29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

August 19,2022

‘เลือกตั้งผู้ว่าฯ’เป็นไปได้ แต่นักการเมืองไม่ยอม? แนะ‘โคราช’จัดการตนเอง

เสวนา “โคราชเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้หรือไม่” อดีตปลัด มท.ย้ำ “บ้านเมืองที่เจริญแล้ว ไม่มีที่ใดเข้มแข็งด้วยภาคราชการ แต่เข้มแข็งด้วยภาคประชาชน” เลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้ แต่นักการเมืองไม่ยอมแน่ แนะคนโคราชต้องการพื้นที่จัดการตนเอง นักธุรกิจย้ำ เวลาเจอวิกฤตใครช่วยเรา แต่ทำไมประชาชนยอมแพ้เรื่องแบบนี้ อย่าอยู่แบบหยวนๆ แม้เลือกตั้งก็ไม่พ้นซื้อเสียง

 

 

ปี ๒๕๖๕ ทุกพื้นที่ในประเทศไทยต่างมีความหวังว่า “การเมืองกำลังจะดีขึ้น” จากปรากฏการณ์ผู้ว่ากรุงเทพฯ ที่ชื่อ “ชัชชาติ” สร้างกระแสการบริหารกรุงเทพมหานครที่ถูกใจประชาชนบางกลุ่มอย่างมาก และเริ่มมีเสียงเบาๆ จากเกือบทุกจังหวัด ที่เรียกร้อง “ต้องการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด”

แม้จะเป็นไปได้ยาก แต่ถ้าไม่เริ่มเลย ก็ไม่นำมาสู่การเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะ “นครราชสีมา” หรือ “โคราช” ที่ประกาศตัวเป็นมหานคร พลเมืองก็เรียกร้องเรื่องนี้เช่นกันว่าเมืองใหญ่ขนาดนี้จะมี “เลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้ไหม? เพื่อให้เกิดการพัฒนาเมืองแบบก้าวกระโดด

การหารือระหว่างบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ปรารถนาดีต่อบ้านเมืองจึงเกิดขึ้น โดยมี “ลุงเปี๊ยก โคราชคนอีสาน” เป็นผู้จุดตะเกียง และ “กอล์ฟ-มารุต ชุ่มขุนทด” ซีอีโอ คลาสคาเฟ่ เป็นเจ้าภาพ เพราะเขาก็คิดว่า โคราชสามารถดีได้กว่าที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้มาก จึงเกิดการเสวนา “พลเมืองกับการปกครองท้องถิ่น? ในช่วงค่ำของวันที่ ๑๕ สิงหาคม ๒๕๖๕ ณ คลาสคาเฟ่ วัดบูรพ์ โดยมุ่งประเด็นไปที่เรื่องการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ซึ่งผู้ร่วมวงเสวนานำโดย “พงศ์โพยม วาศภูติ” อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย, อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และประธาน กมธ.การปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น สปช. ตามมาด้วยผู้ที่อยู่ในการเมืองท้องถิ่นมานาน “รักชาติ กิริวัฒนศักดิ์” ประธานสภา อบจ.นครราชสีมา ที่ขาดไม่ได้คือ “รศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์” คณบดีคณะศิลปกรรมและการออกแบบอุตสาหกรรม มทร.อีสาน ผู้สนใจการพัฒนาเมืองมาโดยตลอด เรียกร้องเรื่องเส้นทางจักรยานมาเนิ่นนาน และ “มารุต ชุ่มขุนทด” CEO CLASS Café ซึ่งปัจจุบันหลายองค์กรไม่ว่าราชการหรือเอกชนเรียกร้องให้เขาไปเป็นวิทยากร ส่วนผู้ดำเนินรายการจะเป็นใครไม่ได้ นอกจากคนนี้ “ทวิสันต์ โลณานุรักษ์” อดีตประธานหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา

 

• กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น

เปิดเวทีการเสวนาด้วยคำถามว่า “โคราชสามารถเลือกตั้งผู้ว่าฯ ได้หรือไม่” โดย “พงศ์โพยม วาศภูติ”  ปูพื้นว่า เรามาเริ่มกันเลยว่าควรจะเลือกตั้งผู้ว่าฯ อย่างไร ทำอย่างไรถึงจะได้เลือก แต่ต้องทำความเข้าใจก่อน บ้านเมืองไทยตั้งแต่สมัยอยุธยามาถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการปกครองแบบหลวมๆ ไม่มีการปกครองแบบรัฐไทยที่ชัดเจน มีหัวเมืองชั้นในและชั้นนอก กระทั่งถึงรัชกาลที่ ๕ ปี ๒๔๓๕ มีการปฏิรูปการปกครองครั้งใหญ่ เลิกสมุหนายก สมุหกลาโหม และจตุสดมภ์ มาเป็นกระทรวง ยกแขวงขึ้นเป็นจังหวัด จัดให้มีอำเภอ มีกำนันและผู้ใหญ่บ้าน จากนั้นปี ๒๔๗๕ มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เป็นระบอบประชาธิปไตย ยึดโยงทุกส่วนของประเทศมาไว้ที่ศูนย์กลาง เพื่อปกครองประเทศให้เป็นปึกแผ่น ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาใหญ่ๆ ได้ เช่น ปัญหาเศรษฐกิจในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ทำให้เห็นว่า การรวมศูนย์การปกครองนั้นดี แต่ในปัจจุบัน ในยุคที่โลกมีความผันผวน ประกอบกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีก้าวหน้า ข่าวสารต่างๆ มีความรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาและความต้องการที่หลากหลายของแต่ละพื้นที่ “การรวมศูนย์อำนาจ จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาของทุกพื้นที่ได้”

พงศ์โพยม วาศภูติ” อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย, อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และประธาน กมธ.การปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น สปช.

 

• ผู้ว่าฯ ไม่ได้มีอำนาจมาก

“อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย” นำเสนอแผนผังที่เตรียมมาพร้อมระบุว่า ก่อนที่จะเสนอหรือคุยอะไรกัน ต้องปูพื้น ทุกคนต้องมีพื้นเท่ากันก่อนจึงจะเสนอรู้เรื่อง ถ้าพูดกันโดยหลับตาและจินตนาการคนละแบบก็จะคุยกันไม่รู้เรื่อง ประเทศไทยเปรียบเสมือนบ้านหลังหนึ่ง โดยหลังคาเปรียบเป็น “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียวแบ่งแยกไม่ได้” ดังนั้น การกระจายอำนาจปกครองท้องถิ่นด้วยตนเอง ต้องทำเท่าที่เหมาะสม ไม่ทำเหมือนแยกประเทศ โดยอำนาจอธิปไตยนั้น พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจผ่านนิติบัญญัติ คือ วุฒิสภา และสภาผู้แทนราษฎร ทรงใช้อำนาจบริหารผ่านนายกรัฐมนตรี และส่วนราชการ และทรงใช้อำนาจตุลาการผ่านศาลต่างๆ ซึ่งประเทศไทยมีดินแดน ๕ แสนตารางกิโลเมตร มีประชาชนประมาณ ๖๖ ล้านคน หมายความว่า ประเทศไทยคือรัฐ เพราะมีทั้งดินแดน ประชากร อำนาจอธิปไตย และรัฐบาล ส่วนเสาบ้านประกอบด้วย การรักษาความสงบเรียบร้อย เทคโนโลยี ระบบกฎหมาย การศึกษา การเมืองการปกครอง วิถีชีวิต ความมั่นคง ศาสนา ความเชื่อ ประวัติศาสตร์ และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ บ้านของเรามีเสาบางต้นสั้นบางต้นยาว เช่น เสาบางต้นประกอบด้วยการปกครองท้องถิ่น มีการกระจายเป็นตำบลและหมู่บ้านต่างๆ จำนวนประมาณ ๗๔,๐๐๐ แห่ง ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงอะไรต้องคำนึงถึงกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน เพราะเขาไม่ยอมง่ายๆ แน่นอน การเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง ต้องทำด้วยสติ ค่อยเป็นค่อยไป ส่วนผู้ว่าราชการจังหวัดคือ ข้าราชการพลเรือนสามัญ นักปกครองระดับสูง สังกัดกระทรวงมหาดไทย รับคำสั่งนายกรัฐมนตรีและกระทรวง ทบวง กรม ดูแลหน่วยงานทั้งหมดประมาณ ๓๐ หน่วยงาน “อย่าไปคิดว่า ผู้ว่าฯ มีอำนาจวาสนามาก”

 

• ประชาชนต้องเข้มแข็ง

อีกสาเหตุหนึ่งที่ควรจะกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น คือ ปัจจุบันราชการช่วยเหลือประชาชนมากเกินไป ทำให้ประชาชนอ่อนแอ ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ “บ้านเมืองที่เจริญแล้ว ไม่มีที่ใดเข้มแข็งด้วยภาคราชการ แต่เข้มแข็งด้วยภาคประชาชน” ดังนั้น วิธีแก้ไข คือ ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม ร่วมแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งการกระจายอำนาจผ่าน อปท.อย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ต้องผ่านภาคประชาชน ประชาสังคม และเอกชนด้วย

 

• ต้องเปลี่ยนแปลงการปกครอง

“มารุต ชุ่มขุนทด” แสดงทัศนะว่า โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ภาคเอกชนต้องล้างกระดานในองค์กร เพราะถ้าเอกชนไม่เปลี่ยนแปลงตาม ธุรกิจก็เดินหน้าต่อไม่ได้ ระบอบการปกครองที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน เป็นระบบที่ถูกคิดค้นมาตั้งแต่คนไทยใช้เกวียน แต่วันนี้ทุกคนสามารถสื่อสารกันผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ ผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่ระบอบการปกครองที่ใช้อยู่ มีระเบียบ มีขั้นตอนมากมาย ทำให้งานต่างๆ ล่าช้า และยังเกิดการคอร์รัปชั่นด้วย หากทุกคนยังบอกว่า “ระบอบการปกครองที่ใช้อยู่ดีแล้ว แสดงว่ามีปัญหา” แต่วันนี้ทุกคนรู้ตัวว่าปัญหา ไม่ว่าจะคุยกับคนวัยใด ทุกคนรู้ตัวว่าล่าช้า ควรจะมีการเปลี่ยนแปลง

ทุกวันนี้คนที่อยู่ในระดับสูงๆ เป็นคนที่คุยยากที่สุด ช่วงนี้ผมได้ช่วยจังหวัดทำงานจำนวนมาก ซึ่งคนที่ผมคุยด้วยรู้เรื่องที่สุด คือ ข้าราชการชั้นผู้น้อย แต่ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จะเข้าใจยากที่สุด เพราะข้าราชการชั้นผู้น้อยไฟแรง บอกอะไรก็ทำ แต่เมื่อเข้ามาสู่กระบวนการทำงานของระบอบการปกครองที่ใช้อยู่ ข้าราชการชั้นผู้น้อยก็จะปรับตัวเข้ากับระบบ เริ่มทำงานช้าลงเรื่อยๆ ซึ่งปัญหานี้ในภาคเอกชนก็เกิดขึ้นบ้าง แต่ผมมีแนวคิดว่า “คนที่เป็นเจ้าของธุรกิจหรือ CEO คือ คนที่ต้องเงียบที่สุด ต้องคอยรับฟังคนอื่น” และเรื่องใดที่ผมฟังแล้วเข้าใจ ผมจะบอกลูกน้องว่า อย่าทำ เพราะมันโบราณแล้ว ดังนั้น วันนี้กระบวนการของภาคประชาชนหรือเอกชน เขาเดินไปบนความรวดเร็ว มีการเปิดพื้นที่รับฟังและให้แสดงออก โดยมีโมเดลต้นแบบในบางพื้นที่ ผมเคยคิดนอกกรอบว่า โคราชเป็นพื้นที่ที่เหมาะมาก ที่จะทำอะไรเป็นต้นแบบ หากคิดอะไรด้วยการแก้ไขตามกรอบเดิมๆ อาจจะทำให้เหนื่อย วันนี้เราต้องคิดอะไรนอกกรอบ คิดขึ้นมาใหม่ ทุกคนจะต้องมาพูดคุยกัน และนำเสนอด้วยทางออก

“กอล์ฟ-มารุต ชุ่มขุนทด” ซีอีโอ คลาสคาเฟ่

 

• ‘ชัชชาติ’ สร้างมาตรฐานใหม่

“รศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์” กล่าวว่า วันนี้เราต้องคิดใหม่ โดยสมมุติว่า ผู้ว่าฯ ชัชชาติ คือ นายกฯ ประเสริฐ ส่วนผู้ว่าฯ วิเชียรคือนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่จะนำผู้ว่าฯ ชัชชาติมาเทียบกับผู้ว่าฯ วิเชียร ซึ่งคนละประเด็นคนละรูปแบบ ถ้าหลงประเด็นการทำงานใหญ่จะกลายเป็นเรื่องยาก ทุกวันนี้ผู้ว่าฯ ชัชชาติเข้ามาเปลี่ยนชีวิตผม จากเดิมผมเคยคิดว่า “นักวิชาการไม่ควรยุ่งเกี่ยวการเมือง” แต่ผู้ว่าฯ ชัชชาติทำให้รู้ว่า “ถ้ามีเพียงตำแหน่งวิชาการ ก็แค่อ่านหนังสือ ไม่ได้นำมาปฏิบัติ” สิ่งที่ชัชชาติทำทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับต่างประเทศ ผู้ว่าฯ คนไหนเขาก็สามารถเดินบนถนน เดินไปซื้อของที่ตลาด แต่ที่ประเทศไทยแปลก เพราะ “ไม่เคยมีใครสร้างมาตรฐานแบบนี้ไว้” งบประมาณกรุงเทพฯ ปีนี้ เหลือเพียง ๙๒ ล้านบาท แต่ชัชชาติบอกว่า ทำได้ มีเครือข่ายแล้ว ประสานงานแล้ว เพียงแค่ให้เป็นผู้ว่าฯ ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้ ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะส่งผลต่อ อปท.ทุกพื้นที่ ใครจะมาเป็นนายกเทศมนตรี ประชาชนจะถามเลยว่า มีนโยบายอะไร ตอบได้แค่ไหน สิ่งที่ชัชชาติทำ มีความเป็นสากล ประเทศที่เจริญแล้วเขาทำกันหมด แต่สำหรับประเทศไทยยังเป็นเรื่องใหม่ คนโคราชจึงต้องการชัชชาติมาเป็นผู้ว่าฯ

“รศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์” คณบดีคณะศิลปกรรมและการออกแบบอุตสาหกรรม มทร.อีสาน

 

• ชัชชาติจะเสียคนถ้ามาอยู่โคราช

“สมมุติว่า โคราชได้ชัชชาติมาเป็นผู้ว่าฯ จริงๆ แล้วเปลี่ยนผู้ว่าฯ วิเชียรไปเป็นผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ “แค่ ๑ เดือน ผู้ว่าฯ ชัชชาติจะเสียคนทันที” เปรียบเทียบว่า กรุงเทพฯ มีพื้นที่ทั้งหมด ๕๐ เขต มีผู้อำนวยการเขตแต่ละพื้นที่ดูแล มีเนื้อที่ทั้งหมด ๑,๕๖๙ ตร.กม.เท่ากับอำเภอปากช่อง ด้วยพื้นที่ไม่มาก ชัชชาติจะไปวิ่งเขตไหนก็ได้ใน ๑ ปี วิ่งเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ก็ครบทุกเขตแล้ว แต่ที่โคราชมี ๓๒ อำเภอ เนื้อที่ประมาณ ๒๕,๔๙๔ ตร.กม. ถ้าผู้ว่าฯ ชัชชาติ ลงพื้นที่ทุกอำเภอ อำเภอละ ๑ วันก็ยังไม่เพียงพอ ดังนั้น ถ้าคนโคราชต้องการชัชชาติ ต้องเป็นนายกเทศมนตรี ประชาชนอยู่พื้นที่ใดก็ถามนายกเทศมนตรีว่า ทำได้อย่างชัชชาติหรือไม่ เขามีนโยบายอะไรมาให้หรือไม่ ก่อนที่ชัชชาติจะเป็นผู้ว่าฯ เขาถอดบทเรียนมาก่อนแล้วว่า พื้นที่ใดมีปัญหาอะไร ลองย้อนกลับมาที่ อปท. ลองถามนายกเทศมนตรีในแต่ละพื้นที่ เขารู้ไหมว่าพื้นที่เขามีปัญหาอะไร” รศ.ดร.นิคม กล่าว

 

• การแก้ปัญหาต้องใช้งบ

ช่วงแรกปิดท้ายที่ “รักชาติ กิริวัฒนศักดิ์” ประธานสภา อบจ.นครราชสีมา เผยมุมมองว่า อบจ.เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัด โดยมีการทำงานร่วมกับเทศบาลฯ และ อบต. จากคำถามที่ว่า โคราชจะมีการเลือกตั้งผู้ว่าแบบกรุงเทพฯ หรือไม่นั้น อบจ.เป็นองค์กรที่มีลักษณะคล้ายๆ กับกรุงเทพฯ เพราะเป็น อปท.ระดับจังหวัด มีการเลือกตั้งนายก อบจ.ทุก ๔ ปี หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า ทุกวันนี้ อบจ.โคราช มีการถ่ายโอนโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษา ซึ่งโรงเรียนในโคราชมีทั้งหมด ๑๐๘ แห่ง อบจ.ดูแล ๕๘ แห่ง ในขณะเดียวกัน อบจ.ยังดูแลบ้านพักคนชรา ศูนย์ต่างๆ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งมีการถ่ายโอนภารกิจมาให้ อบจ.เรื่อยๆ

เมื่อมีการถ่ายโอนให้ อบจ.เรื่อยๆ ก็เกิดปรากฏการณ์ “งานเกินคน” ซึ่งในปีงบประมาณ ๒๕๖๕ อบจ.มีงบ ๒ พันกว่าล้านบาท โดยแบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายประมาณ ๑ พันล้านบาท เหลืองบลงทุนไม่กี่บาท “การดำเนินการแก้ไขปัญหาต่างๆ ต้องใช้งบประมาณ” ดังนั้น “การขาดแคลนงบประมาณ คือ ปัญหาใหญ่” แค่ค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินเดือนข้าราชการในสังกัด อบจ.ก็เกือบ ๑ พันล้านบาทแล้ว วันนี้ถ้าพูดถึงการปรับโฉมเมืองโคราชจากหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่ง่าย แต่สามารถทำได้ โดยเริ่มต้นตั้งแต่วันนี้เหมือนที่ อบจ.กำลังปรับเปลี่ยนแนวคิด จากเมื่อก่อน อบจ.จะไม่ค่อยมีบทบาทด้านเศรษฐกิจ วันนี้ อบจ.พร้อมพัฒนาด้านเศรษฐกิจแล้ว วันนี้ท้องถิ่นต้องเริ่มปรับเปลี่ยน เพื่อฟูมฟักหรือปรับตัวในการทำงาน โดยระดับภูมิภาคกับท้องถิ่นจะต้องเดินไปด้วยกัน การที่จะให้ อปท.เป็นคนเปลี่ยนแปลงท้องถิ่นนั้นไม่ง่าย โดยเฉพาะด้านงบประมาณที่มีจำกัด หรือจะให้ทำเหมือนที่กรุงเทพฯ เหมือน ที่ชัชชาติทำก็ไม่ง่ายเลย แต่ยังสามารถทำได้ โดยวันนี้ อปท.เริ่มปรับตัวเรื่อยๆ

“รักชาติ กิริวัฒนศักดิ์” ประธานสภา อบจ.นครราชสีมา

 

• ผู้ว่าฯ ต้องทำงานให้ประชาชน

ช่วงที่สอง “มารุต ชุ่มขุนทด” พูดเป็นคนแรก ว่า ผมมีคำถามว่า “ใครเป็นเจ้านายผู้ว่าฯ” ถ้าบอกว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดรับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรี แต่วันนี้ประชาชนต้องสั่งผู้ว่าฯ “ต้องการคนทำงานเพื่อชนะใจประชาชน ไม่ใช่ทำงานเพื่อชนะใจเจ้านาย” ซึ่งต่างประเทศ ช่วงสถานการณ์โควิด-๑๙ ผู้ว่าการรัฐแต่ละแห่ง สามารถตบโต๊ะเถียงนายกรัฐมนตรีได้ เพราะคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ตัวเองเป็นหลัก แต่ถ้าผู้ว่าฯ ในประเทศไทย หากไปเถียงรัฐมนตรีว่าการกระทรวง หรือนายกรัฐมนตรี อาจจะถูกสั่งย้ายทันที ใจกลางของปัญหา คือ “ประชาชนไม่ได้เป็นเจ้านายของผู้ว่าฯ” วันนี้ถ้าชัชชาติไม่ชนะการเลือกตั้ง ก็ไม่เป็นอะไร แต่สิ่งที่ชัชชาติทำตอนเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนชอบใจ เพราะทุกคนแข่งกันเอาใจประชาชน และจะทำงานเพื่อประชาชน

 

• ข้อจำกัดราชการ

“พงศ์โพยม วาศภูติ” พูดถึงการบริหารจัดการและการปกครอง ว่า ที่ผมพูดถึงแผนผังบ้านของประเทศไทย ไม่ใช่ผมเห็นด้วย แต่มันเป็นแบบนั้นของมันเอง เชียงใหม่เคยทำเรื่องนี้มาก่อนแล้วเป็นสิบปี กระทั่งคนทำเรื่องนี้เสียชีวิตไปแล้วก็ยังไม่สำเร็จ เขาเคยร่างกฎหมายของตัวเอง เราลองมาดูรายได้ของท้องถิ่นกัน มาจากการจัดเก็บเอง รัฐแบ่งให้ และเงินอุดหนุน ซึ่งงบประมาณประเทศจำนวน ๓.๓ ล้านล้านบาท แบ่งเป็นงบบริหารงานบุคคล ๑.๑ ล้านล้านบาท หมายความว่า ถ้ามีเงิน ๓๓ บาท จ่ายค่าบุคลากรไปแล้ว ๑๑ บาท และเป็นงบลงทุน ๗ บาทเท่านั้น คนอยากทำงานราชการ เพราะไม่มีวันเจ๊ง กรมหรือกระทรวงไม่มีวันเจ๊ง แต่เอกชนเขาเจ๊งได้ เอกชนจึงสนใจว่า ลูกน้องทำงานเก่ง ทำงานดีหรือไม่ ถ้าไม่เก่ง ไม่มีผลผลิตก็ไล่ออก แต่ข้าราชการไม่มีวันเจ๊ง ไล่ออกไม่ได้ และประชาชนไม่ใช่คนประเมิน ระบบที่ถูกสร้างมาให้ประเทศไทยที่ประกอบกันจนเป็นบ้านหลังหนึ่ง  เป็นแบบนี้มา ๒๒๐ ปีแล้ว โดยหลังคาระบุว่า “ประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวแบ่งแยกไม่ได้” ประเทศไทยไม่เหมือนกับสหรัฐฯ หรือมาเลเซีย ที่ประกอบด้วยสหพันธรัฐเป็นประเทศ แต่ไทยเป็นรัฐเดียวแบ่งแยกไม่ได้

 

หากพูดถึงปัญหาของกระทรวงหรือหน่วยงานรัฐบาล คือ หน่วยงานพวกนี้เป็นแท่งคล้ายไซโล ซึ่งการบริหารงบประกอบด้วย ๑.งบฟังก์ชั่น คือ งบประมาณที่เขียนไว้ในกฎหมาย ตามหน้าที่ที่รับผิดชอบของหน่วยงานนั้น ๒.งบตามนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นนโยบายแห่งรัฐ นโยบายกระทรวง นโยบายกรม และนโยบายของผู้ว่าฯ และ ๓.งบท้องถิ่น ซึ่งมีการเพิ่มเข้ามาล่าสุด เป็นที่มาว่า ทำไมผู้ว่าฯ นายกเทศมนตรี และนายก อบจ. จึงต้องไปชี้แจงงบประมาณ นอกจากนี้ หน่วยงานส่วนกลางยังมีปัญหาของตัวเอง ทุกหน่วยงานมีกฎหมายของตัวเอง เช่น จะประกอบกิจการร้านอาหาร ต้องติดต่อทั้งการประปา สำนักงานสาธารณสุข สรรพากร สำนักงานแรงงาน และอีกมากมาย ซึ่งนอกจากหน่วยงานราชการจะมีลักษณะเป็นไซโลแล้ว กฎหมายที่แต่ละหน่วยงานใช้ก็ยังเป็นไซโลด้วย ในการปฏิรูปประเทศ เขาจึงพยายามตัดกฎหมายที่ไม่จำเป็นออก ซึ่งทุกวันนี้ยังทำไม่ได้ “ถ้าวันนี้อธิบดีกรมต่างๆ มาฟังการเสวนา เขาคงเห็นด้วยทั้งหมด แต่ทำอะไรไม่ได้”

(จากซ้าย) รักชาติ กิริวัฒนศักดิ์, รศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์, มารุต ชุ่มขุนทด, พงศ์โพยม วาศภูติ, ทวิสันต์ โลณานุรักษ์

 

• ยึดมั่นเจตนารมณ์ทางการเมือง

“พงศ์โพยม” บอกอีกว่า เมื่อพูดถึงสภานิติบัญญัติ วันนี้เป็นอย่างไร “สภาล่ม” ส.ว.กับ ส.ส. ยังเล่นเกมการเมืองกันอยู่ เขาคิดถึงประชาชนมากน้อยแค่ไหนผมอยากรู้นัก ยังมีการแย่งอำนาจการปกครองประเทศ เพราะ “อำนาจการปกครองประเทศ คือ อำนาจทุกอย่าง” ที่สามารถผันแปรเป็นผลประโยชน์ให้แก่ตัวเองและพรรคพวกได้ ดังนั้น ขอเสนอว่า ในยุทธศาสตร์ชาติ ให้เขียนไว้ว่า แบ่งอำนาจหน้าที่ภารกิจให้ชัดเจน ระหว่างส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และท้องถิ่น “ต่อไปส่วนภูมิภาคไม่ต้องมายุ่งกับส่วนท้องถิ่น” ยกอำนาจให้ชาวบ้านบริหารจัดการตนเองดีกว่าหรือไม่ ส่วนผู้ว่าฯ กับนายอำเภอให้ทำงานระดับชาติ แต่งานพื้นที่ เช่น การแก้ปัญหาถนน การเพิ่มสวนสาธารณะ ให้อำนาจองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นคนตัดสินใจ เป็นคนพัฒนาเอง ส่วนผู้ว่าฯ กับนายอำเภอให้ทำงานเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ เช่น ด้านความมั่นคง การรักษาความสงบเรียบร้อย และการเงินการคลัง

“การเปลี่ยนแปลงโคราช ผมเชื่อว่าทำได้ แต่ต้องเป็นไปตามเจตนารมณ์ทางการเมือง คนโคราชต้องรวมกลุ่มไปคุยกับ ส.ส.หรือพรรคการเมือง ถามว่าเขาจะยอมหรือไม่ ในการถ่ายโอนอำนาจลงมาในพื้นที่ ผมท้าเลยว่า เขาไม่ยอมหรอก ก่อนเลือกตั้งเขาอาจจะยอม แต่หลังเลือกตั้งแล้วก็ ตัวใครตัวมัน” อดีตปลัด มท. กล่าว

 

• เปลี่ยนสิ่งเล็กๆ ก่อน

“รศ.ดร.นิคม” ให้ความเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงโคราช ว่า ตั้งแต่ชัชชาติเป็นผู้ว่ากรุงเทพ เคยพูดสักคำหรือไม่ว่า มีข้อจำกัดหรือทำไม่ได้ แต่ทุกครั้งที่ลงพื้นที่พบปะประชาชน ชัชชาติจะพูดเสมอว่า ช่วยกันนะ ซึ่งตามที่บอกไปก่อนหน้านี้ว่า กรุงเทพฯ มีขนาดเท่าอำเภอปากช่อง แต่เทศบาลฯ ไม่ใหญ่เท่าอำเภอปากช่อง เช่น เทศบาลนครนครราชสีมา ขอชัชชาติมาเป็นนายกเทศมนตรีแค่ ๒๕%  ก็สามารถทำงานได้แล้ว และที่สำคัญ อบจ. อบต. และเทศบาล ต้องกล้าเปิดเผยแบบกรุงเทพฯ เพราะกรุงเทพฯ เขาเปิดเผยงบประมาณทุกบาททุกสตางค์ หากทุกพื้นที่สามารถทำแบบชัชชาติได้ จะทำให้เกิด ‘กรุงเทพฯ น้อย’ ขึ้นมาเรื่อยๆ เกิดคนแบบชัชชาติมากขึ้น หากส่วนราชการเล็กๆ ทำได้ทุกพื้นที่ ส่วนราชการขนาดใหญ่หรือส่วนกลางก็จะต้องปรับตัว “เราควรเปลี่ยนสิ่งที่เล็กๆ ก่อน จึงจะไปเปลี่ยนสิ่งที่ใหญ่ๆ ได้”

 

• ต้องคิดนอกกรอบ

ในขณะที่ “มารุต” กล่าวถึงแนวทางการเปลี่ยนแปลงอีกว่า “การพัฒนาจังหวัดไม่จำเป็นต้องอาศัยงบประมาณเสมอไป” เพียงคิดนอกกรอบ หากเมื่อไหร่ยังมีแนวคิดเดิมๆ อยู่ภายใต้ไซโล ก็จะเป็นแบบเดิม จังหวัดไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง และเรื่องการเป็นสมาร์ทซิตี้ ส่วนราชการจะทำก็พูดเหมือนกันว่า รองบประมาณ ซึ่งผมบอกผู้ว่าวิเชียรว่า คนโคราชแทบทุกคนมีสมาร์ทโฟน ทำเมืองให้เป็น Cashless (ไม่ใช้เงินสด) สามารถโอนจ่ายชำระสินค้าได้ทุกที่ เท่านี้โคราชก็เป็นสมาร์ทซิตี้แล้ว ดังนั้น “เราต้องคิดนอกกรอบ” เหมือนการยกกล่องหนักๆ คนที่มีกล้ามใหญ่หรือคนที่มีงบประมาณมาก ก็สามารถยกได้สบายๆ แต่คนที่ตัวเล็ก เขาต้องคิดนอกกรอบ หาวิธียกกล่องไปให้ได้มากที่สุด เกิดกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรม ผมเชื่อว่า ระบอบการเมืองการปกครอง การทำงานของราชการในปัจจุบัน แก้ไขได้ยาก แต่ในความยากเหล่านี้ ยังมีวิธีการแก้ไขปัญหาอีกมากมาย เพียงแค่ต้องยอมรับและกลับมาคุยกันว่า “โคราชจะอยู่แบบนี้จริงๆ หรือไม่” แต่ถ้าคนโคราชบอกว่า ต้องการเปลี่ยน ก็สามารถทำได้ ยังมีวิธีปรับเปลี่ยนอีกมากมาย

“นนท์ พนานนท์”

 

• เลือกตั้งยังไงก็ไม่พ้นซื้อเสียง

“นนท์ พนานนท์” ผู้เข้าร่วมรับฟังแสดงความคิดเห็นว่า หลายๆ ปัญหาหรือการแก้ไขปัญหา เช่น ปัญหาถนนชำรุดในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ประชาชนไม่รู้เรื่องแผนการพัฒนา “การเลือกตั้งผู้ว่าโคราช ไกลตัวเกินไป” ถ้ามีโอกาสเลือกจริงๆ ก็คงเป็นแบบ ส.ส. มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียง ได้คนไม่มีคุณภาพ โคราชเป็นเมืองใหญ่รองจากกรุงเทพฯ ถ้าแน่จริงให้ผู้ว่าฯ หมูป่ามาโคราช ถ้าเป็นท่านนี้ผมเชื่อว่า ถนนในเมือง ๒ เดือนก็แก้ไขปัญหาเสร็จ เราอยากได้ผู้นำที่มีคุณภาพ ส่งผู้ว่าที่มีคุณภาพ มาได้หรือไม่

 

• อย่าอยู่แบบหยวนๆ

“บริพัตร (โดม) กุมารบุญ” อดีต ส.ท. พูดถึงปัญหาว่า ในพื้นที่เทศบาลนครฯ มีหน่วยงานราชการมากมาย งบประมาณจัดกิจกรรมต่างๆ มีตลอด ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สามารถแปรส่วนนี้มาซ่อมแซมถนนก่อนได้หรือไม่ เพราะ “ถนนชำรุดทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ” และยังเกิดความเสียหายแฝงในด้านสังคม ทุกฝ่ายจะมาร่วมแก้ไขปัญหานี้ก่อนได้หรือไม่

 

“มารุต ชุ่มขุนทด” เสริมเรื่องถนนว่า ผมเคยบอกตัวเองว่า เดี๋ยวก็ผ่านไปเดี๋ยวก็ดีขึ้น แต่มาถึงวันนี้ยังเหมือนเดิมมีการสัญญาไว้ว่าจะทำเสร็จภายในกี่วัน หากโคราชสามารถเลือกผู้ว่าฯ ได้เอง อย่างน้อยคนที่เลือกมา จะต้องยืนหน้าสื่อแล้วบอกว่า วันนี้ไม่ไหวแล้ว แต่นี่ผ่านมา ๒ ปียังเงียบ แก้ไขปัญหาให้ประชาชนไม่ได้ ผมกำลังบอกทุกคนว่า เราอย่าอยู่แบบหยวนๆ “วันนี้เราไม่ควรชินกับเรื่องเหล่านี้ ควรจะมีพูดคุยกันได้แล้ว”

 

พงศ์โพยม วาศภูติ” อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย, อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และประธาน กมธ.การปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น สปช.

• พลเมืองต้องตื่นรู้

“พงศ์โพยม วาศภูติ” ลุกขึ้นกล่าวพร้อมน้ำเสียงมุ่งมั่นว่า ที่เราคุยกันทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วอำนาจต้องอยู่ที่ประชาชน “ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนจะตื่นรู้กลายเป็นพลเมือง รู้จักสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของตัวเอง” ผมเคยอยากเห็นสภาใต้ต้นไม้ ทุกเดือนผู้นำท้องถิ่นต้องมานั่งดื่มกาแฟกับประชาชน ฟังประชาชนบ่น ตอบคำถามประชาชน และฟังความต้องการต่างๆ ไม่ใช่อยู่ในสภาอย่างเดียว

วันนี้ทุกคนอยากเปลี่ยนแปลงบ้านเมือง แต่จะเปลี่ยนไม่ได้เลยถ้าขาดเจตนารมณ์ทางการเมือง ผมขอเสนอว่า ช่วงนี้ใกล้เลือกตั้งใหม่แล้ว ให้เชิญผู้แทนทางการเมือง ตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ มาคุยกันถึงปัญหาการจัดการตนเอง บอกเขาไปว่า “คนโคราชต้องการพื้นที่จัดการตนเอง แก้ปัญหาด้วยตัวเอง สนองความต้องการของตัวเอง” ส.ส.จัดให้ได้หรือไม่ พรรคไหนจัดได้ต้องบันทึกเสียงไว้ให้ดี เพราะ “พวกนักการเมืองความจำสั้น หลังเลือกตั้งก็ลืมหมดแล้ว” และถ้าเขามีโอกาสได้เป็นรัฐบาล ช่วยมาเปลี่ยนแปลงโคราช ให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียง โดยการเปลี่ยนแปลงไม่กระทบกับโครงสร้างการปกครอง ผมต้องการเห็นโคราชจัดการด้านการศึกษาด้วยตัวเอง จัดการเรื่องเศรษฐกิจเอง และจัดการปัญหาต่างๆ เอง ไม่ต้องให้ลุงมาช่วย ผมคิดว่าคนโคราชทำได้ แต่ก่อนอื่นต้องเจรจา บอกรายละเอียดให้เขาทราบ ผมยืนยันว่าปลัดกระทรวงหรืออธิบดีจำนวนมากเห็นปัญหาของบ้านเมือง แต่ข้าราชการประจำทำอะไรมากไม่ได้ พวกนี้แก้ไขอะไรไม่ได้ เว้นแต่การเมืองดี ตั้งแต่หัวหน้ารัฐบาล พรรคเสียงข้างมาก ถ้าเขาเห็นด้วยกับปัญหาพวกนี้ จึงจะสำเร็จ

“กอล์ฟ-มารุต ชุ่มขุนทด” ซีอีโอ คลาสคาเฟ่

 

ขณะเดียวกัน “มารุต ชุ่มขุนทด” กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่า วันนี้พรรคการเมืองในท้องถื่นต้องกระตือรือร้นมากกว่านี้ และกลไกภาคประชาชนต้องชัดเจนได้แล้วว่า เรา ยอมไม่ได้กับเรื่องซื้อเสียงขายเสียง แต่ยิ่งรณรงค์เรื่องนี้ สุดท้ายก็วนกลับมาเหมือนเดิม สุดท้ายคนซื้อเสียงก็ชนะเหมือนเดิม ความเซ็งอยู่ตรงนี้ เวลาเราลำบากอย่าลืมว่า ใครอยู่ข้างเราเวลามีวิกฤต แต่พอวิกฤตหมดไปและใกล้เลือกตั้ง นักการเมืองแห่มากันเต็ม “ผมเกลียดมาก ผมโมโหมาก” ใกล้จะเลือกตั้งมาอีกแล้ว แต่เวลาเดือดร้อนจริงๆ ใครช่วยเรา แต่ทำไมประชาชนถึงยอมแพ้เรื่องแบบนี้ สุดท้ายเขาชนะการเลือกตั้งเพราะประชาชนยังยอมรับการซื้อสิทธิ์ขายเสียงอยู่ ส่วนคนที่เขาออกมาบอกว่าไม่ยินดีกับการซื้อเสียง กลับกลายเป็นกลุ่มที่ถูกยัดไปอยู่อีกฝ่าย วันนี้ “โคราชไม่น่าอยู่ ถนนแย่ คนไม่อยากมาเที่ยว” สิ่งเหล่านี้ คือ สิ่งที่คนโคราชต้องจดจำ วันนี้คนโคราชยังมีอำนาจการเลือกตั้งครั้งต่อไป นักการเมืองคนไหนทำไว้อย่างไร ก็อย่าไปเลือกเขา

 

• ผู้ว่าฯ ควรทำแบบชัชชาติ

ปิดท้ายด้วย “พิเชฐ พัฒนโชติ” อดีตรองประธานวุฒิสภา คนที่ ๑ และอดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดนครราชสีมา เสนอแนะถึงการเสวนาครั้งนี้ว่า หัวข้อเสวนา พลเมืองกับการปกครองส่วนท้องถิ่น และมีเครื่องหมายคำถาม ผมคิดว่าเรายังไม่ได้ตอบหัวใจของหัวข้อสักเท่าไหร่ โดยโครงสร้างต้องคำถามว่า ควรจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ “ชัชชาติเป็นเพียงตุ๊กตาตัวหนึ่งที่ทำให้เห็นว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้นำควรเป็นแบบนี้” เราไม่สามารถสร้างชัชชาติได้ทุกที่ แต่ถ้าเราเปลี่ยนโครงสร้างให้อำนาจมาอยู่ที่ประชาชนจริงๆ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นตามมา เรื่องงบประมาณของ อปท.บางแห่งทำทางระบายน้ำด้วยหินอ่อน แต่บางแห่งแค่ขุดท่อยังไม่มีเลย ถังขยะกว่าจะซื้อได้เลือดตาแทบกระเด็น นอกจากนี้ ผมคิดว่า วันนี้เราพูดถึงการกระจาย อำนาจโดยการเอาพื้นที่มาเป็นตัวตั้ง แต่ลองนำเรื่องเศรษฐกิจหรือการท่องเที่ยวมาเป็นตัวตั้งก็ได้ เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นชนิดพิเศษ เช่น พื้นที่อำเภอปากช่อง วังน้ำเขียว และมวกเหล็ก ทำเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เพื่อจะได้ผู้ว่าฯ ที่มีความถนัดด้านนี้จริงๆ ให้คัดเลือกมาเลย ๑๐ คน แล้วให้ประชาชนเลือกว่า ต้องการใคร เพื่อให้ได้คนเก่งจริงๆ มาเป็นผู้นำ

 

การเสวนาครั้งนี้ได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมในห้องประชุมและชมผ่านการถ่ายทอดสด (Live) ทางเพจเฟซบุ๊ก “koratdaily และ “โคราชเมืองที่คุณสร้างได้” ล้วนเป็นความคิดเห็นในมุมมองต่างๆ ของหลายฝ่าย ทั้งอดีตข้าราชระดับสูง ภาคเอกชน นักวิชาการ และผู้บริหาร อปท. ที่สะท้อนถึงแนวทางการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาว่ามีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่มองว่า “เป็นไปได้” แต่ต้องใช้เวลา

 

• ทีมข่าวโคราชคนอีสาน / koratdaily

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๔๐ ประจำวันพุธที่ ๑๗ - วันอังคารที่  ๒๓  เดือนสิงหาคม  พุทธศักราช  ๒๕๖๕


962 1598