25thApril

25thApril

25thApril

 

June 20,2022

‘วิเชียร’ใช้ผลงาน‘อบจ.’ เป็นความสำเร็จของจังหวัด

‘วิเชียร’ นำทีมหัวหน้าส่วนราชการ บุกประชุมกับ อบจ. เพื่อหารือแนวทางพัฒนาเมืองโคราชให้เกิดความยั่งยืนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ด้าน ‘ที่ปรึกษานายก อบจ.’ เผย ผู้ว่าฯ ต้องการนำโครงการที่ อบจ.ทำ มาประชาสัมพันธ์ให้เป็นผลงานจังหวัด

เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ ที่ห้องประชุมรวงผึ้ง องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายชรินทร์ ทองสุข นายภูมิสิทธิ์ วังคีรี นายชูศักดิ์ ชุนเกาะ และนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา นายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล รองนายก อบจ. นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือล่าง ๑ (ที่ปรึกษานายก อบจ.) หัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้อง ร่วมหารือแนวทางในการพัฒนาเมืองโคราชให้เกิดความยั่งยืนและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน

สำหรับการประชุมครั้งนี้ จังหวัดนครราชสีมา และ อบจ.นครราชสีมา ได้ร่วมหารือปรับแนวคิด มุมมอง และวิสัยทัศน์ สร้างเมืองโคราช ให้เป็นไปในทิศทาง ๘+๑๓ ประเด็นปัญหาสภาพแวดล้อมที่หลากหลายที่ต้องฟื้นฟู การปรับตัวให้เข้ากับโลกยุคปัจจุบันของส่วนราชการต่างๆ ภายใต้ความร่วมมือในการสร้าง “แบรนด์โคราช” เริ่มต้นที่ การเป็น “SMART CITY” ให้เป็นที่จดจำและพูดถึงในเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน

นางยลดา หวังศุภกิจโกศล กล่าวว่า “อบจ.นครราชสีมา มุ่งเน้นการทำงานร่วมทุกภาคส่วน ต่อยอดนโยบายผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างถูกทิศทาง การที่เราได้ทราบถึงแนวทางของจังหวัดนั้น จะทำให้สามารถส่งเสริม สนับสนุน ได้ถูกจุดตามความจำเป็นและเกิดประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชน เราอยากเห็นประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีอาชีพ มีครอบครัวที่อบอุ่นและเกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งวันนี้มีโอกาสพูดคุยจะทำให้ปัญหา อุปสรรค ในการทำงานได้รับการแก้ไข แต่ทั้งนี้ก็ต้องเป็นไปตามระเบียบของทางราชการ โดยจังหวัดพร้อมที่จะสนับสนุนภารกิจของ อบจ. อย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิด “โคราชโฉมใหม่” เน้นความเป็น Smart City ตามนโยบายจังหวัด นอกจากนี้ในส่วนของการศึกษา อบจ.มีโรงเรียนในสังกัดฯ ๕๘ แห่ง เราตั้งใจจะทำให้เป็น Smart School, Smart Education รวมถึง การดูแลคุณภาพชีวิตประชาชนในแบบ Smart Health Care และที่สำคัญ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเรื่องถนน ที่อบจ.ได้ใช้มาตรฐานเดียวกับถนนของกรมทางหลวงชนบท มีการเพิ่มไฟฟ้าส่องสว่าง ความชัดเจนของเส้นจราจรให้เป็นถนนตัวอย่างครบทั้ง ๓๒ อำเภอ เพื่อร่วมกัน “ฟื้นฟูเมือง ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ฟื้นฟูคุณภาพชีวิต” ของประชาชนร่วมกัน”

โดยนายสมเกียรติ ตันดิลกตระกูล รองนายก อบจ. เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ ถึงการประชุมดังกล่าว ว่า “จังหวัดนครราชสีมา นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัด และรองผู้ว่าฯ มาประชุมกับ อบจ. เพื่อพูดคุยหากัน คล้ายกับสภากาแฟ ไม่ได้มีวาระการประชุมอย่างเป็นทางการ เป็นเพียงการพูดคุยนอกรอบในเรื่องการพัฒนาจังหวัดในส่วนที่ อบจ.รับผิดชอบ แล้วหลังจากนี้จึงจะมีการกำหนดวาระเพื่อหารือกันอย่างจริงจังอีกครั้งหนึ่ง โดยเรื่องสำคัญ คือ การประปรุงถนนเส้นต่างๆ ที่ อบจ.ดูแล เพราะก่อนหน้านี้หลายปีมีการพัฒนาด้านนี้น้อยเกินไป จึงให้ อบจ.เน้นเรื่องนี้เป็นพิเศษ ซึ่งก็ตรงตามนโยบายของ อบจ.อยู่แล้ว เมื่อวาน (๑๕ มิถุนายน ๒๕๖๕) จังหวัดฯ จึงมารับฟังว่า อบจ.มีความใส่ใจกับโครงสร้างพื้นฐานมากขนาดไหน และมีการพัฒนาไปในทิศทางใด”

“จังหวัดนครราชสีมา ยังพูดถึงปัญหาน้ำ โดยเฉพาะน้ำท่วมในช่วงฝนตกหนักที่กำลังจะมาถึงนี้ ได้มอบหมายให้ อบจ.ช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่ง อบจ.มีประสบการณ์แก้ปัญหาน้ำท่วมมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ปีนี้จึงเตรียมการไว้แล้ว รวมถึงการปรับปรุงเครื่องสูบน้ำ หรือรถสูบน้ำ อบจ.ได้เตรียมการทั้งหมดไว้แล้ว ซึ่งหลังจากนี้จะมีการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เช่น ปภ. เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาที่ทุกภาคส่วนในจังหวัดต้องช่วยกัน”

“เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ การก่อสร้างสำนักงาน อบจ.แห่งใหม่ ทางจังหวัดก็สอบถามว่า อบจ.ติดขัดเรื่องใดบ้าง เช่น เรื่องที่ดิน เพื่อให้โครงการนี้เดินหน้าต่อไปได้อย่างราบรื่น เป็นสถานที่ราชการแห่งใหม่ให้กับเจ้าหน้าที่ และประชาชนจะได้มีความสะดวกสบายในการติดด่อราชการ ซึ่งในที่ประชุมก็มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เข้าประชุมด้วย หลายฝ่ายก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ส่วนความคืบหน้าของการก่อสร้าง ขณะนี้รังวัดที่ดินเสร็จเรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้เหลือเพียงการจัดทำประชาคม และสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สํานักงานทรัพยากรธรณี สำนักงานศิลปากร และกรมป่าไม้ หากเขาไม่ติดขัดอะไร ก็จะสามารถจัดประชุมเพื่ออนุมัติที่ดินได้” นายสมเกียรติ กล่าว

นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ ที่ปรึกษานายก อบจ.นครราชสีมา เปิดเผยว่า “การประชุมดังกล่าว เป็นการมาพูดคุยกันระหว่างจังหวัดนครราชสีมากับ อบจ. ว่า อบจ.มีโครงการอะไร ผู้ว่าฯ มีโครงการอะไร แล้วโครงการใดจะทำร่วมกันได้บ้าง เพื่อให้งานราบรื่นและเกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งหลายเรื่องก็มีเป้าหมายตรงกัน เช่น ขณะนี้โคราชเป็นหนึ่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ แต่โคราชยังไม่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจหรือการค้าการลงทุน จึงมาคิดกันว่า อาจจะต้องมีการประชุมทุกภาคส่วน เพื่อมาจัดทำแผนพัฒนาโคราช ด้านการค้าการลงทุน โดยใช้แนวทางคล้ายๆ กับ NeEC โดยมีสภาพัฒน์เข้ามาเป็นพี่เลี้ยง ทาง อบจ.จึงได้รับมอบหมายว่า ในช่วงเดือนหน้าจะจัดประชุมระดมความคิดเห็นจากคนโคราชว่า อยากจะพัฒนาโคราชไปในทิศทางใดอย่างไร และเห็นด้วยกับแผนของ อบจ.กับจังหวัดร่วมกันร่างไปแล้วหรือไม่”

“ในส่วนของด้านการศึกษา ผู้ว่าฯ ก็สอบถามถึงแนวทางการพัฒนาด้านการศึกษาของ อบจ. เพราะ อบจ.ได้รับถ่ายโอนโรงเรียน ๕๘ แห่ง มาจากกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งในอนาคตอาจจะได้รับถ่ายโอนมากขึ้น จึงถามว่า มีข้อติดขัดอะไรบ้างหรือไม่ แล้วมีเรื่องใดที่จะให้จังหวัดเข้ามาช่วย นอกจากนี้ อบจ.ยังพูดถึงโคราชช่วยสร้างบ้านให้กับผู้ด้อยโอกาสหรือคนยากจน ซึ่งจะทำมากถึง ๑,๐๐๐ หลังคาเรือน ผู้ว่าฯ บอกว่า โครงการแบบนี้ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการประชาสัมพันธ์จังหวัดด้วย แม้ อบจ.จะเป็นคนทำโครงการ แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งของโคราช ควรจะเป็นผลงานของจังหวัด ซึ่ง อบจ.ก็เห็นด้วยว่า หลายๆ เรื่องที่ อบจ.ทำไป น่าจะเป็นผลงานของจังหวัดด้วย ถือเป็น KPI ตัวหนึ่งในการชี้วัดจังหวัดของกระทรวงมหาดไทย ซึ่ง อบจ.ก็อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทยเช่นกัน”

“ผู้ว่าฯ ยังถามถึงโครงการติดตั้งกล้องวงจรปิดทุกอำเภอด้วยว่า โครงการดำเนินการถึงไหนแล้ว ซึ่ง อบจ.จัดสรรงบประมาณให้ตำรวจไปแล้ว เนื่องจากตำรวจไม่มีงบประมาณ แต่ อบจ.ก็ไม่ได้มีงบประมาณมากเหมือนกัน จึงใช้วิธีการแบ่งเป็นช่วง เช่น สมมุติของบประมาณมา ๒๐ ล้านบาท ก็แบ่งออกเป็น ๒ ปีๆ ละ ๑๐ ล้านบาท ดังนั้น การประชุมครั้งนี้ เป็นเหมือนกันมาพูดคุยให้เข้าใจกันและกัน เช่น ล่าสุด อบจ.ได้รับถ่ายโอน รพ.สต.เข้ามาดูแล ผู้ว่าฯ ก็สอบถามถึงปัญหาหรือข้อติดขัดต่างๆ ซึ่งก็มีเรื่องติดขัดอยู่บ้าง” นายหัสดิน กล่าว

นายหัสดิน กล่าวท้ายสุดว่า “อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ คือ ภาษีที่ดิน เพราะขณะนี้ภาษีที่ดินเพิ่มขึ้น ซึ่งในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา มีที่ดินหลายแปลงที่ทิ้งไว้รกร้าง เพราะเจ้าของเดิมบางคนอาจจะเป็นคนเก่าคนแก่ในโคราช แต่ปัจจุบันย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ หมดแล้ว จึงปล่อยที่ดินทิ้งไว้ ทำให้ต้องเสียภาษีที่ดินจำนวนมาก จึงนำที่ดินไปปลูกกล้วย ปลูกมะพร้าว ซึ่งที่ดินก็อยู่ใจกลางเมือง ทำให้เกิดภาพที่ไม่สวยงาม ผู้ว่าฯ จึงมีแนวคิดว่า จะทำเป็นสวนสาธารณะดีหรือไม่ เพราะถ้าทำแล้วเจ้าของก็จะไม่ต้องเสียภาษีที่ดิน ผมจึงบอกผู้ว่าฯ ว่า ต้องการให้กระทรวงมหาดไทยมีแนวทางที่ชัดเจน ถ้าเจ้าของที่ดินไม่มีโครงการจะทำอะไรในระยะเวลา ๑๐ ปี ก็อาจจะมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำมาพัฒนาเป็นสวนสาธารณะ เพื่อเป็นปอดกลางเมืองให้กับประชาชน หรือจะทำเป็นสถานที่สาธารณะอื่นๆ เช่น ลานจอดรถของเมือง ซึ่งจะทำได้หรือไม่ก็มีการพูดคุยหารือกันในที่ประชุม”


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๓๑ วันพุธที่ ๑๕ - วันอังคารที่ ๒๑ เดือนมิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๖๕


988 1411