11thOctober

11thOctober

11thOctober

 

June 17,2022

‘ปลานิล’สินค้าเกษตรทางเลือกโคราช เสริมรายได้เกษตรกรแนะแปรรูปเพิ่มมูลค่า

สศท.๕ เผย “ปลานิล” สินค้าประมงที่มีศักยภาพทางด้านการเกษตร หนึ่งในสินค้าเกษตรทางเลือกของโคราช สร้างรายได้แก่เกษตรกรอย่างดี ตลาดมีความต้องการต่อเนื่อง เลี้ยงง่าย ทนทานต่อสภาพแวดล้อม และมีคุณค่าทางโภชนาการ โปรตีนสูง

นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ ๕ นครราชสีมา (สศท.๕) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า “ปลานิล” นับเป็นสินค้าประมงที่มีศักยภาพทางด้านการเกษตร และเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรทางเลือกของจังหวัดนครราชสีมา สามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้เป็นอย่างดี ตลาดมีความต้องการต่อเนื่อง เนื่องจากเลี้ยงง่าย ทนทานต่อสภาพแวดล้อม และมีคุณค่าทางโภชนาการ โปรตีนสูง ซึ่งปลานิลที่เพาะเลี้ยงอยู่ในปัจจุบันมี ๒ สายพันธุ์ คือ ปลานิลดำ และปลานิลแดง (ปลาทับทิม) เกษตรกรในจังหวัดจะนิยมเลี้ยงปลานิลดำ ร้อยละ ๙๐ เนื่องจากเลี้ยงง่ายต้นทุนต่ำกว่าปลานิลแดง (ปลาทับทิม) 

นางสุจารีย์ พิชา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ ๕ นครราชสีมา (สศท.๕) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)

ปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมา (ข้อมูลจากสำนักงานประมงจังหวัดนครราชสีมา ณ เดือนพฤษภาคม ๒๕๖๕) มีเกษตรกรผู้เลี้ยงปลานิล ทั้ง ๒ สายพันธุ์ จำนวน ๑๘๐ ราย พื้นที่เลี้ยงครอบคลุม ๓ อำเภอ ได้แก่ อำเภอครบุรี อำเภอโนนสูง และอำเภอบ้านเหลื่อม เกษตรกรจะเลี้ยงเป็นอาชีพเสริมจากการทำเกษตรกรรมเป็นหลัก ส่วนใหญ่เกษตรจะเลี้ยงปลานิลในกระชังบริเวณรอบอ่างเก็บน้ำลำแซะ และเขื่อนมูลบน ประมาณ ๔-๖ กระชัง/ครัวเรือน (กระชังขนาด ๕x๗ เมตร) ซึ่ง ๑ กระชัง สามารถเลี้ยงปลาได้เฉลี่ย ๑,๐๐๐ ตัว โดยเกษตรกร จำนวน ๑๕๐ ราย ได้มีการทำเกษตรพันธสัญญา (contract farming) กับบริษัทที่ตั้งอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานประมงจังหวัดนครราชสีมาซึ่งทางบริษัทจะเป็นผู้จัดหาพันธุ์ปลา และปัจจัยการผลิตอื่นๆ ได้แก่ อาหาร และยาให้เกษตรกรผู้เลี้ยง โดยมีราคาประกันรับซื้ออยู่ระหว่าง ๖๐–๗๐ บาท/กิโลกรัม ทำให้เกษตรกรสามารถควบคุมต้นทุนการผลิต มีตลาดรับซื้อแน่นอน มีการรับประกันราคา และไม่ต้องรับความเสี่ยงเมื่อสินค้าล้นตลาด แต่เกษตรกรจะต้องเลี้ยงปลาให้มีขนาดตามมาตรฐานที่บริษัทกำหนด นอกจากนี้ ยังมีเกษตรกรบางส่วนที่เลี้ยงแบบกระชังในบ่อดิน โดยมีการรวมกลุ่มในรูปของวิสาหกิจชุมชน แปรรูปผลผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่า อาทิ ปลานิลหมักเกลือ ปลานิลปลาร้า ปลานิลแดดเดียว เป็นต้น   

สำหรับสถานการณ์การผลิตปลานิล ทั้ง ๒ สายพันธุ์ พบว่า ระยะเวลา ๑ ปี เกษตรกรสามารถเลี้ยงปลานิลได้ประมาณ ๒–๓ รุ่น ระยะเวลาในการเลี้ยงประมาณ ๑๕๗–๑๖๙ วัน/รุ่น ให้ผลผลิตเฉลี่ย ๙๕๔-๙๗๕ กิโลกรัม/กระชัง/รุ่น โดยปลานิลดำ ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย ๕๕,๕๘๕ บาท/กระชัง/รุ่น และปลานิลแดง (ปลาทับทิม) ให้ผลตอบแทนเฉลี่ย ๖๕,๙๓๘ บาท/กระชัง/รุ่น ทั้งนี้ เมื่อปลานิลได้ขนาดตามมาตรฐานที่บริษัทกำหนด (ขนาดประมาณ ๑–๑.๑๕ กิโลกรัม/ตัว) ทางบริษัทจะเข้ามารับปลาที่กระชังของเกษตรกร ซึ่งราคาปัจจุบัน ณ เดือนมิถุนายน ๒๕๖๕ ที่บริษัทรับซื้อ เฉลี่ย อยู่ที่ ๖๙.๑๒ บาท/กิโลกรัม อย่างไรก็ตาม ราคาอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามความต้องการของตลาดในช่วงเดือนต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป

“ช่วงนี้เข้าสู่ฤดูฝน มีมรสุมเข้าทำให้คุณภาพน้ำมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้คุณภาพของน้ำเปลี่ยนแปลงตามสภาพภูมิอากาศ อาจจะทำให้ปลานิลในกระชังน็อคน้ำได้ ซึ่งเกษตรกรควรเพิ่มการติดตั้งเครื่องให้อากาศเพื่อรักษาระดับออกซิเจนในน้ำ พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงตามสภาพอากาศอย่างทันท่วงที รวมถึงให้วิตามินเพิ่มความแข็งแรงของปลาควบคู่ไปด้วย ในกรณีของปลาตกเกรด ปลาน๊อคน้ำ เกษตรกรควรเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูป เช่น ปลานิลหมักเกลือ ปลานิลปลาร้า ปลานิลแดดเดียว ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถศึกษาการแปรรูป จากกลุ่มปลานิลแปลงใหญ่วังม่วง ตำบลธารปราสาท อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา โทรศัพท์ ๐๘๓-๓๘๖๘๖๙๖ และสามารถสอบถามข้อมูลการเลี้ยงปลานิลทุกสายพันธุ์ได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดนครราชสีมา โทรศัพท์ ๐๔๔-๒๕๒๖๗๐ ส่วนเกษตรกรผู้สนใจ ข้อมูลต้นทุนและผลตอบแทน สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.๕ นครราชสีมา โทรศัพท์ ๐๔๔-๔๖๕๑๒๐ หรืออีเมล์ zone๕@oae.go.th” ผู้อำนวยการ สศท.๕ กล่าวทิ้งท้าย

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๓๑ วันพุธที่ ๑๕ - วันอังคารที่ ๒๑ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕


79 1,636