30thDecember

30thDecember

30thDecember

 

May 28,2022

‘โคราช-ขอนแก่น’ควรเลือกตั้งผู้ว่าฯ รู้สึกเฉยๆ กับการบริหารของ อบจ.

สำรวจความคิดเห็นประชาชน “คนอีสานกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด” พบเกือบครึ่งอยากเห็นการกระจายอำนาจบริหารและงบประมาณให้จังหวัดและท้องถิ่นมากขึ้น ส่วนใหญ่เห็นด้วยควรเลือกตั้งผู้ว่าฯ “ขอนแก่น-โคราช” เป็นพื้นที่นำร่องเลือกตั้งมากที่สุด

เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕ รศ.ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า อีสานโพลทำการสำรวจเรื่อง “คนอีสานกับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด” เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนอีสานกับการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ ๒๐-๒๒ พฤษภาคม ๒๕๖๕ จากกลุ่มตัวอย่างอายุ ๑๘ ปีขึ้นไป จำนวน ๑,๑๐๐ รายในเขตพื้นที่ภาคอีสาน ๒๐ จังหวัด

เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า “รัฐบาลได้กระจายอำนาจการบริหารและงบประมาณให้จังหวัดและท้องถิ่นมากน้อยเพียงใด” พบว่า กลุ่มที่เห็นว่ากระจายอำนาจน้อยเกินไปมีร้อยละ ๔๗.๔ ซึ่งใกล้เคียงกลุ่มที่เห็นว่ากระจายอำนาจในระดับที่เหมาะสมมีร้อยละ ๔๗.๒ ขณะที่ ร้อยละ ๕.๔ เห็นว่ากระจายอำนาจมากเกินไป ส่วนในข้อคำถามที่ว่า “พึงพอใจกับการบริหารงานของผู้ว่าราชการจังหวัดคนปัจจุบันของท่านหรือไม่อย่างไร” พบว่าความพึงพอใจค่อนไปทางฝั่งเฉยๆ ถึงรู้สึกดี และคิดเป็นคะแนนเฉลี่ยได้ ๓.๑๕ จากสเกล ๕ ระดับ (๓ คือค่ากึ่งกลาง)

ส่วนคำถาม “พึงพอใจกับการบริหารงานขององค์การบริหารงานส่วนจังหวัด (อบจ.) ของท่านหรือไม่ อย่างไร” พบว่า ความพึงพอใจค่อนไปฝั่งเฉยๆ ถึงรู้สึกดี และคิดเป็นคะแนนเฉลี่ยได้ ๓.๒๘ จากสเกล ๕ ระดับ (๓ คือค่ากึ่งกลาง) เมื่อถามอีกว่า “หากจังหวัดของท่านได้รับการกระจายอำนาจและมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เช่นเดียวกับ กทม. จะเป็นอย่างไร” พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ ๔๗.๙ เห็นว่า มีข้อดีมากกว่าข้อเสีย รองลงมาร้อยละ ๔๐.๕ เห็นว่า มีข้อดีพอๆ กับข้อเสีย ขณะที่ ร้อยละ ๑๑.๖ เห็นว่า มีข้อเสียมากกว่าข้อดี

เมื่อสอบถามต่อว่า “จังหวัดของท่านต้องเตรียมพร้อมที่จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ เช่นเดียวกับ กทม. กี่ปี” พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ ๕๑.๙ เห็นว่า พร้อมภายใน ๑-๒ ปี รองลงมา ร้อยละ ๓๑.๙ พร้อมภายใน ๓-๕ ปี ตามมาด้วย ร้อยละ ๑๓.๐ พร้อมภายใน ๖-๑๐ ปี และมีเพียงร้อยละ ๓.๒ ที่คาดว่าจะใช้เวลามากกว่า ๑๐ ปี

ส่วนคำถามที่ว่า “จังหวัดใดในภาคอีสานที่ควรเป็นจังหวัดนำร่องในการกระจายอำนาจและเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเช่นเดียวกับ กทม. มากที่สุด” พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ ๔๐.๓ ควรเป็นจังหวัดขอนแก่น รองลงมาร้อยละ ๒๗.๓ นครราชสีมา ตามมาด้วยร้อยละ ๒๐.๐ อุดรธานี, ร้อยละ ๘.๔ บุรีรัมย์, ร้อยละ ๓.๖ อุบลราชธานี และร้อยละ ๐.๔ ระบุอื่นๆ หรือไม่แน่ใจ

สำหรับคำถามท้ายสุด “ใครเหมาะสมเป็นผู้ว่า กทม.มากที่สุด” พบว่า อันดับหนึ่ง ร้อยละ ๕๐.๙ รศ.ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธ์ เหมาะสมที่สุด รองลงมาร้อยละ ๑๖.๘ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ตามมาด้วย ร้อยละ ๑๓.๖ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง, ร้อยละ ๗.๓ น.ต.ศิธา ทิวารี, ร้อยละ ๖.๔ ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์, ร้อยละ ๒.๔ นายสกลธี ภัททิยกุล, ร้อยละ ๑.๓ นางรสนา โตสิตระกูล และร้อยละ ๑.๓ ระบุอื่นๆ

อนึ่ง กลุ่มตัวอย่าง ประกอบด้วยเพศหญิง ร้อยละ ๕๒.๐ และเพศชายร้อยละ ๔๘.๐ อายุ ๑๘-๒๔ ปี ร้อยละ ๖.๘, อายุ ๒๕-๓๐ ปี ร้อยละ ๑๓.๑, อายุ ๓๑-๔๐ ปี ร้อยละ ๒๕.๔, อายุ ๔๑-๕๐ ปี ร้อยละ ๒๓.๖, อายุ ๕๑- ๖๐ ปี ร้อยละ ๒๒.๒ และอายุ ๖๑ ปีขึ้นไป ร้อยละ ๙.๐ ส่วนระดับการศึกษา ประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ ๑๒.๕, มัธยมศึกษาตอนต้น ร้อยละ ๑๖.๖, มัธยมศึกษาตอนปลาย/ระดับ ปวช.  ร้อยละ ๒๙.๘, ระดับอนุปริญญา/ปวส. ร้อยละ ๑๘.๔, ระดับปริญญาตรี ร้อยละ ๒๑.๘ และสูงกว่าปริญญาตรี ร้อยละ ๐.๙

กลุ่มตัวอย่างประกอบอาชีพเกษตรกร ร้อยละ ๓๕.๕ รองลงมา รับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ ๑๗.๒, ค้าขาย/ธุรกิจส่วนตัว/อาชีพอิสระ ร้อยละ ๑๓.๙, พนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ ๑๐.๔, ราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ ๑๐.๓, นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ ๖.๕, พ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ ๕.๔ และอื่นๆ ร้อยละ ๐.๗

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๒๘ วันพุธที่ ๒๕ - วันอังคารที่ ๓๑ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕


91 1,688