28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

July 08,2022

มทส.ผนึกกรมวิชาการเกษตร พัฒนาสายพันธุ์กัญชา-กัญชง

ร่วมมือวิจัยและพัฒนาขยายผลเทคโนโลยีกัญชา-กัญชง สู่เกษตรกร พร้อมมอบเมล็ดกัญชาพันธุ์ฝอยทองสุรนารี-๑ จำนวน ๔๐ กิโลกรัม หรือ ๔ ล้านเมล็ด เพื่อนำไปศึกษาและต่อยอดในการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์


เมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ๒๕๖๕ ที่ห้องประชุมสารนิเวศ อาคารบริหาร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี มทส. พร้อมด้วยนายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มทส.กับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสองหน่วยงานในการศึกษาค้นคว้า วิจัย และพัฒนาสายพันธุ์กัญชาและกัญชง การขยายผลเทคโนโลยีต่างๆ อย่างครบวงจรสู่เกษตรกรและผู้สนใจ โดยมีศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร ศาสตราจารย์ (เกียรติคุณ) ดร.นันทกร บุญเกิด นักวิจัยผู้เชี่ยวชาญประจำโครงการฯ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารของทั้งสองฝ่าย ร่วมเป็นสักขีพยาน และมอบเมล็ดกัญชาพันธุ์ “ฝอยทองสุรนารี ๑” จำนวน ๔๐ กิโลกรัม หรือกว่า ๔,๐๐๐,๐๐๐ เมล็ด ให้แก่กรมวิชาการเกษตรเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่ง มทส. ได้ทำการศึกษาทดสอบคัดแยกปรับปรุงจากสายพันธุ์ “ฝอยทองภูผายล” ถิ่นกำเนิดจากจังหวัดสกลนครมากกว่า ๒ ปี กระทั่งได้สายพันธุ์ที่มีคุณลักษณะดี โตเร็ว ลำต้นแข็งแรง ให้ผลผลิตมากทั้งใบและช่อดอก และเหมาะสมกับสภาพอากาศของประเทศ พร้อมให้สารสำคัญออกฤทธิ์สูงระดับมาตรฐานที่ใช้ได้ทางการแพทย์และสาธารณสุข

ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง เตียอำรุง คณบดีสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร กล่าวว่า “มทส.มีเป้าหมายในการขับเคลื่อนสู่สถาบันอุดมศึกษาที่สามารถพึ่งพาตนเองและเป็นที่พึ่งของสังคมได้อย่างยั่งยืน โดยได้ดำเนินสร้างทรัพยากรมนุษย์ สร้างองค์ความรู้ การวิจัยและพัฒนานวัตกรรม การปรับแต่งและการถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อการพัฒนาชุมชนและสังคมอย่างต่อเนื่อง สำหรับโครงการผลิตกัญชาเชิงคุณภาพนั้น เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ เน้นการวิจัยและนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีกัญชาและกัญชง เพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ของประเทศ และสามารถขยายผลสู่ชุมชนได้อย่างขัดเจน และสนับสนุนให้เกิด ECO System หรือห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยเริ่มตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ ระบบการจัดการโรงเรือน การเพาะปลูก การบำรุงรักษา การเก็บเกี่ยวผลิต การสกัดกลั่น และการให้คำปรึกษาเรื่องสารออกฤทธิ์ต่างๆ แก่เครือข่ายเกษตรกรและประชาชนทั่วไป รวมถึงการแปรูปผลิตภัณฑ์อื่นๆ ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งในปัจจุบันกัญชาของโครงการฯ ได้ผ่านการรับรองคุณภาพจากหน่วยงานระดับประเทศว่า อยู่ในระดับดีเยี่ยม ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ให้สารออกฤทธิ์สำคัญสูง ไม่มีโลหะหลักตกค้าง สามารถนำไปเป็นส่วนประกอบสำคัญในการแปรรูปเป็นยาแผนไทยและแผนปัจจุบันหลายขนาน มีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าศึกษาดูงานและอบรมการถ่ายทอดเทคโนโลยีกัญชาและกัญชงอย่างต่อเนื่อง”

“สำหรับการลงนามในวันนี้ เป็นข้อบันทึกความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง มทส. กับกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีกำหนดกรอบระยะเวลา ๕ ปี โดยมีกรอบความร่วมมือ ๓ ส่วนสำคัญ ได้แก่ ๑.การร่วมกันพัฒนาบุคลากร ถ่ายทอดองค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนวิชาการของทั้งสองฝ่าย รวมถึงการใช้ทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง ๒.การร่วมวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ เทคโนโลยี หรือระบบการผลิต การสกัดกลั่น การแปรรูปกัญชงและกัญชา และการขยายผลเชิงพาณิชย์อย่างครบวงจร และ ๓.การเตรียมความพร้อมข้อมูลด้านกฎหมาย ในการจัดตั้งโรงเรือน พื้นที่ปลูก การพัฒนาแผนธุรกิจ การส่งเสริมวิทยาการด้านกัญชาและกัญชง และการจดสิทธิบัตรและสิทธิประโยชน์ต่างๆ”

“นอกจากนี้ มทส.ยังมอบกัญชาสายพันธุ์สุรนารี ๑ ให้กับกรมวิชาการเกษตร จำนวน ๔ ล้านเมล็ด เพื่อนำไปศึกษาต่อ ซึ่งสายพันธุ์นี้มีถิ่นกำเนิดจากจังหวัดสกลนคร ที่ผ่านการศึกษาคัดแยกสายพันธุ์กว่า ๒ ปี กระทั่งได้สายพันธุ์โตดี เร็ว ลำต้นแข็งแรง ออกดอกง่าย เหมาะกับสภาพอากาศของประเทศไทย และให้ผลผลิตมากถึง ๒.๓๘ กิโลกรัม ตั้งแต่ราก ลำต้น ใบ และช่อดอก ภายใต้วิธีการดูแลอย่างปลอดภัย และการบำรุงรักษาด้วยระบบที่มีคุณภาพ สามารถสูงได้เต็มที่ถึง ๔ เมตร ให้ช่อดอกแน่นภายในระยะเวลา ๔ เดือนครึ่ง พร้อมให้สารออกฤทธิ์สูงตามที่ใช้ในทางการแพทย์ ทั้ง THC และ CBD ค่าเฉลี่ย ๘–๑๒ เปอร์เซนต์ สามารถนำไปเป็นส่วนประกอบสำคัญในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยาแผนไทยและแผนปัจจุบัน มีองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนนำไปใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย อาทิ รพ.เจ้าพระยาอภัยภูเบศร กรมการแพทย์แผนไทยฯ  กลุ่มวิสาหกิจ และผู้สนใจจากทั่วประเทศ เป็นต้น” ศาสตราจารย์ ดร.หนึ่ง กล่าว

นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า “หลังจากที่มีการปลดล็อกกัญชาและกัญชงไม่ใช่พืชเสพติด กรมวิชาการเกษตรจึงเข้ามามีบทบาทหน้าที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมาย ๓ ฉบับ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.กักพืช ที่จะต้องดูแลเรื่องแมลงหรือศัตรูพืชที่อาจจะติดมากับผลผลิตที่นำเข้าจากต่างประเทศ พ.ร.บ.พันธุ์พืช ดูแลเรื่องคุณภาพและมาตรฐานของเมล็ดพันธุ์ที่นำเข้ามา และ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช เพื่อส่งเสริมให้มีการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่ๆ ซึ่งการลงนามวันนี้ก็เป็นอีกหนึ่งบทบาทหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตรที่ต้องการร่วมมือกับ มทส. รวมไปถึงภาคีเครือข่ายต่างๆ โดยการลงนามวันนี้จะเน้นเรื่องการค้นคว้า วิจัย และพัฒนาสายพันธุ์และระบบการผลิตกัญชงและกัญชา รวมถึงเทคโนโลยีด้านการเกษตรอื่นๆ โดยจะนำไปขยายผลสู่เกษตรกรและผู้สนใจทั่วประเทศต่อไป”

รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดี มทส. กล่าวว่า “มทส.ดำเนินการเรื่องกัญชาและกัญชงมาตั้งแต่รัฐบาลมีนโยบาย ในการใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์ ซึ่งช่วงแรกก็พบอุปสรรคมากมาย ทั้งความไม่ชัดเจน ความไม่รู้ หรือรู้แต่ไม่ถูกต้อง ทำให้การดำเนินการติดขัดไปหมดในช่วงแรก แต่เราก็ได้มองเห็นศักยภาพของทีมนักวิจัยและศักยภาพของกัญชาและกัญชง เห็นโอกาสที่ชัดเจนในการสร้างพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ แต่ มทส.ก็มุ่งมั่นและทีมนักวิจัยก็ได้พิสูจน์ว่า มทส.มุ่งมั่นในการทำวิจัย และพัฒนาด้านต่างๆ ในการใช้ประโยชน์จากกัญชาและกัญชง ผมมีเป้าหมายอย่างหนึ่ง คือ ต้องการให้ มทส.แม่ข่ายขององค์ความรู้ เป็นศูนย์เรียนรู้ เช่น ถ้าต้องการอยากรู้อะไรเกี่ยวกับกัญชาให้มาที่ มทส. ก็จะเป็นแหล่งที่ทำให้เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้โดยตรง รวมถึงต้องการให้ มทส.เป็นศูนย์วิจัย ศึกษาเรื่องใหม่ๆ โดยเน้นการพัฒนาสายพันธุ์ การปลูก การเก็บเกี่ยว และการกลัดกลั่น ซึ่งการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เหล่านี้ ไม่ได้หมายความว่า ทำไปแล้วมหาวิทยาลัยจะนำไปใช้เอง แต่ทำเพื่อถ่ายทอดให้กับคนอื่น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนหรือกลุ่มเกษตรกร เพื่อนำไปยกระดับคุณภาพชีวิตหรือรายได้จากกัญชาและกัญชง และกลุ่มเอกชน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ผมเชื่อว่า ถ้าเราสามารถทำได้ครบวงจร งานวิจัยที่มหาวิทยาลัยทำอยู่สุดท้ายองค์ความรู้จะไปสู่เกษตรกรและคนไทยทุกคน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและรายได้อย่างยั่งยืน”

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๓๓ วันพุธที่ ๒๙ เดือนมิถุนายน - วันอังคารที่ ๕ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕


962 1583