June 04,2022
ดีไซเนอร์ ‘อาชีวะอุบลฯ’ ตัดเย็บไหมไทยเฉิดฉายเวทีโลก
ออกแบบตัดเย็บผ้าไหมให้ภริยาทูต ผู้แทนทูตคูเวตและมองโกเลีย ใส่อวดโฉมโชว์ “มหกรรมผ้าไหม ไหมไทยสู่เส้นทางโลก ครั้งที่ ๑๑” เผย “ไม่ใช่แค่รู้ เข้าใจเรื่องผ้าไทย แต่ฝังอยู่ในสายเลือดตั้งแต่เกิด”
นางลฎาภา แสวงทรัพย์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี เปิดเผยว่า เมื่อค่ำคืนวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๖๕ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี มอบหมายให้ นางสมจิตร บุรุษพัฒน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ นางสาวธนิดา วรรณแก้ว รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานและความร่วมมือ พร้อมด้วยนางอรสา แถบเกิด นายชาติชาย คนขยัน ครูแผนกวิชาแฟชั่นและสิ่งทอ นำตัวแทนนักเรียน นักศึกษาที่เป็นดีไซเนอร์ ประกอบด้วย นายภานุวัฒน์ ดุจจานุทัศน์ นักเรียน ปวช.๓ นายธนากร เชื้อสิงห์ นักศึกษา ปวส.๒ จัดแสดงแฟชั่นโชว์ชุดผ้าไหมจากฝีมือการออกแบบและตัดเย็บของนักเรียน นักศึกษา จากสถาบันการศึกษาการออกแบบแฟชั่นและสิ่งทอ ทั้งของภาครัฐและเอกชน กว่า ๗๓ สถาบัน ให้แก่ผู้แทนประจำสถานทูตกว่า ๑๐๐ ประเทศ ใช้สวมใส่ประชันความงดงาม แสดงออกถึงเอกลักษณ์ของชนชาตินั้นๆ ที่ประจำอยู่ในประเทศไทย ในงานงาน “มหกรรมผ้าไหม ไหมไทยสู่เส้นทางโลก ครั้งที่ ๑๑” ซึ่งจัดขึ้นที่หอประชุมกองทัพเรือ กรุงเทพมหานคร
สำหรับวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบล ราชธานี ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ออกแบบและตัดเย็บชุดใช้สวมใส่ของสถานทูตประเทศคูเวต และมองโกเลีย โดยนายธนากร เชื้อสิงห์ นักศึกษา ปวส.๒ ซึ่งเป็นผู้ออกแบบได้รับเกียรติร่วมเดินแบบกับ Mrs.Orkhon Lkhamsuren- Spouse of Ambassador ภริยา Mr. Anand Tumur Son of Ambassador บุตรของเอกอัครราชทูตมองโกเลีย
โดยชุดผ้าไหมที่นายธนากรออกแบบมีชื่อชุดว่า “อูลานบาตาร์” สื่อถึงชุดผ้าไทยที่ผสมผสานกลิ่นอายชุดพื้นเมืองของชาวมองโกเลีย ผสมผสานความเก่าแก่ และความทันสมัยเข้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว
ส่วนนายภานุวัฒน์ ดุจจานุทัศน์ นักศึกษา ปวช.๓ เดินแบบร่วมกับนางสาว นัสรียา เย็นอังกูร เลขานุการฝ่ายบัญชี ตัวแทนสถานทูตประเทศคูเวตประจำประเทศไทย สวมชุดชื่อ Kuwait City ซึ่งสื่อถึงความเจริญรุ่งเรืองของประเทศคูเวต ด้วยการถ่ายทอดผ่านผ้าไหมไทยนำมาตัดเย็บชุดของสตรีชาวมุสลิม ผสมผสานกับผ้าไทยให้มีความแปลกใหม่และสวยงาม
นายธนากร เชื้อสิงห์ นักศึกษา แผนกวิชาแฟชั่นและสิ่งทอ เปิดเผยความรู้ที่ได้เป็นดีไซเนอร์ออกแบบตัดเย็บชุดให้ระดับเอกอัครราชทูตสวมใส่ว่า รู้สึกตื่นเต้น และภาคภูมิใจที่เด็กอีสานคนหนึ่ง มีโอกาสได้แสดงศักยภาพ สร้างผลงานผ้าไหมไทยออกไปสู่สายตาชาวโลก ผ่านการจัดแสดงแฟชั่นครั้งนี้ สำหรับตน ไม่ได้แค่มีความรู้ หรือความเข้าใจเรื่องผ้าไหมไทย แต่ผ้าไหมอยู่ในสายเลือดของตนมาตั้งแต่เกิด เพราะที่บ้านมีอาชีพทอผ้าไหม และสร้างรายได้ให้แก่พ่อแม่นำมาใช้ส่งตนเข้ามาเรียนรู้ด้านการออกแบบและตัดเย็บผ้ากับวิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ประกอบกับมีครูที่มีองค์ความรู้เรื่องผ้าไหมประจำถิ่นเป็นผู้สอน และผ้าไหมของจังหวัดอุบลราชธานี ก็เป็นที่เลื่องลือว่าเป็นผ้าไหมชั้นดี ติดอันดับหนึ่งในประเทศไทย
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๒๙ วันพุธที่ ๑ - วันอังคารที่ ๗ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
96 1,703