29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 12,2022

พา‘วิเชียร’บุกเหมืองแร่ ดูผลกระทบชาวด่าน เสนอยุติเจาะอุโมงค์ใหม่

ฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด พา “วิเชียร” ลงพื้นที่ตรวจสอบผลกระทบ ชาวบ้านยืนยันต้องยุติการดำเนินโครงการเอาไว้ก่อน โดยเฉพาะการเจาะอุโมงค์เพิ่ม เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและชดใช้ค่าเสียหาย


ตามที่กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด อำเภอด่านขุนทด จ.นครราชสีมา มีการเคลื่อนไหวเนื่องจากได้รับผลกระทบจากการดำเนินการของเหมืองแร่โปแตชของบริษัท ไทยคาลิ จำกัด โดยระบุว่า มีน้ำเค็มไหลออกมาจากเหมืองแร่ กัดกร่อนสิ่งปลูกสร้างและพืชผลทางการเกษตร ซึ่งมีการเคลื่อนไหวเข้าพบนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ๒๕๖๕ พร้อมทั้งให้นายวิเชียร จันทรโณทัย ลงพื้นที่เพื่อลงไปดูผลกระทบและตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ ต.หนองไทร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ที่ชาวบ้านกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ยื่นหนังสือร้องเรียนนั้น

ต่อมาในช่วงบ่ายวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้รวมตัวกันที่บริเวณหน้าวัดหนองไทร ที่มีการนัดหมายกันลงพื้นที่ในเวลา ๑๒.๓๐ น. เพื่อเตรียมตัวพาผู้ว่าราชการจังหวัดฯ โดยระหว่างรอนั้น มีรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานราชการต่างๆ ทยอยมาที่วัด แต่ราษฎรกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดขุ่นเคืองใจเพราะมีตำรวจขับรถเข้ามาจำนวน ๒ คัน ใส่เสื้อกั๊กสะท้อนแสง ที่มีข้อความระบุชัดเจนว่า “สนับสนุนโดยบริษัทไทยคาลิ” ซึ่งนับเป็นคู่ขัดแย้งของชาวบ้านในพื้นที่ ชาวบ้านจึงขอให้ถอดเสื้อกั๊กก่อนมาเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในวันนี้ เพราะแสดงออกถึงสัญลักษณ์ของความไม่เป็นกลาง แต่เจ้าหน้าที่กลับขึ้นรถแล้วขับออกไป

จากนั้นในเวลา ๑๔.๐๐ น. นายวิเชียร จันทรโณทัย รวมทั้งนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ และคณะเดินทางมาถึงหน้าวัดหนองไทร และถ่ายรูปร่วมกับชาวบ้าน จากนั้นได้พาผู้ว่าฯ ลงพื้นที่เพื่อชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงต่างๆ โดยเริ่มจากจุดตรงข้ามวัดหนองไทร ที่มีน้ำสีดำซึมเยิ้มตลอดเวลาแม้จะไม่มีฝนตก สภาพบ้านเรือนที่มีการผุกร่อน เป็นขุย เพียงแค่ใช้มือลูบเบาๆ ก็หลุดร่อนออกมา ต้องใช้กระเบื้องปูผนังบ้าน  

เมื่อเดินสำรวจพื้นที่ที่วัดหนองไทร พบเมรุที่มีรอยร้าวแต่มีการทาสีใหม่ รวมทั้งจุดที่มีการถมดินเพื่อปกปิดร่องรอยผลกระทบ จุดบ่อน้ำของวัดหนองไทรที่เคยมีการต่อท่อออกมาจากเหมืองแร่ แล้วไหลลงสู่ที่นาชาวบ้าน แหล่งน้ำสาธารณะหนองมะค่านอก และหนองมะค่าใน ที่ อบต.หนองไทรระบุว่าเป็นบ่อขยะ ทั้งที่เป็นบ่อน้ำสำคัญ แต่ทุกวันนี้แหล่งน้ำสาธารณะทุกบ่อไม่สามารถใช้ได้แล้ว

ภายหลังจากนำนายวิเชียร จันทร โณทัย และคณะลงพื้นที่ มีการเปิดการประชุมพูดคุยกันที่ศาลาวัดหนองไทร ในประเด็นข้อร้องเรียนต่างๆ ทั้งเรื่องผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยมีตัวแทนหน่วยงานราชการ เช่น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดฯ, สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค ๑๑ นครราชสีมา, ป้องกันจังหวัด, อบต.หนองไทร, การประปาส่วนภูมิภาคด่านขุนทด และกำนันผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่ ต.หนองไทร โดยปัญหาเรื่องการใช้น้ำของชาวบ้านที่ต้องจ่ายในราคาแพงถึงหน่วยละ ๒๕ บาท ซึ่งชาวบ้านยืนยันว่าสาเหตุมาจากความเค็มจากการทำเหมือง ในขณะที่มีการชี้แจงจาก อบต.หนองไทรว่าเป็นการทำสัญญากับอ่างเก็บน้ำลำคันฉู ขอซื้อน้ำเหมาจ่ายในราคาหน่วยละ ๑๕ บาท รวมค่าไฟฟ้าและค่าซ่อมแซม รวมแล้วตกหน่วยละประมาณ ๒๕ บาท ซึ่ง อบต.หนองไทรยืนยันว่า ราคาน้ำประปาที่ชาวบ้านหัวนาต้องจ่าย ไม่ใช่ราคาแพงที่สุด เพราะมีที่บ้านแปรงอีกหนึ่งแห่งที่ต้องจ่ายค่าน้ำถึงหน่วยละ ๓๐ บาท

ในขณะเดียวกันผู้ใหญ่บ้านหัวนา (กำนันตำบลหนองไทร) ได้ให้ข้อมูลว่า ชาวบ้านประชาคมแล้วยืนยันจะใช้น้ำในราคานี้ ซึ่งกรณีนี้ตัวแทนกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ที่อยู่บ้านหัวนา ได้ให้ข้อมูลเช่นกันว่า ที่ชาวบ้านยกมือเห็นด้วยเพราะมีการข่มขู่ว่า หากไม่เห็นด้วยจะตัดมิเตอร์น้ำ และไม่มีการเสนอทางออกอื่นว่าจะมีน้ำจากแหล่งใดมาทดแทน ชาวบ้านจึงจำต้องยกมือ

นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังมีประเด็นข้อถกเถียงเรื่องความถูกต้องของการทำเหมืองและการทำตามมาตรการรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยระบุว่า ข้อมูลตัวเลขที่มีการตรวจวัดต่างๆ ยังไม่มีความน่าเชื่อถือ ตัวเลขหลายจุดในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นค่าที่เป็นไปไม่ได้ และชาวบ้านยืนยันว่าในพื้นที่ไม่ได้มีความเค็มมากมายมหาศาลอย่างทุกวันนี้ น้ำอาจจะเป็นน้ำกร่อย แต่ยังปลูกพืชผลทางการเกษตรได้อย่างดี แต่ทุกวันนี้สภาพเปลี่ยนแปลงจนไม่เหลือเค้าเดิม ซึ่งจากการประชุมดังกล่าวก็ยังไม่ได้มีข้อสรุปแต่อย่างใด จึงขอให้มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงร่วมกัน  

โดยในที่ประชุมชาวบ้านกลุ่มฅน รักษ์บ้านเกิดด่านขุนทดยื่นข้อเสนอให้ยุติการดำเนินโครงการ โดยเฉพาะการขอขุดเจาะอุโมงค์ใหม่แทนอุโมงค์เดิมที่มีน้ำท่วม กระทั่งไม่สามารถดำเนินการต่อได้ เพื่อให้การพิสูจน์ข้อเท็จจริงเรื่องผลกระทบทำได้อย่างสิ้นข้อสงสัย และขอให้มีการชดใช้ค่าเสียหายต่อชาวบ้านให้แล้วเสร็จเสียก่อน เพื่อไม่ให้ชาวบ้านในพื้นที่ต้องแบกรับผลกระทบมากไปกว่านี้


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ วันพุธที่ ๑๐ - วันอังคารที่  ๑๖  เดือนสิงหาคม  พุทธศักราช  ๒๕๖๕


1000 1609