29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 06,2022

ชาว‘หลุ่งตะเคียน’สุดทน วัดเถื่อนรุก‘ปราสาทพันปี’ กรมศิลป์’เงื้อง่าไม่กล้าฟัน

 

ชาวหลุ่งตะเคียน อำเภอห้วยแถลง ร้องตรวจสอบวัดเถื่อนบุกรุกพื้นที่โบราณสถานปราสาทบ้านหลุ่งตะเคียน ป.ป.ช.ตรวจสอบพบมีสิ่งปลูกสร้าง ๑๐๗ จุด ผอ.ศิลปากรที่ ๑๐ ย้ำเบื้องต้นสั่งรื้อถอนแล้ว แต่ยังไม่ดำเนินคดีข้อหาบุกรุก อ้างอธิบดีฯ ให้ทำตามหลักรัฐศาสตร์


ตามที่ “โคราชคนอีสาน” ได้รับร้องเรียนจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านหลุ่งตะเคียน ตำบลหลุ่งตะเคียน อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา เนื่องจากมีการบุกรุกพื้นที่เขตโบราณสถานปราสาทบ้านหลุ่งตะเคียน เพื่อนำไปใช้เป็นพื้นที่วัดโคกปราสาท และมีสิ่งปลูกสร้างกว่า ๑๐๐ จุด ทำให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งโบราณสถาน ประชาชนไม่สามารถเข้าไปทำกิจกรรมตามความเชื่อได้ โดยมีการยื่นเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข และวัดดังกล่าวไม่พบการขึ้นทะเบียนกับสำนักพุทธศาสนาแห่งชาติด้วย

สำหรับการบุกรุกพื้นที่เขตโบราณสถานปราสาทบ้านหลุ่งตะเคียน มีการยื่นหนังสือร้องเรียนตั้งแต่วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๖๕ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม อธิบดีกรมศิลปากร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายอำเภอห้วยแถลง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหลุ่งตะเคียน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้ตรวจสอบการบุกรุกที่ดินโบราณสถานฯ กระทั่งวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕ นายปริญญา วิกุลศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา รวมทั้งคณะสงฆ์อำเภอห้วยแถลง สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครราชสีมา กอ.รมน.จังหวัดนครราชสีมา ปกครองอำเภอห้วยแถลง องค์การบริหารส่วนตำบลหลุ่งตะเคียน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้แทนประชาชนในพื้นที่ ลงพื้นที่กรณีได้รับแจ้งเบาะแสการปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้รับอนุญาตในเขตโบราณสถานปราสาทบ้านหลุ่งตะเคียน พื้นที่ ๙๗ ไร่ ๓ งาน ๗๙ ตารางวา และชาวบ้านในพื้นที่ไม่สามารถเข้าไปประกอบพิธีกรรมต่างๆ ในปราสาทได้ นั้น

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบมีสิ่งปลูกสร้าง จำนวน ๑๐๗ จุด ประกอบด้วย ที่พักอาศัย โรงครัว โรงจอดรถยนต์ ยุ้งข้าว ห้องน้ำ เจดีย์ ศาลา ห้องเก็บของ กุฏิสงฆ์ ศาลาปฏิบัติธรรม โรงซ่อม อาคารควบคุมระบบไฟฟ้า ระบบสายส่งและเสาไฟฟ้า อาคารทางเดินจงกรม หอถังประปา ระบบกรองน้ำประปา ถนนคอนกรีต ซึ่งมีพระสงฆ์และฆราวาส เป็นผู้ครอบครอง จึงได้จัดประชุมร่วมกันปรึกษาหารือเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน

นายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา ชี้แจงว่า “การประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน เพื่อประโยชน์ในการดูแลรักษาและการควบคุมโบราณสถานซึ่งเป็นหลักฐานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์หรือโบราณคดี สำหรับปราสาทบ้านหลุ่งตะเคียน เป็นโบราณสถานสำคัญอายุราว ๑,๐๐๐ ปี ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา ผู้ใดไม่สามารถปลูกสร้างอาคารได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมศิลปากร ทั้งนี้สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมาจึงแจ้งให้ผู้ครอบครองดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง โดยเฉพาะอาคารที่ติดกับตัวปราสาทให้ดำเนินการรื้อถอนออก และสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในขั้นตอนต่อไป”

บุกรุกพื้นที่โบราณสถาน

จากนั้น ผู้ดูแลแฟนเพจ “ห้วยแถลง” ติดต่อมายัง “โคราชคนอีสาน” เพื่อให้ข้อมูลว่า “การบุกรุกพื้นที่โบราณสถานบ้านหลุ่งตะเคียน เริ่มจากนายน้อย ผู้ใหญ่บ้านโนนไม้แดง ตำบลโบสถ์ อำเภอพิมาย ข้ามลำปลายมาศมาปลูกพืชผัก และย้ายครอบครัวไปอาศัยใกล้เขตพื้นที่ปราสาท ต่อมานายน้อยพัฒนาพื้นที่เป็นวัดโคกปราสาท ในปี ๒๕๕๔ ซึ่งตรงกับระยะเวลาที่ลูกชายนายน้อย บวชพระรอบที่ ๒ และตั้งตนเป็นพระอรหันต์ และมีการก่อสร้างอาคารต่างๆ ขึ้นมามากมาย จากนั้น อบต.หลุ่งตะเคียน ได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจในการตรวจสอบการบุกรุกพื้นที่ เพื่อแจ้งให้พระฉลวย อาภาธโร เจ้าอาวาสวัดโคกปราสาท หยุดทำการก่อสร้าง แต่กลับเพิกเฉยต่อคำสั่งของเจ้าหน้าที่ ซึ่งพระฉลวย อาภาธโร คือ ที่อ้างว่าเป็นพระอรหันต์บรรลุโสดาบันแล้ว คุยกับสัตว์ได้ หยั่งรู้ความคิดของคนรอบข้างได้”

สร้างอาคารประชิดตัวปราสาท

“เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๕ นายสิน บังพิมาย ซึ่งเป็นอดีตข้าราชการ เกษียณกลับมาถิ่นกำเนิด และพบว่านอกจากมีการสร้างบ้านพักคล้ายรีสอร์ตรอบโบราณสถานมากขึ้น ยังมีการสร้างอาคารสำนักปฏิบัติธรรมคร่อมทับตัวปราสาทเก่าแก่นับ ๑,๐๐๐ ปี ถือเป็นการทำลายประวัติศาสตร์ของคนในท้องถิ่น จึงเดินทางไปยื่นหนังสือต่อสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา และต่อมาวันที่ ๒ กรกฎาคม นายช่างชื่อประพันธ์ ได้เดินทางมาพูดคุยเบื้องต้น ซึ่งทำให้ทราบข้อมูลว่า มีคนมีสี และกลุ่มสนับสนุนจากอำเภอปากช่อง รวมถึงคนรู้จักเจ้าหน้าที่ที่ทำงานกรมศิลปากรบางคน ร่วมสนับสนุนวัดแห่งนี้ด้วย”

“จากนั้น นายสิน บังพิมาย บอกกับตนว่า ไม่ต้องใช้วิธีออมชอมแล้ว ให้ทำเป็นข่าวดัง ตนและนายสินจึงตัดสินใจเข้าไปในพื้นที่วัดโคกปราสาท เดินถ่ายภาพและวิดีโอเพื่อส่งให้กับ ผอ.สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา และสอบถามไปว่า คุณเคยเตือนเขาเมื่อ ๕ ปีก่อน ทำไมยังไม่ยอมหยุดสร้าง จัดการอะไรเขาไม่ได้เลยหรือ กฏหมายจะมีไว้ทำไม ซึ่ง ผอ.ก็ทราบดีว่ามีการบุกรุก นอกจากนี้ วัดโคกปราสาท เป็นวัดที่ไม่มีการจดทะเบียน แต่ชาวบ้านไม่มีสิทธิเข้าไปในพื้นที่ เหมือนกลายเป็นรีสอร์ตส่วนตัวไปแล้ว มันเจ็บช้ำน้ำใจ คนในท้องถิ่นไม่ได้เข้าไป ๑๐ ปีแล้ว เหมือนเป็นบ้านเขา แต่ว่าชาวบ้านทำอะไรไม่ได้เลย”

อ้างอิทธิฤทธิ์เกินจริง

“พระฉลวย อาภาธโร เขาอ้างว่า เป็นพระอรหันต์ บรรลุโสดาบัน ทุกอย่างของเขาคือธาตุ ฟันคือธาตุ โลหิตคือธาตุ เป็นก้อนกลมๆ ไหลออกมาให้คนกราบไหว้บูชา เส้นผมก็เป็นธาตุ เพี้ยนไปหมด สาวกของเขากลับก้มลงกราบเท้า บูชาไว้เหนือหัว มีรถให้รถ มีที่ให้ที่แม้แต่ระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ นักวิชาการ อาจารย์ในโคราชเยอะมาก แถมยังนำลูกเมียเข้ามาอยู่ในกุฏิตรงข้าม พระก็มีเมียอยู่ด้วย อยู่รวมกันเป็นธุรกิจครอบครัว แต่เขาอ้างว่าเป็นคู่เนื้อนาบุญกันมา สาวกเขาก็เชื่อหัวปักหัวปำ และล่าสุดวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ป.ป.ช.มาร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย แต่คงทำอะไรไม่ได้ เพราะคนที่จะทำได้ คือ อธิบดีกรมศิลปากร หากอธิบดีไม่ดำเนินการแจ้งความข้อหาบุกรุกและขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน คงไม่มีใครทำอะไรได้ จะตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินก็ไม่ได้ และถ้าดำเนินการล่าช้า เขาก็คงหาทางต่อสู้ได้ทัน”

ป.ป.ช.หาข้อเท็จจริง

เมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๕ นายปริญญา วิกุลศิริรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยกับ “โคราชคนอีสาน” ว่า “จากกรณีดังกล่าว ป.ป.ช.ดำเนินการเพราะได้รับเบาะแส หากลงพื้นที่ไปตรวจสอบแล้วพบว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบกำลังดำเนินการอยู่ ป.ป.ช.ก็รวบรวมข้อมูลและเอกสารมาเป็นข้อเท็จจริงไว้ เพราะยังไม่ใช่การร้องเรียน เพียงเข้าไปดูว่า หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการหรือไม่ ยังไม่มีการสอบสวนใดๆ แต่ถ้ามีการร้องเรียนมายัง ป.ป.ช. ก็จะมีการดำเนินการตามกระบวนการ แต่เบื้องต้น ป.ป.ช.ลงพื้นที่เพื่อไปรับฟังข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และดูว่าสำนักศิลปากรที่ ๑๐ และสำนักพุทธฯ ดำเนินการอย่างไรไปแล้วบ้าง ซึ่งทั้งสองหน่วยงานรายงานว่า กำลังดำเนินการ ไม่ได้นิ่งเฉย ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีประชาชนร้องเรียนมายัง ป.ป.ช. แต่แจ้งไปยังสำนักศิลปากรที่ ๑๐ ว่า ชาวบ้านเดือดร้อน ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ เมื่อ ป.ป.ช.ทราบจึงลงพื้นที่ดังกล่าว แต่ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องละเว้นไม่ดำเนินการตามที่ประชาชนร้องเรียน ประชาชนก็สามารถแจ้งมายัง ป.ป.ช.ได้ เพื่อกล่าวหาเป็นอาญา แต่กรณีนี้ชาวบ้านยังไม่ดำเนินการถึงขั้นนั้น”

สั่งรื้อถอนสิ่งก่อสร้าง

จากนั้น “โคราชคนอีสาน” ติดต่อสัมภาษณ์ นายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา ซึ่งเปิดเผยว่า “เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ผมได้เข้าไปชี้แจงให้ทุกฝ่ายทราบว่า มีประเด็นอะไรบ้าง ซึ่งสำนักศิลปากรที่ ๑๐ ได้ทำหนังสือแจ้งตัวแทนวัดให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่อยู่ในเขตโบราณสถาน จากนั้น ผมทำหนังสือชี้แจงถึงอธิบดีกรมศิลปากรว่า จะทำอะไรบ้าง พร้อมกับทำหนังสือให้อธิบดีลงนามถึงวัด เพื่อสั่งให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เพราะอำนาจในการสั่งเป็นของอธิบดีกรมฯ ซึ่งขณะนี้ทำหนังสือเสร็จแล้ว อีก ๑-๒ วันคงจะส่งถึงอธิบดีฯ และคาดว่าจะสั่งการลงมาภายในเดือนสิงหาคมนี้”

ประกาศคุ้มครองโบราณสถาน

“สำหรับพื้นที่โบราณสถาน มีปราสาทคล้ายกับปราสาทหินพิมาย แต่มีขนาดเล็กกว่า เป็นสถาปัตยกรรมขอม ซึ่งกรมศิลปากรเคยไปสำรวจแล้วประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน พร้อมกับกำหนดขอบเขตไว้ เมื่อปี ๒๕๓๗ พื้นที่ ๙๗ ไร่ ประกอบด้วยตัวโบราณสถานและพื้นที่บริเวณโดยรอบโบราณสถาน ส่วนใหญ่เท่าที่ทราบ พื้นที่บริเวณนั้นเป็นพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เป็นพื้นที่ สค. ไม่ใช่โฉนดที่ดิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ สค.๑ และพื้นที่สาธารณะ กรมศิลปากรจึงประกาศขึ้นทะเบียนพื้นที่แห่งนี้ได้ แต่ถ้าพูดถึงหลักการทั่วไป ถึงแม้ที่ดินตรงนั้นจะมีโฉนด แต่ถ้ามีการค้นพบโบราณสถานที่สำคัญ และควรคุ้มครองไว้ และบังเอิญว่า โบราณสถานอยู่ในที่ดินของชาวบ้าน อธิบดีฯ มีอำนาจประกาศคุ้มครองโบราณสถานแห่งนั้น แม้จะอยู่ในที่ดินของชาวบ้านก็ตาม ซึ่งการประกาศจะมีการแจ้งไปยังเจ้าของพื้นที่ว่า กรมศิลปากรจำเป็นต้องประกาศคุ้มครองโบราณสถาน แต่ถ้าไม่พอใจหรือไม่ยุติธรรมก็สามารถร้องเรียนหรือคัดค้านได้ แต่กรมศิลปากรก็ยังถืออำนาจในการคุ้มครองอยู่ดี เพราะโบราณสถานสำคัญจะต้องคุ้มครองไว้ ซึ่งโบราณสถานที่เป็นหลักฐานของชาติ บางครั้งอาจจะมาเจอภายหลัง ดังนั้น ด้วยอำนาจทางกฎหมายกรมศิลปากรมโดยอธิบดี มีอำนาจในการประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถาน และโดยเฉพาะพื้นที่ สค. ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่สมบูรณ์แบบกรณีบ้านหลุ่งตะเคียน ย้อนกลับไปในปี ๒๕๓๗ จึงมีการประกาศขึ้นทะเบียน ๙๗ ไร่ ครอบคลุมทั้งตัวโบราณสถานและพื้นที่ใกล้เคียง” นายทศพร กล่าว

ไม่อนุญาตให้ก่อสร้าง

“กรณีบ้านหลุ่งตะเคียน ผู้อ้างเป็นเจ้าของพื้นที่ไม่ได้มีการร้องเรียนอะไรตอนประกาศคุ้มครองโบราณสถาน แต่กรมศิปากรก็ไม่ได้ห้ามว่าถ้าเคยทำนาอยู่แล้วไม่ให้ทำ เว้นแต่ว่า จะมีการปลูกสร้างอาคารหรือขุดดินเพื่อจะทำอะไรในพื้นที่ ที่ไม่ใช่กิจวัตรประจำที่เคยทำอยู่ เช่น ภายในวัดเคยทำไร่ไถนา แต่วันหนึ่งต้องการขุดสระจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ ซึ่งการปลูกสร้างของวัดแห่งนี้ เท่าที่ทราบมีการแจ้งมาเมื่อปี ๒๕๖๐ ว่า มีการปลูกสร้างอาคารโดยไม่ได้ขออนุญาตกรมศิลปากร ซึ่งขณะนั้นมีหลายหลัง ประมาณ ๔๐ หลัง สำนักศิลปากรที่ ๑๐ ก็ทำหนังสือแจ้งทางวัดทราบว่า บริเวณนั้นเป็นพื้นที่โบราณสถาน การดำเนินการก่อสร้างใดๆ ต้องขออนุญาตจากกรมศิลปากร จากนั้นก็ไม่ได้มีประเด็นอะไร กระทั่งเดือนมิถุนายน ๒๕๖๕ มีการแจ้งเข้ามาให้ตรวจสอบว่า มีสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้น จากเดิม ๔๐ หลัง เป็นประมาณ ๑๐๐ หลัง ซึ่งเป็นการปลูกสร้างโดยไม่ได้ขออนุญาตกรมศิลปากร ถือว่าไม่ถูกต้องตามกฎหมาย” นายทศพร กล่าว

ยังไม่ดำเนินคดี

เมื่อถามว่า “กรณีดังกล่าว เป็นการกระทำผิดไปแล้ว กรมศิลปากรจะมีการแจ้งความดำเนินคดีหรือไม่” นายทศพร ศรีสมาน กล่าวว่า “ผมได้รับนโยบายจากอธิบดีกรมศิลปากรว่า ให้ดำเนินการตามขั้นตอน เพราะกรณีนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องความเชื่อและศาสนา ทางกรมฯ จึงจะทำหนังสือแจ้ง โดยมีอธิบดีเป็นผู้ลงนาม แจ้งเจ้าอาวาสวัดหรือผู้ปกครองดูแลคณะสงฆ์ให้รื้อสิ่งปลูกสร้างออก ถ้าเขายอมรื้อถอนตามกำหนด อธิบดีก็จะดูอีกว่า จะดำเนินคดีหรือไม่ แต่จริงๆ ความผิดเกิดขึ้นแล้ว แต่เราก็ใช้วิธีในทางรัฐศาสตร์ก่อน ถ้าไม่มีการรื้อถอนหรือทำให้เกิดการยื้อเวลาก็ต้องดำเนินตามขั้นตอนทางกฎหมาย สำหรับระยะเวลาดำเนินการอาจจะให้เวลารื้อถอน ๓๐-๖๐ วัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับอธิบดีว่าจะพิจารณาอย่างไร เพราะนี่เป็นคำสั่งทางปกครอง เป็นคำสั่งตามกฎหมาย และหลังจากรื้อถอนออกไป ทางวัดจะไม่สามารถเข้ามาทำกิจวัตรแบบเดิมได้อีก เพราะต้องออกจากพื้นที่ที่ประกาศขึ้นทะเบียน และต้องดูว่าเขาจะโต้แย้งหรือไม่”

ทั้งนี้ มาตรา ๓๒ ใน พ.ร.บ.โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๓๕) ระบุว่า ผู้ใดบุกรุกโบราณสถาน หรือทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งโบราณสถาน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๗ ปี หรือปรับไม่เกิน ๗๐๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำต่อโบราณสถานที่ได้ขึ้นทะเบียนแล้ว ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑๐ ปี หรือปรับไม่เกิน ๑ ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อนึ่ง เมื่อวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ กรมศิลปากร ได้ประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดินโบราณสถาน โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๔ อธิบดีกรมศิลปากรจึงประกาศขึ้นทะเบียนและกำหนดเขตที่ดิน โบราณสถานปราสาทบ้านหลุ่งตะเคียน ตำบลหลุ่งตะเคียน อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา พื้นที่โบราณสถาน ประมาณ ๙๗ ไร่ ๓ งาน ๗๙.๗๗ ตารางวา


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๓๘ วันพุธที่ ๓ - วันอังคารที่ ๙ เดือนสิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕

 


1033 1717