วโลก จะเหลืออยู่แต่เพียงความทรงจำ ๕๒ ปีนานวันยิ่งเสื่อมลง เป็นงานช้างที่คนสุรินทร์ไม่มีความสุข โดยหวังว่าเวทีนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ภาครัฐได้รับภาพสะท้อนเรื่องงานช้างว่า การทำงานที่ผ่านมานั้นชาวสุรินทร์คิดว่างานช้างไม่ใช่ของคนสุรินทร์และไม่มีความสุขกับการมีส่วนร่วม นับแต่พ.ศ.๒๕๐๓ นายวินัย สุวรรณากาศ นายอำเภอท่าตูมในขณะนั้น ได้จัดงานแสดงช้างจังหวัดสุรินทร์ซึ่งเป็นครั้งแรกเช่นกัน เพื่อเฉลิมฉลองอาคารที่ว่าการอำเภอที่จัดสร้างขึ้นใหม่ งานช้างสุรินทร์ได้ผ่านเวลาอันยาวนานผ่านพ้นช่วงเวลานั้นมา กระทั่งกลายเป็นงานของชาติในปัจจุบัน  นางสัญญาลักษณ์ บัวพา อายุ ๔๓ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๑๓๕/๑ ถ.เทศบาล ๑ ต.ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ หนึ่งในผู้เข้าร่วมเสวนา กล่าวว่า ปัจจุบันงานช้างขาดอัตลักษณ์และรูปลักษณ์ที่ชัดเจน เปิดการแสดงเพียง ๒-๓ วันเท่านั้น จึงอยากให้ชาวสุรินทร์ทุกคนตื่นตัวและมีส่วนร่วมกับงานช้าง ให้คุณค่าแก่ช้างสุรินทร์มากขึ้น สำหรับงานกาชาดตนไม่อยากเข้าไปเพราะไม่มีอะไรน่าดู น่าสนใจ ไม่ต่างอะไรกับงานแสดงสินค้าทั่วไป ซึ่งไปหาดูที่ไหนก็ได้

นายโสภณ วัฒนชัย กล่าวว่า เมื่อจังหวัดสุรินทร์เป็นแม่งาน ผู้มีอำนาจสูงสุดสามารถสั่งการได้ จึงน่าจะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ที่จะเข้ามาบริหารจัดการตรงนี้ แต่ช่วงหลังมีบริษัทเอกชนเข้ามารับเหมาบริหารจัดการ จึงกลายเป็นธุรกิจมากเกินไป ทางด้านนายสุขะ กิ่งมณี กล่าวว่า บางส่วนเป็นการพัฒนาที่ดีขึ้น บางส่วนอาจทำให้การแสดงของช้างสุรินทร์ไม่เป็นของจังหวัดสุรินทร์แล้วเพราะไปมุ่งหวังทางธุรกิจมากเกินไป ไม่ให้ส่วนราชการทุกหน่วยงานและภาคเอกชนที่อยู่ในจ.สุรินทร์ เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดงานแสดงของช้างเหมือนก่อน จะรู้ปัญหาและช่วยกันทำให้ได้ นางสาวขวัญทวี ไทยยิ่ง ผู้จัดการ หจก.สะเร็นทัวร์ กล่าวว่า สภาพปัญหาปัจจุบันงานแสดงช้างสุรินทร์ เราไม่สามารถหาอัตลักษณ์ที่แท้จริงชัดเจนได้ เพียงแค่มีพื้นที่ที่อยู่ช้างเยอะที่สุดเท่านั้นเอง ที่มันไม่สามารถสื่อขายได้ในเรื่องการท่องเที่ยว อยากให้คนสุรินทร์รักงานช้างของตัวเองให้มากที่สุด เอกชนที่เข้ามาก่อนสัมปทานดำเนินการแสดงช้าง ยิ่งทำให้งานช้างสลายไป ครั้งล่าสุดท้ายวันอาทิตย์ที่ช้างแสดงอยู่ ไม่มีช้างรองรับนักท่องเที่ยว อยู่ในพื้นที่มันคือปัญหา ช้างน้อยมาก ไม่มีความโดดเด่นพอที่จะให้นักท่องเที่ยวได้เก็บภาพประทับใจ ถึงแม้ว่านักท่องเที่ยวกลุ่มแรกจะบอกว่าประทับใจมากที่มีช้างเดินมา แต่ฉากสุดท้ายกลับไม่มีช้าง เพราะช้างขับออกไปข้างนอกเพื่อหารายได้ นางสาวมานิตา จันทร์ช่วงโชติ อายุ ๒๗ ปี นักศึกษาปริญญาโท สาขาการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งเป็นชาวจ.สุรินทร์ แสดงความคิดเห็นว่า รูปแบบงานช้างระยะหลังๆ พบว่าจะออกเป็นรูปแบบเชิงพาณิชย์มากขึ้น คนสุรินทร์หรือคนท้องถิ่นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำงานของตัวเองมานำเสนอ แต่งานโดยภาพรวมจะเป็นการขายของใช้ทั่วไปเหมือนตลาดนัด ไม่เหมือนเมื่อก่อน ตนอยากให้งานช้างสุรินทร์กลับไปเป็นเหมือนเดิมมากกว่า นายดำเถิง โถทอง อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ กล่าวสรุปว่า ๕๒ ปีของการจัดงานช้างสุรินทร์ สิ่งที่ประมวลสรุปได้คือนโยบายไม่ชัดเจน นโยบายคือเรื่องสำคัญ ผู้รับผิดชอบงาน ในอนาคตงานช้างสุรินทร์ควรมีกรรมการท้องถิ่นเป็นการเฉพาะ ข้าราชการ นักการเมือง พ่อค้า ประชาชน ในรูปแบบของมูลนิธิที่ดูแลจัดการงานช้างอย่างเดียว เพราะผ่านมา ๕๒ ปีแล้วยังไม่มีความชัดเจน ทั้งนี้ สำนักสุรินทร์สโมสรจะจัดเสวนาอย่างสม่ำเสมอเพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนกระบวนการทางความคิดของคนสุรินทร์ทุกภาคส่วนในสังคม เพื่อหาแนวทางสร้างสรรค์ให้งานช้างสุรินทร์เป็นงานที่ยิ่งใหญ่ ธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมประเพณีที่งดงามสืบไป


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๓๘ ฉบับที่ ๒๑๒๒ วันอาทิตย์ที่ ๒๕ - วันพฤหัสบดีที่ ๒๙ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๕๕๕


689 1,365