29thMarch

29thMarch

29thMarch

 

May 25,2023

ลุย‘ทางลอดบิ๊กซี’ ๔๘๐ ล. ฉิบหายใครรับผิดชอบ? โวย ๓ ปีสูญแน่ ๓ พันล้าน

กรมทางหลวงเปิดเวทีแจ้งเตรียมสร้างอุโมงค์ทางลอดแยกบิ๊กซีโคราชหลังล่าช้ามาหลายปี ล่าสุดได้ผู้รับเหมาแล้ว งบ ๔๘๐ ล้าน นักธุรกิจบางส่วนยังคัดค้าน ไม่ช่วยแก้ปัญหารถติด ซ้ำยังเกิดผลกระทบเสียหาย สร้าง ๓ ปีสูญแน่ ๓ พันล้าน แค่ ๓ เดือนก็จะประสาทแล้ว และถ้าเกิดความฉิบหายใครรับผิดชอบ เชื่อมั่นตราบใดที่ยังไม่ขุดยังชะลอต่อไปได้


เมื่อเวลา ๑๐.๓๐ น. วันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล ๒๑ โคราช แขวงทางทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ ภายใต้การนำของนายชิตพล เหล่าอัน ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ จัดประชุมเพื่อประชาสัมพันธ์โครงการก่อสร้างทางลอดจุดตัดทางแยกนครราชสีมา (แยกบิ๊กซี/เทอร์มินอล ๒๑ โคราช) ซึ่งคาดว่าจะมีการลงมือก่อสร้างในปีนี้ เนื่องจากมีการเปิดประมูลและได้ผู้รับเหมาแล้ว เหลือเพียงการเซ็นสัญญาก่อสร้างเท่านั้น ทั้งนี้ มีนายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุม โดยมีนายพรชัย ศิลารมย์ ผู้อำนวยการศูนย์สร้างและบูรณะสะพานที่ ๓ (ปทุมธานี) หรืออดีตผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ ในฐานะผู้จัดการโครงการฯ นายทวีศักดิ์ ศักดิ์ศินานนท์ นายช่างโครงการฯ และนายทวิช ชอบพานิช วิศวกรโยธาชำนาญการ สำนักสำรวจและออกแบบ ร่วมชี้แจงรายละเอียดโครงการ โดยมีผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน นักธุรกิจ และประชาชนเข้าร่วมกว่า ๒๐๐ คน อาทิ นายศรรบ หล่อธราประเสริฐ กรรมการผู้จัดการบริษัท ไทยสงวนบริการ จำกัด เจ้าของสถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมาแห่งที่ ๒ (/บขส.ใหม่) นายวิชัย ศรีนวกุล โรงสีข้าวเจริญผล ซึ่งมีที่ดินอยู่ในพื้นที่โครงการ นายศุภกิจ ตั้งสิทธิประเสริฐ นักธุรกิจในย่านถนนจันทร์ นางสกุณา จึงวิวัฒนาภรณ์ รองประธานกลุ่มคิงส์ยนต์ นายภพ ไตรบัญญัติกุล กรรมการผู้จัดการ ธนพลเอ็นเนอจี (ปั๊ม ปตท.) นายพีระ ตั้งสุณาวรรณ กรรมการผู้จัดการ หจก.พีอาร์ ปิโตรเลียม นายวิกร วัฒนาโภคสิน เจ้าของชญาดารีสอร์ท และนายประยุทธ์-นางปริษา แซ่เตียว เจ้าของชุนหลีแบตเตอรี่ เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็น

• งบ ๔๘๐ ล้าน สร้าง ๙๖๐ วัน
สำหรับโครงการนี้มีระยะทาง ๑.๑๘๑ กม. จุดจุดเริ่มต้นโครงการฯ อยู่ที่ กม.๑๔๗+๓๗๑.๖๙๐ และจุดสิ้นสุดโครงการฯ อยู่ที่ กม.๑๔๘+๕๕๒.๖๙๐ ใช้งบประมาณก่อสร้าง ๔๘๐ ล้านบาท กำหนดระยะเวลาก่อสร้าง ๙๖๐ วัน ซึ่งมีบริษัท รัชตินทร์ จำกัด เป็นผู้รับเหมา ส่วนวัตถุประสงค์และความเป็นมาของโครงการนั้น เนื่องจากถนนมิตรภาพ (ทล.๒) เป็นทางหลวงสายหลักของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีปริมาณจราจรคับคั่ง และหนาแน่น โดยเฉพาะในเขตตัวเมืองนครราชสีมา ที่มีทางแยกสำคัญๆ คือทางแยกนครราชสีมา จุดตัด ทล.๒ ตัดกับทล.๒๒๔ ที่ปัจจุบันทางแยกดังกล่าวเป็นทางแยกสัญญาณไฟจราจร ก่อให้เกิดปัญหาแถวคอยบริเวณทางแยก ส่งผลต่อความล่าช้าในการคมนาคมขนส่ง รวมทั้งอุบัติเหตุบริเวณทางแยก เนื่องจากเป็นเส้นทางสายหลักที่มีการใช้ความเร็วสูงในการสัญจร ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ในการปรับปรุงจุดตัดทางแยกสัญญาณไฟจราจรดังกล่าวเป็นทางลอดจุดตัด ทล.๒ ตัดกับ ทล. ๒๒๔ (แยกนครราชสีมา) เพื่อแก้ปัญหาจราจรในเขตเมือง และลดอุบัติเหตุ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเคลื่อนตัวของการจราจรบนทางหลวงสายหลัก ช่วยการอำนวยความสะดวกรวดเร็วในการคมนาคมขนส่ง ช่วยลดต้นทุนทางด้านการคมนาคมขนส่ง เสริมสร้างศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน


โครงการดังกล่าว จะก่อสร้างเป็นอุโมงค์คอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด ๒ ช่องจราจร กว้าง ๙.๑๐ เมตร ยาว ๙๒๙ เมตร ความกว้างผิวจราจรช่องละ ๓.๒๕ เมตร จำนวน ๑ แห่ง พร้อมระบบระบายน้ำ งานป้องกันอัคคีภัย และอื่นๆ, งานผิวทางคอนกรีตเสริมเหล็ก (JRCP.), งานผิวทาง Asphaltic Concrete Asphaltic Concrete Asphaltic Concrete Asphaltic Concrete, งานก่อสร้างสะพานลอยคนเดินข้าม, งานติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง งานป้ายจราจรและอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย และงานมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม และงานอื่นๆ

นายทวิช ชอบพานิช วิศวกรโยธาชำนาญการ สำนักสำรวจและออกแบบ กล่าวว่า สภาพการจราจรคับคั่งบนถนนมิตรภาพ ช่วงผ่านตัวเมืองโคราช บริเวณทางแยกนครราชสีมา ซึ่งมีปริมาณรถต่อวันประมาณ ๑.๒ แสนคัน ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพทั้งการเดินทางไม่สะดวกและมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เป็นเวลากว่า ๑๐ ปี กรมทางหลวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำเสนอโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด แต่มีเสียงคัดค้านจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเป็นกลุ่มผู้ประกอบการค้าและชาวโคราชส่วนหนึ่งทำให้ต้องชะลอโครงการ ที่ผ่านมาได้จัดการจราจรด้วยไฟสัญญาณจราจร รวมทั้งเพิ่มช่องทางจราจร แต่ไม่สามารถรองรับปริมาณการเดินทางอย่างเพียงพอ รวมทั้งปัญหาหลากหลาย โดยนำผลการศึกษามาทบทวน ปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับบริบทปัจจุบัน เพื่อเสนอโครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดทางแยกนครราชสีมา รูปแบบ ๒ ช่องจราจร รองรับการจราจรบนถนนมิตรภาพ จาก จ.ขอนแก่น เลี้ยวขวาไป จ.สระบุรี รวมระยะทาง ๑,๑๘๑ เมตร เพื่อความปลอดภัยและความสะดวกขณะก่อสร้าง ผู้รับจ้างต้องปิดเส้นทางจราจรบริเวณพื้นที่โครงการทำให้การสัญจรไม่สะดวกคล่องตัวและใช้เส้นทางอ้อมส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมีการเปิดประมูลโครงการแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงนามสัญญาก่อสร้าง จึงเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบเสนอปัญหา เพื่อนำมาพิจารณา ทบทวนปรับรูปแบบการก่อสร้างให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนโคราชและผู้ใช้ทาง โดยจะมีการนำแผนการก่อสร้างเสนอทางจังหวัดฯ ให้ช่วยกลั่นกรองเพื่อร่วมจัดการจราจรเพื่อลดผลกระทบกับประชาชน ซึ่งสามารถยืดหยุ่นได้

นายประยุทธ์ แซ่เตียว เจ้าของชุนหลีแบตเตอรี่

• สร้าง ๓ ปีเสียหาย ๓ พันล้าน
จากนั้นมีการเปิดเวทีให้ผู้เข้าร่วมรับฟังแสดงความคิดเห็น โดยเริ่มจากนายประยุทธ์ แซ่เตียว เจ้าของชุนหลีแบตเตอรี่ แสดงทัศนะคัดค้านการก่อสร้าง ๔ ประเด็น ได้แก่ ๑.กระทบกับเศรษฐกิจโคราช สองฝั่งถนนที่มีการก่อสร้างเดือดร้อน เพราะต้องสร้างถึง ๓ ปี แค่ ๓ เดือนก็ประสาทแล้ว ความเสียหายที่เกิดขึ้น ๑ พันล้านต่อปี ๓ ปีก็ ๓,๐๐๐ พันล้าน ๒.ย้อนไปเมื่อ ๓ ปีที่แล้วรถอาจจะติด แต่ช่วงหลังนี้มาถึงปัจจุบันจำนวนรถลดลงถึง ๓๐% เพราะมีถนนวงแหวนรอบเมือง และคาดว่าสิ้นปีนี้ปริมาณรถก็จะลดลงอีก เพราะในอนาคตอีกไม่กี่ปีจะมีถนน รถไฟฟ้า รถจะลดลงอีก ๕๐% แต่จุดที่ติดมากที่สุดอยู่ที่แยกพีกาซัส ซึ่งช่วงเช้าและเย็นรถจะติดมากที่สุด แต่อีกไม่กี่ปีจะติดน้อยลง ซึ่งเมื่อมีการก่อสร้างทางลอดนี้ ความเสียหายจะเกิดแก่ชาวโคราช ผมไม่ได้เห็นแก่ตัว ไม่ได้ขัดขวางความเจริญ แต่คิดถึงความถูกต้อง โครงการนี้สามารถะงับได้ด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง ๓.หลายพื้นที่ เช่น ขอนแก่นและกรุงเทพฯ เมื่อเกิดอุโมงค์ก็เกิดน้ำท่วมในอุโมงค์ จะสามารถป้องกันได้ ๑๐๐% หรือไม่ ฝนตกตอนกลางคืนน้ำท่วม เกิดความเสียหายอาจสูญเสียถึงชีวิต เกิดความเสียหายขึ้นมาใครจะรับผิดชอบ และ ๔.การทำอุโมงค์อาจจะทำเพื่อแก้ปัญหารถติด แต่ตรงจุดอื่นเมื่อพ้นจากอุโมงค์ไปแล้ว ก็ติดเหมือนเดิม

นางปริษา แซ่เตียว

“เศรษฐกิจความเสียหายแค่ ๓ เดือนก็จะผูกคอตายแล้ว คนที่อยู่รอบพื้นที่ก่อสร้างก็แสนสาหัส ขอให้วิเคราะห์พิจารณาถึงความเดือดร้อน ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นมหาศาลใครจะรับผิดชอบ” นายประยุทธ์ กล่าว ในขณะที่นางปริษา แซ่เตียว กล่าวว่า “ถนนโคราชมีเยอะแล้ว แต่ปากท้องประชาชนสำคัญกว่าอุโมงค์ตรงนี้”

นายศุภกิจ ตั้งสิทธิประเสริฐ

• ถ้าฉิบหายใครรับผิดชอบ
ทางด้านนายศุภกิจ ตั้งสิทธิประเสริฐ กล่าวว่า โครงการนี้ประมูลเรียบร้อยแล้ว ตนโดนเต็มๆ ๘๕ เมตร ไปถึงคิงส์ยนต์ (ขาออก กทม.) ขอให้ดูเรื่องความปลอดภัยขณะที่มีการก่อสร้าง โดยเฉพาะระบบไฟฟ้าและไฟส่องสว่าง

นายวิชัย ศรีนวกุล เจ้าของโรงสีข้าวเจริญผล ซึ่งมีที่ดินริมถนนมิตรภาพบริเวณโครงการฯ กล่าวว่า ตนเพิ่งรับทราบว่ามีการประมูลแล้ว แต่ตอนที่ลงความเห็นเพื่อทำการก่อสร้างนั้น มีบันทึกหรือไม่ว่า การจะสร้างทางลอดนี้ เสียงส่วนใหญ่เป็นอย่างไร ถ้าประมูลแล้วและกำลังจะทำ แสดงว่าการวางแผนการทำงานยังไม่เรียบร้อยทั้งหมด เพราะบอกว่าพยายามจะให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด หมายความว่าทำไปดูไป ความเสียหายที่จะเกิดขึ้นไม่มีใครรู้ ท่านคงไม่ได้รับผลกระทบเพราะเป็นพนักงานของรัฐ แต่ประชาชนทั่วไปได้รับความเดือดร้อน จึงต้องการให้มีความชัดเจนว่า ถ้าทำจริงและแก้ปัญหาได้จริง เราก็ไม่มีประเด็นคัดค้านใดๆ ทั้งสิ้น แต่ถ้าหากลงมือทำไปแล้ว ความเสียหายเกิดขึ้นแล้ว แล้วสุดท้ายมีคำว่าฉิบหายขึ้นมา ใครจะเป็นคนรับผิดชอบ จะต้องให้ประชาชนไปฟ้องกรมทางหลวงหรือไม่

“วันนี้ที่มาลงชื่อก็เหมือนมัดมือว่า รับทราบแล้วว่าจะมีการก่อสร้าง แต่ประชาพิจารณ์หรือมติตอนนั้นผมไม่เห็น ต้องบันทึกเอาไว้เลยว่าผมไม่เห็น และบางคนก็ไม่รู้เหมือนกันว่ามีมติออกไปเรียบร้อยแล้ว พวกเรามองว่า กรมทางหลวงเคยแก้ปัญหาจราจรหลายที่ และก็ไม่เห็นสำเร็จ เมื่อไม่สำเร็จใครรับผิดชอบ ประชาชนทนทุกข์ทรมานใช้ถนนเส้นนั้นไป” นายวิชัย กล่าว

นายวิชัย ศรีนวกุล เจ้าของโรงสีข้าวเจริญผล

• จัดทำแผนช่วงก่อสร้าง
นายพรชัย ศิลารมย์ ชี้แจงว่า “ในส่วนของการวางแผนการก่อสร้างยังบอกเป๊ะๆ ไม่ได้ แต่ต้องรอวันเริ่มก่อสร้าง ซึ่งในแต่ละวันแต่ละเดือนจะมีแผนการทำงาน แต่เมื่อเซ็นสัญญาและเริ่มก่อสร้าง จะมีการขอปิดกั้นพื้นที่ตรงไหนนั้น จะมีการแจ้งผ่านช่องทางต่างๆ อย่างแน่นอน เมื่อมีแผนจัดการจราจรแล้วจะส่งไปยังจังหวัดฯ เพื่อให้ช่วยพิจารณากลั่นกรองในฐานะหน่วยงานราชการ แต่ในวันนี้เรานำข้อมูลที่จะมีการก่อสร้างมาชี้แจงถึงขั้นตอนต่างๆ ซึ่งในการดำเนินการของรัฐ จะไม่ใช่การยกมือประชาพิจารณ์นับคะแนนเสียง แต่โครงการของรัฐเมื่อมีการศึกษาความเหมาะสม จะมีการรับฟังความคิดเห็นตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก็มีการรับฟังความคิดเห็น ส่วนโครงการนี้เมื่อ ๒ ปีที่แล้วมีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งในเวทีนั้นก็มีการคัดค้านไปบ้างแล้ว โดยกิจกรรมในวันนี้ก็ไม่ใช่การให้ออกมาโหวตแต่เป็นการนำเสนอขั้นตอนต่างๆ ว่าจะมีการก่อสร้างโครงการนี้และจะเกิดผลกระทบระหว่างก่อสร้างอย่างไร”

นายพีระ ตั้งสุณาวรรณ เจ้าของปั๊ม ปตท.ข้างบขส.ใหม่

• อุโมงค์ไม่ช่วยแก้ปัญหาจราจร
นายพีระ ตั้งสุณาวรรณ เจ้าของปั๊ม ปตท.ข้างบขส.ใหม่ กล่าวว่า “พูดในฐานะคนโคราชและนักธุรกิจโคราชที่อยากได้ความเจริญมาสู่โคราช อะไรที่เจริญทำแล้วดีก็ควรจะทำ แต่สิ่งใดที่ไม่ควรจะทำแล้วมีผลกระทบก็ไมควรจะทำ จริงๆ แล้วตามแยกต่างๆ ในเมืองใหญ่ๆ ไม่ได้แก้ปัญหาจราจรด้วยการสร้างอุโมงค์ เพราะอุโมงค์เป็นอุปสรรคในการพัฒนาจังหวัด แทนที่แยกนั้นๆ จะพัฒนาไปเป็นธุรกิจใหญ่ๆ ได้ แต่กลับจบตรงนั้น ผมมองว่าสิ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาจราจรคือการขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพมากกว่า การสร้างอุโมงค์เพื่อคนโคราชจึงไม่เกิดประโยชน์”

• ให้ช่วยเรื่องภาษี
นายภพ ไตรบัญญัติกุล กรรมการผู้จัดการ บจก.ธนพล เอ็นเนอจี (ปั๊ม ปตท.ข้างเดอะมอลล์) กล่าวว่า ในเมื่อทราบกันแล้วว่า โครงการนี้จะต้องทำ สิ่งที่จะตามมาคือภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดนกันหนัก แต่ตอนที่มีการก่อสร้างอุโมงค์ มันสอดคล้องกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกประเมินหรือไม่ เพราะมูลค่าทางธุรกิจก็ลดฮวบลง อย่างน้อยช่วงที่มีการก่อสร้างก็น่าจะมีการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบด้วย

นายภพ ไตรบัญญัติกุล กรรมการผู้จัดการ บจก.ธนพล เอ็นเนอจี (ปั๊ม ปตท.ข้างเดอะมอลล์)

ทั้งนี้ นายพรชัย ศิลารมย์ ในฐานะผู้จัดการโครงการฯ กล่าวชี้แจงรายละเอียดต่างๆ ซึ่งเมื่อมีการจัดทำแผนงานการก่อสร้างแล้วจะมีการนำเสนอทางจังหวัดฯ เข้าที่ประชุม อจร. ส่วนประเด็นฝนตกหรือน้ำท่วมในอุโมงค์นั้น ถ้าน้ำท่วมสูง ๘๐ ซม. น้ำจึงจะไหลเข้าอุโมงค์ แต่ถ้าสถานการณ์แย่มีน้ำท่วมมากและไหลเข้าไปในอุโมงค์จะมีปั๊มน้ำ ๕ เครื่อง สลับกันทำงานครั้งละ ๓ เครื่อง

• ผู้ได้รับผลกระทบนัดหารือ
ต่อมาวันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๓.๓๐ น. ที่โรงแรมชุนหลีแกรนด์ เมืองนครราชสีมา กลุ่มผู้ประกอบการค้าและกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินโครงการก่อสร้างทางลอดฯ นำโดยนายประยุทธ์ แซ่เตียว เจ้าของชุนหลีแบตเตอรี่ และนายสุวัฒน์ จึงวิวัฒนาภรณ์ ประธานกรรมการกลุ่มคิงส์ยนต์ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์อีซูซุในจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้งผู้ได้รับผลกระทบได้นัดพูดคุยหารือแนวทางการชะลอโครงการดังกล่าว เพื่อสื่อถึงกรมทางหลวงให้นำมาพิจารณาทบทวนปรับรูปแบบให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน โดยอ้างกระบวนการประชาพิจารณ์ไม่ชอบตามขั้นตอน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียส่วนใหญ่ไม่เคยรับทราบและร่วมกิจกรรมแต่อย่างใด เสียงส่วนใหญ่ต้องการให้ขอความเป็นธรรมจากศาลปกครองนครราชสีมา

• ปริมาณการจราจรลดลง
นายประยุทธ์ เปิดเผยว่า รัศมีพื้นที่โครงการประมาณ ๒ กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของโรงพยาบาล ๒ แห่ง สถานศึกษา ๗ แห่ง ตลาดสด ๕ แห่ง สถานประกอบการกว่า ๓๐๐ ราย มีผู้ทำกินและที่พักอาศัยจำนวนมาก จะได้รับความเดือดร้อนในขณะก่อสร้างซึ่งใช้เวลาร่วม ๓ ปี ต้องรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สภาพจราจรติดขัด ผู้คนหลีกเลี่ยงใช้เส้นทางในเมือง การค้าขายซบเซา การสัญจรไม่สะดวกคล่องตัว โดยเฉพาะการเดินทางมาใช้บริการรักษาพยาบาลและสถานีขนส่งผู้โดยสารนครราชสีมาทั้ง ๒ แห่ง ประเมินความเสียหายเฉลี่ยปีละกว่า ๑ พันล้านบาท นอกจากนี้ยังมีปัญหาน้ำท่วม อุบัติเหตุการจราจร จนถึงขณะนี้ยังไม่มีผู้ใดเสนอตัวออกมารับผิดชอบ การจราจรช่วง ๓ ปีที่ผ่านมา จำนวนยานพาหนะที่ใช้เส้นทางดังกล่าวมีปริมาณลดลงเฉลี่ยกว่า ๓๐ % และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง เนื่องจากใช้ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมาและถนนเลี่ยงเมืองแทน จะสร้างทางลอดเพื่ออะไร มีแต่ทำให้ทัศนียภาพเมืองเสียหาย ควรนำงบที่ได้จากภาษีประชาชนไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นแทน

• ตราบใดที่ยังไม่ขุดยังชะลอได้
ด้านนายสุวัฒน์ จึงวิวัฒนาภรณ์ กล่าวว่า เมื่อปี ๒๕๕๙ กรมทางหลวงได้จัดทำประชาพิจารณ์ แต่มีการคัดค้านจึงได้ยุติโครงการโดยปริยาย จากนั้นได้นำมาปัดฝุ่นเมื่อปี ๒๕๖๒ จัดประชุมผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และไม่ได้ยกมือโหวตชัดเจน สิ่งสำคัญไม่เคยมองเห็นผลกระทบของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่าต้องการหรือไม่ แต่ตั้งธงว่าต้องดำเนินการให้ได้ และไม่เคยแจ้งบทสรุปการประชุม การคำนึงถึงความคุ้มค่าการลงทุนที่ควรจัดสรรงบแก้ไขปัญหาจราจรที่สะพานหัวทะเลจะสามารถตอบโจทย์ได้ตรงตามเป้าหมาย กรมทางหลวงต้องแก้ไขทั้งระบบ มิใช่จุดนี้แห่งเดียว เหมือนผลักคนให้ออกจากเมืองมากกว่าการดึงดูดเข้าเมือง จู่ๆ อ้างมีประชาชนเห็นชอบ จากนั้นก็ดำเนินโครงการจนถึงขั้นตอนประมูลหาผู้รับจ้าง แต่ตราบใดที่ยังไม่ลงมือขุดถนนก็ยังมีโอกาสที่จะขอให้ชะลอโครงการได้

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๕๓ ประจำวันที่ ๑๕ พฤษภาคม - ๑๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๖๖


1004 1650