September 15,2022
คลายปม‘เวนคืนรางรถไฟ’ รฟท.ยันทำเท่าที่จำเป็น อย่าตกใจแต่ให้รักษาสิทธิ์
เสวนา “เวนคืนเพื่อรางรถไฟ” คลายข้อสงสัยกังวล พ.ร.ฎ.เวนคืน เพื่อก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ย้ำประชาชนให้ติดตามข่าว เพื่อรักษาสิทธิ์ของตัวเอง ด้านการรถไฟฯ ชี้แจง ประกาศเพื่อให้เจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจพื้นที่ ส่วนพื้นที่เวนคืนจริงใช้ไม่มาก แนะประชาชนเตรียมรับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่
เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๖๕ ที่คลาสคาเฟ่ วัดบูรพ์ เมืองนครราชสีมา มีการจัดเวทีเสวนา หัวข้อ “เวนคืนเพื่อรางรถไฟ” นับเป็นเวทีครั้งที่ ๓ ที่เกิดจากการจุดตะเกียงของ “ลุงเปี๊ยกโคราชคนอีสาน” โดยมีคลาส คาเฟ่ เป็นเจ้าภาพ ซึ่งในวันนี้มีวิทยากร ประกอบด้วยนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาและอดีตโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส.จังหวัดนครราชสีมา เขต ๒ นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกเฉียงเหนือและอดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา และ รศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และศิลปกรรมสร้างสรรค์ มทร.อีสาน ซึ่งมีนายมารุต ชุ่มขุนทด ซีอีโอ คลาสคาเฟ่ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยเป็นประเด็นที่กำลังได้รับความสนใจจากชาวจังหวัดนครราชสีมาอย่างมาก โดยบางส่วนมีความวิตกกังวล เกรงว่าที่ดินหรือที่อยู่อาศัยของตนเองจะถูกเวนคืนไปด้วยหลังจากที่มีการประกาศ “พระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในพื้นที่บางส่วนในท้องที่เขตจตุจักร เขตหลักสี่ เขตดอนเมือง กรุงเทพมหานคร อำเภอลำลูกกา อำเภอธัญบุรี อำเภอคลองหลวง อำเภอเมืองปทุมธานี อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี อำเภอบางปะอิน อำเภอพระนครศรีอยุธยา อำเภออุทัย อำเภอภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา อำเภอหนองแซง อำเภอเสาไห้ อำเภอเมืองสระบุรี อำเภอแก่งคอย อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และอำเภอปากช่อง อำเภอสีคิ้ว อำเภอสูงเนิน อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เพื่อดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ ๑ ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) พ.ศ.๒๕๖๕” ออกมา
รถไฟมาจะเจริญแบบก้าวกระโดด
โดยเวทีเสวนาเริ่มขึ้นจากนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ กล่าวว่า “สำหรับจังหวัดนครราชสีมา มีทางรถไฟจากกรุงเทพฯ ผ่านอำเภอปากช่อง สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ และเมือง ซึ่งชาวบ้านตื่นตัวกันหมด ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา จะจัดประชุมรับฟังที่มาที่ไปของ พ.ร.ฎ.เวนคืน ที่มีความชัดเจน ส่วนเวทีวันนี้ จัดขึ้นมาเพื่อให้ความรู้กับคนโคราชว่า พ.ร.ฎ.ฉบับนี้มีผลกระทบอย่างไรกับคนโคราช โดยเมื่อวาน (๑๑ ก.ย. ๒๕๖๕) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีเวทีเสวนาในลักษณะนี้เช่นกัน ซึ่งผมพูดถึงการพัฒนาเมืองด้วยระบบราง ในประเทศแถบยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ใช้วิธีการพัฒนาเมืองด้วยรถไฟ ทั้งรถไฟความเร็วสูงและรถไฟระหว่างเมือง สำหรับโครงการรถไฟความเร็วสูงของรัฐบาลไทย จากกรุงเทพฯ มาโคราช ระยะทาง ๒๕๐.๗๗ กิโลเมตร มีทั้งหมด ๑๕ สัญญา แบ่งเป็นงานโยธา ๑๔ สัญญา และงานระบบ ๑ สัญญา มี ๓ รูปแบบ คือ ๑.วิ่งบนดิน ๕๔ กิโลเมตร ๒.วิ่งแบบยกระดับ ๑๘๘ กิโลเมตร และอุโมงค์ ๘ กิโลเมตร โดยช่วงที่มีการยกระดับจะยกระดับช่วงผ่านเมืองทุกเมือง ส่วนการวิ่งบนดินจะวิ่งช่วงบนเขาหรือพื้นที่นอกเมือง ทั้งนี้ การพัฒนาเมืองในประเทศไทย ส่วนมากพัฒนาด้วยถนน แต่ไม่ได้มุ่งเน้นที่จะใช้รถไฟมาพัฒนาเมือง ซึ่งปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กำลังนำรถไฟมาเชื่อมโยงกับภูมิภาคต่างๆ เป็นการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคด้วย และผมเชื่อว่า ถ้ารถไฟความเร็วสูงมาโคราชแล้วเสร็จ จะทำให้โคราชมีความเจริญขึ้นแบบก้าวกระโดด”
เวนคืนเฉพาะที่จะก่อสร้าง
“ในส่วนของ พ.ร.ฎ.เวนคืน ฉบับนี้ เป็น พ.ร.ฎ.ที่ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่กรุงเทพฯ มาถึงโคราช ซึ่ง พ.ร.ฎ.เวนคืนทุกฉบับจะต้องมีการกันเขตอยู่เสมอ เป็นเรื่องปกติ เช่น ถ้าจะสร้างถนนกว้าง ๓๐ เมตร จะมีการกันเขตไว้ข้างละ ๑๐๐ เมตร หรือกันแนวเขตเวนคืน ๒๐๐ เมตร สาเหตุที่กันมากกว่าผิวจราจรเพราะว่า ในการสำรวจออกแบบถนนเส้นนี้บางครั้งอาจจะไปเจออาคาร เจอสระน้ำ เจออะไรก็ตาม ที่ทำให้ไม่สามารถก่อสร้างได้ ก็สามารถขยับถนนให้ไม่ชนสิ่งเหล่านี้ในระยะ ๒๐๐ เมตรได้ แต่ถ้าขยับไม่ได้จริงๆ ก็จะมีการเวนคืน ซึ่งการก่อสร้างในลักษณะนี้จะมี พ.ร.ฎ.เวนคืนออกมา และกันแนวเขตเวนคืนไว้เสมอ เผื่อไว้ทุกฉบับที่ทำ เช่นเดียวกันกับโครงการรถไฟความเร็วสูง ที่มีการกันเขตแนวเวนคืนไว้ ซึ่งจริงๆ แล้วจะมีการเวนคืนเฉพาะบริเวณก่อสร้างเท่านั้น และอาจจะเผื่อไว้บางส่วน แต่ไม่ได้เวนคืนทั้งหมด ส่วนที่เหลื่อมเมื่อก่อสร้างเสร็จก็จะคืนพื้นที่ ทุกอย่างกลับมาเหมือนเดิม” นายสมเกียรติ กล่าว
ประชาชนอาจไม่เข้าใจ
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า “พ.ร.ฎ.เวนคืน ฉบับนี้เขียนไว้ว่า ประกาศใช้เนื่องจากมีความจำเป็น ๑.ต้องสร้างทางรถไฟ ๒.เพื่อประกอบการทางรถไฟ ๓.ทาง และ ๔.สิ่งจำเป็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ และในหมายเหตมีระบุไว้ว่า เพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่ง อาจเป็นกิจการสาธารนณูปโภค คือ พ.ร.ฎ.เวนคืนฉบับนี้สามารถใช้เพื่อก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคเท่านั้น เช่น ทางรถไฟ สถานีรถไฟ และสิ่งจำเป็นต่างๆ เพื่อทำให้รถไฟเส้นทางนี้สมบูรณ์แบบ”
นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาและอดีตโยธาธิการและผังเมืองจังหวัดนครราชสีมา
“ใน พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ กันแนวเขตเวนคืนเมืองโคราชไว้ ๘๐๐ เมตร แต่ที่เมืองสระบุรีมีการกันแนวเขตไว้กว้างกว่า คือ ๑,๐๙๘ เมตร น่าจะกันไว้สำหรับสร้างสถานีรถไฟ ซึ่งรถไฟความเร็วสูงจะออกสถานีบางซื่อ ดอนเมือง พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ปากช่อง และโคราช ซึ่งโคราชเป็นจังหวัดเดียวที่รถไฟความเร็วสูงจะจอด ๓ สถานี คือ ปากช่อง เมือง และบัวใหญ่ สำหรับประเด็นความกังวลที่เกิดขึ้นในกลุ่มประชาชนนั้น ตั้งแต่อำเภอปากช่อง สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ และเมือง ประชาชนบางส่วนไม่เข้าใจการกันแนวเขตเวนคืน โดยส่วนใหญ่จะกันไว้ ๒๐๐ เมตรจากแนวเส้นทางรถไฟเดิม แต่จะมีกันแนวเขตไว้จำนวนมากบริเวณสถานี เช่น สถานีปากช่อง ที่กันไว้ ๕๖๐ เมตร ซึ่งจุดนี้สร้างความสับสนให้กับคนโคราชเป็นอย่างมาก ซึ่งผมเชื่อว่า บริเวณสถานีรถไฟที่กันแนวเขตไว้จำนวนมากไม่ได้ใช้งานทั้งหมด โดยการเวนคืนจะมีการปักหลักไว้ เมื่อปักหลักแล้วพื้นที่ใดอยู่นอกเหนือแนวที่เขาปักหลักไว้ว่าจะเวนคืน ก็จะไม่โดนเวนคืน” นายสมเกียรติ กล่าว
ถนนมุขมนตรีพื้นที่มูลค่าสูง
นายสมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า “แต่ประเด็นสำคัญ คือ พ.ร.ฎ.ฉบับนี้มีอายุ ๔ ปี แต่ที่ประชาชนกังวล คือ บริเวณสถานีรถไฟนครราชสีมา มีการกันแนวไว้ ๘๐๐ เมตร แต่ใช้จริงอาจจะไม่มาก ซึ่งจุดนี้มีที่ดินของการรถไฟฯ อยู่หลายร้อยไร่ในทางทิศใต้ แต่ทางทิศเหนือเป็นของเอกชน การที่การรถไฟฯ จะเวนคืนถึงถนนมุขมนตรีมีโอกาสน้อยมาก เป็นไปไม่ได้ที่เขาจะเวนคืนทั้งหมด เพราะการรถไฟฯ ไม่ได้มีงบประมาณมากขนาดนั้น และบริเวณนั้นเป็นพื้นที่เศรษฐกิจมีมูลค่าสูง แต่ประเด็น คือ เจ้าของที่ดินบริเวณนั้น หากจะซื้อขาย เปลี่ยนมือ หรือก่อสร้าง จะมีปัญหาว่า อาจจะทำไม่ได้ หากจะทำต้องขออนุญาตจากผู้ออก พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ คือ การรถไฟฯ ซึ่งกรณีแบบนี้จะทำให้ราคาประเมินที่ดินในจุดนี้ล่วงลงทันที หรือเจ้าของที่ดินจะนำที่ดินไปเป็นหลักค่ำประกัน หลักค่ำประกันนี้ก็จะถูกลดมูลค่าลง ดังนั้น ใน ๔ ปีนี้ มูลค่าทางเศรษฐกิจของโคราชบริเวณที่มีทางรถไฟจะหายไป ประชาชนจึงต้องการให้การรถไฟฯ มาชี้แจงว่า ควรจะกันเขตเวนคืนเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น แต่ที่กันไว้ ๘๐๐ เมตรนั้น เกินความจำเป็น ทั้งนี้ ก็ต้องไปฟังคำชี้แจงจากการรถไฟในวันพรุ่งนี้ (๑๔ ก.ย. ๒๕๖๕)”
นายวัชรพล โตมรศักดิ์
รถไฟต้องยกระดับตอม่อ
นายวัชรพล โตมรศักดิ์ กล่าวว่า “โครงการรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูง จากตำบลโคกกรวดถึงสถานีนครราชสีมา ระยะ ๑๒ กิโลเมตร มีปัญหาบริเวณจำบลโคกกรวดถึงหมู่บ้านบุรีสีมา วันนี้ชาวบ้านลุกขึ้นมาต่อสู้ ไม่ใช่เพื่อคัดค้าน แต่ทุกคนสู้เพื่อเรียกร้องว่า การก่อสร้างด้วยคันดินในช่วงเขตชุมชนจะก่อให้เกิดปัญหามากมาย ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ชาวบ้าน ต่างเห็นว่าไม่ถูกต้อง ผมจึงใช้ช่องทางในการเป็น ส.ส. ยื่นเรื่องถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ถึงนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และผู้ว่าการรถไฟฯ รวมถึงการนำเข้าที่ประชุมกรรมาธิการคมนาคม โดยผมได้นำหนังสือไปยื่นถึงผู้ว่าการรถไฟฯ ว่า ชาวบ้านและผู้ว่าราชการจังหวัดไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างทางรถไฟด้วยคันดิน ด้วยเหตุผลว่า จะทำให้โคราชเป็นเมืองอกแตก และไม่มีบ้านเมืองใดที่สร้างในลักษณะคันดินช่วงผ่านเมือง แต่ช่วงที่อยู่กลางทุ่งนา กลับไปสร้างยกระดับ จากการพูดคุยกับ รมว.คมนาคม เขาก็เห็นด้วยกับแนวทางที่เสนอไป ซึ่งจะมีการเสนอต่อ ครม.ให้พิจารณาต่อไป”
“หากมีการเพิ่มเงิน ๒-๓ พันล้านบาท เพื่อก่อสร้างทางรถไฟแบบยกระดับตอม่อ จริงๆ แล้วไม่ได้ใช้งบประมาณขนาดนั้น เพราะหากทำเป็นคันดิน ต้องไปก่อสร้างสะพานกลับรถเกือกม้า ๔ ตัวๆ ละ ๒๐๐ ล้านบาท และถ้ายังยืนยันก่อสร้างคันดินไปต่อ ก็ต้องหางบประมาณมาแก้ไขปัญหาน้ำท่วม หรือปัญหาต่างๆ ที่จะตามมาในอนาคตอีก ดังนั้น การลงทุนก่อสร้างเป็นแบบตอม่อนั้นคุ้มค่า ส่วนกรณีการออก พ.ร.ฎ.เวนคืนนั้น ไม่มีการเวนคืนถึง ๒๐๐ เมตร เพราะว่า จุดกึ่งกลางที่ห่างออกจากทางรถไฟมีเพียงข้างละ ๔๐ เมตร เขาจะกันไว้หรือเวนคืนเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น แต่การออก พ.ร.ฎ.นี้มาเพื่อจะขีดเขียนให้กว้างไว้ เวลาที่ออกแบบหรือสำรวจจริงไม่ได้เวนคืนขนาดนั้น” นายวัชรพล กล่าว
ไม่เคยเห็นแบบก่อสร้าง
นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ กล่าวเสริมว่า “พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ ระบุไว้ชัดเจนว่า ภายใน ๖๐ วัน การรถไฟฯ จะต้องเข้ามาสำรวจพื้นที่ แต่ไม่ได้ระบุว่า หลังจาก ๖๐ วันไปแล้ว จะดำเนินการต่ออีกกี่วันถึงจะแล้วเสร็จ ผมต้องยอมรับตรงๆ ว่า นั่งอยู่ที่จังหวัดก็ยังไม่เคยเห็นแบบของการรถไฟฯ เช่น แบบของสถานีรถไฟนครราชสีมา ซึ่งแตกต่างกับที่อื่นๆ เดิมทีสถานีรถไฟทางคู่และสถานีรถไฟความเร็วสูงจะอยู่คนละจุด เมื่อจังหวัดทราบก็รับไม่ได้ จึงเป็นที่มาว่า ประชาชนได้ร่วมแรงร่วมใจเสนอการรถไฟฯ ว่า ให้ก่อสร้างแบบ ๓ ชั้น รวมเป็นสถานีเดียว คล้ายกับสถานีรถไฟบางซื่อ การเชื่อมต่อด้วยระบบต่างๆ ก็จะจบอยู่ที่เดียว จึงเป็นที่มาว่ามีการออกแบบใหม่ แต่ ณ วันนี้ จังหวัดยังไม่เห็นแบบก่อสร้าง แม้แต่ประชาชนตำบลบ้านใหม่ ก็ไม่เคยเห็นแบบ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟทางคู่หรือความเร็วสูงก็ตาม”
รศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์
ป้องกันคนหัวหมอ
รศ.ดร.นิคม บุญญานุสิทธิ์ กล่าวว่า “โดยหลักการแล้ว เจ้าของเมือง คือ คนที่อยู่ในพื้นที่ ต้องมีอำนาจสูงสุดในการจะทำอะไรก็ตาม แต่ประเทศไทย คือ รัฐราชการ อะไรที่เป็นคำสั่งของราชการจะต้องทำตาม โครงการแบบนี้ หากเกิดขึ้นในประเทศที่เจริญแล้วจะต้องมีสภาเมือง ตัวแทนของเมือง มาพูดคุยกับเจ้าของโครงการว่า จะทำอะไร เมื่อพิจารณาเห็นชอบแล้วจึงจะดำเนินการต่อ แต่กลับประเทศไทย จะค่อยๆ เกิดขึ้นที่ละนิด ทั้งที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ยังพัฒนาด้วยการทำทีละขั้นตอน เช่น ประกาศออกมาก่อน แล้วค่อยดำเนินการแก้ไขภายหลัง ซึ่งยากต่อการทำให้โครงการดำเนินการไปอย่างราบรื่น ทำให้เกิดข้อขัดแย้งมากมาย และอาจจะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ควรจะใช้วิธีการมีส่วนร่วม แต่จะให้พูดอะไรขณะนี้คงจะยาก เพราะยังไม่เห็นแบบโครงการ แต่ในหลักการการประกาศ พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ของการรถไฟฯ หรือผู้ที่ได้รับอำนาจจากการรถไฟฯ สามารถเข้าพื้นที่เพื่อสำรวจหรือทำกิจกรรมบางอย่างโดยไม่ผิดกฎหมาย เหมือนเป็นการออกกฎหมายมาคุ้มครองเขา เช่น บางครั้งเข้าไปสำรวจแล้วต้องตัดกิ่งไม้ อาจจะเจอคนหัวหมอฟ้องร้องได้ จึงต้องประกาศ พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ออกมา”
อย่าเพิ่งตกใจ
นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ กล่าวถึงประสบการณ์ของตนเองว่า “ผมมีที่ดินใกล้ๆ ทางรถไฟอยู่ ๒ แปลง ตอนแรกเขาบอกจะเวนคืนประมาณ ๒๐ กว่าไร่ ซึ่งผมมีประมาณ ๑๕๐ ไร่ ตอนแรกผมก็ทำใจแล้วว่า ๒๐ ไร่ก็ค่อนข้างมาก แต่เมื่อสำรวจจริงๆ เหลือเพียง ๔ ไร่กว่า ซึ่งในช่วงแรกที่มีกันเขตไว้ ๒๐ ไร่กว่านั้น ผมยังสามารถซื้อขายได้ แต่เมื่อมีการปักเขตที่ดินที่จะเวนคืน คือ ๔ ไร่ ทำให้ไม่สามารถซื้อขายได้ ซึ่ง ๔ ไร่กว่าที่เวนคืนนี้ เขาจะให้ตามราคาประเมิน แต่สามารถอุทธรณ์ได้ สำหรับคนที่ถูกเวนคืนแล้วคิดว่า ราคาประเมินไม่เป็นธรรม สามารถอุทธรณ์ได้ เช่น ครั้งแรกให้มา ๑ ล้านบาท แล้วอุทธรณ์ไปว่า ขอ ๕ ล้านบาท แต่คณะกรรมการเวนคืนอาจจะตกลงให้เพิ่มอีก ๑ ล้านบาท รวมเป็น ๒ ล้านบาท ซึ่งเรายังสามารถอุทธรณ์ได้อีก โดยยืนยันว่า ที่ดินแปลงนี้ราคาควรจะ ๕ ล้านบาท แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการ เพราะถ้ามีที่ดิน ๑ แปลงได้รับเงินเวนคืนเพิ่ม ที่ดินแปลงอื่นๆ ก็ต้องได้เช่นกัน”
“ผมเคยพูดคุยกับบริษัทที่ปรึกษาฯ ของรถไฟความเร็วสูง เขาบอกว่า พ.ร.ฎ.เวนคืน ฉบับนี้เหมือนที่เราเข้าใจกัน คือ จุดไหนตัดตรงก็ตรงไป รัฐไม่มีเงินไปเวนคืนจำนวนมาก วันนี้ประชาชนตระหนกได้ แต่ต้องติดตามข่าวเรื่องเวนคืนเสมอ เพื่อรักษาสิทธิ์ของตัวเองว่า เขาจะเอาที่ดินไปมากหรือไม่ แต่จากประสบการณ์ผม เขาน่าจะเอาไปเฉพาะที่จำเป็นจริงๆ เหมือนที่ผมเคยเจอ ตอนแรกประกาศเกือบ ๑ กิโลเมตร แต่พอเวนคืนจริงๆ เพียง ๒ ไร่ ใน พ.ร.ฎ.ก็ประกาศชัดเจนว่า ไม่ได้เวนคืนเพื่อนำที่ดินไปใช้สร้างศูนย์การค้า แต่นำไปเพื่อสร้างทางรถไฟหรือถนนเลียบทางรถไฟ ซึ่งถนนเลียบทางรถไฟมีอยู่แล้ว หากการรถไฟฯ จะเวนคืนถนนเส้นนี้ ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ด้วย เพราะจะเป็นการลิดรอนสิทธิ์ของประชาชน ดังนั้น อย่าเพิ่งตกใจ แต่ต้องติดตามข่าวเสมอ รักษาสิทธิ์ของตัวเองให้ดี” นายหัสดิน กล่าว
นายหัสดิน สุวัฒนะพงศ์เชฏ
รู้ผลใน ๔ เดือน
นายวัชรพล โตมรศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ สาเหตุที่ออกมาเพื่อก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง โดยการรถไฟฯ ต้องการกันที่ไว้เพื่อดำเนินการก่อสร้างให้สำเร็จ โดย พ.ร.ฎ.ฉบับนี้มีกำหนดใช้ ๔ ปี แต่ภายใน ๖๐ วันนี้ หลังจากประกาศ พ.ร.ฎ.ไปแล้ว การรถไฟฯ จะต้องดำเนินการออกสำรวจพื้นที่หรือแนวเขตที่จะกันจริงๆ ซึ่ง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้มีผลในพื้นที่ ๕ จังหวัด ดังนั้น หลายพื้นที่ก็มีความตระหนกเหมือนกับคนโคราช การรถไฟฯ จึงมีการเตรียมชี้แจงไว้แล้วในแต่ละจังหวัด ที่หลายคนสงสัยว่า ทำไมเขาถึงกันพื้นที่ไว้ ๒๐๐ เมตร นั่นเพราะเขากันไว้เพื่อสำรวจ แต่ถ้า พ.ร.ฎ.ฉบับนี้เขียนชื่อประกาศใหม่ว่า การสำรวจเพื่อจะเวนคืนที่ดิน ประชาชนอาจจะตระหนกน้อยลงและเข้าใจมากขึ้น ผมเคยคิดว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะนำสถานีนครราชสีมา ไปไว้นอกเมือง เพื่อลดผลกระทบต่างๆ เช่น นำไปไว้ที่ตำบลท่าช้าง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ ใกล้กับท่าอากาศยานนครราชสีมา ส่วน พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ หลายคนเห็นอาจจะตกใจ แต่ขอให้สบายใจว่า การรถไฟฯ จะเวนคืนเท่าที่จำเป็น และอาจจะรู้ผลภายใน ๔ เดือน”
นายมารุต ชุ่มขุนทด ซีอีโอ คลาสคาเฟ่ ผู้ดำเนินรายการ
ย้ายสถานีไปนอกเมือง
หลังจากนั้น มีการเปิดให้ผู้รับฟังแสดงความคิดเห็น โดยมีสตรีรายหนึ่ง แสดงความคิดเห็นว่า โครงการนี้ไม่ต้องการให้มาทำลายสถานีรถไฟนครราชสีมา ที่สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ ต้องการให้เก็บรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็น เมืองโคราชเป็นแบบเมืองโบราณ อยากจะให้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว รักษาไว้ ส่วนความเจริญให้กระจายออกไปนอกเมือง รถไฟที่วิ่งมาด้วยความเร็วสูง มีความน่ากลัว กลัวจะเกิดอันตราย น่าจะย้ายสถานีรถไฟออกไปไว้นอกเมือง ขยับไปแถวตำบลโคกสูงก็ได้ ใกล้กับท่าเรือบกที่จะก่อสร้าง การขนส่งจะได้เชื่อมต่อสะดวก รถบรรทุกไม่ต้องวิ่งเข้ามาในเมือง เงินที่จะนำมาเวนคืนประชาชนในเมือง นำไปซื้อที่ดินกลางทุ่งไม่ดีกว่าหรือ แล้วก็ตัดทางรถไฟจากสูงเนินไปโนนสูง ไม่ต้องผ่านตัวเมือง
เปิดเวทีให้ รฟท.ชี้แจง
จากนั้น เมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๖๕ ที่ห้องประชุมสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ๒ อาคารยุพราชเบญจมงคล มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา จัดประชุมชี้แจงเพื่อสร้างความเข้าใจถึงขั้นตอนหลักเกณฑ์ วิธีการดำเนินการเวนคืนที่ดินกรณี พระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนฯ (ระยะที่ ๑ ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) พ.ศ.๒๕๖๕ โดยมีนายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา นายเกษม ศุภรานนท์ ส.ส.เขต ๑ จังหวัดนครราชสีมา นายวัชรพล โตมรศักดิ์ ส.ส.เขต ๒ จังหวัดนครราชสีมา ผศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดีหมาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ผู้แทนส่วนราชการ ภาคเอกชน และประชาชนกว่า ๕๐๐ คน ร่วมรับฟัง นายกำพล บุญชม รองวิศวกรใหญ่ โครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย และคณะ ที่มาชี้แจงรายละเอียดการเวนคืน
เผื่อพื้นที่เพื่อสำรวจ
นายกำพล บุญชม กล่าวว่า “โครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับจีน โดยจีนเป็นผู้ออกแบบโครงสร้างและงานระบบ ส่วนฝ่ายไทยจะเป็นผู้ก่อสร้างงานโยธาทั้งหมด ซึ่งการรถไฟฯ ได้ยึดเส้นทางในแนวเขตทางรถไฟให้มากที่สุด เพื่อลดผลกระทบการเวนคืน ยกเว้นว่าความจำเป็นจริงๆ บางพื้นที่อาจจะต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ เช่น ชุมทางต่างๆ หรือบางเส้นทางอาจจะต้องปรับจากแนวเขตรถไฟเดิม โดยเฉพาะบริเวณที่เป็นทางโค้ง แต่รถไฟความเร็วสูงจะวิ่งเป็นเส้นตรง สำหรับพื้นที่ในอำเภอเมืองนครราชสีมา ที่ประชาชนมีความกังวล เนื่องจากกันแนวเขตไว้ข้างละ ๔๐๐ เมตร รวมเป็น ๘๐๐ เมตรนั้น จุดนี้จะเป็นบริเวณสถานีรถไฟ แต่พื้นที่ที่จะใช้งานจริงไม่ได้มากขนาดนั้น แต่ด้วยหลักการณ์ในการเวนคืน จะต้องกันพื้นที่ไว้ก่อน เนื่องจากการรถไฟฯ ไม่ทราบว่าบริเวณนั้นมีปัญหาหรืออุปสรรคอะไร หากทำไปแล้วต้องออก พ.ร.ฎ.ใหม่ก็จะทำให้เสียเวลา จึงเผื่อพื้นที่ไว้ตั้งแต่แรก ดังนั้น ในทุกจุดจึงกำหนดแนวเขตไว้กว้าง เผื่อวันหนึ่งต้องขยับเส้นทาง จะได้ไม่กระทบในภายหลัง ซึ่งในการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง จะมีการกั้นเขตปลอดภัยด้วย เพราะรถไฟฯ จะใช้ระบบไฟฟ้าที่มีความแรงสูง จึงจำเป็นต้องกันเขตไว้”
ยืนยันเวนคืนไม่มาก
นายเจษฎา นาวาสิทธิ์ ผู้แทนจากบริษัทที่ปรึกษาโครงการฯ นำเสนอว่า “อย่างที่ทราบกันว่า รภไฟความเร็วสูงถูกออกแบบโดยรัฐบาลจีน จึงมีการวางแนวเส้นทางให้ได้ตามมาตรฐาน เพื่อให้วิ่งด้วยความเร็วสูงสุด ๒๕๐ กม./ชั่วโมง ซึ่งแนวรถไฟเดิมมีเส้นทางคดเคี้ยวบางช่วง เมื่อรถไฟต้องวิ่งด้วยความเร็วสูง จึงต้องมีเส้นทางตรง โค้งก็เป็นโค้งขนาดใหญ่ จึงต้องมีการปรับแนวเส้นทางใหม่ เมื่อมีการปรับแนวเส้นทางก็ต้องมีการออกนอกแนวเขตรถไฟ ทำให้ต้องมีการเวนคืน โดยที่โคราชจะมี ๑๒ จุด ที่รถไฟออกจากแนวเส้นทางเดิม ดังนั้น จึงต้องมีการออกกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา ๓๗ และมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนฯ พ.ศ.๒๕๖๒ ในมาตรา ๗ กำหนดไว้ว่า เมื่อรัฐจำเป็นได้มาซึ่งที่ดิน จำเป็นต้องมีการเวนคืน ในมาตรา ๘ เมื่อเวนคืน จะบอกว่ารัฐต้องทำอะไรบ้าง โดยต้องมีการตรา พ.ร.ฎ. ออกมา โดยจะต้องมี ๑.วัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน ๒.ระยะเวลาบังคับชัดเจน ๓.แนวเขตเวนคืนที่จำเป็น ๔.ระยะเวลาเริ่มต้นเข้าสำรวจ ๕.เจ้าหน้าที่ที่จะเวนคืน และ ๖.แผนที่หรือแผนผังที่จะเวนคืน โดยฉบับนี้ถูกตราออกมาเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๕ มีกำหนดใช้ ๔ ปี และให้เข้าสำรวจภายใน ๖๐ วัน”
“สำหรับแผนที่ท้าย พ.ร.ฎ.ที่ออกมา ทำให้ประชาชนตกใจนั้น ในท้าย พ.ร.ฎ.มีเหตุผลบอกไว้อยู่ว่า รัฐประกาศเพื่ออะไร คือ เนื่องจากมีความจำเป็นเพื่อสร้างทางรถไฟเพื่อประกอบการรถไฟ ทาง และสิ่งจำเป็นอื่นๆ ของโครงการรถไฟไทย-จีน และประโยคสุดท้ายบอกว่า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การจราจรและการขนส่ง อันเป็นกิจการสาธารณูปโภค สมควรกำหนดเขตที่ดินเวนคืนในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ มีสิทธิเข้าไปสำรวจ เน้นว่า มีสิทธิเข้าไปสำรวจเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ ที่จำเป็นได้มา จึงต้องตรา พ.ร.ฎ.นี้ ดังนั้น การกำหนดขอบเขตจึงกำหนดกว้างไว้ก่อน เมื่อจะเวนคืนจริงๆ ต้องสำรวจให้แน่ชัดว่า เวนคืนเท่าไหร่และจุดใด โดยการรถไฟฯ จะไปปักหลักเขตทางขาวแดงที่ต้องการเวนคืน ซึ่งการเวนคืนนั้น การรถไฟฯ จะเวนคืนไม่มาก ไม่ได้เวนคืนทั้งหมดตามแนวเขตที่ออกใน พ.ร.ฎ.”
“สาเหตุที่กันแนวเขตไว้มาก เพราะการตรา พ.ร.ฎ.จะต้องใช้เวลานาน ผ่านหลายหน่วยงาน เพื่อตรวจสอบให้ถูกต้องก่อนจะประกาศออกมา และการกันเขตตาม พ.ร.ฎ.ก็กันเผื่อไว้ เพราะเดิมทีจุดบริเวณสะพานสีมาธานี จะมีการเวนคืนที่ดินของกรมทางหลวงด้วย การรถไฟฯ จึงต้องกันไว้กว้างๆ เพื่อสำรวจว่า จะต้องเวนคืนจริงๆ เท่าไหร่ นี่ก็เป็นหนึ่งสาเหตุที่กันไว้ ๘๐๐ เมตร ส่วนบริเวณสถานีนครราชสีมา จะมีการเวนคืนเพียงด้านหน้าทางเข้าสถานี ตามรูปแบบที่มีการออกแบบไว้ ประมาณ ๖ แปลง ส่วนบริเวณเลยจากห้าแยกหัวรถไฟไปถึงจวนผู้ว่าฯ บริเวณนั้นเขตทางรถไฟเป็นทางแคบมาก ซึ่งรถไฟทางคู่จะใช้โครงสร้างร่วมกับรถไฟความเร็วสูงด้วย แต่หลังออกจากสถานีนครราชสีมาไปยังชุมทางถนนจิระ ทั้ง ๒ โครงการจะแยกออกจากกัน แต่ยังโค้งตามกัน ดังนั้น บริเวณโค้งก่อนถึงจวนผู้ว่าฯ จึงจำเป็นต้องมีการเวนคืน เพราะเดิมทีเขตทางแคบมาก โดยหลังจากนี้ก็จะมีการออกหนังสือแจ้งไปยังเจ้าของพื้นที่ที่จะถูกเวนคืนด้วย” นายเจษฎา กล่าว
ประชาชนเข้าใจ
นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า “คาดว่าประชาชนส่วนใหญ่เข้าใจและลดความวิตกกังวลได้พอสมควร เนื่องจากไม่ได้เวนคืนที่ดินทั้งหมดตามที่เข้าใจ ขอบเขต พ.ร.ฎ.กำหนด ๒ เส้น คือ แนวสีน้ำเงินเป็นพื้นที่ต้องเข้าสำรวจ ส่วนสีเขียวถูกเวนคืน โดยภายใน ๖๐ วัน จะมีเจ้าหน้าที่มาสำรวจพร้อมปักหลักขาวแดง ต่อไปเป็นขั้นตอนการประเมินสภาพตามความเป็นจริง เพื่อจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม รฟท.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรหาแนวทางทำความเข้าใจประชาชน โดยเฉพาะนักธุรกิจ นักลงทุนเพื่อมิให้เกิดความเข้าใจผิดและสามารถลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ”
รอรับการติดต่อจาก จนท.
นายกำพล บุญชม กล่าวว่า “แนวเขตเดิมที่แนบท้าย พ.ร.ฎ.เวนคืน เป็นเพียงแค่แนวสำรวจ สำหรับแนวเขตที่ต้องเวนคืนที่ดินจริงต้องคำนึงถึงแบบการก่อสร้าง ประชาชนที่ถูกเวนคืนให้รอรับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ เพื่อนัดหมายในการลงพื้นที่สำรวจ ขอให้ประชาชนให้ความร่วมมือและให้ข้อมูลที่แท้จริงครบถ้วนกับเจ้าหน้าที่ อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพที่แอบอ้างเรียกรับเงิน หลอกลวงจะสามารถเพิ่มราคาประเมินได้ ซึ่งไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด”
ภายหลังการชี้แจง มีประชาชนสอบถามว่า “ให้ระบุอย่างชัดเจนว่า บริเวณหน้าสถานีนครราชสีมา จะเวนคืนจุดใดบ้าง” ซึ่งนายเจษฎา นาวาสิทธิ์ ตอบว่า “ก่อนถึงร้านวีทีแหนมเนือง(ถ.มุขมนตรี) จะมีพื้นที่ว่าง ๑ แปลง และหลังร้านจะมีบ้าน ๔ หลังติดกับทางรถไฟ ทั้งหมดนี้จะถูกเวนคืน แต่ทั้งนี้ถ้ามีการสำรวจและพิจารณาแล้วอาจจะไม่ถูกเวนคืนก็ได้”
นางสาวกาญจนา กาญจนวัฒนา กำนันตำบลโคกกรวด สอบถามว่า “เมื่อรถไฟความเร็วสูงปักหลักว่าจะเวนคืนจุดใดแล้ว เมื่อรถไฟทางคู่มาจะมีการปักหลักอีกหรือไม่” เจ้าหน้าที่ด้านงานออกแบบฯ รฟท. ชี้แจงว่า ทั้ง ๒ โครงการน่าจะมีการก่อสร้างแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๖๑ เคยมี พ.ร.ฎ.เวนคืนทางข้าม ประมาณ ๗ จุด ตั้งแต่คลองไผ่มาถึงกุดจิก แต่ปัจจุบันโครงการรถไฟทางคู่ยังไม่มีการเสนอขอออก พ.ร.ฎ.เวนคืนตามแนวเส้นทาง จึงยังไม่มีข้อมูลที่จะชี้แจง”
โดยก่อนจบการประชุมชี้แจงนี้ นายวิเชียร จันทรโณทัย กล่าวเพิ่มเติมว่า “หมายความว่า อาจจะมี แต่จะมีเฉพาะจุดที่มีทางข้ามทางรถไฟ จากบริเวณคลองไผ่มาถึงกุดจิก”
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๔๔ วันพุธที่ ๑๔ - วันอังคารที่ ๒๗ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
137 2,201