December 08,2012
สร้างเครือข่ายไก่ชีท่าพระ พัฒนาไก่พื้นเมืองพันธุ์ใหม่
ปศุสัตว์ร่วมสกว. ผลักดันศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ท่าพระ พัฒนาพันธุ์ไก่พื้นเมืองสายพันธุ์ใหม่ “ไก่ชีท่าพระ” โตเร็ว ฟักไข่-เลี้ยงลูกได้เอง ให้จำนวนลูกไก่สูงกว่าร้อยละ ๓๐ สามารถผลิตไข่ได้ถึง ๑๒๕ ฟอง/แม่/ปี มีไขมันและคอเลสเตอรอลต่ำ พร้อมเร่งส่งเสริมเกษตรกรในพื้นที่เลี้ยง เพื่อการค้าและแปรรูป
นายปฏิวัติ คุณดิลกพจน์ ปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า “ไก่ชีท่าพระ” เป็นไก่พื้นเมืองไทยพันธุ์แท้ ที่ได้มีการพัฒนาพันธุ์เริ่มต้นที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ท่าพระ จังหวัดขอนแก่น โดยเริ่มสร้างฝูงไก่ชีตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๕ ด้วยความร่วมมือระหว่างกรมปศุสัตว์กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ทำให้ได้พันธุ์แท้ ตรงตามลักษณะประจำพันธุ์และสามารถใช้จำแนกพันธุ์ได้ มีลักษณะประจำพันธุ์ทั้งลักษณะทางคุณภาพ (Qualitative traits) และ ลักษณะทางปริมาณ (Quantitative traits) เช่นเดียวกับไก่พันธุ์แท้ต่างๆ ของทั่วโลก ทำให้ประเทศไทยสามารถแสดงความเป็นเจ้าของพันธุ์ได้ และยังมีศักยภาพการผลิตโดยการเลี้ยงในระบบฟาร์มสูงกว่าไก่พื้นเมืองทั่วไปกว่าร้อยละ ๒๕ ให้จำนวนลูกไก่สูงกว่าไก่พื้นเมืองของเกษตรกรกว่าร้อยละ ๓๐
“ไก่ชีท่าพระ มีจุดเด่นหลายประการ สามารถเลี้ยงรอดได้ดีในลักษณะการเลี้ยงของเกษตรกรในหมู่บ้าน มีความเป็นแม่พันธุ์ที่ดีสามารถฟักไข่และเลี้ยงลูกได้เอง และยังให้จำนวนลูกไก่สูงกว่าไก่พื้นเมืองของเกษตรกรกว่าร้อยละ ๓๐ ลักษณะประจำพันธุ์ เพศผู้ มีสร้อยคอสีขาวหรือสีงาช้าง ขนหาง ขนลำตัวสีขาว แข้ง ปาก สีเหลือง ใบหน้าสีแดง หงอนถั่ว ส่วนเพศเมีย มีลักษณะเหมือนเพศผู้แต่ไม่มีขนสร้อยคอ สำหรับไก่ชีท่าพระนั้น มีศักยภาพและมีคุณค่าการบริโภคที่ดีกว่าไก่พันธุ์เนื้อเมื่อเทียบกันทางการค้า โดยไก่ชีท่าพระมีเนื้อที่แน่นนุ่ม มีโปรตีนสูงกว่า แต่มีไขมันและคอเลสเตอรอลน้อยกว่าถึง ๒ เท่า กรมปศุสัตว์จึงได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนกลุ่มเกษตรกรได้นำ “ไก่ชีท่าพระ” ไปใช้ประโยชน์ในการการค้า เพื่อเพิ่มมูลค่าต่อไป” นายปฏิวัติ กล่าว
ปศุสัตว์จังหวัดขอนแก่น กล่าวเพิ่มเติมว่า ไก่ชีท่าพระสามารถให้ไข่ฟองแรกได้เมื่ออายุ ๑๗๐ วัน และให้ผลผลิตไข่ ๑๒๕ฟอง/แม่/ปี ขนจะมีสีขาวเหมาะสำหรับเป็นไก่พื้นเมืองในระบบอุตสาหกรรมในอนาคต เพราะเมื่อผ่านการชำแหละหรือแปรรูปในระบบโรงเชือดขนาดใหญ่ไม่มีปัญหาขนหมุด (Pin feather) สีดำติดที่ผิวหนังของไก่ และแข้งมีสีเหลืองซึ่งเป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศ และยังเป็นที่นิยมของนักเลี้ยงไก่สวยงามของไทยอีกด้วย อย่างไรก็ตาม กรมปศุสัตว์จะยังคงร่วมมือกับสกว. วิจัยการพัฒนาไก่ชีท่าพระเพื่อนำไปสู่การใช้ทั้งในระดับเกษตรกรในชุมชนและในระดับผู้บริโภค โดยการนำพันธุ์ไก่ลงสู่ชุมชนในรูปแบบของการสร้างเครือข่ายเกษตรกรเลี้ยงไก่ชีท่าพระในพื้นที่นำร่อง ประกอบด้วย จังหวัดขอนแก่น, มหาสารคาม และจังหวัดเลย การส่งเสริมให้กลุ่มผู้บริโภคและประชาชนที่บริโภคไก่เป็นหลัก นำไก่ชีท่าพระมาปรุงเป็นอาหาร และจัดทำเมนูอาหารยอดนิยม ไม่ว่าจะเป็นไก่ชีท่าพระย่างในร้านไก่ย่างที่มีชื่อเสียงของอำเภอเมือง และ อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น โดยในช่วงเดือนธันวาคมนี้ จะส่งผลต่อการสร้างอาชีพให้กับเกษตรกรได้อีกทางหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ยังมีเทศกาลไก่ชีท่าพระย่าง หรือการนำมาปรุงเป็นอาหารประเภทต้มยำในงานเปิดการท่องเที่ยว อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และงานวันเกษตรแห่งชาติ ภาคอีสาน ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในช่วงเดือนมกราคม ๒๕๕๖ ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจในการนำไก่ชีท่าพระไปใช้ประโยชน์ สามารถขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์ท่าพระ ตำบลท่าพระ อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๓๘ ฉบับที่ ๒๑๒๕ วันจันทร์ที่ ๑๐ - วันศุกร์ที่ ๑๔ เดือนธันวาคม พุทธศักราช
700 1,424