7thDecember

7thDecember

7thDecember

 

September 17,2022

คนรุ่นใหม่...รักษ์ศิลปวัฒนธรรม “เบญญา พลานิวัติ” นักศึกษาสาขาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา

 

“เวลาไม่เคยหยุดนิ่งฉันใด สรรพสิ่งก็ไม่เคยหยุดนิ่งฉันนั้น” โลกใบนี้มีการเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อส่วนบุคคล ศาสนา ปรัชญา ฟิสิกส์ การดำเนินชีวิต ทุกๆ อย่างล้วนมีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะวัฒนธรรมในสังคมต่างๆ

“วัฒนธรรม” วิถีชีวิตของสิ่งมีชีวิตที่แสดงออกทางพฤติกรรม ภาษา ความรู้สึก และกิจกรรม เป็นสิ่งบ่งบอกถึงความเป็นตัวตนของสังคมนั้นๆ ซึ่งมักจะเปลี่ยนไปตามยุคสมัย “หลายอย่างหายไป สิ่งใหม่ก็มาทดแทน” เช่น “เพลงโคราช” ศิลปะร้องรำทำเพลง เอกลักษณ์ของคนโคราช ที่ไม่มีใครเหมือนและไม่เหมือนใคร เพราะมีการร้องรำโดยใช้ภาษาถิ่น เป็นกิจกรรมที่เคยมีความนิยมมากในอดีต และเริ่มเลือนหายไปในปัจจุบัน มีการสืบทอดกันมาเป็นเวลายาวนาน

ปัจจุบันค่านิยมของผู้ฟังเพลงโคราชเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งด้านเนื้อหา รูปแบบการแสดง และความนิยมของคนโคราชเอง ด้วยเหตุนี้เพลงโคราช จึงได้รับความนิยมลดลง แต่ยังมีการแสดง และการประกวดขึ้นในทุกปี เพื่อรักษาและอนุรักษ์เพลงโคราช ไม่ให้เลือนหายไปตามกาลเวลา

น่าแปลกใจ ที่สาวน้อยคนหนึ่งชื่อ “เบญญา พลานิวัติ” หรือ “น้องครีม” นักศึกษาชั้นปีที่ ๓ สาขาวิชาภาษาไทย คณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มีความสนใจและต้องการรักษาเพลงโคราชไว้ ฝึกซ้อมกระทั่งได้รางวัลชนะเลิศ จากโครงการประกวดเพลงโคราช ครั้งที่ ๘ ประเภทอนุรักษ์ รุ่นอายุไม่เกิน ๒๕ ปี ประเภทหญิง ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี”

“น้องครีม” เป็นคนอำเภอพิมาย ได้ฟังได้ยินภาษาโคราชมาตั้งแต่เด็ก โดยพ่อ-แม่ เป็นเกษตรกรแต่ชอบร้องและฟังเพลงโคราชเป็นประจำ “น้องครีม” จึงได้ยินและซึมซับมาโดยตลอด ด้วยความที่คุณแม่ไม่ได้เรียนสูงนัก จึงฝากความหวังและตั้งใจ “อยากให้ลูกสาวเป็นครู”

“น้องครีม” เล่าว่า คุณแม่มีความฝันว่าอยากให้ลูกสาวโตมาเป็นครู จะได้ไม่ลำบากแบบที่บ้าน จากความฝันของแม่จึงกลายมาเป็นความฝันของครีม คือ อยากจะเป็นครูภาษาไทย เพราะชอบภาษาไทย ชอบฟังเพลงโคราช ประกอบกับมีพื้นฐานภาษาโคราชเป็นทุนเดิม กระทั่งได้เข้าศึกษาสาขาวิชาภาษาไทย และด้วยความชอบเพลงโคราช จากความชอบจึงกลายเป็นความสามารถ พยายามเข้าประกวดร้องเพลงโคราชหลายเวที มีสมหวังมีผิดหวังบ้าง

ด้วยความสามารถในด้านการขับร้องและการใช้ภาษา ขณะเรียนอยู่ปี ๑ “ครีม” จึงได้รับโอกาส ร่วมประกวดโครงการประกวดการอ่านทำนองเสนาะกรรณประชันวรรณวัจน์ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี ครั้งที่ ๓๒ เป็นการประกวดครั้งแรกในระดับมหาวิทยาลัย และได้รับรางวัลชมเชย แต่ด้วยความสามารถที่มี อาจารย์ในสาขาจึงเห็นแววเด่น เริ่มส่งประกวดขับเสภาจากเวทีเล็กๆ ในสาขา รู้ตัวอีกทีก็ไปประกวดเวทีระดับประเทศซะแล้ว และล่าสุดได้รับรางวัลชมเชยระดับประเทศ จากกระทรวงวัฒนธรรม

ย้อนกลับมาที่เพลงโคราช เป็นอีกหนึ่งความสามารถที่ “น้องครีม” ทำได้ แม้พ่อหรือแม่จะไม่ได้เป็นหมอเพลงโคราชเลยก็ตาม แต่เน้นการฟังและการฝึกเป็นหลัก ซึ่งช่วงแรกร้องได้เพียงทำนองพื้นฐานที่เรียนมาในระดับมัธยม แต่เมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย โดยเฉพาะสาขาภาษาไทย ที่มีวิชาการออกเสียง การอ่านทำนองเสนาะ และขับเสภา จึงได้เรียนรู้การออกเสียงมากขึ้น รวมถึงการสัมผัสคำและฉันทลักษณ์

“น้องครีม” ให้กำลังใจตัวเองสมอว่า “ในการประกวดในแต่ละครั้ง คนเรามีแพ้มีชนะ ความสามารถเราไม่เท่ากัน เราสามารถนำข้อผิดพลาดตรงนี้ไปแก้ไข พัฒนาตนเองให้ดีขึ้นได้ เราไปแข่งขัน   ไม่ได้แข่งกับใครเลย แข่งกับตัวเองเท่านั้น และ ถ้าเราไม่คาดหวังก็จะไม่ผิดหวัง ถ้าผิดหวังหรือไม่ชนะ ก็จะไม่เสียใจ ดีใจซะอีกที่ได้รู้ข้อผิดพลาดของตัวเอง นำข้อผิดพลาดตรงนี้ไปพัฒนาต่อให้ดียิ่งขึ้น”

“น้องครีม” เล่าว่า ความสามารถที่ได้รับการขัดเกลากว่าจะเป็นอย่างทุกวันนี้ มีทั้งพ่อ แม่ และอาจารย์ แต่คนที่ขาดไม่ได้ คือ “คุณครูสุรัชนี สัมมารุ่งโรจน์” ผู้สอนภาษาไทยตั้งแต่ประถมกระทั่งเรียนจบระดับมัธยม นับเป็นบุคคลที่ดึงศักยภาพของน้องครีมออกมา นับเป็นบุคคลที่น่ายกย่อง เคารพ และยังเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้น้องครีมต้องการเป็นครูภาษาไทยด้วย

การเรียนในระดับมหาวิทยาลัย การจัดสรรเวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญ นอกจากจะต้องวุ่นกับเรื่องที่เรียนแล้ว ยังต้องฝึกร้องเพลงตลอด อาจจะพักผ่อนน้อยไปบ้าง ซึ่งมีผลกระทบแน่ๆ “แต่ครีมก็ไม่ยอมแพ้ จะพยายามต่อไป” นอกจากการพักผ่อนแล้ว การเลือกรับประทานอาหารก็สำคัญ เช่น ของมันของทอดก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ครีมรู้สึกเหนื่อย ออกเสียงไม่เต็มที่ เป็นผลอย่างมากในการแข่งขัน จึงต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ

แม้ว่า “ครีม” จะมีความสามารถมากมาย และชอบการประกวด แต่กิจกรรมอย่างอื่นก็ไม่ทิ้ง เช่น การออกค่ายช่วยงานของมหาวิทยาลัยหรือจังหวัด และครีมตั้งใจว่าจะไม่เดินสายประกวดทั้งหมด เพราะความฝันที่แท้จริงไม่ใช่การชนะเลิศบนเวที แต่คือการเป็น “ครูภาษาไทย” ตามความฝันของตัวเองและแม่ โดยนำความสามารถ ประสบการณ์ของตนเองไปเผยแพร่ ให้กับลูกศิษย์ในอนาคตต่อไป

“เพลงโคราช” เป็นศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมที่มีเสน่ห์อยู่ในตัว “ครีม” ก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไป ฟังเพลงทุกแนว สากล สตริง สมัยใหม่อื่นๆ แต่ว่าเยาวชนรุ่นหลังควรที่จะอนุรักษ์ สืบสาน สิ่งเหล่านี้ไว้ เพื่อที่จะให้อยู่คู่บ้านคู่เมืองต่อไป ปัจจุบันศิลปวัฒนธรรมมีความผสมผสานมากขึ้น ถือเป็นสิ่งที่แปลกใหม่มีความน่าสนใจเหมือนกัน

 

วีรภัทร์ จูฑะพงษ์ : เรียบเรียง / อัจฉรา ปุยะติ : สัมภาษณ์

 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๔๔ วันพุธที่ ๑๔ - วันอังคารที่ ๒๗ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕


67 2,097