26thApril

26thApril

26thApril

 

July 30,2022

‘คนด่านขุนทด’บุกเมือง ให้‘วิเชียร’หยุดความเค็ม

 

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด เดินทางกว่า ๖๐ กม. ขอพรย่าโม ก่อนเดินขบวนตามถนนมุ่งสู่ศาลากลางจังหวัด ประชุมร่วมผู้ว่าฯ ให้แก้ไขปัญหาที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตช โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความเค็มในพื้นที่โดยเร็ว

 

ตามที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ผู้ได้รับความเดือดร้อนจากการทำเหมืองแร่โปแตชของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ที่มีการทำเหมืองแร่โปแตช ในลักษณะของการทำเหมืองใต้ดิน ที่ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา มีการเคลื่อนไหวเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่มาตลอด

ล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ ๑๐.๑๕ น. วันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ผู้แทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดประมาณ ๕๐ คน เดินทางมาถึงอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ด้วยระยะทางกว่า ๖๐ กิโลเมตร โดยร่วมกันสักการะขอพรแล้วเริ่มเดินรณรงค์ไปตามถนนจอมพล เพื่อบอกเล่าเรื่องราวผลกระทบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ผ่านป้ายผ้า การกล่าวปราศรัย และแจกเอกสารให้ข้อมูลตลอดสองฟากฝั่งถนนที่มีการรณรงค์ ได้รับความสนใจจากผู้อาศัยในบริเวณนั้นและผู้สัญจรไปมาจำนวนมาก โดยเดินทางมาถึงจุดหมายการที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ในเวลา ๑๑.๒๐ น. และพักรับประทานอาหารหน้าศาลากลางจังหวัดฯ ซึ่งการเดินทางบุกเมืองครั้งนี้ เพราะตระหนักว่าไม่ได้เพียงแค่รณรงค์เพื่อให้คนโคราชรับรู้ข้อมูลผลกระทบจากการทำเหมืองโปแตชเท่านั้น แต่มีความตั้งใจมายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาให้มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงประเด็นข้อซักถาม และเร่งแก้ไขปัญหาในพื้นที่โดยเร็ว

เวลาประมาณ ๑๔.๐๐ น. นายวิเชียร จันทร โณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา มาถึงศาลากลางจังหวัด และสั่งการให้เปิดห้องประชุม เพื่อให้ชาวบ้านชี้แจงประเด็นปัญหา พร้อมเชิญตัวแทนอุตสาหกรรมจังหวัด ปลัดอำเภอ และสิ่งแวดล้อมภาค ๑๑ เข้าร่วมชี้แจงตอบข้อสงสัยด้วย

ตัวแทนชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุดทด ได้ชี้แจงประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ซึ่งกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้ ๑.ชาวบ้านเห็นว่าการทำเหมืองแร่โปแตช ของบริษัทไทยคาลิ มีกระบวนการที่ไม่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาพื้นที่ที่อยู่ติดชุมชน และมีการใช้แหล่งน้ำสาธารณะของชาวบ้านในพื้นที่โดยไม่ได้รับอนุญาต ๒.พื้นที่โครงการทำเหมือง ของบริษัทไทยคาลิ เหตุใดจึงมีการก่อสร้างโรงงานขนาดใหญ่นอกเขตแผนผังโครงการทำเหมือง พร้อมทั้งมีการขุดบ่อน้ำนอกเขตแผนผังโครงการทำเหมืองเดิมอย่างมากมาย การกระทำเช่นนี้ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

๓.ชาวบ้านในพื้นที่ได้บอกเล่าประเด็นปัญหาผลกระทบจากความเค็มที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และได้ชี้ให้เห็นว่าความเค็มดังกล่าวเริ่มอุบัติขึ้นหลังเหมืองแร่เข้ามาในพื้นที่ และเริ่มขุดเจาะ โดยมีประเด็นสำคัญคือการปล่อยน้ำลงสู่ที่ดินของชาวบ้านในปี พ.ศ.๒๕๕๙ ทำให้ความเค็มแพร่กระจายในพื้นที่ ส่งผลให้หลายหมู่บ้านทำประปาชุมชนไม่ได้ และมี ๒ หมู่บ้านคือ บ้านหัวนา และบ้านหนองกระโดน ต.หนองไทร ต้องซื้อน้ำจากเหมืองแร่ในราคาหน่วยละ ๒๕ บาท ในการอุปโภคบริโภค ซึ่งมีการแจ้งข้อมูลในพื้นที่ว่า เหมืองแร่จะได้ส่วนแบ่งหน่วยละ ๑๘ บาท เป็นค่าน้ำ และกำนัน (ผู้ใหญ่บ้านหัวนา) ได้หน่วยละ ๗ บาท เป็นค่าซ่อมบำรุง ทำให้ชาวบ้านต้องแบกรับภาระเพิ่มขึ้น

๔.มีการตั้งข้อสงสัยว่าเหมืองแร่มีการทำตาม EIA ปล่อยให้มีน้ำเค็มรั่วไหลออกนอกพื้นที่ และมีการต่อท่อปล่อยน้ำออกจากเขตพื้นที่โครงการ ลงสู่แหล่งน้ำและที่ดินทำกินของชาวบ้าน ทำให้ขณะนี้หลายคนไม่สามารถทำการเกษตรใดๆได้ บ้านเรือนผุพังจากการกัดกร่อนของความเค็ม และ ๕.ปัญหาของการรั่วไหลของน้ำในอุโมงค์ขุดเจาะเดิม ที่ไม่มีการชี้แจงข้อมูลให้ชาวบ้านทราบแต่อย่างใด ทั้งที่มีการรั่วไหลตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๖๓ แต่มีการรายงานเมื่อพ.ศ.๒๕๖๔ และชาวบ้านได้รู้จากข้อมูลมติ ครม.ในปีปัจจุบัน ทั้งยังไม่มีมาตรการป้องกัน หรือชดเชยความเสียหาย แต่กลับเดินหน้าในการทำอุโมงค์ขุดเจาะใหม่ ๓ จุด โดยเพิกเฉยต่อผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่

ทั้งนี้ บรรยากาศในห้องประชุม นายวิเชียร จันทรโณทัย ได้เปิดโอกาสให้อุตสาหกรรมจังหวัดฯ ชี้แจงตอบข้อสงสัยโดยระบุว่า ในพื้นที่มีค่าความเค็มสูงอยู่แล้ว จากการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบ่อน้ำสาธารณะที่มีการพังลง เกิดน้ำทะลักลงสู่ที่นาของชาวบ้านก็ไม่ได้เป็นบ่อน้ำของบริษัท แต่เป็นบ่อที่ อบต.หนองไทรแจ้งว่าเป็นบ่อขยะ และขอให้บริษัทปรับปรุงให้ เมื่อมีฝนตกจำนวนมากขอบบ่อจึงพัง และบริษัทมีการจ่ายเงินชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวบ้านแล้ว ในส่วนของโครงการที่ทำเกินแผนผังโครงการทำเหมืองนั้นเป็นส่วนของโรงต้มเกลือ ซึ่งมีหน้าที่ทำให้เกลือบริสุทธิ์ก่อนนำไปจำหน่าย โดยอุตสาหกรรมจังหวัดได้เน้นย้ำว่า บริษัทยังไม่ได้มีการผลิตแร่แต่อย่างใด พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมจังหวัดได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปแจ้งความดำเนินคดีกับบริษัท หลังพบว่ามีการขุดบ่อน้ำเพิ่มเติมจาก ๕ บ่อ เป็น ๑๐ บ่อ โดยไม่ได้รับอนุญาต

หลังจากฟังข้อมูลดังกล่าว ชาวบ้านที่มาต่างส่งเสียงทักท้วงถึงความไม่ถูกต้องของข้อมูลในหลายประเด็น เพราะแหล่งน้ำสาธารณะของชาวบ้านไม่เคยมีใครนำขยะไปทิ้ง เพราะเป็นแหล่งน้ำสำคัญที่สัตว์เลี้ยงของชาวบ้านจะต้องไปใช้ดื่มกิน และในปี ๒๕๕๙ บ่อก็ไม่ได้พังแต่มีการใช้รถแบคโฮขุดขอบบ่อจงใจให้น้ำไหลออก อีกทั้งตัวแทนชาวบ้านยังแสดงภาพกองเกลือขนาดใหญ่ที่อยู่ภายในเหมืองแร่ให้ทางส่วนราชการได้ดูด้วยว่า เหมืองแร่ดังกล่าวมีการแต่งแร่แล้ว ย่อมต้องมีน้ำเค็มที่เกิดการกระบวนการแต่งแร่ดังกล่าวจำนวนมาก

จากนั้นผู้ว่าราชการจังหวัดฯ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจากตัวแทนสำนักงานสิ่งแวดล้อมที่ ๑๑ นครราชสีมา โดยชี้แจงผลการตรวจน้ำ จากจุดที่พบการรั่วซึมจากขอบบ่อน้ำของบริษัทที่หลายจุดเกินค่ามาตรฐาน และบางจุดมีค่าความเค็มเกินกว่าน้ำทะเล ทั้งยังพบว่ามีการต่อท่อออกมาจากบ่อน้ำของบริษัท จึงตั้งข้อสันนิษฐานว่าอาจมีการรั่วซึมของน้ำเค็มจากเหมืองแร่จริง

อย่างไรก็ตาม การประชุมนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ จึงเสนอให้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงร่วมกันระหว่างหน่วยงานและชาวบ้านในพื้นที่ โดยนัดหมายกันในช่วงบ่ายวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ ณ วัดหนองไทร ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาในพื้นที่

หลังปิดประชุมชาวบ้านในพื้นที่ได้ยื่นหนังสือเพื่อให้มีการตอบประเด็นปัญหาต่างๆ เป็นลายลักษณ์อักษร เพราะมีอีกหลายข้อที่ไม่ได้กล่าวถึงในที่ประชุม เช่น การจ่ายค่าลอดใต้ถุน และการร่วมกันปกปิดข้อเท็จจริงด้วยการร่วมมือกันระหว่าง อบต.หนองไทร กับบริษัทฯ ด้วยการขุดหน้าดินที่วัดหนองไทรออกไปที่อื่นแล้วนำดินใหม่มาถมทับ

ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่า วันนี้มีชาวบ้านหลายคนรู้สึกดีใจและตื่นเต้นที่ได้มาร่วมกันรณรงค์บอกเล่าประเด็นปัญหาในโคราช และรู้สึกมีความหวังต่อการลงพื้นที่ของผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เพราะหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ ต่างเพิกเฉย และข่มขู่ไม่ให้ชาวบ้านออกมาคัดค้านเหมือง หากผู้ว่าฯ ลงพื้นที่ เจ้าหน้าที่เหล่านี้ก็จะได้ตั้งใจทำงานเพื่อรับใช้ประชาชนมากขึ้น


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๓๗ วันพุธที่ ๒๗ กรกฎาคม - วันอังคารที่ ๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕


1003 1429