29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

March 23,2023

ศาลปกครองสูงสุดให้เทศบาล เยียวยา ๒๒.๗ ล.แก่ผู้รับเหมา โครงการประปา ๓,๐๖๐ ล้าน

 

คดีถึงที่สุด หลังผู้รับเหมายื่นฟ้องต่อศาลปกครองนครราชสีมาโครงการก่อสร้างระบบประปามูลค่า ๓,๐๖๐ ล้าน ล่าสุดศาลปกครองสูงสุดแก้คำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้นให้เทศบาลฯ จ่ายชดเชยเป็นเงิน ๒๒,๗๒๙,๒๙๑ บาท แก่ “ซิโน-ไทย และอาควาไทย”

ตามที่เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๖ ณ ศาลปกครองนครราชสีมา ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลหนองกระทุ่ม อำเภอเมือง จ.นครราชสีมา ได้อ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขดำที่ อ. ๑๒๖๔/๒๕๕๙ คดีหมายเลขแดงที่ ๑. ๑๐๐๙ /๒๕๖๕ ลงวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน ๒๕๖๕ ระหว่าง บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จํากัด (มหาชน) ที่ ๑ บริษัท อาควาไทย จํากัด ที่ ๒ ผู้ฟ้องคดี กับเทศบาลนครนครราชสีมา ผู้ถูกฟ้องคดี ซึ่งเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองนั้น

โดยต่อมาเมื่อเวลา ๑๔.๐๐ น. วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ที่ห้องประชุมกาญจนาภิเษก ชั้น ๕ สำนักงานเทศบาลนครนครราชสีมา มีการประชุมสมัยสามัญ สมัยแรก ประจำปี ๒๕๖๖ ครั้งที่ ๑ โดยมีนายอุทัย มิ่งขวัญ ทำหน้าที่ประธานสภาฯ ซึ่งมีคณะผู้บริหารเทศบาลฯ นำนายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีฯ และสมาชิกสภาเทศบาลฯ เข้าร่วมประชุม รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการและข้าราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมด้วย ซึ่งการประชุมครั้งนี้ นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เดินทางมาพบปะพร้อมทั้งมอบนโยบายการบริหารท้องถิ่น และสังเกตการณ์เป็นครั้งแรกหลังจากเดินทางมารับตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาตั้งแต่เดือนตุลาคม ๒๕๖๕

สำหรับการประชุมครั้งนี้ ในระเบียบวาระที่ ๑.๘ นายอุทัย มิ่งขวัญ ประธานสภาเทศบาลนฯ แจ้งให้ที่ประชุมทราบ เรื่องการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายพร้อมดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดว่า ด้วยในปี ๒๕๕๐ ตกลงว่าจ้างกิจการร่วมค้าเอส เอ (บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท อาควาไทย จำกัด) ทำการก่อสร้างโครงการแก้ไขบัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค ทน.นครราชสีมา ตามสัญญาจ้างเลขที่ ๓/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๐ วงเงินค่าจ้าง ๓,๐๖๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท กำหนดแล้วเสร็จภายในกำหนด ๑,๑๔๐ วัน ในระหว่างดำเนินการก่อสร้างตามสัญญากลุ่มรักษ์ลำแชะ โดยนายธีระพล รัตนประยูร กับพวกรวม ๙๑ คน ฟ้องเทศบาลนครฯ และกรมชลประทานต่อศาลปกครองนครราชสีมา ขอให้ยกเลิกโครงการฯ กับมีคำขอให้ศาลปกครองกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา ซึ่งในวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๒ ศาลปกครองนครราชสีมามีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ระงับการก่อสร้างจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น คดีหมายเลขดำที่ ๑๗๔/๒๕๕๑ คดีหมายเลขแดงที่ ๒๘๗/๒๕๕๑ วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๒ ผู้รับจ้างได้มีหนังสือที่ SA/เทศบาล/๐๐๙/๒๕๕๒ แจ้งผลของการระงับการก่อสร้างตามโครงการเป็นการชั่วคราว ส่งผลให้ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายค่าเสียหายโดยไม่ใช่ความผิดของผู้รับจ้าง

นายอุทัย มิ่งขวัญ ประธานสภาเทศบาลนครฯ

ต่อมาวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๕๓ ศาลปกครองนครราชสีมาได้มีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ ๑๗๔/๒๕๕๑ คดีหมายเลขแดงที่ ๒๘๓/๒๕๕๑ ให้ยกเลิกคำสั่งคุ้มครอง จากนั้นผู้รับจ้างได้ดำเนินก่อสร้างจนแล้วเสร็จในวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๕๘ กิจการร่วมค้า เอส เอ ได้ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายจากเทศบาลนครฯ เนื่องจากคำสั่งระงับการก่อสร้าง จำนวน ๗๔,๐๗๗,๔๔๓.๒๗ บาท พร้อมดอกเบี้ย และศาลปกครองนครราชสีมามีคำพิพากษาในวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๙ คดีหมายเลขดำที่ ๑๐๓/๒๕๕๘ คดีหมายเลขแดงที่ ๑๗๔/๒๕๕๙ ตุลาการเสียงข้างมากให้เทศบาล นครฯ ชำระเงินชดเชยความเสียหายให้ผู้ฟ้องคดีจำนวนเท่ากับร้อยละ ๕๐ ของค่าเสียหาย คือ ๓๘,๐๓๘,๒๒๑.๓๖ บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ ๗.๕ ต่อปี เทศบาลนครฯ อุทธรณ์ถึงที่สุด โดยวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๖ ศาลปกครองสูงสุดแก้คำพิพากษาศาลปกครองนครราชสีมาให้ช่วยเหลือเยียวยาทดแทนความเสียหาย ๑๔,๘๑๕,๒๘๘.๖๕ บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี ของเงินต้นดังกล่าว นับตั้งแต่วันฟ้องคดีจนถึงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๖๔ และดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๓ ต่อปีหรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา พิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

“ทั้งนี้ เทศบาลนครฯ แจ้งคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีระงับการก่อสร้างเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองนครราชสีมา ถือเป็นการใช้อำนาจพิเศษหรือเอกสิทธิ์ที่มีเหนือคู่สัญญาฝ่ายเอกชนตามข้อบังคับและหลักกฎหมายทั่วไปเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองและเมื่อการกระทำถือเป็นการปฏิบัติตามคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาของศาลปกครองนครราชสีมา จึงไม่อาจถือเป็นความบกพร่องหรือความผิด เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้ช่วยเหลือเยียวยาจึงมีผลกระทบต่อสถานะการเงินการคลังของสำนักการประปา จึงมีหนังสือขอความอนุเคราะห์ไปยังผู้ฟ้องคดีพิจารณาห้วงเวลาสิ้นสุดในการคำนวณดอกเบี้ย ขอความอนุเคราะห์การคิดคำนวณนับตั้งแต่วันฟ้องคดีที่จะต้องจ่ายจากเงินค่าชดเชย ๑๔,๘๑๕,๒๘๘.๖๕ บาท ค่าดอกเบี้ย ๗,๙๑๔,๐๐๒.๔๗ บาท รวมทั้งสิ้น ๒๒,๗๒๙,๒๙๑ บาท เนื่องจากสำนักการประปามิได้ตั้งงบประมาณเพื่อการนี้ไว้ จึงไม่สามารถดำเนินการได้ทันที และไม่สามารถปฏิบัติได้ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงินการเบิกจ่ายเงิน การฝากเงิน การเก็บรักษาเงินและการตรวจเงินขององค์กรปกครองท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๔๗ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่ ๔ พ.ศ.๒๕๖๑ ข้อ ๘๙ (๑) ถือปฏิบัติตามข้อตามระเบียบประกอบคำสั่งกระทรวงมหาดไทย สำนักการประปา มียอดเงินสะสมสามารถนำไปใช้จ่ายได้ ๖๓,๕๘๒,๑๖๕.๐๘ บาท ขอใช้จ่ายเงินสะสม ๒๒,๗๒๙,๒๙๑ บาท จึงนำเสนอสภาเทศบาลนครฯ เพื่อทราบ” นายอุทัย กล่าว


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๕๑ วันที่ ๑๕ เดือนมีนาคม - วันที่ ๑๔ เดือนเมษายน พุทธศักราช ๒๕๖๖

 


974 1614