28thMarch

28thMarch

28thMarch

 

October 20,2022

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ ทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติมูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลฯ ทัศนศึกษา ณ สถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน จ.นครราชสีมา

วันพุธที่ 19 ตุลาคม พ.ศ.2565 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินโดยรถบัสพระที่นั่งจากโรงแรมแคนทารี โคราช จ.นครราชสีมา ทรงนำคณะกรรมการรางวัลนานาชาติมูลนิธิสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปยังสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) โดยมี นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรรณ ประธานกรรมการสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน รศ.ดร.พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม รศ.ดร.อนันต์ ทองระอา อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และผู้บริหารสถาบันฯ พร้อมเจ้าหน้าที่ เฝ้าฯ รับเสด็

จากนั้นเสด็จพระราชดำเนินเข้าภายในอาคารสิรินธรวิชโชทัย ชั้น 1 แล้วทรงฟังการบรรยายสรุปเกี่ยวกับกิจการของสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน ที่อยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ที่เป็นศูนย์กลางด้านแสงซินโครตรอนในอาเซียนมากว่า 20 ปี โดยแสงซินโครตรอนเกิดจากการเร่งอนุภาคมีประจุให้มีความเร็วเข้าใกล้ความเร็วแสง แล้วบังคับเลี้ยวในสนามแม่เหล็ก ทำให้เกิดการสูญเสียพลังงานและถูกปลดปล่อยออกมาเรียกว่า “แสงซินโครตรอน” ซึ่งสถาบันฯ มีพันธกิจสำคัญในการวิจัยและพัฒนาเพื่อการใช้ประโยชน์จากแสงซินโครตรอนในด้านต่างๆ ให้บริการแสงซินโครตรอนและเทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอน แก่ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา และส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาบุคลากรให้มีความชำนาญในเทคโนโลยีด้านแสงซินโครตรอน

จากนั้นเสด็จทอดพระเนตรนิทรรศการประจำจุดต่างๆ ภายในห้องปฏิบัติการแสงสยาม ซึ่งแบ่งเป็น 4 จุด คือ

• นิทรรศการจุดที่ 1 เรื่องการประยุกต์ใช้เทคนิคแสงซินโครตรอนเพื่อการแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ได้แก่ การจัดแสดงหน้ากากผ้าไหมจาก อ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา ที่ใช้รังสีเอกซ์จากแสงซินโครตรอนวิเคราะห์และออกแบบโครงสร้างสามมิติเพื่อป้องกันโควิด-19 และใช้ทดแทนหน้ากากอนามัยทางการแพทย์, งานวิจัยเรื่องกระดูกพรุนที่เป็นผลจากการรับประทานอาหารที่มีรสเค็ม, งานวิจัยเรื่องการวิเคราะห์โครงสร้างและทดสอบคุณภาพในการปกป้องผิวของโลชั่นมามาคาระสำหรับผิวเด็ก, การพัฒนาอนุภาคนาโนไขมันเพื่อห่อหุ้ม RNA สำหรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยนักวิจัยไทยเพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ, การพัฒนาสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพเพื่อต้านวัณโรคด้วยเทคนิคการเลี้ยวเบนรังสีเอกซ์

 

• นิทรรศการจุดที่ 2 เรื่องการประยุกต์ใช้เทคนิคแสงซินโครตรอนด้านอาหาร ยาและการเกษตร ได้แก่ การศึกษา “ต้นแจงสุรนารี” ต้นแจงสายพันธุ์ใหม่ที่พบได้เฉพาะใน อ.คลองไผ่ จ.นครราชสีมา โดยใช้เทคนิคซินโครตรอนอินฟราเรดวิเคราะห์ความแตกต่างทางชีวเคมีในเม็ดพันธุ์ต้นแจง พบว่าเม็ดแจงสุรนารีมีไขมัน โปรตีน และคาร์โบไฮเดรตสูงกว่าต้นแจงที่พบได้ในพื้นที่อื่นๆ ของไทย, การวิเคราะห์โครงสร้างของโปรตีนในเนื้อสัตว์เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงการเลี้ยงสัตว์เพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพและตรงตามความต้องการของผู้บริโภค, การใช้เทคนิคซินโครตรอนอินฟราเรดในการศึกษาบทบาทของไคโตโอลิโกแซคคาไรด์บริสุทธิ์ที่ได้จากเปลือกกุ้งเปลือกปูในการยับยั้งการเกิดโรคขอบใบแห้งในข้าว และการค้นพบยาต้านเชื้อมาลาเรียชนิดใหม่ ด้วยเทคนิคการคัดสรรสารยับยั้งเสมือนจริง และอินฟราเรดซินโครตรอน

• นิทรรศการจุดที่ 3 เรื่องการประยุกต์ใช้เทคนิคแสงซินโครตรอนด้านวัสดุศาสตร์ อุตสาหกรรม การผลิตชิ้นส่วนสามมิติระดับไมโครเมตร และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ได้แก่ การพัฒนาแก้วชนิดใหม่สำหรับการผลิตแบตเตอรีชนิดของแข็ง ซึ่งทำให้แบตเตอรีมีประสิทธิภาพ การใช้งานที่ยาวนานและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น, การใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์ธาตุโลหะที่เจืออยู่ในพลอยเพื่อศึกษาสาเหตุการเปลี่ยนสีในพลอยที่ผ่านการปรับปรุงคุณภาพด้วยความร้อนหรือที่ผ่านการฉายรังสี และการใช้แสงซินโครตรอนเปลี่ยนสีไข่มุกน้ำจืดให้เป็นสีทองและสร้างลวดลายสีทองบนไข่มุก, การวิจัยและพัฒนาฟิล์มคาร์บอนเสมือนเพชรสำหรับอุตสาหกรรมด้านบรรจุภัณฑ์อาหารและอุตสาหกรรมปิโตรเลียม เพื่อช่วยยืดอายุของผลิตภัณฑ์และลดต้นทุนกระบวนการผลิต และการใช้แสงซินโครตรอนพัฒนาแก๊สเซนเซอร์เพื่อวัดความสุกของผลไม้ และติดตามอาการของผู้ป่วยเบาหวานจากลมหายใจ

• นิทรรศการจุดที่ 4 เรื่องการประยุกต์ใช้เทคนิคแสงซินโครตรอนด้านโบราณคดี ได้แก่ การพัฒนาระบบสุญญากาศเพื่อเก็บรักษาตัวอย่างฟอสซิลโดยให้อยู่ในสภาวะออกซิเจนและความชื้นต่ำ, การใช้แสงซินโครตรอนวิเคราะห์ตะกอนดินจากเขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร ด้วยเทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและมานุษยวิทยาในช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมา, การไขความลับของทองคำโบราณและดินแดนสุวรรณภูมิโดยใช้เทคนิคแสงซินโครตรอนศึกษาตัวอย่างทองคำโบราณที่ค้นพบในแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว จ.ชุมพร แหล่งเรือโบราณคลองกล้วยนอกและแหล่งโบราณคดีภูเขาทอง จ.ระนอง แหล่งโบราณคดีคลองท่อม จ.กระบี่ และ อ.เขม่าจี สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และการศึกษาแผ่นทองคำโบราณจากปราสาทหินพิมาย และปราสาทหินพนมวัน จ.นครราชสีมา และปราสาทหินพนมรุ้ง จ.บุรีรัมย์ โดยใช้เทคนิคการเรืองรังสีเอกซ์เพื่อวิเคราะห์ความบริสุทธิ์ของทองคำโบราณจากแหล่งต่างๆ

โอกาสนี้ทรงฉายพระฉายาลักษณ์ร่วมกับคณะกรรมการรางวัลนานาชาติฯ จากนั้นประทับรถบัสพระที่นั่งเสด็จฯ ออกจากสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอนไปยังอุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อ.พิมาย จ.นครราชสีมา

 


960 1586