May 28,2022
‘มทร.อีสาน’ทุ่มงบกว่า ๔๕๐ ล้าน สร้างอาคารระบบราง-อากาศยาน
มทร.อีสาน วางศิลาฤกษ์ก่อสร้าง “อาคารปฏิบัติการด้านระบบรางและอากาศยาน” ตั้งตามชื่อนายกสภาฯ “อาคารสุรเกียรติ์ เสถียรไทย” ใช้งบปี ๖๔-๖๖ กว่า ๔๕๐ ล้านบาท รองรับการเรียนการสอนระบบรางและอากาศยาน สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติ และเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงในภูมิภาคเอเชีย
เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๕ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) จัดพิธีวางศิลาฤกษ์ก่อสร้าง “อาคารสุรเกียรติ์ เสถียรไทย” ปฏิบัติการด้านระบบรางและอากาศยาน รองรับการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์โลจิสติกส์และการท่องเที่ยวของจังหวัดนครราชสีมา ในระดับประเทศ และระดับนานาชาติ โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ มทร.อีสาน เป็นประธานในพิธี และพระเทพสีมาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา เจ้าอาวาสวัดบึง พระอารามหลวง เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ในการทำพิธีเจริญพระพุทธมนต์ พร้อมด้วย รศ.ดร.โฆษิต ศรีภูธร อธิการบดี มทร.อีสาน คณะกรรมการสภา คณะผู้บริหาร และบุคลากรของมหาวิทยาลัย รวมทั้ง นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมพิธี ภายใต้มาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-๑๙ ณ ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง มทร.อีสาน นครราชสีมา อำเภอเมืองนครราชสีมา
สำหรับอาคารสุรเกียรติ์ เสถียรไทย ศูนย์ปฏิบัติการศึกษาด้านระบบรางและอากาศยาน ที่จะเริ่มการก่อสร้างในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกสภา มทร.อีสาน และ ผศ.ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดี มทร.อีสาน ในช่วงปี พ.ศ.๒๕๕๘–๒๕๖๔ ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการนำพาให้มหาวิทยาลัยเกิดการสร้างยุทธศาสตร์ด้านการขนส่งและท่องเที่ยว (logistic and tourism) โดยมุ่งเน้นไปที่เรื่องของระบบรางและอากาศยาน ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทย จึงทำให้มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการด้านระบบรางและอากาศยานอย่างเต็มที่ในทุกมิติมาถึงปัจจุบัน โดยอาคารสุรเกียรติ์ฯ เปรียบเสมือนศูนย์กลางด้านการเรียนรู้ วิจัย และซ่อมบำรุงด้านระบบรางและอากาศยาน เพื่อขับเคลื่อนพันธกิจของ มทร.อีสาน ในยุทธศาสตร์โลจิสติกส์และการท่องเที่ยว ซึ่งสามารถเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ ๓ ระดับ ได้แก่ ๑) ระดับจังหวัดนครราชสีมา ด้านศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ๒) ระดับประเทศ การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมรถไฟรางคู่ ความเร็วสูง และรางเบาภายในเมือง และ ๓) ระดับนานาชาติ สอดคล้องกับนโยบาย One Belt, One Road เชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงในภูมิภาคเอเชีย
อาคารนี้จะถูกสร้างให้เป็นศูนย์รวมการจัดการเรียนการสอนหลักสูตรด้านระบบรางและอุตสาหกรรมการบินแบบครบวงจรในระบบห่วงโซ่อุปทานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ อันจะเป็นศูนย์ฝึกเชิงปฏิบัติการที่รองรับทั้ง Up Skill, Re Skill และ New Skill ให้แก่นักศึกษาและบุคลากรจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้านระบบรางและอุตสาหกรรมการบินทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงจะเป็นสถานที่ปฏิบัติการร่วมกันระหว่างสถาบันหรือองค์กรต่างๆ ที่ได้ทำความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนพันธกิจและยุทธศาสตร์โลจิสติสก์และการท่องเที่ยว ซึ่งจะเป็นการสร้างสัญลักษณ์และภาพลักษณ์ด้านโลจิสติกส์และการท่องเที่ยวในระดับประเทศและนานาชาติได้เป็นอย่างมาก ทั้งนี้ เพื่อเป็นเกียรติแก่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภามหาวิทยาลัยฯ ที่ประชุมผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยฯ จึงมีมติให้ตั้งชื่ออาคารปฏิบัติการศึกษาด้านระบบรางและอากาศยาน เป็น “อาคารสุรเกียรติ์ เสถียรไทย” ศูนย์ปฏิบัติการศึกษาด้านระบบรางและอากาศยาน เพื่อเป็นเกียรติประวัติในคุณความดีและคุณูปการที่มีต่อมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
สำหรับ “อาคารศูนย์ปฏิบัติการศึกษาด้านระบบรางและอากาศยาน มทร.อีสาน” ได้รับการจัดสรรงบประมาณจำนวน ๔๕๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๖๔-๒๕๖๖ กำหนดราคากลางในการจัดจ้างเป็นเงิน ๔๕๖,๘๑๙,๖๗๓.๗๙ บาท (แยกเป็นค่าก่อสร้าง ๓๙๑,๒๕๕,๘๕๓.๙๓ บาท และครุภัณฑ์จัดซื้อ ๖๕,๕๖๓,๘๑๙.๘๖ บาท) และในวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๖๔ มีการประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) จากนั้น ในวันที่ ๒๓ เมษายน ๒๕๖๔ มีประกาศของมหาวิทยาลัยฯ ถึงรายชื่อผู้ชนะการเสนอราคา ประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารดังกล่าว ซึ่งลงนามโดย ผศ.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดร มทร.อีสาน ระบุว่า “ผู้เสนอราคาที่ชนะการเสนอราคา เป็นผู้เสนอราคาที่ได้คะแนนรวมสูงสุด และมีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วนตามเกณฑ์ที่มหาวิทยาลัยฯ กำหนด ได้แก่ บริษัท พุทธเตชะ จำกัด โดยเสนอราคาเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๓๙๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ซึ่งรวมภาษีเพิ่มและภาษีอื่น ค่าขนส่ง ค่าจดทะเบียน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งปวง”
สำหรับบริษัท พุทธเตชะ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๕๕๗ โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มแรก ๑ ล้านบาท ต่อมาเมื่อวันที่ ๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เพิ่มทุนเป็น ๕๐ ล้านบาท มีนายสิริเดช พุทธเตชะ เป็นกรรมการเพียงคนเดียว ระบุวัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียนประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้างต่างๆ และงานโยธาทุกประเภท ตั้งอยู่เลขที่ ๑๕๘/๒ ถนน ๓๐ กันยา ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา
แต่ในเวลาต่อมา คือเมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๔ มีประกาศมหาวิทยาลัยฯ ยกเลิกประกาศผู้ชนะการเสนอราคาประกวดราคาจ้างก่อสร้างอาคารฯ โดยระบุว่า “เนื่องจากได้มีผู้ยื่นอุทธรณ์ผลการพิจารณา และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง ให้มหาวิทยาลัยฯ ยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างในครั้งนี้ และดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ ตามนัยมาตรา ๔๓ ประกอบมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐”
จากนั้น ในวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๔ มีการประกาศประกวดราคาจ้างอาคารดังกล่าวอีกครั้ง และมีการประกาศผู้ชนะการเสนอราคาฯ ลงนามโดย รศ.โฆษิต ศรีภูธร รักษาราชการแทนอธิการบดี มทร.อีสาน โดยระบุว่า “ผู้เสนอราคาที่ชนะการเสนอราคาได้แก่ บริษัท ไทยพารากอน คอนสตรัคชั่น จำกัด เสนอราคาต่ำสุดและมีคุณสมบัติถูกต้องครบถ้วนตามที่มหาวิทยาลัยฯ กำหนด โดยเสนอราคาเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น ๓๗๖,๙๖๐,๐๐๐ บาท ซึ่งรวมภาษีเพิ่มและภาษีอื่น ค่าขนส่ง ค่าจดทะเบียน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทั้งปวง”
อนึ่ง บริษัท ไทยพารากอน คอนสตรัคชั่น จำกัด จัดตั้งเมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๓๒ ทุนจดทะเบียนแรกเริ่มจำนวน ๒ ล้านบาท ต่อมาวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๔ เพิ่มทุนเป็น ๕ ล้านบาท จากนั้นวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๓๘ เพิ่มทุนเป็น ๗๐ ล้านบาท, วันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๔๑ ลดทุนเหลือ ๒๐ ล้านบาท, วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๔๙ เพิ่มทุนเป็น ๒๐๐ ล้านบาท, วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๕๐ เพิ่มทุนเป็น ๒๗๐ ล้านบาท, วันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๕๐ ลดทุนเหลือ ๑๐๐ ล้านบาท, วันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๑ ลดทุนเหลือ ๔๐ ล้านบาท, วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๔ เพิ่มทุนเป็น ๔๕ ล้านบาท, วันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๕๙ เพิ่มทุนเป็น ๙๕ ล้านบาท และเมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๙ เพิ่มทุนเป็น ๑๑๐ ล้านบาท (ไทย ๕๒.๒๓% และจีน ๔๗.๗๗%) มีกรรมการบริษัท ๑ คนคือนายเจียง กั๋ว ซู แจ้งวัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียนว่า “รับจ้าง ขน ตัก ขุด ถ่ายเท เคลื่อนย้ายหิน ดิน ทราย ถ่านหิน แร่ธาตุทุกชนิด” ส่วนวัตถุประสงค์ที่มาจากงบการเงินปีล่าสุดคือ “ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง” มีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่ ๗๗๗/๗ ถนนประชาอุทิศ แขวงสามเสนนอก เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ
สำหรับอาคารศูนย์ปฏิบัติการศึกษาด้านระบบรางและอากาศยาน หรือ “อาคารสุรเกียรติ์ เสถียรไทย” กำหนดใน TOR ว่ามีระยะเวลาก่อสร้าง ๙๒๐ วัน ซึ่งสืบเนื่องจาก มทร.อีสาน ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง ดําเนินการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับระบบรางและอุตสาหกรรมการบินในคณะวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมระบบรางและสาขาวิชา วิศวกรรมช่างซ่อมบํารุงอากาศยาน ซึ่งมีความจําเป็นต้องใช้ห้องปฏิบัติการด้านระบบรางในการเรียนการสอน เกี่ยวกับการก่อสร้าง ติดตั้งและตรวจสอบการบํารุงรักษา การซ่อมบํารุง ระบบอาณัติสัญญาณและการควบคุม มาตรฐานความปลอดภัยในงานระบบล้อ ระบบควบคุมไฟฟ้า ระบบไฟฟ้ากําลัง การควบคุมและการจัดการเดินรถ โปรแกรมเมเบิลลอจิกคอนโทรลและระบบควบคุม ระบบป้องกันและความปลอดภัย และมีความจําเป็นต้องใช้ห้องปฏิบัติการด้านอุตสาหกรรมการบินในการเรียนการสอนเกี่ยวกับการพัฒนาขีดความสามารถบุคลากร ทางด้านการบินของประเทศ ในรูปแบบการบริการทางอากาศและการบริการภาคพื้นดิน บุคลากรการบิน ได้แก่ นักบิน แอร์โฮสเตส และบุคลากรสนับสนุนการบิน ได้แก่ พนักงานซ่อมบํารุงอากาศยานและอุปกรณ์ สื่อสารการบิน เป็นต้น จากเหตุผลในการเติบโตทางด้านระบบรางและอุตสาหกรรมการบินทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นโอกาสที่ดียิ่งต่อมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ในการพัฒนาขีดความสามารถให้เป็นมหาวิทยาลัยหลักของประเทศไทยและภูมิภาคในการผลิตบุคลากรและองค์ความรู้ทางด้าน ระบบรางและการบินที่มีคุณภาพและเป็นไปตามมาตรฐานสากล อันจะเป็นรากฐานในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านระบบรางและการบินในภูมิภาคตามนโยบายของรัฐบาล
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๒๘ วันพุธที่ ๒๕ - วันอังคารที่ ๓๑ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕
131 1,976