27thDecember

27thDecember

27thDecember

 

May 21,2022

‘ฅนรักษ์ด่านขุนทด’ลุกฮือ ให้ปิดเหมืองแร่อดีต รมต. ปัญหาไม่จ่ายค่าชดเชย

ฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ยื่นหนังสือนายอำเภอ เร่งแก้ไขปัญหาผลกระทบเหมืองแร่โปแตช “ไทยคาลิ” หลังเคยออกมาเคลื่อนไหวว่ายังไม่ได้รับค่าชดเชยและค่าลอดใต้ถุน อ้างบริษัทไม่มีเงิน พร้อมเจอปัญหาน้ำเค็มจากเหมืองไหลสู่สาธารณะ ล่าสุดยื่น ๔ ข้อเรียกร้อง หากแก้ปัญหาไม่ได้ขอให้เพิกถอนประทานบัตร ด้านบริษัทและอุตสาหกรรมจังหวัดฯ เผยบริษัทยังไม่ได้เริ่มประกอบกิจการ

 

เมื่อเช้าวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๕ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายเมธี กาญจนสุนทร นายอำเภอด่านขุนทด ณ ที่ว่าการอำเภอด่านขุนทด เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาเหมืองแร่โปแตช ในพื้นที่ ๓ ตำบล ได้แก่ ตำบลหนองไทร ตำบลหนองบัวตะเกียด และตำบลโนนเมืองพัฒนา อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา โดยขอให้มีคําสั่งให้ตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหมืองแร่โปแตชของบริษัท ไทยคาลิ จํากัด ประทานบัตรเลขที่ ๒๘๘๓๑/๑๖๑๓๗ พร้อมจ่ายค่าชดเชยเยียวยาผลกระทบจากการทําเหมือง และปรับปรุงแก้ไขโครงการ ไม่ให้สร้างผลกระทบอีกในอนาคต พร้อมระบุว่า บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ได้เริ่มยื่นขอประทานบัตร ประกอบกิจการเหมืองแร่โปแตช จำนวน ๙,๙๐๐ ไร่ ในเดือนตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๕ มีผลอนุมัติรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในปี พ.ศ.๒๕๕๗ และได้รับประทานบัตรเหมืองแร่โปแตชในวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘ การประกอบกิจการเหมืองแร่โปแตซ ของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด มีแผนการทำเหมืองด้วยวิธีแบบห้องว่างสลับเสาค้ำยัน (Room and Pillar) แต่ใช้วิธีการแต่งแร่แบบตกผลึกเย็น (Cold Crystallization) และการลอยแร่ (Flotation) เงินลงทุนประมาณ ๔,๐๐๐ ล้านบาท จากปริมาณสำรองแร่โปแตซ ๑๐๓ ล้านตัน พื้นที่ อ.ด่านขุนทด จะเป็นแร่โปแตซชนิดคาร์นัลไลต์ มีความสมบูรณ์เฉลี่ย ๒๐.๗๘% KCI ข้อมูลทางธรณีวิทยาที่ระบุไว้ว่า แหล่งแร่โปแตชในประเทศรวมกัน ๑๗,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร ส่วนใหญ่จะอยู่ใน ๒ แอ่ง คือ แอ่งโคราช กับแอ่งสกลนคร

น้ำเค็มไหลสู่ที่สาธารณะ

แกนนำกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ระบุว่า หลังได้รับประทานบัตรเพียงปีเดียว ในปี พ.ศ.๒๕๕๙ เหมืองแร่โปแตชดังกล่าว มีการขุดคันดินรอบเหมืองและบ่อเก็บกากแร่ และเกิดการรั่วไหลของน้ำเค็มเข้าสู่ที่ดินสาธารณะและพื้นที่ทำกินของชาวบ้านบริเวณโดยรอบ จนผลผลิตของชาวบ้านเสียหาย ต้นไม้โดยรอบตายเนื่องจากผลของความเค็ม บ้านเรือน สิ่งก่อสร้างผุกร่อน เห็นได้จากเมรุวัดบ้านหนองไทร ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณติดกับพื้นที่ประกอบกิจการเหมืองแร่โปแตช มีการผุกร่อนจนมีความเสี่ยงที่จะพังทลายเสียหาย

อ้างไม่มีเงินจ่าย

ต่อมาชาวบ้านได้เรียกร้องให้จ่ายค่าชดเชยความเสียหายจากการดำเนินกิจการของเหมืองเเร่โปแตช ซึ่งหลังจากเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ในครั้งนั้น ก็ได้ตกลงว่าจะจ่ายค่าชดเชยความเสียหายให้กับชาวบ้านเป็นรายปี กระทั่งปี ๒๕๖๔ บริษัทเเจ้งว่าไม่มีเงินจ่ายค่าชดเชยให้กับชาวบ้าน ในขณะที่ชาวบ้านยังคงได้รับผลกระทบจากการดำเนินกิจการเหมืองแร่อย่างต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน เเละพบว่ายังมีการระบายน้ำเสียจากเหมืองแร่ลงไปในบ่อน้ำสาธารณะ และแพร่กระจายลงไปยังที่ดินทำกินของชาวบ้าน เป็นเหตุให้กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด รวมตัวกันลุกขึ้นมาร้องเรียนให้เจ้าหน้าที่รัฐลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกระบวนการดำเนินการของเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่อำเภอด่านขุนทดว่า เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่ และลงพื้นที่ตรวจสอบผลกระทบจากเหมืองแร่โปแตชร่วมกับชาวบ้าน

ยื่น ๔ ข้อเรียกร้อง

โดยกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ยื่นข้อเรียกร้องดังนี้ ๑.ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีผลกระทบจากเหมืองแร่โปแตช โดยมีสัดส่วนของผู้ได้รับผลกระทบร้อยละ ๕๐, ๒.ขอให้ท่านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีคำสั่งให้ บริษัท ไทคาลิ จำกัด จ่ายค่าชดเชยและเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่, ๓.ต้องมีการแก้ไข/ปรับปรุง วิธีการทำเหมืองแร่ไม่ให้สร้างผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนอีก และ ๔. หากบริษัทไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ตามข้อ ๑., ๒. และ ๓. ต้องมีการเพิกถอนใบประทานบัตร และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องต้องรับผิดชอบจ่ายค่าชดเชยเยียวยาแทน

นายอำเภอเร่งแก้ปัญหา

โดยนายเมธี กาญจนสุนทร นายอำเภอด่านขุนทด เดินทางลงมารับหนังสือ เวลาประมาณ ๑๐.๐๐ น. พร้อมรับฟังปัญหาน้ำเค็มกระจายเข้าสู่บริเวณที่ดินทำกินของชาวบ้าน และผลกระทบต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการประกอบกิจการเหมืองแร่โปแตช ของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด รับปากกับชาวบ้านว่า จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวในทันที โดยการนัดหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมาประชุมร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาในสัปดาห์หน้านี้อย่างแน่นอน

แกนนำกลุ่มกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ยังมีข้อสังเกตและข้อสงสัยในชุมชนว่า กระบวนการอนุมัติประทานบัตรอาจไม่ถูกต้องตามกระบวนการ และการดำเนินการขุดแร่โปแตชของบริษัทไทยคาลิอาจขุดไปเจอตาน้ำใต้ดิน เช่นเดียวกันกับเหมืองแร่โปแตชในพื้นที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ หรือไม่ ทำให้น้ำในพื้นที่ทั้งหมดมีความเค็มขึ้น กระทั่งบริษัทต้องขอหยุดการทำเหมืองชั่วคราว ถ้าหากเรื่องนี้เป็นความจริงผลกระทบที่ตามมาคงจะกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้างของอำเภอด่านขุนทดอย่างแน่นอน

นายเมธี กาญจนสุนทร นายอำเภอด่านขุนทด

อ้างยังไม่ได้รับค่าชดเชย

สำหรับประเด็นการออกมาเคลื่อนไหวของประชาชนนั้น มีรายงานว่า เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ชาวบ้านผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตชกลับไม่ได้รับเงินค่าชดเชยเยียวยา ซึ่งเมื่อทวงถามบริษัทฯ ก็ปฏิเสธที่จะจ่ายเงินชดเชยเยียวยาโดยให้เหตุผลว่า “ไม่มีเงิน” ทั้งที่ในรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ ๑/๒๕๖๔ ของโครงการก็ระบุชัดเจนว่า “บริษัทฯ ได้ทำประกันภัยในกรณีเกิดความเสียหายจากการทำเหมือง ตามมาตรา ๘๘/๑๓ แห่งพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ.๒๕๔๕ สำหรับระยะเตรียมการทำเหมืองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว”

ตั้งกลุ่มฅนรักษ์ด่านขุนทด

ดังนั้น ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตช จึงรวมตัวกันก่อตั้งกลุ่มในนาม ‘กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด’ พร้อมวางทิศทางการขับเคลื่อนเรียกร้องให้บริษัทฯ จ่ายเงินค่าชดเชยเยียวยาให้กับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบและจะเรียกร้องค่าตอบแทนพิเศษแก่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ประทานบัตร หรือ ‘ค่าลอดใต้ถุน’ จากบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของประทานบัตรตามกฎหมายประเภทเหมืองแร่ใต้ดิน ซึ่งถ้าบริษัทฯ ยังคงดึงดันปฏิเสธที่จะจ่ายเงินค่าชดเชยเยียวยาให้กับชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตชและค่าลอดใต้ถุนให้กับเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในพื้นที่ประทานบัตร ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดจะดำเนินการขั้นเด็ดขาดด้วยการปิดเหมืองแร่โปแตชถาวรด้วยสองมือสองเท้าของตนเองอย่างแน่นอน

อ้างยังไม่ได้เปิดเหมือง

ทั้งนี้ “โคราชคนอีสาน” ได้ข้อมูลเบื้องต้นจากเจ้าหน้าที่กลุ่มอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และเจ้าหน้าที่บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ว่า ปัจจุบันเหมืองแร่ของบริษัทฯ ยังไม่ได้เริ่มประกอบกิจการเหมืองแร่  นอกจากนี้ ยังมีรายงานอีกว่า ในการออกมาเคลื่อนไหวและเรียกร้องของประชาชนในแต่ละครั้ง มีแกนนำที่ต่อต้านการทำเหมืองแร่โปแตชในอำเภอบำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เข้ามาเป็นแกนนำในพื้นที่อำเภอด่านขุนทดด้วย

ระบุไม่มีกำไร

อนึ่ง “โครงการเหมืองแร่โปแตซไทยคาลิ” ของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ได้รับอนุญาตประทานบัตร เลขที่ ๒๘๘๓๑/ ๑๖๑๓๗ ระหว่างวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๕๘ –๖ กรกฎาคม ๒๕๘๓ รวมอายุ ๒๕ ปี ครอบคลุมพื้นที่ตำบลหนองไทร ตำบลหนองบัวเกียด ตำบลโนนเมืองพัฒนา อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา รวมเนื้อที่ ๙,๐๐๕ ไร่ ๑ งาน ๖๓ ตารางวา โดยบริษัท ไทยคาลิ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๕๑ โดยมีทุนจดทะเบียนระยะแรก ๑๐ ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๕ เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น ๙๕๐ ล้านบาท, วันที่ ๕ กันยายน ๒๕๕๖ เพิ่มทุนเป็น ๙๕๐ ล้านบาท, วันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๘ เพิ่มทุนเป็น ๑,๒๐๐ ล้านบาท, วันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๕๘ เพิ่มทุนเป็น ๑,๓๒๐ ล้านบาท, วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ เพิ่มทุนเป็น ๑,๓๙๐ ล้านบาท, วันที่ ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เพิ่มทุนเป็น ๑,๔๙๐ ล้านบาท และเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๒ เพิ่มทุนเป็น ๑,๕๙๐ ล้านบาท ระบุวัตถุประสงค์ขณะจดทะเบียนว่า ประกอบกิจการสำรวจ ขุดเจาะ ทำเหมืองแร่บนดินใต้ดินสกัดเอาแร่ทุกชนิดรวมทั้งโปแตช มีกรรมการบริษัท ๒ คน คือ นายวุฒิชัย สงวนวงศ์ชัย และนางอินทิรา สงวนวงศ์ชัย มีที่ตั้งบริษัทอยู่เลขที่ ๓๓๓ หมู่ ๔ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา โดยในงบกำไรขาดทุนประจำปี ๒๕๖๓ มีรายได้รวม ๕๘,๕๖๙,๙๖๖ บาท ไม่ระบุต้นทุนขาย แต่มีค่าใช้จ่ายในการขายและบริการ ๘๗,๐๗๗,๙๒๙ บาท รายจ่ายรวม ๑๐๑,๓๒๔,๗๒๐ บาท มีกำไร(ขาดทุน) สุทธิ -๒๗๙,๖๕๖,๙๑๐ บาท

นอกจากนี้ นายวุฒิชัย-นางอินทิรา สงวนวงศ์ชัย ยังมีชื่อเป็นกรรมการของบริษัท ไทยคาลิ (๒๐๑๖) จำกัด จัดตั้งเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๙ โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก ๑๐ ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙ เพิ่มทุนเป็น ๑๐๐ ล้านบาท มีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ ๕๘๙/๑ ซอยรามคำแหง ๓๙ (เทพลีลา ๑) แขวงวังทองหลาง เขตวังทองหลาง กรุงเทพฯ โดยระบุวัตถุประสงค์ประกอบกิจการสำรวจและตรวจหาแร่ทุกชนิด รวมทั้งโปแตช โดยการเจาะหรือขุด

บริษัทอดีตรัฐมนตรีฯ

ทั้งนี้ นายวุฒิชัย สงวนวงศ์ชัย เกิดที่อำเภอบำเหน็จณรงค์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นส.ส.ชัยภูมิหลายสมัย สังกัดหลายพรรคการเมือง และเคยดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (๙ กรกฎาคม ๒๕๔๒–๙ พฤศจิกายน ๒๕๔๓) และอดีตส.ส.ชัยภูมิ พรรคชาติพัฒนา แต่ภายหลังย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย กระทั่งถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองในกลุ่ม ๑๑๑ คน (บ้านเลขที่ ๑๑๑) เพราะเป็นกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ยุบพรรค

ต้องทำมาหากิน

สำหรับในการเข้ามาประกอบกิจการอุตสาหกรรมเหมืองแร่โปแตชนั้น นายวุฒิชัย สงวนวงศ์ชัย เคยให้สัมภาษณ์กับ “โคราชคนอีสาน” เมื่อปี ๒๕๕๔ ว่า บริษัท ไทยคาลิ จำกัด ได้รับใบอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โปแตซ จำนวน ๔ แปลง รวมพื้นที่ ๔๐,๐๐๐ ไร่ ในอำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ขณะนี้บริษัทฯ ดำเนินการสำรวจไปบ้างแล้ว ก่อนหน้านี้ไม่มีความคิดที่จะเข้ามาสำรวจแร่โปแตซ แต่หลังจากถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ก็เหมือนประชาชนคนหนึ่ง วันนี้ห้ามไม่ให้เล่นการเมือง ตนก็ต้องทำมาหากินเช่นเดียวกับประชาชนคนไทยทั่วไป หากคนที่เคยเป็นนักการเมืองไม่สามารถทำธุรกิจได้ก็ไม่ต้องทำอะไรกัน หรือไม่อยากให้นักการเมืองเข้ามาลงทุนแบบบริสุทธิ์ สุจริต เพื่อผลประโยชน์ต่อสังคม

นายวุฒิชัย ชี้ให้เห็นว่า การทำเหมืองแร่โปแตซเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างหนึ่งกับเกษตรกรชาวไทย ทุกวันนี้ประเทศไทยส่วนใหญ่ต้องนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศ ถ้าภายในประเทศมีวัตถุดิบของเราเอง คือ แร่โปแตซ จะสามารถขุดขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ โดยไม่ต้องนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศ นั่นคือข้อเท็จจริงที่ต้องพูดคุยกับประชาชนให้เข้าใจ เพราะวันนี้ประเทศไทยต้องนำเข้าปุ๋ยจากต่างประเทศ ทำให้เป็นรองประเทศอื่นมาตลอด เมื่อได้สิทธิ์ใช้ทรัพยากรภายในประเทศ ก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชน โดยเฉพาะเกษตรกรที่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ย หากรัฐบาลให้การส่งเสริมก็ยิ่งเป็นประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกรในระยะยาว ขณะนี้ทุกๆ ประเทศมีข้อจำกัด ประชากรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การกินการอยู่ต้องใช้วัตถุดิบหรือผลผลิตมากขึ้น แต่พื้นที่เพาะปลูกมีจำกัด เป็นธรรมดาถ้าจะเพิ่มผลผลิตต่อไร่ จำเป็นต้องเร่งการใช้ปุ๋ย ซึ่งข้อเท็จจริงตรงนี้ถ้าทุกฝ่ายเข้าใจ จะสามารถส่งเสริมและเกิดประโยชน์แก่สังคมโดยรวมในอนาคตต่อไป


ทั้งนี้ หากมีความคืบหน้า “โคราชคนอีสาน” จะนำเสนอต่อไป


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๒๗ ประจำวันพุธที่  ๑๘ - วันอังคารที่  ๒๔  เดือนพฤษภาคม  พุทธศักราช  ๒๕๖๕


80 1,677