20thApril

20thApril

20thApril

 

July 08,2022

ยกระดับ ๗.๘๕ กม. ความเร็วสูง-ทางคู่ งบเพิ่มอีก ๕ พันล.

 

รฟท.เสนอแนวทางปรับรูปแบบจากคันดินเป็นยกระดับการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ ตามข้อเรียกร้องของตำบลบ้านใหม่ ๗.๘๕ กม. หากปรับตามทั้งหมดต้องบใช้งบก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเพิ่ม ๓,๓๔๓ ล้าน เวลาก่อสร้างเพิ่มอีก ๓๒ เดือน ส่วนรถไฟทางคู่เพิ่มขึ้น ๒,๓๗๒.๗๗ ล้านบาท

 

เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๔.๓๐ น. มีการประชุมคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดนครราชสีมา อจร.นม.) ณ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา และผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุม พร้อมด้วยนายชรินทร์ ทองสุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ารายงานความคืบหน้าโครงการคมนาคมทางบกในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา อาทิ ผู้แทนกรมการขนส่งทางราง การรถไฟแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท ขนส่งจังหวัดฯ เป็นต้น

รถไฟความเร็วสูง

การประชุมครั้งนี้ เริ่มจากการติดตามความคืบหน้า โครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพฯ-หนองคาย โดยผู้แทนกรมการขนส่งทางราง รายงานว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-โคราช เป็นเส้นทางแรกในประเทศไทย เริ่มก่อสร้างวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๐ ที่มอหลักหิน จ.สระบุรี สำหรับกรอบวงเงินโครงการระยะที่ ๑ (กรุงเทพฯ-โคราช) งบประมาณรวม ๑๗๙,๔๑๒.๒๑ ล้านบาท ระยะทาง ๒๕๐.๗๗ กม. ทางยกระดับ ๑๘๘.๖๘ กม. อุโมงค์ ๘ กม. (มวกเหล็ก/ลำตะคอง) คันทางระดับดิน ๕๔.๐๙ กม. ความเร็วสูงสุดในการเดินรถ ๒๕๐ กม./ชม. ระยะเวลาในการเดินทาง ๑.๓๐ ชม. คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จเดือนเมษายน ๒๕๖๙ แบ่งงานโยธาออกเป็น ๑๔ สัญญา ก่อสร้างแล้วเสร็จ ๑ สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง ๙ สัญญา เตรียมก่อสร้าง ๑ สัญญา และอยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง ๓ สัญญา ซึ่งทั้ง ๙ สัญญาที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ได้แก่ สัญญาที่ ๒-๑ งานโยธาสำหรับช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง ๑๑ กม. ความก้าวหน้า ๘๗.๖๘%, สัญญาที่ ๓-๒ งานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ๑๒.๒๓ กม. ความก้าวหน้า ๐.๙๔%, สัญญาที่ ๓-๓ งานโยธาสำหรับช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ๒๖.๑๐ กม. ความก้าวหน้า ๕.๑๔%, สัญญาที่ ๓-๔ งานโยธาสำหรับช่วงลำตะคอง-สีคิ้วและกุดจิก-โคกกรวด ๓๗.๔๕ กม. ความก้าวหน้า ๒๔.๗๔%, สัญญาที่ ๓-๕ สำหรับช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ๑๒.๓๘ กม. ความก้าวหน้า ๒.๒๕%, สัญญาที่ ๔-๒ งานโยธาสำหรับช่วงดอนเมือง-นวนคร ๒๑.๘๐ กม. ความก้าวหน้า ๐.๐๑%, สัญญาที่ ๔-๓ งานโยธาสำหรับช่วงนวนคร-บ้านโพ ๒๓ กม. ความก้าวหน้า ๑.๒๔%, สัญญาที่ ๔-๖ งานโยธาสำหรับช่วงพระแก้ว-ธนบุรี ๓๑.๖๐ กม. ความก้าวหน้า ๐.๐๔% และสัญญาที่ ๔-๗ งานโยธานสำหรับช่วงสระบุรี-แก่งคอย ๑๒.๙๙ กม. ความก้าวหน้า ๑๙.๘๗% เร็วกว่าแผน ๐.๑๒%

ในขณะที่ ๓ สัญญาที่อยู่ในขั้นตอนของการประกวดราคา ได้แก่ สัญญาที่ ๓-๑ งานโยธาสำหรับช่วงแก่งคอย-กลางดงและช่วงปางอโศก-บันไดม้า (ศาลปกครอง) ๓๐.๒๑ กม., สัญญาที่ ๔-๑ งานโยธาสำหรับช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง (สามสนามบิน) ๑๕.๒๑ กม. และสัญญาที่ ๔-๕ งานโยธาสำหรับช่วงบ้านโพ-พระแก้ว (สถานีอยุธยา) ๑๓.๓๐ กม.

รถไฟไทย-จีนคาดเปิดปี ๒๕๗๑

สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ระยะที่ ๒ ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย จุดเริ่มต้นอยู่ที่หลังสถานีนครราชสีมา จุดสิ้นสุดที่ริมแม่น้ำโขง ฝั่งไทย ระยะทาง ๓๕๖ กม. มีทั้งหมด ๕ สถานี ได้แก่ สถานีบัวใหญ่ สถานีบ้านไผ่ สถานีขอนแก่น สถานีอุดรธานี สถานีหนองคาย มีศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) ๒ แห่งที่นาทา และเชียงรากน้อย, ศูนย์ซ่อมบำรุงทาง (Maintenance Base) ๔ แห่ง ได้แก่ ที่บ้านมะค่า หนองเม็ก โนนสะอาด และนาทา ส่วนกองเก็บตู้สินค้า (CY) และย่านเปลี่ยนถ่ายสินค้า (Transshipment Yard) ๑ แห่งที่นาทา ซึ่งปัจจุบันออกแบบงานโยธาเสร็จแล้ว และอยู่ระหว่าง คชก.พิจารณารายงาน EIA คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการในปี ๒๕๗๑

รถไฟทางคู่มาบกะเบา-จิระ

จากนั้นนายกฤษดา มัชฌิมาภิโร วิศวกรกำกับการก่อสร้าง เขต ๒ ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) รายความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางจิระ และช่วงชุมทางจิระ-อุบลราชธานี ซึ่งโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางจิระ งานโยธาแบ่งออกเป็น ๓ สัญญาหลัก ได้แก่ สัญญาที่ ๑ ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร ความคืบหน้าโครงการ ๙๓.๙๑% เร็วกว่าแผน ๐.๔๑% คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม ๒๕๖๕ โดยขอบเขตงานประกอบด้วย การก่อสร้างทางคู่ใหม่ระดับพื้น ระยะทางประมาณ ๓๐ กม., ก่อสร้างรถไฟทางเดี่ยวระดับพื้น เพิ่มขึ้น ๑ ทาง ขนานกับทางรถไฟปัจจุบัน ระยะทางประมาณ ๒๓ กม., ก่อสร้างรถไฟทางคู่ยกระดับ ประมาณ ๕ กม., ก่อสร้างสถานีใหม่ ๔ สถานี และปรับปรุงสถานีเดิม ๓ สถานี, สะพานข้ามทางรถไฟ (Overpass) ๑ แห่ง, สะพานกลับรถรูปตัวยูข้ามทางรถไฟ (U-Turn Bridge) ๖ แห่ง, ถนนลอดใต้ทางรถไฟ (Underpass) ๒ แห่ง, ถนนยกระดับเพื่อเปลี่ยนเส้นทาง (Interchange) ๑ แห่ง, ก่อสร้างสะพานรถไฟ ๒๑ แห่ง และก่อสร้างด้านงานโยธาและอื่นๆ เช่น งานระบบระบายน้ำ สะพานลอยคนข้าม และงานรั้ว

สัญญา ๒ รอความชัดเจน

ในขณะที่สัญญาที่ ๒ คลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ เนื่องจากว่าในส่วนของการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงช่วง ๓-๕ ได้รับข้อร้องเรียนจากเทศบาลตำบลบ้านใหม่และจังหวัดนครราชสีมาให้การรถไฟฯ พิจารณาปรับแบบเป็นการยกระดับหรือเสาตอม่อทดแทนแบบคันดิน ระยะทางประมาณ ๘ กม. ในส่วนของการก่อสร้างในสัญญาที่ ๒ จึงต้องรอความชัดเจนในส่วนของการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง เพื่อที่จะเสนอเรื่องไปยัง ครม.ได้

สำหรับรูปแบบการแก้ไขตามข้อเรียกร้องของเทศบาลตำบลบ้านใหม่ ในส่วนของบริเวณตรวนี้จะอยู่เป็นคู่ขนานกับสัญญาที่ ๒ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ ช่วงโคกกรวดจนถึงสถานีรถไฟภูเขาลาด ระยะทางเกือบ ๘ กม. มีงานก่อสร้าง ๒ ส่วน คือในส่วนของรถไฟความเร็วสูงสัญญาที่ ๓-๕ และการก่อสร้างรถไฟทางคู่ฯ สัญญาที่ ๒ ซึ่งการรถไฟฯ ได้ปรึกษาหารือกับทางผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งมีแนวทางในการแก้ไขปัญหา ๔ แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ ๑ ซึ่งคงรูปแบบไว้ตามสัญญาเดิม ไม่มีการปรับแก้ใดๆ เป็นคันดินถมสูงทั้้งแนวระยะทาง ๗.๘๕ กม. ซึ่งจะไม่กระทบกับงบประมาณและระยะเวลาการก่อสร้าง ในขณะที่รูปแบบที่ ๒ จะปรับรูปแบบการก่อสร้างของรถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ให้ยกระดับเป็นจุด โดยแก้ไขในส่วนของจุดตัดที่ ๔ บริเวณแยกหมู่บ้านกรุงไทย ๒ ส่งผลให้งบประมาณในส่วนของรถไฟความเร็วสูงเพิ่มขึ้น ๑๓๘ ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างเพิ่มขึ้น ๑๖ เดือน ส่วนรถไฟทางคู่ฯ งบประมาณเพิ่มขึ้น ๓๖.๙๐ ล้านบาท แต่ระยะเวลาก่อสร้างคงเดิมเนื่องจากยังไม่เสนอ ครม.


งบบานหากปรับตามข้อเรียกร้อง

ส่วนแนวทางที่ ๓ เป็นการปรับจากรูปแบบที่ ๒ เป็นการก่อสร้างตามข้อเรียกร้องเท่าที่จำเป็น โดยปรับคันดินเป็นสะพาน (Short span Bridge) เท่าที่จำเป็น ระยะทาง ๔.๐๕ กม. ส่งผลให้งบประมาณการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเพิ่มขึ้น ๒,๐๘๓ ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างเพิ่มขึ้น ๒๖ เดือน ส่วนรถไฟทางคู่ฯ งบประมาณเพิ่มขึ้น ๙๐๔.๔๑ ล้านบาท

ในขณะที่แนวทางที่ ๔ ปรับรูปแบบก่อสร้างตามข้อเรียกร้องของประชาชน ๑๐๐% โดยปรับจากคันดินเป็นสะพานทั้งแนวระยะทาง ๗.๘๕ กม. ส่งผลให้งบประมาณการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเพิ่มขึ้น ๓,๓๔๓ ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างเพิ่มขึ้น ๓๒ เดือน ส่วนรถไฟทางคู่ฯ งบประมาณเพิ่มขึ้น ๒,๓๗๒.๗๗ ล้านบาท

โดยทั้ง ๔ แนวทางนี้ การรถไฟฯ ได้เสนอไปยังผู้ว่าการการรถไฟฯ เพื่อพิจารณา และมีความคิดเห็นว่าให้เลือกเลยว่าจะเป็นแนวทางใด ซึ่งปัจจุบันผู้บริหารการรถไฟฯ กำลังเลือกว่าจะเสนอแนวทางใดระหว่างแนวทางที่ ๓ กับแนวทางที่ ๔ ซึ่งเป็นแนวทางที่ประชาชนต้องการ

สำหรับการก่อสร้างรถไฟทางคู่ฯ สัญญาที่ ๓ งานอุโมงค์ เริ่มสัญญาวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๖๑ วันสุดสิ้นสุดสัญญาวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๔ แต่ขอขยายสัญญาถึงวันที่ ๒๗ กันยาน ๒๕๖๕ วงเงินก่อสร้าง ๙,๒๙๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท ปัจจุบันคืบหน้า ๙๐.๕๕๕% (ช้า ๓.๗๖๓%) คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม ๒๕๖๕ ประกอบด้วย อุโมงค์ที่ ๑ เฉพาะโครงสร้างอุโมงค์ ๕.๒๐ กม. ระยะทางทั้งหมด ๕.๘๕ กม., อุโมงค์ที่ ๒ เฉพาะโครงสร้างอุโมงค์ ๒๕๐ ม. ระยะทางทั้งหมด ๖๕๐ ม. และอุโมงค์ที่ ๓ เฉพาะโครงสร้างอุโมงค์ ๑.๑๗ กม. ระยะทางทั้งหมด ๑.๔๐ กม. และสัญญาที่ ๔ ระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม แยกเป็นงานออกแบบจัดหาและติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม ในโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายตะวันออกเฉียงเหนือ สำหรับทางรถไฟที่ก่อสร้างใหม่และทางรถไฟเดิม จำนวน ๑๘ สถานี พร้อมระบบป้องกันเหตุ อันตรายของขบวนรถอัตโนมัติ (Automatic Train Protection : ATP) ตามมาตรฐาน Europaen Trian Control System (ETCS) Level 1 ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และงานจัดหาและติดตั้งระบบควบคุมการเดินรถทางไกล (Contralised Traffic Control : CTC) เพื่อควบคุมการเดินรถตลอดพื้นที่ของโครงการ ตั้งอยู่บริเวณสถานีนครราชสีมา


‘วิเชียร’วอนทำตามข้อเรียกร้อง

นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวว่า ขอขอบคุณที่เห็นความสำคัญในข้อเรียกร้องของประชาชนตำบลบ้านใหม่ และข้อเรียกร้องที่จังหวัดฯ เสนอ ซึ่งต้องการให้มีหนังสือตอบกลับมาด้วย ถ้าประชาชนมาสอบถามจะได้มีคำตอบให้ และอยากได้แบบที่ ๔ แต่คิดว่าทางการรถไฟฯ ก็คงจะพิจารณาเรื่องนี้ เพราะประชาชนเดือดร้อนจริงๆ

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๓๓ วันพุธที่ ๒๙ เดือนมิถุนายน - วันอังคารที่ ๕ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕

 


1008 1406