4thJanuary

4thJanuary

4thJanuary

 

July 08,2022

มั่น‘โคราชจีโอพาร์ค’บรรลุ ทะยานอุทยานธรณีโลก

 

‘ยูเนสโก’ ส่ง ๒ ผู้เชี่ยวชาญประเมินโคราชจีโอพาร์ค เพื่อรับรองให้เป็นอุทยานธรณีโลก แห่งที่ ๒ ของประเทศไทย “ผศ.ประเทือง” ปลื้มทุกภาคส่วนสามัคคีให้ความร่วมมือ การประเมินไร้ปัญหาอุปสรรค เชื่อมั่นโคราชผ่านการรับรอง เตรียมลุยไดโนพาร์คที่โคกกรวด

สืบเนื่องจาก ครม.ได้รับรองให้อุทยานธรณีโคราช เป็นอุทยานธรณีระดับประเทศ และอนุมัติให้ขอรับการประเมินจากยูเนสโก เพื่อยกระดับเป็นอุทยานธรณีระดับโลก ต่อจากอุทยานธรณีสตูล ซึ่งเดิมทีมีกำหนดการประเมินในช่วงปี ๒๕๖๒ แต่ด้วยสถานการณ์โรคระบาดโควิด-๑๙ ทำให้การประเมินถูกเลื่อนเรื่อยมานั้น

เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๕ องค์การยูเนสโกมอบหมายให้ Dr.Marie Luise Frey ผู้ประเมินอาวุโสจากสหพันธรัฐเยอรมนี และ Ms.Sarah Gamble ผู้ประเมินจากประเทศแคนาดา ลงพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ ๒๓-๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๕ รวบรวมข้อมูลและเก็บหลักฐานประกอบการรับรองอุทยานธรณีโคราช เพื่อรับรองให้เป็นอุทธยานธรณีโลกของยูเนสโก โดยผู้ประเมินมีกำหนดการประชุมร่วมกับคณะทำงาน ชุมชน และทุกภาคส่วนในจังหวัดนครราชสีมา เพื่อรวบรวมข้อมูลภาพรวมและลงพื้นที่ตรวจประเมินภาคสนาม จำนวน ๑๗ แหล่งสำคัญ ได้แก่ ๑.สถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ ๒.โรงเรียนพันดุง ๓.แหล่งผลิตเกลือภูมิปัญญา บ้านพันดุง ๔.ชุมชนโพนสูง ๕.แหล่งตัดหินสีคิ้ว ๖.เขาจันทน์งาม ๗.ศูนย์เรียนรู้ กฟผ. ๘.อ่างพักน้ำตอนบนลําตะคองสูบกลับ (เขาเควสต้า) ๙.ผายายเที่ยง ๑๐.ชุมชนไท-ยวน สีคิ้ว ๑๑.ชุมชนและปราสาทพนมวัน ๑๒.โรงเรียนท่าช้างราษฎร์บํารุง ๑๓.ไทรงามท่าช้าง ๑๔.กลุ่มทอเสื่อบ้านท่าช้าง ๑๕.เรือนรักษ์รถไฟสูงเนิน ๑๖.พระนอนหินทราย และ ๑๗.แหล่งตัดหินบ้านส้มกบงาม

ประเมินโคราชจีโอพาร์ค

การประเมินเริ่มขึ้นในวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๖๕ ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช และคณะ ร่วมต้อนรับผู้ประเมิน และนําเสนอภาพรวมของอุทยานธรณีโคราช ต่อด้วยการลงพื้นที่ประเมินภาคสนามในแหล่งธรณี (Geosite) ที่มีความสําคัญในระดับนานาชาติ บริเวณสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ช้างดึกดําบรรพ์และไดโนเสาร์ แหล่งอนุรักษ์ป่าไม้กลายเป็นหิน อาคารเตรียมและคลังซากดึกดําบรรพ์ และในช่วงเย็นมีกิจกรรมเลี้ยงต้อนรับ พร้อมชมการแสดงทางวัฒนธรรมจากมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยมีนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายกสภามหาวิทยาลัยฯ และ ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ให้การต้อนรับ

นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เปิดเผยว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นองค์กรหลักในการดูแลสถาบันไม้กลายเป็นหิน และดำเนินการเกี่ยวกับจีโอพาร์คมาตลอด มีการขุดค้นพบซากบรรพชีวินวิทยาและซากดึกดำบรรพ์ พวกฟอสซิล อาทิ ซากไดโนเสาร์ ซากช้างดึกดำบรรพ์และไม้กลายเป็นหินจำนวนมาก ในพื้นที่โคราชจีโอพาร์ค จึงผสมผสานระหว่างซากดึกดำบรรพ์กับธรณีวิทยากับภูมิศาสตร์ วัฒนธรรมการใช้ชีวิตในชุมชนต่างๆ เป็นจุดเริ่มต้น ยูเนสโกต้องการให้เกิดการอนุรักษ์ บรรพชีวิตและธรณีวิทยาอย่างยั่งยืนโดยให้ชุมชนมีส่วนเกี่ยวข้อง และเข้ามาดูแลและพัฒนาก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน โดยมีการท่องเที่ยวในเชิงธรณีวิทยา เที่ยวในเชิงวัฒนธรรม ผสมผสานการนำ Soft Power กับธรณีวิทยา เกิดการจ้างงาน ประชาชนมีอาชีพและรายได้มากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ซึ่งเรามีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ขณะนี้โคราชได้มรดกโลกมาแล้ว ๒ มงกุฎ (Crown) คือ ๑.อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ๒.เขตชีวมณฑลสะแกราช และรอการประเมินรับรองโคราชจีโอพาร์คขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีโลก ต่อไปโคราชจะเป็นเมืองที่ ๔ ของโลก ต่อจากประเทศอิตาลี เกาหลีใต้ และจีน ที่มีโปรแกรมอนุรักษ์ของยูเนสโกครบทั้ง ๓ อย่าง หรือเรียกว่า The UNESCO Triple Crown”

จากนั้น วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๖๕ Dr.Marie Luise Frey และ Ms.Sarah Gamble ลงประเมินภาคสนามในพื้นที่อำเภอสีคิ้ว ได้แก่ แหล่งตัดหินเขาจันทร์งาม ศูนย์การเรียนรู้ กฝภ. อ่างพักน้ำตอนบนลำตะคองสูบกลับ (เขาเควสต้า) ผาเขายายเที่ยง ศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช อพ.สธ.คลองไผ่ (มทส.) และชุมชนไท-ยวน โดยนำเสนอข้อมูลการพัฒนา ผลกระทบ ประโยชน์ และศักยภาพชุมชน เพื่อให้เห็นภาพรวมของแหล่งเควสต้าของอุทยานธรณีโคราช ซึ่งเป็นภูมิประเทศที่สวยงาม โดดเด่น และเป็นอัตลักษณ์ของอุทยานธรณีโคราชที่ไม่เหมือนใครในโลก

ดินแดนแห่งเควสต้า

วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๕๖๕ Dr.Marie Luise Frey และ Ms.Sarah Gamble ลงประเมินภาคสนามในเขตพื้นที่ อําเภอเมืองนครราชสีมา เฉลิมพระเกียรติ และสูงเนิน ตั้งแต่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวชุมชนบ้านโพธิ์ โรงเรียนตําบลบ้านโพธิ์ และปราสาทพนมวัน เพื่อดูภาพรวมของแหล่งวัฒนธรรมที่มีความสําคัญระดับชาติ ที่เชื่อมโยงกับมรดกทางธรณีวิทยา โดยการนําหินที่มีอายุระหว่าง ๑๒๐-๑๑๐ ล้านปีก่อน มาใช้ในการก่อสร้างโบราณสถาน เป็นศูนย์กลางทางความเชื่อของชุมชนตั้งแต่ ๑,๓๐๐ ปีก่อน โดยชุมชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ จากนั้นไปประเมินกิจกรรมโรงเรียนต้นแบบจีโอพาร์ค โรงเรียนท่าช้างราษฎร์บํารุง กลุ่มวิสาหกิจท่องเที่ยว-ทอเสื่อท่าช้าง และไทรงามเฉลิมพระเกียรติ และเดินทางไปยังอําเภอสูงเนิน เพื่อดูการเชื่อมโยงเส้นทางการคมนาคมขนส่งในจีโอพาร์ค หากมีนักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวด้วยรถไฟ และศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ณ เรือนรักษ์รถไฟ ตามด้วยการไปสักการะพระพุทธไสยาสน์หินทรายในยุคทวารวดีที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นประเมินการบริหารจัดการพื้นที่ป่าชุมชนแหล่งตัดหินบ้านส้มกบงาม ที่เกิดจากการตั้งใจอนุรักษ์ผืนป่า แหล่งตัดหินหินทรายแดง และหินที่มีร่องรอยซากดึกดําบรรพ์เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียน และเป็นแหล่งอาหารของชุมชน พร้อมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ผลของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ การทําลายป่าและการพัฒนาที่ทําให้เกิด การเปลี่ยนแปลงทิศทางของลําน้ำ ทําให้แหล่งน้ำที่สําคัญของชุมชนหายไป

ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช เปิดเผยว่า “โคราชจีโอพาร์ค ดินแดนแห่งเควสต้าและฟอสซิส (Cuesta & Fossil Land) ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคองใน ๕ อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา จำนวน ๓,๑๖๗ ตารางกิโลเมตร ได้แก่ อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอขามทะเลสอ อำเภอเมือง และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ มีแหล่งที่มีความสำคัญระดับนานาชาติระดับชาติ และท้องถิ่นในพื้นที่อุทยานธรณีโคราชมากถึง ๓๙ แหล่ง ประกอบด้วยแหล่งธรณี ๒๑ แห่ง และเป็นแหล่งธรรมชาติอื่น และแหล่งวัฒนธรรมที่เชื่อมโยงกับแหล่งธรณีวิทยา ๑๘ แห่ง นอกจากนี้ อุทยานธรณีโคราชยังมีมรดกที่จับต้องไม่ได้ อาทิ ความเชื่อ และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สำคัญอีกมากมาย อุทยานธรณีโคราชตั้งอยู่บนที่ราบสูงโคราชขอบด้านตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งมีแนวเขาเควสต้าสองชั้นเป็นแลนด์มาร์คที่โดดเด่น และไม่ซ้ำอุทยานธรณีแห่งใดในเครือข่ายอุทยานธรณีโลก ซึ่งถูกรองรับด้วยแผ่นหินที่มีอายุราว ๑๕๐–๙๐ ล้านปี เรียกว่า กลุ่มหินโคราช ซึ่งพื้นที่บริเวณนี้เป็นห้องเรียนกลางแจ้งของนักศึกษาและนักธรณีวิทยา ดังนั้น ถ้าผ่านการประเมินแล้วจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ จะทำให้มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเดินทางเข้ามาในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาเพิ่มมากขึ้นอย่างแน่นอน”

วันที่ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๖๕ คณะผู้ประเมินลงพื้นที่ภาคสนามที่แหล่งเรียนรู้เกลือสินเธาว์โรงเรียนพันดุง (ศูนย์สารสนเทศภูมิปัญญาเกลือ) และแหล่งผลิตเกลือสินเธาว์ภูมิปัญญาชาวบ้านพันดุง อําเภอขามทะเลสอ เพื่อพบปะผู้บริหารชุมชนและโรงเรียนที่ส่งเสริมให้มีการอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทําเกลือหัวและการทําเกลือจากขี้กะทาด้วยภูมิปัญญาของชุมชน ให้ยังคงอยู่ และถ่ายทอดให้คนรุ่นหลังหรือนักท่องเที่ยวได้มาเรียนรู้ รวมถึงการ นํามรดกทางธรณีวิทยาที่มีอยู่ในพื้นที่มาใช้ ประโยชน์อย่างยั่งยืน จากนั้นเดินทางไปยังชุมชนท่องเที่ยวนิเวศเกษตรขอบเมืองซึ่งเป็นการทําการเกษตร ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ ๙ ที่ชุมชนมีความเข้มแข็งพึ่งพาตนเองได้ มีความรัก หวงแหน ในผืนดิน ถิ่นฐานและภูมิปัญญาการทําการเกษตรมาจากรุ่นสู่รุ่น มีการน้อมนําปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ใน การพัฒนากลุ่มให้เกิดความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ ตลอดจนถ่ายทอดองค์ความรู้และวิถีปฏิบัติสู่การเป็นห้องเรียนรู้แก่คนทั้งประเทศ ปิดท้ายการประเมินภาคสนามด้วยอาหารกลางวันที่ร้านอาหารพื้นถิ่นที่บริการอาหาร พื้นบ้านที่คนโคราชคุ้นเคย คือ ขนมจีนประโดก ผัดหมี่โคราช ส้มตํา ไก่ทอด ที่ร้านครูยอด ตำบลหมื่นไวย

หนุนอุทยานธรณีโคราช

จากนั้น เวลา ๑๘.๐๐ น. ที่ห้องประชุมนกยูง โรงแรม The Center Point Korat นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วย ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช Dr.Marie Luise Frey และ Ms.Sarah Gamble ผู้ประเมินจากยูเนสโก ร่วมแถลงข่าว การประเมินโคราชจีโอพาร์คโดยผู้ประเมินจากองค์การยูเนสโก “The Khorat aspiring UNESCO Global Geopark Evaluation Mission” โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ นักวิจัยที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และประชาชน ร่วมงาน

ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ กล่าวว่า “มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้เป็นหน่วยงานหลักทางวิชาการในการนำองค์ความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านบรรพชีวินที่ได้ดำเนินการมาอย่างยาวนานในการผลักดันอุทยานธรณีโคราช และเข้าสู่การประเมินจากองค์กรยูเนสโกในครั้งนี้ โดยสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินและทรัพยากรธรณี ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติ เป็นหน่วยงานสำคัญหนึ่งของมหาวิทยาลัยฯ และเป็นหน่วยงานที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับบรรพชีวินเป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติ เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหิน ช้างดึกดำบรรพ์ และไดโนเสาร์ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้ แหล่งท่องเที่ยวเพื่อการนันทนาการ ได้รับการยอมรับในการเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมอันดับหนึ่งของประเทศไทยจากการประกวด Museum Awards ปี ๒๕๖๔ เป็นที่ตั้งของสำนักงานโคราชจีโอพาร์ค ตลอดจนบุคลากรของสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ ยังทำหน้าที่ในการพัฒนา ส่งเสริม และขับเคลื่อนโคราชจีโอพาร์คร่วมกับภาคีทุกภาคส่วนมาโดยตลอด และในการประเมินครั้งนี้ มหาวิทยาลัยฯ ยินดีที่จะร่วมดำเนินการส่งเสริม ยกระดับโคราชจีโอพาร์คให้มีความยั่งยืนต่อไป และหวังว่า อุทยานธรณีโคราชจะได้รับรองให้เป็นอุทยานธรณีโลก”

กันยายนนี้รู้ผล

ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล กล่าวว่า “สำหรับการนำเสนออุทยานธรณีโคราช เน้นเรื่องโคราชฟอสซิลแลนด์ กิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่จึงเชื่อมโยงกับเรื่องธรณี และซากฟอสซิล โดยบูรณาการมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือท้องถิ่น โดยให้มีความเชื่อมโยงกับเรื่องดิน น้ำ พืชพรรณ และฟอสซิลที่ค้นพบในพื้นที่นั่นๆ ซึ่งการประเมินก็ราบรื่น เพราะที่ผ่านมาเรามีการซ้อมประเมินหลายครั้ง โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากยูเนสโกมาซักซ้อมให้ เมื่อถึงวันประเมินจริง ทุกอย่างก็เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยหลังจากนี้ ผู้ประเมินจะนำผลศึกษาต่างๆ ไปทำรายงาน เพื่อเสนอในที่ประชุมสภาจีโอพาร์คโลก โดยปีนี้จะมาจัดประชุมที่จังหวัดสตูล ในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งตรงกับการประชุมจีโอพาร์คเอเชียแปซิฟิก ซึ่งเป็นการประชุมวิชาการด้านอุทยานธรณี แต่สภาจีโอพาร์คโลกก็จะถือโอกาสมาประชุมด้วย โดยผู้ประเมินทั้ง ๒ จะนำเรื่องเสนอในที่ประชุม จากนั้นก็จะออกจากห้องประชุม เพื่อให้คณะกรรมการอีก ๑๐ คนตัดสิน ซึ่งโคราชจะต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการ ๖ ใน ๑๐ จึงจะถูกรับรองให้เป็นอุทยานธรณีโลก และวันนั้นเราก็จะทราบเป็นการภายในว่าได้หรือไม่ แต่การประกาศเป็นทางการน่าจะประมาณช่วงเดือนเมษายน ๒๕๖๖”

ประโยชน์ที่จะได้รับ

“หากอุทยานธรณีโคราชผ่านการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลก โคราชก็จะได้รับการประชาสัมพันธ์โดยยูเนสโก เพื่อให้ทั่วโลกได้รู้จัก จากนั้นนักท่องเที่ยว ผู้ที่สนใจ และนักวิจัย ก็จะเดินทางมาเยี่ยมชม เพื่อมาศึกษาเรียนรู้งานหรือมาท่องเที่ยว ขณะเดียวกันในระดับประเทศ ก็จะมีการส่งเสริมให้เกิดการจัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้น โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และกระทรวงมหาดไทย มาสนับสนุนด้านนโยบายและงบประมาณ เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของโคราชจีโอพาร์ค ซึ่งเน้นเรื่องการอนุรักษ์ การศึกษา วิจัย และท่องเที่ยว เมื่อเป็นเช่นนี้ชุมชนก็จะได้รับประโยชน์ เพราะสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ จะถูกนำมาสร้างเป็นแบรนด์ภายใต้โคราชจีโอพาร์ค ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่น ช่วยทำให้สินค้าขายได้ง่ายขึ้น ชุมชนก็จะได้ยกระดับคุณภาพชีวิต มีรายได้เพิ่มมากขึ้น” ผศ.ดร.ประเทือง กล่าว

มีโอกาสได้รับรองสูง

ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล กล่าวท้ายสุดว่า “ถ้าดูจากความรู้สึกที่ผู้ประเมินมีต่อโคราช เขาพอใจทุกแห่งที่ไปประเมิน และยังให้กำลังใจด้วยว่า โคราชมีโอกาสสูงที่จะได้รับรอง ผมคิดว่า มีความมั่นใจว่าจะได้ ถึงแม้จะไม่เต็มร้อย แต่ก็น่าจะเกินครึ่งที่เราจะมีโอกาสได้รับการรับรอง ผมคิดว่าเราจะได้ ประกอบกับผู้ประเมิน ๒ คนที่มา เขาเป็นกรรมการรุ่นบุกเบิกจีโอพาร์คโลก อาจจะทำให้การนำเสนอมีน้ำหนักและความน่าสนใจ ผมจึงคิดว่ามีความเป็นไปได้สูง”

เมื่อ ‘โคราชคนอีสาน’ ถามว่า ‘โครงการก่อสร้างไดโนพาร์คขณะนี้มีความชัดเจนอย่างไรบ้าง’ ผศ.ดร.ประเทือง ตอบว่า “ยังยืนยันว่าทำอยู่ เพราะโคราชมีแหล่งฟอสซิล ๔ ทิศรอบอำเภอเมือง นับเป็นแหล่งธรณีที่สำคัญระดับนานาชาติ มีการนำเสนอให้ยูเนสโกรับรู้แล้ว และมีการตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ ดังนั้น ทั้ง ๔ แห่ง ไม่ว่าจะเป็นตำบลท่าช้าง โคกสูง โคกกรวด และสุรนารี จึงมีแผนโครงการจะจัดสร้างไดโนพาร์คขึ้นที่ตำบลโคกกรวด ใกล้ๆ กับบ้านโป่งแมลงวัน ซึ่งได้เสนอผ่านทางมหาวิทยาลัยราชภัฏฯ ถึงสำนักทรัพยกรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว เพื่อขอใช้ประโยชน์ที่ดินในการก่อสร้างเป็นไดโนพาร์ค ซึ่งก่อนหน้านี้ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (คนเก่า) ก็เห็นด้วยกับโครงการฯ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมเอกสารต่างๆ”


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๗ ฉบับที่ ๒๗๓๓ วันพุธที่ ๒๙ เดือนมิถุนายน - วันอังคารที่ ๕ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕


123 1,821