15thJanuary

15thJanuary

15thJanuary

 

May 28,2022

สร้างศาลากลางซ้อนวุ่น พื้นที่แออัดยัดทะนาน ช้ากว่าปีอ้างโควิด

ก่อสร้างศาลากลางหลังใหม่ซ้อนหลังเดิม งบประมาณ ๑๐๕ ล้าน จากนโยบายเดิมกว่า ๒๐ ปี จะย้ายไปสร้างพื้นที่ใหม่กว่าร้อยไร่ ล่าสุดไม่เสร็จตามแผน ช้ากว่า ๙ เดือน โยธาจังหวัดฯ อ้างช้าเพราะโควิด-๑๙ มีปัญหาเรื่องแรงงาน ผ่อนปรนผู้รับเหมาไม่ต้องเสียค่าปรับ เพราะรัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือ คาดอีก ๕ เดือน เป็นรูปเป็นร่าง

ตามที่ นายไสว พราหมณี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา คนที่ ๓๖ (พ.ศ.๒๕๓๑-๒๕๓๓) มีแนวคิดในการจัดสร้างศูนย์ราชการจังหวัดนครราชสีมา ที่บึงพุดซา ตำบลพุดซา อำเภอเมืองนครราชสีมา ต่อมาปี ๒๕๔๒ นายโยธิน เมธชนัน ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา คนที่ ๔๐ (พ.ศ.๒๕๔๐-๒๕๔๔) ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างศูนย์ราชการรองจังหวัดนครราชสีมา บริเวณเขตพื้นที่ตำบลโคกกรวด อำเภอเมืองนครราชสีมา โดยมีพระเทพวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ร่วมประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ แต่หลังจากนั้นโครงการดังกล่าวก็ไม่มีความคืบหน้า

กระทั่งปี ๒๕๕๒ คณะกรรมการวางผังแม่บทศูนย์ราชการจังหวัดนครราชสีมา มีมติเห็นชอบให้มีการก่อสร้างศูนย์ราชการหลักและศูนย์ราชการรอง โดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา ได้เสนอให้มีศูนย์ราชการกลางเมือง หรือ City Hall Complex ที่บริเวณหลังศาลากลางจังหวัดฯ ถนนมหาดไทย พื้นที่ประมาณ ๑๗.๘ ไร่ ก่อสร้างเป็นอาคารรูปตัวยูล้อมอาคารหลังเก่า สูง ๙ ชั้น โดยใช้เวลาก่อสร้างประมาณ ๕ ปี ส่วนศูนย์ราชการหลักและศูนย์ราชการรองนั้น เบื้องต้นกำหนดใช้ที่ดินของทหาร บริเวณติดถนนราชสีมา-ปักธงชัย ตำบลโพธิ์กลาง ฝั่งตรงข้ามสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษาฯ คาดว่า จะใช้พื้นที่ประมาณ ๕๐๐-๑,๐๐๐ ไร่ โดยจะยึดแนวทางการก่อสร้างแบบศูนย์ราชการกรุงเทพฯ และเน้นการประหยัดพลังงาน คาดว่าจะใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ ล้านบาท ทั้งนี้ โครงการก่อสร้างศูนย์ราชการจังหวัดฯ เป็นโครงการที่ธนารักษ์พื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ดำเนินการมาตั้งแต่สมัยนายสุธี มากบุญ ผู้ราชการจังหวัดนครราชสีมา คนที่ ๔๔ (พ.ศ.๒๕๕๐-๒๕๕๑) ซึ่งทั้ง ๒ โครงการดังกล่าวก็ไม่มีความคืบหน้าเช่นกัน

ปรับปรุงศาลากลาง

ต่อมา ในสมัยนายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา คนที่ ๔๙ (พ.ศ.๒๕๕๗-๒๕๕๘) ทำการปรับปรุงศาลากลางหลังเดิมและใช้งานถึงปัจจุบัน ซึ่งให้สัมภาษณ์กับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “การปรับปรุงศาลากลางจังหวัดและหอประชุมเปรมติณสูลานนท์นั้น ไม่ได้ใช้งบยุทธศาสตร์จังหวัด แต่ใช้งบฟังก์ชั่น (งบลงทุน) ประมาณ ๒๐ ล้านบาท โดยได้รับความกรุณาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่ออำนวยความสะดวกในการติดต่องานราชการ ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง ดังนั้น จำเป็นต้องทำเพราะโคราชเป็นจังหวัดใหญ่ที่สุดของประเทศ ถ้าแขกบ้านแขกเมืองมาเห็นสภาพศาลากลางจังหวัดที่ทรุดโทรมคงไม่เหมาะสม”

สร้างอาคารใหม่

พ.ศ.๒๕๖๓ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา คนที่ ๕๐ (พ.ศ.๒๕๕๘-๒๕๖๔) ซึ่งต่อมาย้ายกลับไปจังหวัดชัยภูมิ ๔ เดือน (๓๑ พฤษภาคม-๓๐ กันยายน ๒๕๖๔) และกลับมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา คนที่ ๕๒ (พ.ศ.๒๕๖๔-๒๕๖๕) ดำเนินโครงการก่อสร้างปรับปรุงและต่อเติมอาคารศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา (อาคาร ค.ส.ล. ๔ ชั้น พื้นที่ใช้สอย ๑๑,๗๐๐ ตารางเมตร) เชื่อมระหว่างอาคารหอประชุมเปรมติณสูลานนท์กับอาคารศาลากลางหลังเก่า จำนวน ๑ หลัง โดยมีพิธีวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๖๓ ซึ่งโครงการดังกล่าว ดำเนินการโดยสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา มีผู้รับจ้าง คือ บริษัท เลิศพัฒนาศรีสะเกษ จำกัด ตามสัญญาจ้างเลขที่ ๕/๒๕๖๓ ลงวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๓ เริ่มสัญญาจ้าง วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๖๓ และสิ้นสุดสัญญาจ้างวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๖๔ รวมระยะเวลาการก่อสร้าง ๔๕๐ วัน ในราคาค่าก่อสร้าง ๑๐๕,๘๐๐,๐๐๐ บาท  กระทั่งเวลาล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน (๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕) แต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ

สำหรับอาคารศาลากลางจังหวัดหลังใหม่ เป็นอาคารทรงไทยสูง ๔ ชั้น ซ้อนศาลากลางหลังปัจจุบัน มีพื้นที่ใช้สอย ๑๑,๗๐๐ ตารางเมตร โดยกำหนดให้ชั้นที่ ๑ ด้านซ้ายเป็นลานจอดรถของผู้ว่าราชการจังหวัดฯ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ และหัวหน้าส่วนราชการ ส่วนด้านซ้ายจะเป็นห้องเก็บพัสดุ ชั้นที่ ๒ ด้านขวาแบ่งเป็นห้องผู้ว่าราชการจังหวัดฯ, ห้องปฏิบัติงาน, ห้องส่วนราชการของสำนักงานผู้ว่าราชการจังหวัดฯ และห้องประชุมผู้ว่าราชการ จังหวัดฯ ส่วนด้านซ้ายจะเป็นสำนักงานของรองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ชั้นที่ ๓ คือ สำนักงานจังหวัดนครราชสีมา ที่ย้ายมาจากชั้น ๒, ๓ ของอาคารเดิม และชั้นที่ ๔ เป็นห้องประชุมขนาดใหญ่ ๑ ห้อง และสำนักงานของส่วนราชการที่ย้ายจากอาคารเดิมบางส่วน

การก่อสร้างล่าช้า

ล่าสุด เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๖๕ “โคราชคนอีสาน” ติดต่อขอสัมภาษณ์นายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งชี้แจงว่า โครงการดังกล่าว มีสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้รับผิดชอบและว่าจ้างผู้รับเหมา ดังนั้น โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดฯ จะทราบข้อมูลชัดเจนที่สุด พร้อมกับย้ำว่า ตนไม่ได้มีเจตนาไม่ให้ข้อมูล แต่เป็นเพราะไม่ทราบรายละเอียดเชิงลึกจริงๆ จากนั้น “โคราชคนอีสาน” จึงติดต่อนายอนุชา เจริญพันธ์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา แต่ขณะนี้ลาราชการ เพื่อศึกษาต่อเป็นเวลา ๒ เดือน ไม่สามารถให้ข้อมูลได้

ต่อมา “โคราชคนอีสาน” ติดต่อสัมภาษณ์ นายพุทธชาติ สามงาม รักษาราชการแทนโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา ในกรณีดังกล่าว ได้ความว่า “สาเหตุหลักที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้า เกิดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ซึ่งเราก็เร่งรัดโดยตลอด เพราะนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ต้องการให้ก่อสร้างแล้วเสร็จโดยเร็ว ประเด็นหลักที่ทำให้ล่าช้า คือ แรงงาน ซึ่งผู้รับจ้างบอกว่า เมื่อแรงงานเข้ามาพื้นที่ก็พบติดเชื้อโควิด-๑๙ ทำให้ต้องหยุดการก่อสร้าง ส่งผลให้ล่าช้ามาโดยตลอด สำหรับค่าปรับล่าช้าเกินสัญญานั้น รัฐบาลมีนโยบายในช่วงโควิด-๑๙ ช่วยให้ผู้รับเหมาเสียค่าปรับเป็นศูนย์ โดยขณะนี้ก่อสร้างไปแล้วประมาณร้อยละ ๖๐ คาดว่าจะเป็นรูปเป็นร่างในช่วงเดือนกันยายนหรือตุลาคมปีนี้ วัสดุอุปกรณ์ก็มาหมดแล้ว เดือนมิถุนายนอาจจะขึ้นโครงหลังคาหรือมุงหลังคา จากนั้นก็จะเหลือเพียงงานตกแต่ง งานฉาบ และก่ออิฐ” (สถานการณ์โควิด-๑๙ เริ่มมีการแพร่ระบาดในประเทศไทยครั้งแรกประมาณเดือนมกราคม ๒๕๖๓)

“ในส่วนของงบประมาณจำนวน ๑๐๕,๘๐๐,๐๐๐ บาท แบ่งเบิกจ่ายทั้งหมดออกเป็น ๘๙ งวด ขณะนี้ส่งมอบงานแล้ว ๑๙ งวด เป็นเงินประมาณ ๒๕ ล้านบาท ทั้งนี้ กรณีการเสียค่าปรับของผู้รับเหมา ขณะนี้มีนโยบายมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ตามหนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) ๐๔๐๕.๒/ว ๖๙๓ ซึ่งการจะคำนวณวันล่าช้านั้น จะต้องยกเลิกนโยบายนี้ก่อน ต้องรอดูว่ารัฐบาลจะประกาศยกเลิกเมื่อใด เนื่องจากมาตรการนี้เป็นมาตรการของรัฐบาล” นายพุทธชาติ กล่าว

สร้างช้าไม่เสียค่าปรับ

ทั้งนี้ หนังสือคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ด่วนที่สุด ที่ กค (กวจ) ๐๔๐๕.๒/ว ๖๙๓ ลงวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๔ ระบุว่า คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ เรื่องมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ และแนวทางกําหนดอัตราค่าปรับเป็นอัตราร้อยละ ๐ ซึ่งกรมบัญชีกลางจะเสนอคณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหาร พัสดุภาครัฐ โดยอาศัยอํานาจตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง (๔) เพื่ออนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ ข้อ ๑๖๒ ในเรื่องอัตราค่าปรับตามสัญญาหรือข้อตกลง ซึ่งกําหนดไว้สรุปว่า การทําสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือให้กําหนดค่าปรับเป็นรายวันในอัตราตายตัวระหว่างร้อยละ ๐.๐๑-๐.๒๐ ของราคาพัสดุที่ยังไม่ได้รับมอบ หรือกรณีการจ้างซึ่งต้องการผลสําเร็จของงานทั้งหมดพร้อมกันให้กําหนดค่าปรับเป็นรายวันเป็นจํานวนเงินตายตัวในอัตราร้อยละ ๐.๐๑-๐.๑๐ ของราคางานจ้างนั้น แต่จะต้องไม่ต่ำกว่าวันละ ๑๐๐ บาท โดยยกเว้นกรณีสัญญายังมีนิติสัมพันธ์อยู่ หากยังมิได้ส่งมอบงานงวดสุดท้ายหรือได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้าย แต่ยังมิได้มีการตรวจรับพัสดุ ให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ ๐ และรายงานคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐเพื่อทราบต่อไป

ทำสัญญาก่อนโควิดระบาด

จากนั้น คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ ตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเมื่อวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๔ เรื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือ ผู้ประกอบการในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๔ จึงอาศัยอํานาจตามความในพระราชบัญญัติ การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง (๔) อนุมัติยกเว้นการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐ ข้อ ๑๖๒ โดยกําหนดอัตราค่าปรับเป็นอัตราร้อยละ ๐ ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือ ดังต่อไปนี้ ๑.กรณีสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือ ที่ได้ลงนามก่อนวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓ ซึ่งยังมีนิติสัมพันธ์อยู่ ประกอบด้วย ๑.๑) หากจำนวนค่าปรับที่เกิดขึ้นมีมูลค่าเกินกว่าร้อยละ ๒๕ ของวงเงินค่าพัสดุหรือค่าจ้าง ก่อนวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓ จะไม่เข้าเกณฑ์ได้รับความช่วยเหลือ ๑.๒) มีค่าปรับเกิดขึ้นก่อนวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓ และได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แต่ยังมิได้มีการตรวจรับพัสดุ ให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ ๐ ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓ จนถึงก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ส่วนที่เหลือให้คิดค่าปรับตามอัตราปกติ ๑.๓) มีค่าปรับเกิดขึ้นก่อนวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓ แต่ได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายภายหลังวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ ๐ ตั้งแต่วันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓ จนถึงก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ส่วนที่เหลือให้คิดค่าปรับตามอัตราปกติ

๑.๔) หากสัญญาฯ ครบกำหนดในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ซึ่งได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แต่ยังมิได้มีการตรวจรับพัสดุ หากมีค่าปรับเกิดขึ้น ให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ ๐ ตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดตามสัญญาฯ จนถึงก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ๑.๕) หากสัญญาฯ ครบกำหนดในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แต่ได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายภายหลังวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ หากมีค่าปรับเกิดขึ้น ให้นับจำนวนวันที่ต้องปรับตามสัญญาฯ แล้วให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ ๐ เป็นจำนวนเท่ากับวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓ จนถึงก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ส่วนที่เหลือให้คิดค่าปรับตามอัตราปกติ และ ๑.๖) หากสัญญาฯ ครบกำหนดหลังประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และยังมิได้ส่งมอบงานงวดสุดท้าย หากมีค่าปรับเกิดขึ้น ให้นับจำนวนวันที่ต้องปรับตามสัญญาฯ แล้วให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ ๐ เป็นจำนวนเท่ากับวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓ จนถึงก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ส่วนที่เหลือให้คิดค่าปรับตามอัตราปกติ

ทำสัญญาหลังโควิดระบาด

๒.กรณีสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือ ที่ได้ลงนามหลังวันที่ ๒๖ มีนาคม ๒๕๖๓ ซึ่งยังมีนิติสัมพันธ์อยู่ ประกอบด้วย ๒.๑) สัญญาฯ ครบกำหนดในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แต่ยังมิได้มีการตรวจรับพัสดุ หากมีค่าปรับเกิดขึ้น ให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ ๐ ๒.๒) สัญญาฯ ครบกำหนดในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แต่ได้มีการส่งมอบงานงวดสุดท้ายหลังวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แต่ยังมิได้มีการตรวจรับพัสดุ หากมีค่าปรับเกิดขึ้น ให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ ๐ เป็นจำนวนเท่ากับวันที่ลงนามตามสัญญาฯ จนถึงก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ส่วนที่เหลือให้คิดค่าปรับตามอัตราปกติ และ ๒.๓) สัญญาฯ ครบกำหนดหลังวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และยังมิได้ส่งมอบงานงวดสุดท้าย และมีค่าปรับเกิดขึ้น ให้นับจำนวนวันที่ต้องปรับตามสัญญาฯ แล้วให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ ๐ เป็นจำนวนเท่ากับวันที่ลงนามตามสัญญาฯ จนถึงก่อนวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ส่วนที่เหลือให้คิดค่าปรับตามอัตราปกติ

ในส่วนของกรณีที่หน่วยงานของรัฐได้พิจารณางดหรือลดค่าปรับให้แก่คู่สัญญา หรือขยายระยะเวลาทำการตามสัญญาฯ ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างฯ มาตรา ๑๐๒ แล้ว ให้นำจำนวนวันดังกล่าวมาหักออกจากจำนวนวันตามมาตรการข้างต้น โดยจำนวนวันที่เหลือให้คิดค่าปรับในอัตราร้อยละ ๐ ซึ่งค่าปรับส่วนที่เกินจำนวนวันตามมาตรการนี้ ให้คิดในอัตราที่กำหนดในสัญญาหรือข้อตกลงเป็นหนังสือตามอัตราปกติ โดยให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.๒๕๖๐ ข้อ ๑๘๓ ต่อไป ส่วนกรณีสัญญาฯ ที่ได้ลงนามหลังวันที่มีประกาศยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แล้ว จะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการดังกล่าว

อนึ่ง บริษัท เลิศพัฒนาศรีสะเกษ จำกัด (แปรสภาพมาจาก หจก.เลิศพัฒนาศรีสะเกษ ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๐) จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๖๐ ทุนจดทะเบียน ๑๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตั้งอยู่เลขที่ ๐๖๑๐ ถนนราชการรถไฟ ต.เมืองเหนือ อ.เมืองศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ ประกอบกิจการรับเหมาก่อสร้าง มีคณะกรรมการ ได้แก่ นายนิรามัย เลิศพัฒนสุวรรณ และนางธรทิพย์ เลิศพัฒนสุวรรณ โดยบริษัท เลิศพัฒนาศรีสะเกษ จำกัด มีผลงาน เช่น การก่อสร้างอาคารสิรินธรวิศวพัฒน์ F11 ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ๕ ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยรวมทั้งสิ้น ๒๕,๐๐๐ ตารางเมตร โดยได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินเพื่อการก่อสร้าง จำนวนเงิน ๔๒๐ ล้านบาท


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๒๘ วันพุธที่ ๒๕ - วันอังคารที่ ๓๑ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕


136 1,865