29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 04,2022

ประชาชนห่วง‘ท่าเรือบกโคราช’ แนะวิธีจัดการปัญหาน้ำท่วม

กลุ่มโคราชศึกษาแก้ปัญหาน้ำท่วม เป็นห่วงโครงการท่าเรือบก ยกทีมบุกสภาอุตสาหกรรมจังหวัดฯ หารือและเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ย้ำ “โคราชจะพัฒนา ต้องไม่ทิ้งปัญหาไว้ให้คนรุ่นหลังมาแก้ไข”

เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๐๐ น. ที่สภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กลุ่มโคราชศึกษาแก้ปัญหาน้ำท่วม นำโดยพลเอกลือพงศ์ โชติวิทยากาญจน์ ประธานกลุ่มฯ พร้อมด้วยนายสมยศ พัดเกาะ ผู้ประสานงานกลุ่มฯ นางนุชจรินทร์ อินทรชัย และนายธีระศักดิ์ ขันผักแว่น เข้าพบนายทรงธรรม สุวรรณโชติ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และ ดร.จารุพงษ์ บรรเทา เลขาคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการท่าเรือบก นครราชสีมา เพื่อหารือการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมจากการก่อสร้างท่าเรือบกโคราช

พลเอกลือพงศ์ โชติวิทยากาญจน์ กล่าวว่า “ปัญหาน้ำท่วมโคราช เป็นปัญหาที่เห็นทุกปี บางปีท่วมมาก บางปีท่วมน้อย แต่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมซ้ำซากทุกปี บางพื้นที่ที่เคยน้ำท่วมน้อย ปัจจุบันกลับกลายมาเป็นพื้นที่ที่มีน้ำท่วมมาก บางพื้นที่ไม่เคยมีน้ำท่วม กลับมีน้ำท่วมให้เห็น หรือพื้นที่บางพื้นประสบปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน แต่พอฤดูร้อนก็จะประสบปัญหาภัยแล้งในพื้นที่เดียวกัน ปรากฏการณ์เหล่านี้ ทําให้หลายคนแปลกใจว่าเกิดอะไรขึ้น กลุ่มโคราชศึกษาแก้ปัญหาน้ำท่วม จึงก่อตั้งขึ้น โดยชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม วิศวกร สถาปนิก ข้าราชการอาวุโส ซึ่งปัญหาน้ำท่วมโคราชเป็นปัญหาใหญ่ที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของจังหวัด และยังสร้างภาระหนี้สินให้กับเกษตรกร เพราะเป็นภูมิภาคที่เพาะปลูกที่ได้ผลผลิตต่อไร่ต่ำอยู่แล้ว เกษตรกรต้องเผชิญกับความผันผวนเรื่องราคาของผลผลิตทางการเกษตร และยังจะต้องมาเจอกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในไร่นาของตัวเองอีก หากผู้ที่เกี่ยวข้องไม่มีการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและบูรณาการทุกภาคส่วน ปัญหาน้ำท่วมโคราชคงไม่สามารถแก้ไขได้อย่างเห็นผล กลุ่มฯ จึงต้องการนําเสนอแนวทางวิธีการแก้ปัญหาน้ำท่วม ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น ท่าเรือบก”

ดร.จารุพงษ์ บรรเทา กล่าวว่า โครงการท่าเรือบกโคราช มีการริเริ่มโครงการขึ้นเมื่อปี ๒๕๖๒ โดยมี สนข.เป็นผู้ศึกษาความเป็นไปได้ของโคราช ซึ่งผลการศึกษาขณะนั้น สนข.เลือกพื้นที่ตำบลกุดจิก จากนั้นปี ๒๕๖๔ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้จัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการท่าเรือบก นครราชสีมา ที่ประกอบไปด้วย หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาคเอกชน ทั้งหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา และสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และภาคการศึกษา นำโดย มทร.อีสาน ซึ่งคณะทำงานเห็นภาพปัญหาเหมือนกับกลุ่มโคราชศึกษาแก้ปัญหาน้ำท่วม คือ พื้นที่ตำบลกุดจิกมักจะมีน้ำท่วมประจำ จึงมีการทบทวนพื้นที่อื่นๆ เพิ่ม ได้แก่ สถานีรถไฟบ้านกระโดน ตำบลหนองไข่น้ำ และบ้านทับม้า ตำบลสีคิ้ว อำเภอสีคิ้ว ซึ่งคณะทำงานฯ ได้ลงพื้นที่จริง พบประชาชนในพื้นที่จริง เพื่อรับฟังปัญหาที่ประชาชนรู้และทราบดีกว่าเรา เมื่อได้ข้อมูลมาชุดหนึ่ง คณะทำงานฯ ก็เดินทางไปนำเสนอที่การท่าเรือแห่งประเทศไทย ที่ประชุมมีมติเห็นชอบเหมือนกันว่า ทั้ง ๒ ฝ่ายจะตั้งทีมทำงานร่วมกัน การท่าเรือจะมีการลงพื้นที่ ผลตอบรับชัดเจนว่าพื้นที่ตำบลกุดจิกนั้นมีปัญหาเรื่องน้ำ บ้านกระโดน มีความโดนเด่นเกี่ยวกับระบบรางที่มีความพร้อม ส่วนของบ้านทับม้า ยังอยู่ในการตรวจสอบ

“การท่าเรือได้ข้อมูลบางส่วนจะมีทำการ TOR เพื่อตั้งคณะที่ปรึกษา ให้ศึกษาพื้นที่จริงอีกครั้ง โดยคณะที่จัดตั้งขึ้น จะเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่คณะที่ปรึกษา เป็นข้อมูลเชิงพื้นที่ คาดว่าจะได้รับการยืนยันในปลายปี ๒๕๖๖ ว่า พื้นที่ในส่วนใดมีความเหมาะสม เมื่อได้รับการยืนยัน ขั้นตอนต่อไปจะเป็นการพูดคุยในเรื่องการออกแบบ คณะที่จัดตั้งก็จะมีส่วนร่วมในการพูดคุย ตัดสินใจเกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วม จะเป็นการบูรณาการเชิงพื้นที่ และประชาชน ตั้งแต่ปี ๒๕๖๒ จากการประชุมในครั้งนี้คาดว่า จะมีผลตอบรับที่ดีในเรื่องน้ำท่วมมากยิ่งขึ้น” ดร.จารุพงษ์ กล่าว

นายสมยศ พัดเกาะ ผู้ประสานงานกลุ่มฯ กล่าวว่า “จังหวัดนครราชสีมาเป็นเทือกเขาสูง จึงเป็นต้นน้ำของหลายๆ พื้นที่ โคราชมีความสูงจากอุบลราชธานีประมาน ๑๐๐ เมตร ปัญหาที่สำคัญของโคราชคือเป็นแอ่งกระทะ เพราะฉะนั้นตรงกลางแอ่ง จะมีการชลอตัวของน้ำในการไหลไปที่จังหวัดอุบลราชธานี พื้นที่น้ำท่วมขังเกิดจากการปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน คือ ๑.ที่ลุ่ม แสดงให้เห็นถึงพื้นที่รับน้ำที่หายไป ๒.ที่ดอน ในปัจจุบันน้ำมีการเคลื่อนตัวเร็วต่างจากอดีต เนื่องจากสิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่มีลักษณะเป็นลานขนาดใหญ่ การถมที่ในที่ลุ่มนั้นจะมีผลกระทบต่อชุมชน การสร้างในที่ดอนอัตราความเร็วของน้ำ จะมีความเร็วมากกว่าปกติ เมื่อท่าเรือบกสร้างเสร็จ จะมีผลกระทบเรื่องน้ำกับชุมชน แน่นอนไม่ว่าจะเป็นช่วงน้ำหลากหรือฤดูฝนตก อย่างไรก็ตามการสร้างท่าเรือบกในที่ลุ่มหรือที่ดอน ควรพิจารณาพื้นที่รับน้ำหรือการไหลของน้ำอย่างถี่ถ้วน ปัญหาน้ำท่วมจังหวัดนครราชสีมาแบ่งออกได้เป็น ๓ ข้อ ๑.ปรากฏการณ์ธรรมชาติ ๒.การปรับเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นสิ่งที่สำคัญที่ไม่มีการบูรณาการจากหน่วยงานต่างๆ และ ๓.สิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ จากที่ได้มีการนำเสนอรู้สึกเห็นด้วยอย่างมาก ที่โคราชจะมีการพัฒนาแต่การพัฒนา ต้องไม่ทิ้งปัญหาไว้ให้คนรุ่นหลังมาแก้ไข”

นายทรงธรรม สุวรรณโชติ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “ทราบดีว่าการพัฒนานั้นต้องมองหลายมิติ ต้องพัฒนาโดยไมมีผลกระทบต่อชุมชน และเกิดประโยชน์ต่อชุมชน สภาฯ มีความกังวลกับเรื่องนี้มาก ไม่ใช่เพียงแค่โครงการนี้โครงการเดียว เช่นเดียวกันกับทางคณะ เราอยากให้โคราชได้โครงการหลายๆ โครางการ เพื่อมาขับเคลื่อนโคราช ทางสภาอุตสาหกรรมทุ่มเทกันอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดขั้นตอนแรก คือ งบประมาณศึกษา แม้กระทั้งตอนลงพื้นที่ ชุมชนก็ได้มาให้ข้อมูล และคาดหวังว่าโครงการนี้จะสามารถแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ด้วย ไม่ใช่แค่ไปสร้างปัญหาเพียงอย่างเดียว ทางสภาฯ ยินดีเป็นอย่างยิ่งกับข้อมูลที่ได้รับในวันนี้ เราจะนำข้อมูลทั้งหมดนี้พิจารณาต่อไป”

ดร.จารุพงษ์ กล่าวท้ายสุดว่า “การทำงานร่วมกันกับหน่วยงานส่วนกลางของภาครัฐ แต่ละโครงการที่ผ่านมายังไม่มีภาคส่วนของคณะทำงานเชิงพื้นที่ โครงการนี้เป็นการทำงานบูรณาการของข้อมูลเชิงพื้นที่ จะมีการเห็นภาพที่ชัดเจนยิ่งขึ้น การให้ข้อเท็จจริงของข้อมูลในเชิงวิชาการให้ได้มาที่สุดแก่คณะทำงานเท่าที่ทำได้ เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด”

ทั้งนี้ พลเอกลือพงศ์ โชติวิทยากาญจน์ ประธานกลุ่มฯ พร้อมทั้งคณะมอบเอกสาร โครงการแก้ปัญหาน้ำท่วมโคราช จัดทำโดยกลุ่มโคราชศึกษาแก้ปัญหาน้ำท่วม เพื่อให้นายทรงธรรม สุวรรณโชติ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และ ดร.จารุพงษ์ บรรเทา เลขาคณะทำงานขับเคลื่อนโครงการท่าเรือบก นครราชสีมา พิจารณา หาแนวทางแก้ไข และบูรณาการเพื่อประกอบการสร้างท่าเรือบกโคราขต่อไป


977 1614