29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

September 11,2022

เวนคืน‘รถไฟความเร็วสูง’ ทำชาวโคราชตื่นตระหนก ยืนยันแค่เข้าสำรวจพื้นที่

 

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน ในพื้นที่ ๕ จังหวัด ก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง โคราชมี ๔ อำเภอ “ปากช่อง สีคิ้ว สูงเนิน เมือง” ประชาชนโวยขอบเขตเวนคืนกว้าง หวั่นต้องย้ายออกจากพื้นที่ ด้านเพจดังชี้แจง พ.ร.ฎ.เวนคืนมีไว้เพื่อเข้าสำรวจ ไม่ใช่เวนคืนทั้งหมด


เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๕ ราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ ๑๓๙ ตอนที่ ๕๒ ก หน้า ๒๑ ลงประกาศ “พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนในท้องที่เขตจตุจักร เขตหลักสี่ เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร อำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี อำเภอคลองหลวง อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี อำเภอบางปะอิน อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภออุทัย อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอหนองแซง อำเภอเสาไห้ อำเภอเมืองสระบุรี อำเภอแก่งคอย อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และอำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ ๑ ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) พ.ศ.๒๕๖๕”

โดยเขตที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้ อยู่ในท้องที่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ ๑.กรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย แขวงจตุจักร แขวงลาดยาว เขตจตุจักร, แขวงตลาดบางเขน เขตหลักสี่ และแขวงสนามบิน เขตดอนเมือง ๒.จังหวัดปทุมธานี ได้แก่ ตำบลคูคต อำเภอลำลูกกา ตำบลประชาธิปัตย์ อำเภอธัญบุรี, ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง, ตำบลสวนพริกไทย อำเภอเมืองปทุมธานี และตำบลเชียงรากน้อย อำเภอสามโคก ๓.จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้แก่ ตำบลเชียงรากน้อย ตำบลขนอนหลวง อำเภอบางปะอิน, ตำบลไผ่ลิง ตำบลหัวรอ อำเภอพระนครศรีอยุธยา และตำบลข้าวเม่า อำเภออุทัย ตำบลภาชี ตำบลดอนหญ้านาง ตำบลหนองน้ำใส อำเภอภาชี

๔.จังหวัดสระบุรี ประกอบด้วย ตำบลหนองแซง ตำบลหนองควายโซ ตำบลไก่เส่า ตำบลหนองสีดา อำเภอหนองแซง, ตำบลเมืองเก่า ตำบลเสาไห้ ตำบลสวนดอกไม้ อำเภอเสาไห้, ตำบลหนองโน ตำบลโคกสว่าง ตำบลนาโฉง ตำบลปากเพรียว ตำบลตะกุด ตำบลตลิ่งชัน อำเภอเมืองสระบุรี, ตำบลตาลเดี่ยว ตำบลแก่งคอย ตำบลบ้านป่า ตำบลทับกวาง อำเภอแก่งคอย และตำบลมวกเหล็ก ตำบลมิตรภาพ อำเภอมวกเหล็ก

๕.จังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ ตำบลพญาเย็น ตำบลกลางดง ตำบลปากช่อง ตำบลหนองสาหร่าย ตำบลจันทึก อำเภอปากช่อง, ตำบลคลองไผ่ ตำบลลาดบัวขาว ตำบลสีคิ้ว อำเภอสีคิ้ว, ตำบลมะเกลือเก่า ตำบลเสมา ตำบลสูงเนิน ตำบลโคราช ตำบลกุดจิก ตำบลนากลาง อำเภอสูงเนิน, ตำบลโคกกรวด ตำบลบ้านใหม่ ตำบลปรุใหญ่ ตำบลหนองจะบก ตำบลในเมือง อำเภอเมืองนครราชสีมา

โดยมีส่วนแคบที่สุด ๑๐๐ เมตร และส่วนกว้างที่สุด ๑,๐๙๘ เมตร ซึ่งพระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป และให้ใช้บังคับได้มีกำหนด ๔ ปี ส่วนที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการสร้าง ทางรถไฟ เครื่องประกอบทางรถไฟ ทาง และสิ่งจำเป็นอื่นตามโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ ๑ ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) ซึ่งให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้ภายใน ๖๐ วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

วอน รฟท.ออกมาชี้แจง

จากนั้น วันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๑.๐๐ น. นายไพรัตน์ แซ่อือ ในฐานะตัวแทนประชาชนอำเภอสีคิ้ว พร้อมผู้ประกอบการและผู้นำชุมชน รวมตัวยื่นหนังสือพร้อมแนบสำเนาเอกสารพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินของโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (เฉพาะในเขตอำเภอสีคิ้ว) และสำเนาเอกสารจากทางจังหวัดซึ่งได้รับการชี้แจงจากการรถไฟแห่งประเทศไทย ยืนยันทุกท้องถิ่นสามารถขอใช้พื้นที่ในเขตการรถการรถไฟแห่งประเทศไทยเพื่อทำถนนเลียบทางรถไฟได้ ผ่านนายสมชาย อำพันกาญจน์ นายอำเภอสีคิ้ว เพื่อขอความอนุเคราะห์ประสานงานกับรัฐบาลและการรถไฟแห่ประเทศไทย (รฟท.) ชี้แจงกรณีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวนคืนที่ดินสองข้างทางรถไฟ เพื่อพัฒนาโครงการถไฟทางคู่ มาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระและรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา ช่วงผ่านอำเภอสีคิ้ว รวมทั้งขอหารือการใช้พื้นที่ในเขตรถไฟ เพื่อทำถนนเลียบทางรถไฟตลอดแนวในเขตอำเภอสีคิ้ว

นายไพรัตน์ แซ่อือ เปิดเผยว่า “หลังจากที่มีประกาศ พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินแนวเขตสองข้างทางรถไฟเดิม เพื่อสร้างโครงการรถไฟ เริ่มแรกชาวบ้านเข้าใจว่า เขตทางรถไฟฝั่งละ ๔๐ เมตร ต้องถูกเวนคืน แต่ พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ ปรากฏมีบ้าน วัด โรงเรียน ชุมชนและแปลงเกษตรกรรมในรัศมี ๑๐๐-๒๐๐ เมตร ถูกเวนคืนด้วย และจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจพื้นที่เวนคืนภายใน ๖๐ วัน สร้างความตื่นตระหนก ความทุกข์ใจ และความวิตกกังวลถึงขั้นกินไม่ได้นอนไม่หลับเมื่อเห็นแนวเขตที่ต้องถูกเวนคืน จึงขอความอนุเคราะห์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรม เชิญผู้แทนจาก รฟท.ในฐานะเจ้าของโครงการมาชี้แจงเป็นกรณีเร่งด่วน เพื่อตั้งหน้าตั้งตาทำมาหากินอย่างปกติสุข”

“นอกจากนี้ชาวบ้านที่มีสิ่งปลูกสร้างและแปลงเกษตรกรรมอยู่สองข้างทางรถไฟ ได้พยายามร้องขอใช้พื้นที่ทำถนนเลียบทางรถไฟ แต่ไม่มีการตอบรับ จึงขอให้จัดการประชุมหารือพร้อมกัน ล่าสุดจังหวัดนครราชสีมาได้แจ้งจะจัดประชุมเกี่ยวกับเรื่องนี้ในภาพรวมทุกพื้นที่ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งชาวสีคิ้วไม่เห็นด้วย เนื่องจากปัญหาเวนคืนมีรายละเอียดมากและมีหลายอำเภอประสบผลกระทบ การจัดประชุมภายในวันเดียวเวลาไม่เพียงพอและครอบคลุมอย่างแน่นอน จึงขอนำเสนอให้ประชุมเป็นรายอำเภอ โดยให้นายอำเภอเป็นเจ้าภาพ” นายไพรัตน์ กล่าว

ประชาชนตื่นตระหนก

ต่อมา แฟนเพจ “korat เมืองที่คุณสร้างได้” โพสต์ข้อความว่า “#จับตา! เวนคืนที่ดินรอบสถานีรถไฟความเร็วสูงนครราชสีมา ระยะกว้างถึง ๘๐๐ เมตร หลายฝ่ายกังวลว่าจะต้องถูกเวนคืนถึงพื้นที่ไหน และที่ดินตนเองจะถูกเวนคืนด้วยหรือไม่เพราะอยู่ในรัศมีและไม่เคยรู้ข้อมูลมาก่อน อยากให้หน่วยงานที่รับผิดชอบ แจ้งข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน” ซึ่งมีประชาชนแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก ในลักษณะได้รับผลกระทบ และกลัวที่ดินถูกเวนคืน อาจทำให้ต้องย้ายออกจากพื้นที่

ชี้แจงกรณีเวนคืนที่ดิน

โดยในเวลาต่อมา แฟนเพจ “โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure” ได้โพสต์ข้อความชี้แจงถึงกรณีดังกล่าวว่า “ขอบ เขตการเวนคืน ที่คุณอาจจะเข้าใจผิด!!! ขอบเขตการเวนคืน มีไว้เพื่อสำรวจพื้นที่ก่อนการเวนคืนจริง!!! ไม่ใช่เวนคืนทั้งหมด!!! อย่าพึ่งตีตนไปก่อนไข้!!! บอกตามตรง ว่าผมเห็น Content จากทางโคราช (ขอไม่อ้างถึงเพจ) มาหลายวัน แล้วเหนื่อยใจจากความไม่เข้าใจ (หรือตั้งใจปั่นกระแสคัดค้านก็ไม่ทราบ) โดยการเอาภาพแผนผังขอบเขตการเวนคืนเพื่อก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ทาบกับ ภาพถ่ายดาวเทียม จาก Google Map แล้วมาให้ดูว่ามีการเวนคืนกว้างถึง ๘๐๐ เมตร ซึ่งมีการทาบไปบนพื้นที่ในเขตพื้นที่หนาแน่น ทำให้ประชาชนในพื้นที่มีการตกใจ และทักมาหาผม ถามว่าบ้านเค้าจะโดนเวนคืนมั้ย?? ทำไมต้องเวนคืนมากขนาดนั้น?? และก็ด่าโครงการรถไฟความเร็วสูงมากมาย บางคนลามไปถึงจะเตรียมประท้วงคัดค้านการเวนคืนกันแล้ว ผมเลยขอมาให้ข้อมูลที่ “แท้จริง” กับทุกคนก่อนว่า อันนี้เป็นแนวเขตเพื่อ “สำรวจ” ไม่ใช่เวนคืนทั้งหมด การที่ต้องออกพื้นที่มามากกว่าการใช้งานจริงๆ เพื่อไม่ต้องให้ขอมติครม และออก พ.ร.ฎ.บ่อยๆ (ซึ่งออกยากมาก) ดังนั้นต้องทำให้กว้าง เพื่อความสะดวกในการปรับแก้ไข หรือเวนคืนเพิ่มเติมตามความจำเป็นของโครงการ เท่านั้น!!!!

มาดูรายละเอียดพื้นที่สถานีรถไฟความเร็วสูงนครราชสีมา (โคราช) “จริงๆ” ตามแบบกันก่อนครับ ตำแหน่งสถานีใช้พื้นที่สถานีเดิม และเขตพื้นที่ของการรถไฟเดิม สร้างเป็นสถานี ๓ ชั้น ซึ่งสถานีนครราชสีมาจะมีลักษณะคล้ายกับสถานีบางซื่อ รวมรถไฟทั้ง ๒ ระบบ คือรถไฟทางไกลและรถไฟความเร็วสูง โดยจะมี ๓ ชั้น ชั้นที่ ๑ โถงพักรอคอยและทางเข้าอาคาร ชั้นที่ ๒ ชั้นจำหน่ายตั๋วและชานชาลารถไฟทางไกล ชั้นที่ ๓ ชานชาลารถไฟความเร็วสูง สถานที่ตั้งสถานีใหม่อยู่บริเวณย่านสถานีรถไฟนครราชสีมาในปัจจุบัน (ขยับไปทางชุมทางถนนจิระประมาณ ๑๖๐เมตร) และมีการเวนคืนที่ดินเพิ่มเติมเล็กน้อย ซึ่งในภาพผมก็ได้เอาผังสถานีที่จะมีการใช้งานจริง รวมถึงการเวนคืน มาให้อ่านแล้วลองพิจารณาดูครับว่า เขาจะเวนคืนเต็ม ๘๐๐ เมตร ตามเอกสารจริงๆ หรือไม่??? ไปดูแผนผังจริงได้ที่สถานีรถไฟนครราชสีมา (โคราช)
รายละเอียดการเวนคืน ตาม พ.ร.ฎ.เวนคืน เล่มนี้ก็ได้เขียนจุดประสงค์การเวนคืนไว้ มาตราที่ ๓ “ท่ี่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการสร้างทางรถไฟ เครื่องประกอบทางรถไฟ ทาง และสิ่งอื่นตามโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาล แห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเช่ื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ ๑ ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา)” มาตราที่ ๖ ให้เริ่มต้นเข้า “สำรวจ” ที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดิน ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้ภายในหกสิบวันนับแต่วันท่ี่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ มาตราที่ ๗ ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าหน้าที่ในการเวนคืน หมายเหตุ ท้าย พ.ร.ฎ.เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็ว แก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค “สมควรกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน” ในท้องที่ดังกล่าว “เพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์” ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด

พ.ร.ฎ.เวนคืน เพื่อเข้าสำรวจ

แฟนเพจ “โครงสร้างพื้นฐาน ประเทศไทย Thailand Infrastructure” ระบุท้ายสุดว่า ผมสรุปให้ง่ายๆ คือ พ.ร.ฎ.เวนคืน มีไว้เพื่อเข้าสำรวจ (ไม่ให้ผิดกฎหมาย เข้าไปบุกรุกที่ของประชาชน) และหลังจากการสำรวจเสร็จ จะทำการแจ้งรายละเอียดและที่ดินที่จะเวนคืนจริงอีกครั้ง เพื่อทำการจ่ายเงินค่าเวนคืน ตามจำนวนพื้นที่จริง สำหรับใครที่ได้รับการเวนคืน แต่คิดว่าจำนวนเงินไม่เป็นธรรม สามารถอุทธรณ์เวนคืนได้ (ฝากให้คนที่ให้ข้อมูล) สุดท้ายผมขอร้องจริงๆ ล่ะครับ บางอย่างที่สมเหตุสมผล จะคัดค้านก็ไม่ว่าหรอก แต่บางอย่างปั่นกระแสแบบผิดๆ แบบนี้ มีแต่ประเทศเสียหาย แล้วจังหวัดคุณนั่นแหละครับที่จะช้าและสุดท้าย ก็ไม่ได้พัฒนา!!!

เปิดเวทีเสวนาหาทางออก

ทั้งนี้ ในวันจันทร์ที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๕ เวลา ๑๖.๓๐ น. เป็นต้นไป ณ คลาสคาเฟ่ วัดบูรพ์ เมืองนครราชสีมา มีการจัดเวทีเสวนาในประเด็นดังกล่าว เพื่อเสนอความต้องการเกี่ยวกับเรื่อง พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ ๑ ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) พ.ศ.๒๕๖๕ โดยมีผู้เข้าร่วมเวที “นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์” รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และอดีตโยธาธิการและผังเมืองนครราชสีมา “นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ” เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนคiราชสีมา และ รศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์ นิคม บุญญานุสิทธิ์ มทร.อีสาน ดำเนินรายการโดย “นายมารุต ชุ่มขุนทด” CEO Class Café  โดยมี “คลาส คาเฟ่” เป็นเจ้าภาพ และ “ลุงเปี๊ยกโคราชคนอีสาน” เป็นผู้จุดตะเกียง ซึ่งสามารถติดตามชมการถ่ายทอดสดผ่านเพจ : koratdaily


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๔๓ วันพุธที่ ๗ - วันอังคารที่ ๑๓ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕

 


987 1655