28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

June 04,2022

จับมือ ‘สถาปนิกอีสาน’ ร่วมแก้ปัญหาน้ำท่วมโคราช


วันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๔.๐๐ น. พล.อ.ลือพงศ์ โชติวิทยากาญจน์ ประธานกลุ่มโคราชศึกษาแก้ปัญหาน้ำท่วม มอบหมายให้นายสมยศ พัดเกาะ ผู้ประสานงานของกลุ่มฯ และคณะ  เดินทางไปพบนายวีรพล จงเจริญใจ ประธานกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน เพื่อนำเสนอและปรึกษาถึงแนวทางการแก้ปัญหาน้ำท่วมโคราช

นายสมยศ พัดเกาะ ตัวแทนกลุ่มโคราชศึกษาแก้ปัญหาน้ำท่วม ได้นำเสนอความเป็นมาของกลุ่มฯ ว่า กลุ่มฯ ถือกำเนิดเกิดขึ้นจากชุมชน ชาวบ้าน เกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม รวมทั้งวิศวกร สถาปนิก ข้าราชการบำนาญที่ทรงความรู้ ได้มองเห็นถึงปัญหาร่วมกัน จึงได้รวมตัวกันเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมโคราชโดยภาคประชาชน ซึ่งพื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา แบ่งได้เป็น ๒ ปัญหา ได้แก่ ๑.พื้นที่เกษตรกรรม และ ๒.พื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจ

สำหรับปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรม ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ เพราะภาคเกษตรกรรมเป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่มักจะได้รับผลกระทบมากที่สุด จากการทำนาปลูกข้าว โดยนายสมยศ พัดเกาะ อธิบายว่า ปัญหาน้ำท่วมภาคเกษตรกรรมของโคราชอาจเกิดมาจากหลายสาเหตุ เช่น การพัฒนาเมือง การปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ของที่ดิน การสร้างหมู่บ้านจัดสรร การทำถนนรอบเมือง และในโคราชมีลำน้ำต่างๆ ไหลผ่านชุมชน และที่ทำการเกษตร เช่น ลำตะคอง คลองบริบูรณ์ ลำมูล ลำจักราช ลำเชียงไกร จะไหลไปรวมกันที่แม่น้ำมูลบริเวณอำเภอพิมาย แล้วไหลผ่านจังหวัดต่างๆ ออกไปสู่แม่น้ำโขงที่จังหวัดอุบลราชธานี ดังนั้น ชุมชน และพื้นที่ทำการเกษตร ที่อยู่ตามเส้นทางของลำน้ำต่างๆ มักจะประสบปัญหาน้ำท่วม ซึ่งที่หนักที่สุดจะอยู่ที่อำเภอพิมาย เพราะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำและรับน้ำจากทุกสาย

ส่วนการบริหารจัดการน้ำของจังหวัดนครราชสีมา เป็นไปค่อนข้างลำบาก เพราะหากปล่อยน้ำไปจำนวนมากก็กลัวฝนทิ้งช่วง ไม่มีน้ำใช้ตลอดฤดูกาล ซึ่งปัญหานี้ อาจเกิดจากสภาพภูมิประเทศ เพราะดินของโคราชเป็นดินตะกอนทราย ไม่สามารกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ ประกอบกับอ่างเก็บน้ำหากตื้นเขินไม่มีการขุดลอก อัตราการระเหยของน้ำย่อมมากกว่าปกติ

ดังนั้น ทางแก้ทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมภาคเกษตรกรรม ในส่วนที่เกิดจากปัญหาของการพัฒนาเมือง ก็คือ การเก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศ จากการถมอ่างเก็บน้ำ จากการถมดินในทุ่งนา จากการตัดถนนแล้วยกสูงเป็นสันเขื่อน ซึ่งข้อมูลการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเหล่านี้ มีผลกระทบต่ออัตราความเร็วการไหลของน้ำ และปริมาณของน้ำที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะในขณะที่ความเร็วและปริมาณของน้ำเพิ่มขึ้น แต่ระบบระบายน้ำ และท่อระบายของน้ำตามชุมชน หรือตามชนบท ยังมีขนาดเท่าเดิม จึงไม่มีความสัมพันธ์กัน

ทั้งนี้ หากมีการเก็บข้อมูลดังที่ว่ามา แล้วนำข้อมูลนี้ไปบูรณาการกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานของรัฐ เช่น อบต., อบจ., เทศบาล, กรมทางหลวง, กรมทางหลวงชนบท ก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ เพราะชาวบ้านจะรู้ว่า ตรงไหนน้ำท่วม ตรงไหนต้องทำเสริมคันดินริมตลิ่ง ส่วนท่อระบายน้ำก็ควรจะเปลี่ยนเป็นท่อสี่เหลี่ยม (Box Culvert) ให้หมดได้แล้ว เพราะถ้ายังเป็นท่อกลมจะเกิดปัญหาตะกอนทรายอุดตันท่อ
 


 

ในขณะที่ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจนั้น เป็นปัญหาของตัวชุมชนเองอาจเกิดจากท่อระบายน้ำอุดตันและปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ของที่ดิน โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่หลังเขื่อนคนชุม ซึ่งปกติจะต้องรองรับปริมาณน้ำจากลำตะคองอยู่แล้ว ยังต้องมารับปริมาณน้ำที่เพิ่มมาจากสนามกีฬา ๘๐ พรรษาฯ อีก ซึ่งสนามกีฬาดังกล่าวเคยเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดจุน้ำได้ ๑.๖ ล้านลูกบาศก์คิว (อ่างเถกิงพล) แต่ปัจจุบันมีที่เก็บน้ำเพียง ๓ แสนกว่าคิว ซึ่งถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ จะต้องทำอ่างเก็บน้ำแก้มลิง เพื่อชะลอการไหลของน้ำ ไม่ให้ไหลมารวมที่เขื่อนคนชุม และจะได้ไม่ผลักภาระให้กับชุมชนหลังเขื่อน ส่วนลำตะคองก็ต้องขุดลอก และไม่ให้มีการรุกล้ำแนวเขตลำน้ำ

ทางด้านนายวีรพล จงเจริญใจ ประธานกรรมาธิการสถาปนิกอีสาน ในฐานะที่เคยทำงานร่วมกับโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดฯ และมีประสบการณ์เกี่ยวกับการก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรร รวมทั้งการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ที่ประสบปัญหาและสร้างผลกระทบให้กับชุมชนมาแล้วนั้น แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีนี้ว่า เห็นด้วยกับการที่กลุ่มโคราชศึกษาแก้ปัญหาน้ำท่วม ได้นำเสนอมา เพราะหากมีหน่วยงานใดเก็บข้อมูล การปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ของที่ดิน และมีแผนที่แปลนบอกเส้นชั้นระดับความสูงต่ำของพื้นที่ จะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของโครงการหมู่บ้านจัดสรร เพราะเจ้าของโครงการก็ไม่อยากผลักภาระปัญหาให้กับชุมชน และจะยิ่งดี หากหน่วยงานของจังหวัดนำข้อมูลที่ได้ไปบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเมืองโคราช ซึ่งตนยินดีที่จะนำข้อมูลของกลุ่มโคราชศึกษาแก้ปัญหาน้ำท่วม ไปนำเสนอส่วนงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดแนวทางความร่วมมือระหว่างสถาปนิกอีสาน กับกลุ่มโคราชศึกษาแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งจะได้มีโอกาสร่วมมือกันแก้ปัญหาน้ำท่วมโคราชในโอกาสต่อไป

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๒๙ วันพุธที่ ๑ - วันอังคารที่ ๗ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕


969 1608