September 30,2022
“บ้านแห่งไหม” พื้นที่แห่งการถักทอชีวิต
ในอดีต...ชาวบ้านเมื่อว่างจากการทำไร่ทำนา ก็จะหันมาเลี้ยงไหมและทอผ้า เป็นภูมิปัญญาที่สืบสานต่อกันมาถึงปัจจุบัน แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนอะไรก็เปลี่ยน การทอผ้าเช่นกัน ที่เริ่มเลือนหาย...ตายไปตามบรรพบุรุษ แต่ไม่ใช่กับ “บ้านแห่งไหม” บ้านที่ยังคงรักษา ต่อยอด และถ่ายทอดเรื่องราวการทอผ้าให้กับคนทุกเพศทุกวัย
“ปวีณกันต์ กวีกิจรัตนากร” หรือ “ครูไหม” ทายาทรุ่นที่ ๓ ของโรงทอผ้าไหมชื่อดังเมืองโคราชอย่าง “สุมนไหมไทย” ผู้จบการศึกษาด้านแฟชั่นดีไซน์ แต่เมื่อเรียนจบเธอยังต้องค้นหาตัวเองว่า แท้จริงแล้วชอบอะไร กระทั่งรู้ว่า ตัวเองเหมาะกับการเป็นครู
“ชอบและสนุกกับการได้อยู่กับเด็กๆ เสมือนได้ดึงความเป็นเด็กออกมาอีกครั้ง”
ปวีณกันต์ กวีกิจรัตนากร หรือ ครูไหม
“ครูไหม” ทำหน้าที่ แม่พิมพ์ในโรงเรียนเอกชน นานถึง ๗ ปี แต่ด้วยการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ซบเซาลงเรื่อยๆ คุณพ่อได้ยกโรงทอผ้ามาเก็บไว้ จึงรู้สึกเสียดายว่า
“เฮ้ย...เรามีสิ่งเหล่านี้อยู่ แล้วจะทิ้งไปหรือ?”
“ครูไหม” จึงต้องการจะชุบชีวิตโรงทอผ้าอีกครั้ง แต่ด้วยความเป็นคนรุ่นใหม่ที่ทอผ้าไม่เก่งเท่าช่างทอ จึงนำความเป็นครูมาผนวกเข้ากับสิ่งที่มีอยู่ สร้างเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากขึ้น และที่สำคัญต้องเผื่อแผ่ให้กับคนอื่นๆ ด้วย จึงกลายมาเป็น “บ้านแห่งไหม” บ้านที่เต็มไปด้วยความอบอุ่นและอบอวลไปด้วยบรรยากาศของวันวาน
“ตอนเด็กเคยวิ่งเข้าออกโรงทอผ้าเป็นประจำ มีโอกาสเรียนรู้การทอผ้าไหม การกวักไหม และกินดักแด้อย่างสนุกสนาน วันหนึ่งโตมาก็รู้สึกเสียดาย เพราะสิ่งเหล่านี้ คือ รากเหง้า เป็นสิ่งที่พิเศษมาก แต่ไม่สามารถทำต่อได้ จากการสอบถามป้าๆ ช่างทอว่า ทำไมลูกหลานไม่ทำต่อ เพราะว่า ลูกหลานมองหางานที่มีรายได้มั่นคง ดังนั้น ไหมจึงบอกตัวเองว่า จะเป็นอีกแรงเล็กๆ ที่จะสานต่อสิ่งเหล่านี้เอง” เจ้าบ้านเล่าด้วยความภาคภูมิใจ
“บ้านแห่งไหม” ไม่ใช่โรงทอผ้าทั่วไป แต่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ถ่ายทอดวิชาชีวิตให้กับเยาวชน ที่โรงเรียนไม่มีสอน คนที่มาอยู่ใต้ชายคาของบ้านหลังนี้ จะเต็มอิ่มไปด้วยความสุขผ่านการทอผ้า ซึ่ง “ครูไหม” เล่าว่า ช่วงแรกที่เริ่มทำ คิดว่าใครจะมาสนใจ เพราะการทอผ้า คือ เรื่องใกล้ตัวสำหรับคนโคราช และเป็นเรื่องใหม่สำหรับเยาวชน แต่ก็คิดว่าคงไม่เป็นอะไร จึงลองท้าทายตัวเองดู และเมื่อมีโอกาสออกงานบ่อยๆ ก็เริ่มมีคนสนใจ เด็กๆ มองว่า การทอผ้าก็เหมือนของเล่นชิ้นหนึ่ง ที่มีกลไกผลิตผ้าไหมตามลวดลายที่ตัวเองต้องการ จากนั้นจึงมีเด็กๆ มาเรียนรู้มากขึ้น
การทอผ้าจะช่วยฝึกฝนสมาธิและสติให้กับผู้เรียน เพราะมือ สายตา และเท้า จะต้องจดจ่ออยู่กับสิ่งตรงหน้า ถ้าไม่มีสติกับสมาธิในการทอผ้า จะทำให้ทอไม่ราบรื่น ช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ การออกแบบ และช่วยให้คลายเครียด นอกจากนี้การทอผ้าเป็นเหมือนการบำบัด ช่วยให้ผู้ทอมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ได้พักผ่อน พักจิต และสมอง ช่วยให้ร่างกาย สติ และสมาธิ มีการฟื้นฟู
นอกจากการทอผ้าแล้ว “ครูไหม” ยังสอนศิลปะด้วย เพราะ “การทอผ้า คือ ศิลปะอย่างหนึ่ง” ในการเลือกใช้สีผ้าจึงต้องมีความหมาย เช่น การเลือกสีเขียวให้ความรู้สึกอย่างไร การทอผ้ากับศิลปะจึงอยู่คู่กัน เด็กบางคนที่เรียนที่นี่ แทนที่จะวาดรูปลงกระดาษแล้วนำไปติดผนังบ้าน ครูไหมก็มอบโจทย์ให้เป็นการทำภาพลงผ้า ทอออกมาแล้วนำไปเป็นของตกแต่งบ้าน ทำให้เด็กได้เรียนรู้ทั้งศิลปะและการทอผ้าไปพร้อมกัน
“ครูไหม” เล่าถึงเด็กที่มาเรียนว่า ส่วนใหญ่ผู้ปกครองที่ส่งลูกมาเรียน มักสนใจการศึกษาแบบใหม่ในยุคศตวรรษที่ ๒๑ การเรียนรู้ด้านวิชาการสามารถเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีได้ทุกที่ แต่การหาประสบการณ์ชีวิตให้กับเด็กๆ ในสมัยนี้ เป็นสิ่งที่หาได้ยาก ประกอบกับเด็กที่ใช้งานสื่อมัลติมีเดียมาก ก็อาจจะทำให้มีสมาธิลดลง ผู้ปกครองจึงต้องการให้ลูกหลานมาฝึกสมาธิ ฝึกประสบการณ์ ที่บ้านแห่งนี้
สำหรับการต่อยอดด้านการทอผ้านั้น “บ้านแห่งไหม” เปิดให้เด็กๆ ได้สร้างรายได้จากผลงานของตัวเอง โดยเริ่มตั้งแต่การเลือกแบบ การหาแฟชั่นเทรนด์ในช่วงนั้นๆ
“ทุกคนต้องรู้ก่อนว่าจะทำอะไร”
จากนั้นก็ดีไซน์ออกมาและทอผ้าด้วยตนเองเมื่อเสร็จแล้วก็ถึงขั้นตอนการขาย มีการสอนให้เป็นผู้ดูแลเพจ เพื่อคุยกับลูกค้าต่างประเทศด้วยตนเองเรียกได้ว่า เป็นสถานที่ถักทอการใช้ชีวิตอย่างแท้จริง
ด้วยการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็ว ทำให้การทอผ้าเริ่มเลือนหายไปเรื่อยๆ แต่ “ครูไหม” กลับคิดว่าผ้าไหมเป็นสิ่งที่สามารถสวมใส่ในชีวิตประจำวันไม่จำเป็นต้องซื้อมาเพื่อใส่ออกงานสำคัญหรือไปงานราตรีเพียงอย่างเดียว ในอนาคตความเป็นผ้าไหมยังสามารถกลายเป็นกระแสนิยมได้ หากชาวบ้าน หรือหน่วยงานต่างๆ ช่วยกันสร้างเป็นแฟชั่นเทรนด์ในสังคม และผ้าไหมก็จะเกิดการสืบสาน ต่อยอด และยังคงอยู่ต่อไปได้
การเรียนรู้ที่ “บ้านแห่งไหม” จะสอนเป็นหลักสูตร (คอร์ส) โดยแบ่งเป็นคอร์สละ ๕ ครั้งๆ ละ ๑ ชั่วโมง ๓๐ นาที โดยเริ่มแรกจะให้ผู้เรียนเรียนรู้พื้นฐาน เช่น การทอผ้าเป็นอย่างไร แต่จริงๆ เพียง ๕-๑๐ นาที ผู้เรียนก็สามารถเรียนรู้และฝึกฝนเองได้ จากนั้นจะสอนเรื่องการออกแบบ การเลือกสี การใช้งานและเรื่องอื่นๆ โดยสามารถมาเรียนได้ทุกเพศทุกวัย ไม่จำกัดอายุ เพราะ...
“บ้านแห่งไหม” เปรียบเสมือนบ้านที่ทุกคนสามารถมานั่งพัก มาพูดคุยกัน
“บ้านแห่งไหม” ตั้งอยู่เลขที่ ๔๒๙ หมู่ที่ ๕ ซอยพบสุข ๔ ถนนราชสีมา-ปักธงชัย ตำบลปรุใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา หากอยากเรียนรู้เรื่องทอผ้าและงานศิลปะ ติดต่อได้ที่แฟนเพจ “บ้านแห่งไหม Bann Hang Mai” หรือโทร. ๐๘๕ ๑๙๙ ๕๖๔๗
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๔๕ วันพุธที่ ๒๘ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๕
732 1,528