20thApril

20thApril

20thApril

 

October 31,2022

“มารุต ชุ่มขุนทด” CEO ‘Class cafée’ ธุรกิจกาแฟที่เติบโตพร้อมเมืองโคราช


 

“มารุต ชุ่มขุนทด” หรือ “กอล์ฟ” คนโคราชคงคุ้นหน้าคุ้นตาในฐานะนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจกาแฟ ภายใต้แบรนด์ “Class Café” และมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ที่มักจะออกมาทำงานเพื่อสังคมและส่งเสียงดังถึงปัญหาของเมืองอยู่เสมอ แต่ก็มีน้อยคนนักที่จะรู้จักเขาจริงๆ วันนี้ “โคราชคนอีสาน” จึงจะพาไปรู้จักให้มากขึ้นในอีกหลายแง่มุม

 

“กอล์ฟ” เป็นคนโคราช จบชั้นประถมศึกษาจากโรงเรียนมารีย์วิทยา และระดับมัธยมจบจากโรงเรียนราชสีมาวิทยาลัย จากนั้นไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC)
 

เมื่อจบการศึกษา กอล์ฟ” ได้เข้าทำงานครั้งแรกที่บริษัท อินเทอร์เน็ตประเทศไทย จำกัด (มหาชน) หรือ INET ทำงานหลากหลายเพื่อประเทศ โดยเฉพาะการวางต้นแบบธุรกิจ e-Commerce ในยุคแรก จากนั้นก็เริ่มมีความสนใจโลกอินเทอร์เน็ต เนื่องจากมีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งช่วงนั้นได้พูดคุยและรู้จักกับบริษัทด้านเทคโนโลยีจำนวนมาก 

 

ในยุคนั้นอินเทอร์เน็ตกำลังถูกพัฒนาจากคอมพิวเตอร์ไปสู่โทรศัพท์มือถือ เขาจึงหลงใหลที่จะศึกษาว่า Mobile Internet คืออะไร และเริ่มคุยกับพี่ๆ ที่ NOKIA พบว่า โลกของการสื่อสารกำลังเดินหน้าไปในทิศทางใด จากนั้นก็หันมาทำบริษัทสตาร์ตอัพด้วยตนเอง ซึ่งผลงานที่ทำ คือ Mobile live และระบบแจ้งเตือน Email ของค่าย DTAC เมื่อทำเรื่อยๆ ก็เริ่มมีความเชี่ยวชาญ และคิดว่า จะทำด้านนี้ไปจนสุดทาง

 

เมื่อทำให้โทรศัพท์มือถือสามารถดาวน์โหลด Email ได้แล้ว ก็ลองทำให้ดาวน์โหลดเพลงได้ด้วย และนำเรื่องนี้ไปคุยกับ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด ทำให้ได้เข้าไปเป็นผู้บริหารของแกรมมี่ในเวลานั้น ด้วยอายุเพียง ๒๔ ปี ต่อมาก็เริ่มทำเรื่องดาวน์โหลดเพลงผ่านหมายเลขโทรศัพท์ เนื่องจากแผ่นซีดีเพลงเริ่มขายไม่ได้ ผลงานนี้จึงทำให้สถานะทางการเงินแกรมมี่ดีขึ้น และอุตสาหกรรมเพลงก็เปลี่ยนไป 

 

เมื่อประสบความสำเร็จที่แกรมมี่แล้ว กอล์ฟก็โหยหาเทคโนโลยีมากขึ้น อยากจะเก่งขึ้นกว่าเดิม ซึ่งบริษัท Hutchison จากต่างประเทศ ก็เห็นแววและไว้วางใจ ให้เข้าไปเป็นผู้บริหาร นั่งตำแหน่งผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ โดยมีหน้าที่หลักคือ การเปิดให้บริการมือถือ hutch เมื่อได้ทำงานที่บริษัทใหญ่ๆ ก็รู้จักเทคโนโลยีมากมาย ได้พูดคุยกับกลุ่มบริษัท hutch ในหลายๆ ประเทศ ทำให้เติบโตขึ้นและมีความคิดกว้างขึ้น กระทั่งค้นพบว่า “โลกกว้างๆ ยังมีอะไรให้ค้นหาอีกมากมาย”

นายมารุต ชุ่มขุนทด CEO Class Café

 


จุดเริ่มต้นของ “คลาส”

เวลาผ่านไป ๖ เดือน เขาประสบความสำเร็จในการเปิดให้บริการมือถือ hutch และขณะนั้นเองก็มีความรู้มากขึ้น “เริ่มคิดว่าตัวเองมีวิชาที่แกร่งกล้า” จึงคิดตั้งบริษัทเองอีกครั้ง และครั้งนี้ คือ จุดเริ่มต้นของ “คลาส” ในปี ๒๕๖๐ โดยช่วงแรกยังเป็นบริษัทที่ทำหลายเรื่อง เช่น โรงเรียนกวดวิชา และน้ำดื่ม มีอุปสรรคเข้ามามากมาย เพราะต้องใช้เงินตัวเองในการบริหารมีทั้งดีและไม่ดี หากช่วงไหนไม่ดี เขาก็จะกลับไปรับงานบริษัทต่างๆ เพื่อหาเงินมาลงทุนเพิ่ม 
เมื่อเวลาผ่านไป เขานำคลาสกลับมาที่โคราช ช่วงแรกยังเป็นโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษ แต่ธุรกิจโรงเรียนกวดวิชาเริ่มซบเซาไม่ดึงดูดคน ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันที่เพื่อนของเขาอยากทำร้านกาแฟ “เอ๊ะ...ร้านกาแฟจะดีหรือ?” 
ด้วยความรู้ด้านการตลาดที่สะสมมาจากบริษัทชั้นนำต่างๆ เขาจึงคิดว่า “อยากจะทำร้านกาแฟที่มีแบรนด์ ทำการตลาดด้วยตนเอง จึงเกิดเป็นโปรเจ็กต์ Class Coffee ขึ้นมา” จากนั้นก็เริ่มออกเดินทางไปยังที่ต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อหาเมล็ดกาแฟ และเรียนรู้วัฒนธรรมการดื่มกาแฟของคนแต่ละพื้นที่

 

 


เป็นเจ้าของธุรกิจเอง

โมเดลทางธุรกิจของคลาส ไม่ใช่แฟรนไชส์ แต่ผู้ประกอบการเป็นเจ้าของแบรนด์เอง “เมื่อเป็นเจ้าของแบรนด์จะทำอะไรก็ได้ แต่ความเสี่ยงคือ ต้องลงทุนเองทั้งหมด” ช่วง ๒-๓ ปีแรกอาจจะเหนื่อย เพราะกาแฟทุกแก้วต้องชงเองทั้งหมด รวมถึงเปิดร้าน ล้างจานก็ต้องทำเอง ช่วงแรกเปิดร้าน ๑๐ โมงเช้าผ่านไปสักพักเริ่มเข้าใจว่า “คนกินกาแฟ เขาจะกิน ตั้งแต่เช้าก่อนไปทำงานจากนั้นจึงเปลี่ยนเวลาเปิดร้านมาเป็น ๗ โมงเช้า”
สิ่งที่คลาสทำและแตกต่างคนอื่นอยู่เสมอ คือ “ชอบเสพติดเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีอาหาร” ทำให้คลาสใส่ใจในสุขภาพของลูกค้า เช่น การคั่วกาแฟ บางคนดื่มกาแฟคลาสแล้วไม่รู้สึกขมหรือไหม้ เพราะตัดส่วนนั้นออก อาจจะเป็นสารก่อมะเร็ง คลาสจะไม่คั่วกาแฟลึกจนทำให้รู้สึกไหม้ บางคนจึงคิดว่า กาแฟคลาสอ่อนไม่เข้มข้น แต่คลาสสามารถทำอย่างอื่นชดเชยส่วนนี้ได้ โดยที่ลูกค้าไม่ต้องดื่มกาแฟไหม้ 
ส่วนอาหารอื่นๆ เบเกอรี่ต่างๆ ก็ต้องทำออกมาบนแนวคิดเดียวกัน คือ “ดีต่อสุขภาพ” ซึ่งเป็นการเรียนรู้มาจากแบรนด์ระดับโลก ว่า “เขาทำธุรกิจแบบไหน ทำอย่างไรให้ยั่งยืน หรือการเป็นแบรนด์ที่เติบโตมาพร้อมกับชุมชน เป็นแบรนด์ที่อยู่คู่กับคน” นี่จึงกลายเป็นสิ่งที่คลาสทำมาตลอด

 


คาเฟ่ก็เป็นสตาร์ตอัพได้

“ช่วงแรกคลาสคาเฟ่พยายามเติบโตและเดินหน้าให้ได้ทุกๆ ๖ เดือน” เพื่อทำให้ธุรกิจอยู่ได้มีกำไรให้ได้ เขาต้องหากู้เงิน นำที่ดินไปค้ำประกันอยู่ตลอด เมื่อเปิดร้านได้ ๓ ปี เทรนด์ธุรกิจสตาร์ตอัพก็เข้ามาพอดี รัฐบาลมีการส่งเสริมมากขึ้น ซึ่งคลาสก็สามารถ เป็นสตาร์ตอัพได้ และคลาสก็มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี “คลาสจะเป็นบริษัทเทคโนโลยีได้หรือไม่ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาทำกาแฟ”
 

จากนั้น เขาเริ่มลงทุนและทำเรื่องเทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้มองเห็นโอกาสที่จะเติบโตมากขึ้น แต่ก่อนที่จะดึงคนเข้ามาลงทุนมากขึ้น องค์กรก็ต้องมีความพร้อม มีธรรมาภิบาล เป็นบริษัทที่ไม่โกงภาษี เปิดเผยข้อมูลได้ ตรงไปตรงมา เป็นความภาคภูมิใจของทุกคน คลาสจึงต้องรีแบรนด์เปลี่ยนโลโก้ใหม่ จดทะเบียนจัดตั้งอย่างถูกต้อง ภายใต้ชื่อ บริษัท คลาส คอฟฟี่ จำกัด เมื่อปี ๒๕๖๐ ซึ่งเขานั่งในตำแหน่ง CEO และได้รับการยอมรับมากขึ้นในวงกว้าง เมื่อเปลี่ยนแปลงองค์กรแล้ว พาร์ทเนอร์ก็มีความพร้อมที่จะเข้ามาร่วมลงทุนมากขึ้น
 

จุดแข็งของคลาสคาเฟ่เริ่มเปลี่ยนไปจากการขยายสาขาตามมหาวิทยาลัยต่างๆ แต่ขณะนี้เริ่มมองว่า คุณค่าของคลาสนอกจากกาแฟรสชาติดีที่ต้องทำให้อร่อยเสมอ ยังเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ได้อีกด้วย ซึ่งเขายกตัวอย่างว่า “เมื่อก่อนถ้าเราออกจากบ้าน ๔ ทุ่ม พ่อแม่ต้องสงสัยว่า ไปร้านเหล้าแน่นอน แต่เด็กสมัยนี้ออกจากบ้านเพื่อมาติวหนังสือ นั่งทำการบ้าน หรือมาทำงานที่คลาสคาเฟ่”

 

 


กำเนิด Vela Verse

เมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เขาก็คิดว่า “จะทำอย่างไรที่จะเชื่อมต่อคลาสคาเฟ่แต่ละสาขาให้เข้าหากัน ผ่านเทคโนโลยีโลกเสมือนได้หรือไม่” ซึ่งคลาสมี ๑๘ สาขา ที่โคราช บุรีรัมย์ มหาสารคาม ขอนแก่น กรุงเทพฯ และปริมณฑล นับเป็นโจทย์ยาก 
 

แต่ด้วยปัจจุบันเทคโนโลยีเมตาเวิร์สเกิดขึ้นมาพอดี จากฝีมือของมาร์ค เจ้าของเมต้า กอล์ฟจึงมีความคิดว่า “เราก็ทำได้เหมือนกัน” โดยทำให้ทุกสาขาเชื่อมหากันผ่านโลกเสมือน เป็นการเชื่อมชุมชนต่างๆ ของคลาสเข้าหากัน เกิดเป็นโปรเจ็กต์ “Vela Verse” ซึ่งขณะนี้เปิดออนไลน์สามารถเข้ามาใช้บริการได้จากทั่วโลก
 

“Vela Verse” เป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยเหลือท้องถิ่น เช่น เยาวชนที่เรียนจบมาแล้วสามารถทำกราฟิกได้ สามารถนำไปต่อยอดทำเป็น NFT (Non-Fungible Token) หรือสินทรัพย์ดิจิทัล และหารายได้เพิ่มระหว่างเรียน ซึ่งทีม “Vela Verse” ที่ไปจัดทำแฮกกาธอน (Hackathon) ตามมหาวิทยาลัย ก็จะบอกน้องๆ นักศึกษาเสมอว่า NFT สามารถสร้างรายได้ โดยใช้เครื่องมือแบบนี้แบบนั้น เมื่อคลาสทำเรื่องสร้างสรรค์มากขึ้น ชุมชนหรือเยาวชนก็รู้สึกว่า ได้เข้าถึงอาชีพแบบใหม่ในอนาคต จากเดิมที่เรียนจบมาได้เงินเดือน ๑๓,๐๐๐ บาท แต่เมื่อมีความรู้เรื่องเทคโนโลยี สามารถก้าวกระโดดเป็นคนที่ตลาดงานต้องการตัวมากที่สุด

 


ให้ความสำคัญคนรุ่นใหม่

“พลังในความสร้างสรรค์ เมื่อคนเราแก่ตัวลงขีดจำกัดก็มากขึ้น ทำโน้นไม่ได้ทำนี่ไม่ได้ แต่เยาวชนจะมีพลังใหม่ๆ เสมอ” 
 

ซีอีโอกอล์ฟ เล่าถึงสาเหตุที่ให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ว่า “ในการตั้งคำถาม บางเรื่องผู้ใหญ่ไม่ได้คิด แต่การตั้งคำถาม การเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่จำเป็นต้องคนรุ่นใหม่อย่างเดียว แต่ต้องเป็นคนที่มีความคิดสมัยใหม่ คิดอะไรใหม่ๆ ที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น และช่วยเหลือชุมชนให้มากขึ้น นี่คือความคิดของคนรุ่นใหม่ ผมก็เป็นคนรุ่นใหม่ เพราะมีความคิดใหม่ๆ ตลอดเวลา”
 

จะเห็นว่า กอล์ฟให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่มาก เพื่อคนเหล่านั้นจะได้มาสร้างการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ อย่างสร้างสรรค์ ไม่จมอยู่กับเรื่องเดิมๆ ทั้งเศรษฐกิจ ปัญหาเงินทอง “หากคลาสนำเรื่องเงินเป็นตัวขับเคลื่อนก็จะกลายเป็นกลุ่มธุรกิจที่ต้องการเพียงผล กำไรเอาเปรียบประชาชน” 
 

“ถ้ายังอยู่บนกรอบเดิมๆ ก็จะอยู่กับปัญหาเดิมๆ มัวแต่คาดหวังสิ่งใหม่ๆ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง มันทำไม่ได้ หากยังเป็นคนแบบเดิม กระบวนการคิดแบบเดิม แต่ต้องการสิ่งใหม่ ยังไงก็ผิดตั้งแต่คิดแล้ว แต่ถ้าให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่ นวัตกรรมใหม่ๆ ก็จะเกิดขึ้นมาได้” กอล์ฟ เล่า

 


นำพาธุรกิจฝ่าอุปสรรค

ในช่วงที่มีโรคโควิดระบาด หลายธุรกิจได้รับผลกระทบ รวมถึง “Class café” ที่ต้องปิดสาขาต่างจังหวัดไปบางแห่ง เพื่อถอยกลับมาตั้งตัวใหม่ที่โคราช แม้ช่วงนี้รัฐบาลจะปลดล็อกทุกอย่างแล้ว แต่เศรษฐกิจก็ยังย่ำแย่ เมื่อคลาสลดสาขาลงก็พบว่า ตัวเลขในทางบัญชีดีขึ้น จึงทำให้เขารู้ว่า เมื่อพ้นวิกฤตมาแล้วจะต้องเดินหน้าอย่างไร
 

แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่โควิดเบาบางลง ก็ยังมีวิกฤตเงินเฟ้อ และสินค้าราคาแพง หลายธุรกิจต้องมาโฟกัสว่า “ทำอย่างไรจะให้ผ่านช่วงนี้ไปได้” ส่วนคลาสตอนนี้ยังไม่มีคำตอบ เป็นช่วงที่เฝ้าระวังอย่างมาก และติดตามอย่างใกล้ชิด ทุกคนจึงต้องใช้เงินอย่างประหยัด 
 

เมื่อพูดถึงความประหยัด คลาสต้องได้รับผลกระทบแน่ๆ เพราะกาแฟเป็นของฟุ่มเฟือย บางประเทศประชาชนลดการซื้อกาแฟจากร้าน แล้วหันไปชงเอง คลาสจึงต้องคิดว่า ทำอย่างไรจะให้ไปรอด อาจจะต้องปรับโปรโมชั่นด้วยการแถมเบเกอรี่แบบต่างๆ หรือโดนัทคู่กับกาแฟ เพื่อยืนหยัดราคาเดิมให้ได้

“การแถมเบเกอรี่อาจจะช่วยให้แม่ดื่มกาแฟ แล้วนำขนมไปให้ลูกกินตอนเช้า นี่คือสิ่งที่คลาสพยายามเข้าใจลูกค้า และพยายามเป็นที่พึ่งของเขาในภาวะแบบนี้”

 

 

 


ธุรกิจกับชุมชน’เติบโตไปพร้อมกัน

ประเทศไทย เป็นประเทศที่พบกับวิกฤตหลายอย่างมาก มากแบบโงหัวไม่ขึ้น ผ่านวิกฤตโควิดมาได้ เราควรจะฟื้นตัวแล้ว แต่กลับต้องมาเจอเรื่องถนนพัง พายุเข้า น้ำท่วม และเหตุกราดยิง เมื่อวิกฤตมาเรื่อยๆ ก็ส่งผลต่อธุรกิจเหมือนกัน รายได้หดตัว ซึ่งธุรกิจสมัยนี้ไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองแบบสมัยก่อนแล้ว “วันนี้ธุรกิจกับเมืองและชุมชนต้องเติบโตไปพร้อมกัน” เวลาที่ชุมชนเดือดร้อนจะสามารถเข้าไปเยียวยาด้วยได้หรือไม่
 

“เมื่อแบรนด์อยู่คู่ชุมชน ลูกค้าก็รู้สึกดีที่แบรนด์นี้ไม่ใช่ธุรกิจที่เข้ามาเพื่อกอบโกย แต่เป็นธุรกิจที่เข้ามา สร้างสรรค์สังคม” เหมือนที่เขาเป็น CEO ก็สามารถออกไปช่วยสังคมได้ นำองค์ความรู้ที่มีไปสร้างเป็นโปรเจ็กต์ต่างๆ เช่น KoratStrong และ Hackvax korat หรือรูปแบบการฉีดวัคซีน หากเกิดวิกฤตน้ำท่วม อาจจะทำเทคโนโลยีหรือความสามารถของโลกเสมือน ไปวิเคราะห์แผนในการป้องกันเมืองจากน้ำท่วม ขณะเดียวกันธุรกิจก็ได้พัฒนาองค์ความรู้ไปด้วย “แบรนด์ไม่จำเป็นต้องอยู่ในคอมฟอร์ตโซนอย่างเดียว แต่สามารถออกมาทำสิ่งที่กล้าหาญมากขึ้น”


จุดสูงสุดของคลาส

ด้วยความสำเร็จของ “Class Café” ที่มีมากถึง ๑๘ ทั่วประเทศไทย แต่จุดสูงสุดของธุรกิจนี้กลับไม่ใช่เม็ดเงินเสียทั้งหมด โดย “กอล์ฟ” เล่าว่า “วันนี้คลาสมาไกลจากความสำเร็จมากแล้ว บางคนวางความสำเร็จไว้ในการเข้าถึงเงิน แต่สำหรับความสำเร็จของคลาส คือ การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชุมชน” สามารถเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ ว่า “เขาก็สามารถทำได้ สามารถสร้างบริษัทที่ดีมีความภาคภูมิใจด้วยตนเองได้” นี่คือสิ่งที่ CEO Class café ภาคภูมิใจกว่าเรื่องอื่นๆ

 


ทำงานเพื่อสังคม

“มารุต ชุ่มขุนทด” ชอบทำงานเพื่อสังคม และพูดถึงปัญหาบ้านเมืองเสมอ คลาสก็มีหลายโปรเจ็กต์ที่ทำร่วมกับภาครัฐ ซึ่งมุมมองเรื่องนี้ เขามองว่า “ข้าราชการมีเทอม (วาระการดำรงตำแหน่ง) ประชาชนไม่มีเทอม แต่เป็นเจ้าของบ้าน ดังนั้นคนที่เสียงดังที่สุด คือ เจ้าบ้านมากกว่าคนที่มาแล้วก็ไป การที่ประชาชนออกมาพูดแล้วมีข้าราชการรับฟังเป็นสิ่งที่ดีมาก ดังนั้น ข้าราชการต้องฟังเก่งๆ ส่วนคนที่มาเป็นผู้นำก็ต้องรับฟังเสียงของประชาชน ทั้งเสียงคนรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ต้องทำงานเพื่อประชาชนมากกว่าผลประโยชน์ส่วนตัว

“เมืองโคราชที่ต้องการให้เป็น” ในหัวของ “มารุต ชุ่มขุนทด” นั้น เขาต้องการให้โคราชเป็นเมืองที่สร้างโอกาสได้ หรือเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยการจ้างงาน ประชาชนสามารถทำมาหากินได้ง่ายขึ้น และใช้ชีวิตได้ดี โคราชเป็นเมืองที่มีความพร้อมทุกด้านแล้ว เพียงแค่ต้องทำให้ชัดเจนมากขึ้น มีภาพลักษณ์ที่ดี มีโอกาสมากขึ้น และมีการจ้างงานใหม่ๆ มากขึ้น คนที่จบมาจะได้อยากอยู่โคราช
 

แล้วทำอย่างไรจะเกิดสิ่งเหล่านี้ นี่เป็นคำถามที่คนโคราชต้องหาคำตอบด้วยกัน ส่วนกอล์ฟมองว่า “ถ้าโคราชสามารถเก็บคนเก่งๆ ไว้ทำงานให้กับเมือง โคราชก็จะพัฒนามากขึ้น แต่ถ้าโคราชเป็นเมืองที่คนเก่งไหลออกไปตลอดเวลา ก็จะกลายเป็นเมืองที่ต้องใช้เพียงแรงงาน หากคนฉลาดมาอยู่รวมกับคนสมาร์ท ก็จะสามารถสร้างสมาร์ทซิตี้ให้เกิดขึ้นได้”


การเมืองเป็นเรื่องในอนาคต

จากมุมมองและประสบการณ์ด้านการบริหาร ธุรกิจและการทำงานเพื่อสังคมของ “มารุต ชุ่มขุนทด” วันนี้ก็มีหลายคนสงสัยว่า เขาสนใจจะเล่นการเมืองหรือไม่ เพราะเรื่องเมืองกับการเมือง คือเรื่องเดียวกัน หลายครั้งที่ทำงานสังคม เขาต้องอยู่ในบทบาทของการช่วยเหลือ สนับสนุน และผลักดัน โดยมีหลายกลุ่มการเมืองมาขอความคิดเห็นหรือขอการสนับสนุน “อะไรที่ทำได้ก็ทำให้”
การสร้างเมืองให้น่าอยู่และดีต่อคนรุ่นหลัง จะด้วยบทบาทใด เรื่องนี้เขาก็ต้องค่อยๆ คิด และพิจารณา ซึ่งเพื่อนบางคนก็บอกเขาว่า “ถ้ามีอำนาจมีกำลังในการทำล่ะ?” แน่นอนก็น่าสนใจ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้มากขึ้น มีบทบาทที่สำคัญกว่าเดิม ถ้าถามว่าทำได้หรือไม่ ก็เป็นไปได้ที่กอล์ฟจะไปทำเรื่องเหล่านั้น แต่เป็นเรื่องในอนาคต

 

ส่วนวันนี้ “มารุต ชุ่มขุนทด” ยังสามารถทำได้อยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่ถ้ามีโอกาสใหม่ๆ เข้ามา นักธุรกิจก็ต้องเปลี่ยนบทบาทตัวเองไป แต่ต้องแยกเรื่องธุรกิจออกไปก่อนที่จะไปทำการเมือง ถ้าวันหนึ่งไปถึงจุดนั้นก็คงเป็นจุดที่ต้องตัดสินใจ หากจะเดินหน้าทำเพื่อบ้านเมืองและรับใช้ประชาชน ก็ต้องชัดเจนว่า “จะไม่นำเรื่องธุรกิจเข้ามาแทรก หรือทำให้หัวข้างหนึ่งคิดแต่เรื่องเงินหรือกำไร เพื่อจะได้คิดแค่เรื่องเมืองอย่างเดียว” 
 

“วันนี้ต้องคิดให้มากๆ หรือตรงนี้จะทำได้ดีกว่า หรือไปจุดนั้นแล้วจะทำได้มากกว่า ต้องคิดให้ดีว่า ตรงไหนจะเหมาะกับเรา บางครั้งอยู่ที่เดิมอาจจะดีกว่า แล้วต้องเสียนักธุรกิจดีๆ ไปเป็นนักการเมืองโง่ๆ คนหนึ่งก็ได้ ดังนั้น ขอเป็นนักธุรกิจที่ดีดีกว่า แต่ถ้าจะไปเป็นนักการเมืองที่ดี สามารถสร้างสรรค์ได้ ก็น่าสนใจ” ซีอีโอกอล์ฟ บอกในท้ายสุด


 

จะเห็นว่า...กว่าจะประสบความสำเร็จนั้นไม่ง่าย โดยเฉพาะธุรกิจร้านกาแฟในสมัยนี้ที่เกิดขึ้นมากมายตลอดเวลา แต่เหตุผลที่ “มารุต ชุ่มขุนทด” ทำให้ “Class café” ประสบความสำเร็จ คือ วิสัยทัศน์ ที่ไม่ได้มองการทำธุรกิจเพื่อกำไรอย่างเดียว แต่ยังมองถึงความถูกต้อง โปร่งใส การเติบโตไปพร้อมกับชุมชนและสังคม ซึ่งในอนาคตเขาอาจจะเป็นอีกหนึ่งคนที่สำคัญในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเมืองโคราชก็เป็นได้

นสพ.โคราชคนอีสาน ฉบับพิเศษ ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๔๖ วันพฤหัสบดีที่ ๒๗ เดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๕


1038 1424