20thApril

20thApril

20thApril

 

July 09,2022

อุบลฯพร้อมรับมือน้ำท่วม ปชช.เสนอทำคลองไส้ไก่

 

อุบลฯ เตรียมรับมือน้ำท่วมปีนี้ ชป.เตรียมอุปกรณ์ผลักดันน้ำและเครื่องสูบน้ำรองรับ ภาคประชาชนเสนอทำคลองไส้ไก่กระจายน้ำตามพื้นที่โคกหนองนาโมเดล ดีกว่าทุ่มงบทำคลองเบี่ยงน้ำมูลค่า ๔ หมื่นล้าน


สถาบันพระปกเกล้าจังหวัดอุบลราชธานี จัดเสวนาการบริหารจัดการระบายน้ำและใช้ประโยชน์จากน้ำ เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี โดยมีตัวแทนภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาน้ำท่วม และน้ำแล้งนำเสนอข้อมูล เพื่อรวบรวมส่งให้จังหวัดเสนอต่อไปยัง สทนช.ใช้เป็นแนวทางรับมือและแก้ปัญหาน้ำท่วมช่วงฤดูฝนขณะนี้ และในอนาคตของจังหวัด เพราะเป็นพื้นที่ปลายน้ำและเกิดน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

โดยเวทีเสวนามีการนำเสนอภูมิปัญญาของชุมชน รวมทั้งนำโครงการพระราชทานโคก หนองนาโมเดล ขุดสระน้ำ และคลองไส้ไก่ใช้ดักน้ำ ตั้งแต่ต้นน้ำ จะทำให้ปริมาณน้ำที่ไหลมารวมที่จังหวัดอุบลราชธานี กระจายตัวเข้าสู่พื้นที่ของชาวบ้าน ก็จะได้ประโยชน์จากการนำน้ำไปใช้ทำเกษตรกรรมทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง แทนหวังพึ่งโครงการทำคลองเบี่ยงน้ำของกรมชลประทานที่ใช้งบประมาณก่อสร้างสูงกว่า ๔ หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทำขึ้นในอนาคต

ด้านนายเศรษฐพงศ์ พิงคารวัฒน์ ผู้อำนวยการส่วนบริหารจัดการน้ำและบำรุงรักษา สำนักงานชลประทานที่ ๗ จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในปี ๒๕๖๕ ว่า สำนักงานชลประทานที่ ๗ ซึ่งดูแลพื้นที่ปลายน้ำของ ๓ ลุ่มน้ำ ทั้งแม่น้ำโขง แม่น้ำชี แม่น้ำมูล ได้ยึดตาม ๑๓ มาตรการของ สทนช.ที่มี พล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีดูแล ซึ่งปีนี้ จะไม่ประสบปัญหาน้ำท่วม เพราะกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์จะมีพายุเข้ามาจำนวน ๒ ลูก ขณะที่ได้ผ่านไปแล้ว ๑ ลูก เพราะน้ำจะท่วมจังหวัดต้องมีปริมาณน้ำที่ไหลมาจากต้นน้ำชีและมูล มารวมกันที่สถานีวัดน้ำ M7 สะพานเสรีประชาธิปไตย ต้องไม่เกิน ๒,๓๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ขณะนี้ น้ำอยู่ที่ร้อยกว่าลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ยังรองรับน้ำได้อีกมาก

นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมความพร้อมพร่องน้ำรับน้ำใหม่ผ่านระบบปั่นกระแสไฟฟ้าของเขื่อนปากมูล ไม่ให้ระดับน้ำสูงเกิน ๑๐๘ ม.รทก. และมีการจัดจราจรน้ำร่วมกับสำนักงานชลประทานที่ ๖ ซึ่งดูแลต้นน้ำลุ่มน้ำชี และสำนักงานชลประทานที่ ๘ ซึ่งดูแลลุ่มน้ำมูล แต่ที่กังวลขณะนี้คือ ไม่สามารถควบคุมการขึ้นลงของแม่น้ำโขงที่รับน้ำต่อจากจังหวัด จึงมีการเตรียมความพร้อมอุปกรณ์เข้าช่วยเหลือพื้นที่เสี่ยง ๔๓ จุดของจังหวัด ทั้งเครื่องผลักดันน้ำและเครื่องสูบน้ำมีรวมกันขณะนี้กว่า ๑๗๐ เครื่อง

สำหรับการแก้ปัญหาระยะยาวมีโครงการผันน้ำฝั่งขวาจากแม่น้ำมูลและผันน้ำจากแม่น้ำชี ก่อนที่ไหลมาถึงตัวจังหวัด จะช่วยตัดยอดน้ำ ๒ ลุ่มน้ำ ได้ ๒,๐๐๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ใช้งบประมาณกว่า ๔๐,๐๐๐ ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการทำประชาพิจารณ์ จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ในระยะยาวไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี ๒๕๖๒


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๓๔ วันพุธที่ ๖ - วันอังคารที่ ๑๒ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕

 

 


992 1394