2ndMay

2ndMay

2ndMay

 

January 01,1970

‘โคราชเมือง ๓ มรดกโลกยูเนสโก’ ความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือของชุมชน ความภูมิใจของคนโคราชและประเทศไทย

นับเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะเป็นสิ่งที่ชาวโคราช หรือชาวจังหวัดนครราชสีมารอคอยมาแสนนาน โดยเฉพาะผู้บริหาร คณะทำงาน ชาวชุมชนในพื้นที่ ๕ อำเภอในพื้นที่โคราชจีโอพาร์ค ได้แก่ สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ เมือง และเฉลิมพระเกียรติ เมื่อ ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช ซึ่งปลุกปั้นทำงานด้านนี้มาเกือบจะทุกช่วงชีวิต ประกาศข่าวดีว่า เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ในการประชุมคณะกรรมการบริหารองค์การยูเนสโก ครั้งที่ ๒๑๖ (216th session of the Executive Board) ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๐–๒๔ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ที่องค์การยูเนสโก สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้มีมติรับรองให้ “โคราชจีโอพาร์ค” เป็น “UNESCO Global Geopark” ซึ่งเท่ากับว่า กลายเป็น “เมือง ๓ มรดกโลกของยูเนสโก” แล้ว

ภายหลังการได้รับข่าวดีนี้ ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโลก ก็เดินทางมาให้ข้อมูลกับ “โคราชคนอีสาน” ซึ่งท่านบอกว่า

“ในโลกนี้มีแล้ว ๓ แห่งที่มีพื้นที่มรดกโลกของยูเนสโกครบทั้ง ๓ โปรแกรมในจังหวัดเดียวกัน ที่ประเทศจีน ๒ แห่ง และเกาหลีได้อีก ๑ แห่ง เพราะฉะนั้น โคราชเป็นแห่งที่ ๔ เพียงแต่เราไม่ได้ทับซ้อนกันเหมือนอีก ๓ เมืองนั้น แต่เราก็สามารถเรียกได้ว่า เราเป็นดินแดนแห่ง ๓ มรดกโลกยูเนสโก หรือ UNESCO Triple Heritage City”

ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโลก

 

• ๕ คุณสมบัติสำคัญสู่การรับรอง

ผศ.ดร.ประเทือง บอกเล่าถึงคุณสมบัติสำคัญที่ยูเนสโกพิจารณา ดังนี้
๑.ภูมิประเทศด้านธรณีวิทยาระดับนานาชาติ ซึ่งต้องมีเอกสารตีพิมพ์ในระดับนานาชาติ เวลาค้นหาก็จะพบงานวิจัย สำหรับโคราชในส่วนของพิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินนั้น เคยมีการตีพิมพ์เรื่องฟอสซิลไม่ต่ำกว่า ๖๐ เปเปอร์ จึงชูความโดดเด่นเหล่านี้ คือ ฟอสซิลสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม พบช้างดึกดำบรรพ์มากที่สุดในโลก ๑๐ สกุล อุรังอุตัง แรดไร้นอ บรรพบุรุษของฮิปโป ในส่วนของช้างดึกดำบรรพ์เป็นพันธุ์ใหม่ของโลกด้วย ฉะนั้นในเมื่อเป็นพันธุ์ใหม่ของโลกก็ต้องมีวารสารตีพิมพ์ในระดับโลก

๒.ไดโนเสาร์ เราเจอถึง ๔ สายพันธุ์ใหม่ เช่น สิรินธรน่า โคราชเอนซิส และสยามแรปเตอร์ ซึ่งเป็นพันธุ์กินเนื้อที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน

๓.ไม้กลายเป็นหิน ใน ๕ อำเภอลุ่มน้ำลำตะคอง เราเจอไม้กลายเป็นหินจำนวนมาก ความจริงทั้งจังหวัดเจอถึง ๒๐ อำเภอ จากทั้งหมด ๓๒ อำเภอ แต่ใน ๕ อำเภอนี้เราเจอไม้กลายเป็นหินทุกอำเภอ โดยเฉพาะอำเภอเฉลิมพระเกียรติ เมือง ขามทะเลสอพบหนาแน่นมาก มีไม้กลายเป็นหินเนื้ออัญมณีซึ่งไม่เคยพบที่อื่นในประเทศไทย
๔.หมวดหินโคกกรวด หินทรายแดงในแถบโคกกรวดในพื้นที่ที่มีการปลูกมันสำปะหลัง เมื่อขุดลงไปจะเจอเป็นหินทรายแดงที่นำมาทำปราสาท มีกระดูกไดโนเสาร์อยู่ทั่วไป เพราะว่าชื่อหมวดหินโคกกรวดเป็นชื่อมาจากโคราช เป็นหมวดหินที่เป็นแบบฉบับ ถ้าไปพบที่อุบลฯ แล้วเป็นหมวดหินแบบนี้ก็เรียกหมวดหินโคกกรวด และมีผลงานตีพิมพ์จำนวนมาก
๕.ภูมิประเทศเขามีดโต้หรือเควสตา ซึ่งพบกว่า ๒๐ เขาแถบสีคิ้ว สูงเนิน เช่น เขายายเที่ยง เขาซับประดู่ เขาขนานจิตร เขาสามสิบส่าง

• เน้นชุมชนมีส่วนร่วม
“นี่คือความโดดเด่น ซึ่งยูเนสโกส่งไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านธรณีวิทยาเห็นชอบแล้ว และยอมรับว่าโคราชโดดเด่นทั้ง ๕ ประการจริง แต่สิ่งที่สำคัญคือเมื่อผ่านสิ่งเหล่านี้แล้วจะมีการประเมินภาคสนามเพื่อมาดูการมีส่วนร่วมของชุมชนว่า มีส่วนในการบริหารจัดการและจัดกิจกรรมหรือไม่ เน้นการบริหารจัดการจากล่างสู่บน กระทั่งได้รับความประทับใจมากเมื่อไปตามแหล่งต่างๆ เพราะชุมชนได้นำเสนอว่าแหล่งพื้นที่ของตนเองมีความสำคัญอย่างไร มีผลิตภัณฑ์ใดที่เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับธรณีวิทยา ซึ่งผู้ประเมินมาประมาณ ๓-๔ วันก็ประทับใจมาก และบอกว่า โคราชเป็นเรียลจีโอพาร์ค หรือเป็นจีโอพาร์คที่แท้จริง คำว่า “แท้จริง” ก็คือชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วมร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผน ร่วมรับประโยชน์” ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช กล่าว

ผศ.ดร.ประเทืองขยายความว่า ชุมชนและท้องถิ่นมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผน ร่วมรับประโยชน์ว่า คือทั้ง ๕ อำเภอจะมีวิสาหกิจชุมชน ๑๓ แห่ง มีวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยว เช่น ท่าช้างมีการทอเสื่อ ทอผ้าแล้วนำเรื่องฟอสซิลเข้าไปอยู่ในกระเป๋าและผ้าต่างๆ ทำให้เกิดความเชื่อมโยง และสามารถเล่าเรื่องราวได้ว่าที่นี่เป็นดินแดนของช้างดึกดำบรรพ์ มีช้างสี่งาช้างงาจอบ หรือที่ถ้ำเขาจันทร์งามสีคิ้ว ซึ่งมีภาพเขียนสี ๔,๐๐๐ ปีที่ปรากฏอยู่บนผนังหินทราย ซึ่งมัคคุเทศก์สามารถเล่าเรื่องราวเชื่อมโยงได้ และมีการผลิตผ้าออกมา รวมทั้งงานต่างๆ จะมีการทำงานบูรณาการการทำงานร่วมกันทั้งชุมชน วัด ครู นักเรียน ทำให้คณะประเมินประทับใจมาก เพราะชุมชนร่วมคิดร่วมทำ ซึ่งโดยทั้ง ๕ อำเภอจะมีทั้งชุมชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นายกเทศมนตรี ชาวบ้านมาเป็นทีมบริหารจีโอพาร์คด้วย

• พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว
เมื่อได้รับการประกาศรับรองเป็นเมืองมรดกโลกยูเนสโกแล้ว ย่อมมีนักท่องเที่ยวหรือนักเดินทางเข้ามาเยือน ซึ่งในส่วนนี้ “ผศ.ดร.ประเทือง” เปิดเผยว่า มีการประชาสัมพันธ์เส้นทางท่องเที่ยวโคราชจีโอพาร์ค ๗ เส้นทาง ซึ่งมีกว่า ๒๐ แหล่ง รวมทั้งจะมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามา ได้รับการสนับสนุนจาก ททท., สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา และวัฒนธรรมจังหวัด ขณะนี้ก็เริ่มมีองค์กรต่างๆ ในต่างจังหวัดเข้ามาเยี่ยมชม ที่สำคัญคือเรายังชูความเป็นดินแดนแห่ง ๓ มรดกโลกยูเนสโกว่า เรามีเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงมรดกโลกเขาใหญ่ พื้นที่สงวนชีวมณฑลสะแกราช และโคราชจีโอพาร์ค เป็นวงแหวนท่องเที่ยวของ ๓ มรดกโลก คิดว่าจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว และสามารถดึงนักท่องเที่ยวจากเขาใหญ่ที่มีจำนวนมากแต่ไม่ค่อยได้เข้ามาเที่ยวในเขตโคราชโดยอาศัยความเป็นเมือง ๓ มรดกโลก และยูเนสโกก็ประชาสัมพันธ์ในระดับโลกด้วย เช่นที่สเปนหรืออิตาลีถ้าเมืองใดเป็นมรดกโลกคนก็จะไปเที่ยวที่นั่น เพราะเป็นเรื่องความเชื่อมั่นในเรื่องคุณภาพ ของโคราชก็เช่นเดียวกัน ขณะนี้อาจจะไม่สมบูรณ์ ๑๐๐% แต่เมื่อภาคส่วนต่างๆ ตระหนักถึงความสำคัญในจุดนี้ก็จะช่วยกันสร้างให้มีความพร้อมเพิ่มขึ้น
“ขณะนี้ก็มีหลายส่วนพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวแล้ว เช่น พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินฯ, ท่าช้าง, บ้านโพนสูง, ปราสาทหินพนมวันท์, บ้านมะค่า, พระนอนเมืองเสมา, บ้านส้มกบงาม, แหล่งเกลือบ้านพันดุง, หมู่บ้านไท-ยวน, ถ้ำเขาจันทร์งาม และเขายายเที่ยง เป็นต้น ก็มีความพร้อมที่จะต้อนรับนักท่องเที่ยว”

• โคราชเมือง ๓ มรดกโลกยูเนสโก
ผศ.ดร.ประเทือง กล่าวย้ำว่า โคราชจีโอพาร์คได้รับการรับรองจากยูเนสโกแล้วเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๖ ส่งผลให้จังหวัดนครราชสีมาเป็นจังหวัดเดียว และประเทศไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ได้ชื่อว่าเป็น “เมือง ๓ มรดกโลกยูเนสโก” อยู่ที่โคราช และโคราชก็ชูเอกลักษณ์ความโดดเด่นคือ โคราชจีโอพาร์คเป็นดินแดนแห่งเขาเควสตาและฟอสซิล จึงขอเชิญชวนชาวไทยมาร่วมสัมผัส และท่องเที่ยวจีโอพาร์คโลกแห่งใหม่ ซึ่งเป็นแห่งที่สองของไทยต่อจากจีโอพาร์คสตูล จะได้พบกับความแปลกใหม่ เห็นคุณค่าความสำคัญของมรดกท้องถิ่น ที่คนในท้องถิ่นภาคภูมิใจกระทั่งยูเนสโกให้การรับรอง”

• รับใบประกาศรับรอง
และเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๖๖ ถือเป็นความภาคภูมิใจอย่างที่สุด เมื่อ มร.หลีปิง หวัง รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโก บางกอก ประเทศไทย เป็นตัวแทนของสำนักงานใหญ่ยูเนสโกที่กรุงปารีส มอบป้ายแสดงความยินดีโคราชจีโอพาร์คเป็นจีโอพาร์คโลกยูเนสโก ให้กับตัวแทนชุมชน โรงเรียน และหน่วยงานพันธมิตรต่างๆ ในพื้นที่โคราชจีโอพาร์ค ๕ อำเภอ ณ สำนักงานยูเนสโก กรุงเทพมหานคร

 

• นายกรัฐมนตรีร่วมยินดี
นอกจากนี้ คณะซึ่งประกอบด้วย นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รศ.ดร.อดิศร เนาวนนท์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช ผศ.ดร.ณัฏฐินี ทองดี ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ และคณะกรรมการอุทยานธรณีโคราช เดินทางไปยังตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเข้าพบ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์ เรื่อง “อุทยานธรณีโคราชได้รับการรับรองเป็นอุทยานธรณีโลกของยูเนสโก (UNESCO Global Geoparks)” อีกด้วย ซึ่ง มร.หลีปิง หวัง ได้มอบเอกสารรับรอง UNESCO Global Geopark แด่นายกรัฐมนตรี จากนั้น นายกรัฐมนตรีมอบต่อให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา รวมทั้ง นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มอบเอกสารแสดงความยินดีให้กับ ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการอุทยานธรณีโคราช ในโอกาสที่อุทยานธรณีโคราชได้รับการรับรองจากยูเนสโก

ทั้งนี้ “โคราชจีโอพาร์ค” ประกาศจัดตั้งเมื่อปีพ.ศ.๒๕๕๘ (๒๙ กันยายน ๒๕๕๘) โดยนายธงชัย ลืออดุลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาขณะนั้น

“โคราชคนอีสาน” ในฐานะสื่อมวลชนขอแสดงความยินดีและภาคภูมิใจกับการได้รับการประกาศรับรองให้ “โคราชจีโอพาร์ค” เป็น “UNESCO GLOBAL GEOPARK” ซึ่ง “ผศ.ดร.ประเทือง จินตสกุล” ย้ำว่า “โคราชรายวัน (โคราชคนอีสาน) ให้การสนับสนุนเรื่องฟอสซิล พิพิธภัณฑ์ไม้กลายเป็นหินมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๓๗ คุณสุนทร (จันทร์รังสี) สนับสนุนมาตลอด ยอมรับว่าเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีคุณภาพ ให้ข้อมูลที่ถูกต้องมากที่สุด”

ท้ายสุด ขอเชิญชวนมาท่องเที่ยวโคราช เมือง ๓ มรดกโลกของยูเนสโก

• ทีมข่าวโคราชคนอีสาน

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๕๔ ประจำวันที่ ๑๕ มิถุนายน - ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๖๖

 

 


1067 1,548