18thSeptember

18thSeptember

18thSeptember

 

July 09,2022

คนริมรางยกโขยงหา‘วิเชียร’ อ้างผู้รับเหมาไล่พ้นพื้นที่ เร่งการรถไฟฯสร้างบ้านพัก

เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม วอนพ่อเมืองโคราชช่วยเหลือ อ้างถูกผู้รับเหมาโครงการรถไฟความเร็วสูง ข่มขู่ออกจากพื้นที่อยู่อาศัย แต่การรถไฟฯ ยังก่อสร้างบ้านพักชั่วคราว แต่ที่บ้านพะไลไม่เสร็จ และเร่งให้ออกสัญญาเช่าที่พักอาศัยชั่วคราวด้วย


เมื่อวันที่ ๔ กรกฎาคม ๒๕๖๕ เวลา ๐๙.๓๐ น. ที่หน้าศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นางสาวพัชรินทร์ น้อยอินทร์ ตัวแทนเครือข่ายริมรางเมืองย่าโม ๑๖๖ ครัวเรือน นำประชาชนกว่า ๓๐ คน ที่อาศัยอยู่ในบริเวณถนนเลียบนครและชุมชนประสพสุข ซึ่งเป็นพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ยื่นหนังสือขอความช่วยเหลือจากนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กรณีมีกลุ่มผู้รับเหมาของโครงการรถไฟความเร็วสูง สัญญาการก่อสร้าง ๓-๕ งานโยธา ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ข่มขู่เพื่อขับไล่ประชาชนออกนอกพื้นที่ โดยมีเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา เป็นผู้รับเรื่อง

นางสาวพัชรินทร์ น้อยอินทร์ กล่าวกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมฯ ว่า “ประชาชนที่อาศัยอยู่ในที่ดินของการรถไฟได้ดำเนินการตามขั้นตอน แต่สิ่งที่ผู้รับเหมาทำ คือ การนำรถแบ็คโฮมาข่มขู่ว่า ต้องรื้อภายในวันนี้ แล้ววันที่ ๔ กรกฎาคมนี้จะนำรถมาตักออกหากยังไม่ย้ายออก เราจึงอยู่นิ่งไม่ได้ ในเมื่อเรากับการรถไฟฯ ตกลงกันแบบหนึ่ง แต่ผู้รับเหมากระทำอีกแบบหนึ่ง วันนี้จึงต้องการให้จังหวัดช่วยในเรื่องของข้อตกลงที่ปฏิบัติได้จริง ชาวบ้านจะได้ไม่ต้องเดือดร้อน โดยขอให้ชาวบ้านอยู่ในพื้นที่เดิม จนกว่าจะสร้างบ้านพักชั่วคราว ๒๘ หลังแล้วเสร็จ แต่ขณะนี้ยังก่อสร้างไม่เสร็จ อาจจะช่วยออกเป็นหนังสือว่า รอให้บ้านพักชั่วคราวเสร็จก่อน ชาวบ้านถึงจะพร้อมย้ายออกไปจากพื้นที่เดิม หากบ้านพักชั่วคราวเสร็จ เรื่องเหล่านี้จะไม่มีปัญหาเลย และในวันที่ ๗ กรกฎาคมนี้ เราจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเข้าพบผู้ว่าการรถไฟฯ ซึ่งสัญญาไว้ว่าจะให้หนังสือสัญญาเช่า เรามีความพร้อมทุกอย่าง พร้อมที่จะย้ายออก แต่บ้านพักชั่วคราวยังไม่เสร็จ ไม่มีน้ำไม่มีไฟฟ้า เช่น ยายแก่ๆ จะไปอยู่ได้อย่างไร หากล้มป่วยมาก็เป็นปัญหาอีก ไม่มีอะไรรองรับสักอย่าง”

“วันนี้เราไม่ได้ต้องการมาโวยวายอะไร เราทำตามกระบวนการทุกอย่างแล้ว แต่อยู่ที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะดำเนินการตามกระบวนการหรือไม่ ชาวบ้านถึงจะไม่รู้หนังสือแต่ก็ทำตามกระบวนการ ขนาดชาวบ้านยังทำได้ แล้วหน่วยงานต่างๆ ทำได้หรือไม่ ทำให้ถูกต้อง จะได้ไม่เกิดความเดือดร้อนขึ้นอีก เราไปขอให้หน่วยงานต่างๆ ช่วยก็ไม่มีใครช่วย วันนี้จึงเดินทางมาขอให้จังหวัดช่วย โดยเฉพาะพ่อเมือง เพราะนี่เป็นปัญหาของคนโคราช” นางสาวพัชรินทร์ กล่าว

ด้านเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา ชี้แจงว่า “เบื้องต้นศูนย์ดำรงธรรมจะรับเรื่องไว้และนำเรียนนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ต่อไป แต่เบื้องต้นได้นำเรียนให้นายภูมิสิทธิ์ วังคีรี และนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ทราบแล้ว”

จากนั้น ผู้แทนเครือข่ายริมรางเมืองย่าโม และประชาชน ได้ยื่นหนังสือให้กับเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรมฯ โดยระบุรายละเอียดว่า สืบเนื่องจากการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง สัญญาการก่อสร้าง ๓-๕ งานโยธา ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา และโครงการรถไฟทางคู่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อสมาชิกเครือข่ายริมรางเมืองย่าโม ๑๖๖ ครัวเรือน ที่จะต้องย้ายที่อยู่อาศัยออกจากพื้นที่ โดยกระบวนการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของเครือข่ายฯ ผ่านกลไกคณะทํางาน พิจารณาแนวทางการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยชุมชนที่อยู่ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย และคณะอนุกรรมการ แก้ไขปัญหาด้านที่ดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม อยู่ในขั้นตอนการขอเช่าที่ดินการรถไฟฯ บริเวณสถานีพะไล เนื้อที่ ๗.๖ ไร่ และนัดหมายกับผู้ว่าการรถไฟฯ ในการส่งมอบสัญญาในวันที่ ๗ กรกฎาคมนี้ แต่เมื่อวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๕ เจ้าหน้าที่รถไฟ (อบ.) ได้นําคณะผู้รับเหมาก่อสร้างและเจ้าหน้าที่ตํารวจ เข้ามาในชุมชนประสพสุข แจ้งว่ามีความจําเป็นเร่งด่วนที่จะใช้พื้นที่ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสมาชิกเครือข่ายฯ ในการเบนแนวรางเดิมและก่อสร้างถนนในโครงการฯ ให้ชาวชุมชนขนย้ายสิ่งของและที่อยู่อาศัยออกจากพื้นที่ภายในวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๕

ต่อมามีข้อตกลงการเจรจาในช่วงที่คณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคมฯ ลงพื้นที่ในชุมชนของเครือข่ายฯ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๖๕ ว่า ๑.การรถไฟฯ จะทําหนังสืออนุญาตให้สมาชิกเครือข่ายฯ ในกลุ่มเลียบนคร และชุมชนประสพสุข จำนวน ๒๘ หลัง สามารถขอเช่าที่ดินแปลงบริเวณบ้านพะไล เพื่อสร้างบ้านพักชั่วคราวในที่ดินได้ ก่อนที่การรถไฟฯ จะอนุมัติสัญญาเช่าที่ดิน ซึ่งมีการนัดหมายรับมอบสัญญาในวันที่ ๗ กรกฎาคม ๒๕๖๕ และ ๒.การรถไฟฯ เตรียมแผนรื้อย้ายชุมชนและประสานให้ความช่วยเหลือในการสนับสนุนและอํานวยความสะดวกการย้ายที่อยู่ใหม่ของสมาชิกเครือข่ายฯ ๒๘ ครัวเรือน ไปยังพื้นที่เช่าใหม่ที่บ้านพะไล เพื่อสร้างบ้านพักชั่วคราวก่อน การรถไฟฯ จะทําสัญญาเช่าให้ชุมชน เนื่องจากที่ดินแปลงบ้านพะไล เป็นที่นา ลุ่มต่ำ มีน้ำขังในฤดูฝน จําเป็นจะต้องถมดิน ขอไฟฟ้า และน้ำประปา เพื่อก่อสร้างบ้านพักชั่วคราวที่มีระบบสาธารณูปโภคตามสมควร แต่วันนี้เครือข่ายฯ ยังไม่ได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าที่ดินจากการรถไฟฯ ทําให้การถมดิน การขอไฟฟ้าและน้ำประปาชั่วคราว และการก่อสร้างบ้านพักชั่วคราวยังไม่สามารถ ดําเนินการใดๆ ได้

นอกจากนี้ แม้จะมีข้อตกลงในการเจรจาดังกล่าวแล้ว แต่ในวันที่ ๑-๒ กรกฎาคมที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่รถไฟฯ พร้อมคณะ ได้เข้ามาติดป้ายประกาศ ให้สมาชิกเครือข่ายฯ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายออกจากที่ดินภายใน ๗ วัน และมีการใช้วาจาข่มขู่ ขู่เข็ญชาวบ้าน ทําให้ตกใจและเกิดความกลัว เช่น จะเอารถไถมารื้อในวันรุ่งขึ้น หรือถ้าไม่ออกจะเอาตํารวจมาจับ เป็นต้น ซึ่งการกระทําดังกล่าวเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งการเข้ามารื้อที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะดำเนินการโดยรถไฟฯ บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง หรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จะต้องมีคําสั่งศาลหรือคําพิพากษาจากศาล จึงจะกระทําได้ ดังนั้น การกระทําของการรถไฟฯ และคณะ จึงไม่เป็นการสมควร สร้างความเดือดร้อนหวาดกลัวให้กับประชาชนที่วิตกกังวลอย่างมากว่า จะถูกไล่รื้อโดยยังไม่มีบ้านพักชั่วคราวรองรับ หรือถูกกดดันให้เร่งย้ายออก โดยการรถไฟฯ ไม่ได้คํานึงถึงความเป็นอยู่อย่างยาก ลําบากของชาวบ้าน ที่จะต้องไปอยู่บ้านพักชั่วคราวไม่ได้มาตรฐาน และไม่มีระบบสาธารณูปโภคใดๆ ที่จําเป็นต่อการดําเนินชีวิต

เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม จึงขอร้องเรียนความทุกข์ร้อนมาถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาอีกครั้ง ขอให้มีคําสั่งเร่งด่วน ๑.ให้เจ้าหน้าที่การรถไฟฯ และบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่กําลังดําเนินงานอยู่ในพื้นที่ ยุติการกระทําใดๆ อันเป็นการกดดัน หรือส่อไปในทางข่มขู่ คุกคามสมาชิกของเครือข่ายฯ ๒๘ หลังคาเรือน รื้อย้ายที่อยู่อาศัย จนกว่าเครือข่ายฯ จะก่อสร้างบ้านพักชั่วคราวและระบบสาธารณูปโภคแล้วเสร็จ และสามารถย้ายเข้าไปอยู่อาศัยในบ้านพักชั่วคราว โดยได้รับความช่วยเหลือในการสนับสนุนและอํานวยความสะดวกการย้ายที่อยู่ใหม่ทั้งจากการรถไฟฯ บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามข้อตกลงที่เกิดขึ้น ซึ่งระบุไว้ในรายงานผลการร่วมศึกษาดูงานของคณะกรรมาธิการการสวัสดิการสังคม สภาผู้แทนราษฎร ๒.ให้จังหวัดนครราชสีมา นัดหมายการประชุมระหว่างการรถไฟฯ บริษัทรับเหมาก่อสร้าง หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการเครือข่ายริมรางเมืองย่าโม เพื่อร่วมกันวางแผนการรื้อย้ายชุมชน และการประสานให้ความช่วยเหลือสนับสนุนและอํานวยความสะดวกในการย้ายที่อยู่ใหม่ของสมาชิกเครือข่ายฯ ๒๘ ครัวเรือน ไปยังพื้นที่บ้านพะไล หลังจากที่บ้านพักชั่วคราวสร้างเสร็จ

นางสาวพัชรินทร์ น้อยอินทร์ เปิดเผยกับ ‘โคราชคนอีสาน’ หลังจากพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ศูนย์ดำรงธรรม ว่า “เครือข่ายริมรางเมืองย่าโมดำเนินการเช่าที่ดินของการรถไฟฯ ประมาณ ๒ ปี ตามเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนด ไม่ว่าจะเป็นการออมเงิน เพราะต้องออมไว้เป็นค่าสร้างบ้าน และไว้จ่ายค่าที่ดินคืน ซึ่งชาวบ้านทำตามกระบวนการทุกอย่าง แต่สิ่งที่ได้รับ คือ ทางการรถไฟฯ หรือผู้รับเหมาชอบเข้ามาในพื้นที่ที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะช่วงที่ไม่มีคนอยู่ เพื่อเข้ามาปักไม้บอกว่าจะไล่ รื้อ หรือขุดที่อยู่อาศัย รวมถึงข่มขู่ด้วย ซึ่งกระบวนการนี้ชาวบ้านได้คุยกับการรถไฟฯ แล้วว่า จะมีการมอบสัญญาเช่าให้ แต่การรถไฟฯ ก็เลื่อนไปเรื่อยๆ ทำให้ชาวบ้านต้องรวบรวมเงินเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อไปพูดคุยกับการรถไฟฯ หรือทำข้อตกลงกันว่า เมื่อไหร่จะได้สัญญาเช่า ซึ่งชาวบ้านต้องการความสันติ แต่หน่วยงานต่างๆ ไม่ทำตามกระบวนการ กระทั่งวันที่ ๑ กรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้รับเหมาเดินทางมาบริเวณถนนเลียบนคร เพื่อข่มขู่ให้ชาวบ้านย้ายออกภายใน ๒ วัน แล้วบอกว่า ถ้าคนไหนไม่ย้ายออกจะนำรถมาขุดบ้านออก หรือขู่ว่าใครไม่ย้ายออกจะโดนหมายศาล ซึ่งจะให้ชาวบ้านย้ายออกได้อย่างไร เพราะเรื่องบ้านพักชั่วคราว ๒๘ หลังที่ตำบลพะไล ยังไม่เสร็จ สัญญาเช่าหรือระบบสาธารณูปโภคก็ไม่มี และหนังสือขอเข้าพื้นที่ก่อนก็ยังไม่ออกมาให้ ถ้าหากเราเข้าไปก็อาจจะโดนข้อหาบุกรุก วันนี้ชาวบ้านหาที่พึ่งไม่ได้แล้ว จึงต้องมาขอความช่วยเหลือจากจังหวัด ขอให้จังหวัดไปช่วยพูดช่วยเจรจาให้ ทั้งนี้ จังหวัดก็ให้การตอบรับดี จะพาชาวบ้านไปดำเนินการต่างๆ ให้เรียบร้อย และในวันที่ ๗ กรกฎาคมนี้ การรถไฟฯ ได้นัดชาวบ้านเข้าไปรับสัญญาเช่า ก็ต้องคอยดูว่าจะได้จริงหรือไม่ เพราะเราตามเรื่องนี้มาเป็น ๑๐ รอบแล้ว”


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๓๔ วันพุธที่ ๖ - วันอังคารที่ ๑๒ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕


58 1,573