June 28,2023
ตัดทุเรียน ‘ศรีสะเกษ ๒๓๘’ ลูกแรก ทุเรียนคนศรีสะเกษเพื่อคนทั้งโลก ชวนเที่ยว‘เทศกาลทุเรียนภูเขาไฟ’
วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๖ นายสำรวย เกษกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยนายวัฒนา พุฒิชาติ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ ร่วมกันตัดทุเรียนพันธุ์ศรีสะเกษ ๒๓๘ ลูกแรก ณ สวนรัชตา บ้านซำขี้เหล็ก ตำบลพราน อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ
“ทุเรียนพันธุ์ศรีสะเกษ ๒๓๘” เป็นทุเรียนที่จังหวัดศรีสะเกษร่วมกับศูนย์วิจัยพืชสวนศรีสะเกษ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร ได้วิจัยและพัฒนาพันธุ์ขึ้นเอง ซึ่งมีพันธุกรรมใกล้เคียงกับพันธุ์กบสุวันและพันธุ์กระดุม โดยให้ชื่อว่า “ทุเรียนศรีสะเกษ ๒๓๘” เพื่อเฉลิมฉลองการก่อตั้งเมืองศรีสะเกษครบรอบ ๒๓๘ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๖๔ และให้เกษตรกรชาวจังหวัดศรีสะเกษได้ปลูกสร้างชื่อเสียงแสดงออกถึงความโดดเด่นของอัตลักษณ์ทุเรียนพันธุ์ใหม่ ทุเรียนศรีสะเกษ ๒๓๘ มีน้ำหนักเบา รูปร่างทรงรูปไข่กลับ รูปร่างหนามผลนูนปลายแหลม มีเนื้อเหลืองเข้มกลิ่นอ่อน เนื้อละเอียด รสชาติหวานมัน ปริมาณน้ำในเนื้อน้อย จำนวนพู ๔-๕ พูต่อผล
ทั้งนี้ คาดว่าในอนาคต ทุเรียนศรีสะเกษ ๒๓๘ ทุเรียนของคนศรีสะเกษ จะเป็นที่ชื่นชอบของทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ที่มีความอร่อย ที่มีความเป็นอัตลักษณ์นี้ จะทำให้เป็นสินค้าเฉพาะที่มีความต้องการสูงมาก ซึ่งจะส่งผลต่อราคาต่อหน่วยที่สูงขึ้นด้วย เกษตรกรจะสามารถขายทุเรียนแข่งขันในตลาดได้ดีมากยิ่งขึ้น ขายได้ราคาสูงเพิ่มมากขึ้น เศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัดศรีสะเกษก็จะดีขึ้น และยั่งยืนต่อไป
อย่างไรก็ตาม จังหวัดศรีสะเกษ กำหนดจัดงาน “เทศกาลทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ปี ๒๕๖๖” ระหว่างวันที่ ๒๓ มิถุนายน – ๒ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ณ บริเวณสนามหน้าศาลากลางจังหวัดศรีสะเกษ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สนับสนุนส่งเสริมเกษตรกร ชาวสวนนำผลผลิตมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภคโดยตรง เพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางการตลาด และยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัด มีการให้บริการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เพื่อนำนักท่องเที่ยวเข้าชมสวนทุเรียน เลือกชิมและเลือกซื้อทุเรียนจากสวน ซึ่งทำให้เกิดรายได้ต่อชาวสวน และสร้างรายได้เข้าจังหวัดศรีสะเกษ
โดยในปี ๒๕๖๖ จัดงานขึ้นภายใต้แนวคิดที่เปรียบทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษเสมือนหัวขบวนรถไฟที่ลากตู้ขบวนของดีเมืองศรีสะเกษไปสู่ผู้บริโภค ภายในงานจะมีการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรโดยเฉพาะทุเรียน และผลไม้อื่นๆ จากกลุ่มแปลงใหญ่และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน นอกจากนี้ยังมีสินค้าเกษตรแปรรูป และผลิตภัณฑ์ชุมชน (OTOP) ตลอดทั้งการจัดนิทรรศการของหน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ รวมทั้งสิ้นกว่า ๒๐๐ ร้าน
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๒๗๕๔ วันที่ ๑๕ เดือนมิถุนายน - วันที่ ๑๔ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
725 1,487