July 26,2023
ลงทุน ‘โคราช’ ยังเฟื่องฟู ไตรมาสแรกพุ่ง ๖,๐๐๕ ล. บุรีรัมย์’ตามติด ๓,๑๔๓ ล้าน
ศูนย์เศรษฐกิจการลงทุนภาคที่ ๒ (นครราชสีมา) หรือ บีโอไอโคราช โดยนายอิสระ อมรกิจบำรุง ผู้อำนวยการบีโอไอโคราช เปิดเผยภาพรวมการส่งเสริมการลงทุนใน ๓ เดือนแรกปี ๒๕๖๖ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างในพื้นที่รับผิดชอบ ๘ จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ซึ่งมีโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมในพื้นที่ ๘ จังหวัด จำนวน ๒๐ โครงการ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ ๑๒๒ และมีมูลค่าเงินลงทุน ๙,๙๗๘ ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ ๙๙๒
โดยจังหวัดนครราชสีมา มีจำนวนมากที่สุดถึง ๘ โครงการ คิดเป็นร้อยละ ๔๐ ของพื้นที่อีสานตอนล่าง และคิดเป็นร้อยละ ๒๓ ของพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด โดยเป็นกิจการผลิตหรือถนอมอาหาร เครื่องดื่ม วัตถุเจือปนอาหาร (Food Additive) หรือสิ่งปรุงแต่งอาหาร (Food Ingredient), กิจการผลิตแป้งแปรรูป (โมดิไฟด์สตาร์ช) หรือแป้งจากพืชที่มีคุณสมบัติพิเศษ, กิจการผลิต Advanced หรือ Nano Materials หรือการผลิตผลิตภัณฑ์จาก Advanced หรือ Nano Materials ที่มีขั้นตอนการผลิตต่อเนื่องจากการผลิต Advanced หรือ Nano Materials ในโครงการเดียวกัน, กิจการผลิตผลิตภัณฑ์กลุ่มภาพและเสียง (AUDIO VISUAL PRODUCT), กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลมชีวมวล ก๊าซชีวภาพ เป็นต้น ยกเว้นขยะหรือเชื้อเพลิงจากขยะ ๔ โครงการ
นายอิสระ อมรกิจบำรุง ผู้อำนวยการบีโอไอโคราช
รองลงมา คือ จังหวัดบุรีรัมย์มี ๔ โครงการ เป็นกิจการผลิตยางขั้นต้น ๓ โครงการ และกิจการสถานพยาบาล, จังหวัดชัยภูมิ ๔ โครงการ เป็นกิจการผลิตเครื่องนุ่งห่ม เครื่องประกอบการแต่งกาย และเคหะสิ่งทอ, กิจการบำบัดหรือกำจัดของเสีย และกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานหมุนเวียนฯ, จังหวัดอุบลราชธานี ๒ โครงการ เป็นกิจการแปรรูปยางขั้นต้น, กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานหมุนเวียนฯ, จังหวัดศรีสะเกษ ๑ โครงการ, กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานหมุนเวียนฯ และจังหวัดสุรินทร์ ๑ โครงการ เป็นกิจการสถานพยาบาล
สำหรับเงินลงทุนในโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมในพื้นที่อีสานตอนล่างในไตรมาสแรก จังหวัดนครราชสีมามีมูลค่าเงินลงทุน ๖,๐๐๕ ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ ๖๐ ของพื้นที่อีสานตอนล่าง และคิดเป็นร้อยละ ๔๕ ของพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมด รองลงมา คือ จังหวัดบุรีรัมย์ เงินลงทุน ๓,๑๔๓ ล้านบาท ตามมาด้วยจังหวัดสุรินทร์ เงินลงทุน ๖๕๐ ล้านบาท, จังหวัดชัยภูมิ เงินลงทุน ๑๕๔ ล้านบาท, จังหวัดอุบลราชธานี เงินลงทุน ๒๐ ล้านบาท และจังหวัดศรีสะเกษ เงินลงทุน ๖ ล้านบาท
ในจำนวน ๒๐ โครงการใน ๘ จังหวัดภาคอีสานตอนล่างนั้น เป็นโครงการใหม่ ๖ โครงการ อยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ ๓ โครงการ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดสุรินทร์ และจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดละ ๑ โครงการ นอกนั้นเป็นการขยายกิจการ ๑๔ โครงการ อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ๗ โครงการ จังหวัดชัยภูมิ ๔ โครงการ ส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดศรีษะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดละ ๑ โครงการ ในจำนวน ๒๐ โครงการนี้เป็นคนไทยถือหุ้นทั้งสิ้น ๑๔ โครงการ มูลค่าเงินลงทุน ๒,๒๒๐ ล้านบาท และต่างชาติถือหุ้นทั้งสิ้น ๓ โครงการ มูลค่าเงินลงทุน ๖,๖๘๑ ล้านบาท นอกจากนี้ เป็นการร่วมหุ้นไทยและต่างชาติ ๓ โครงการ มูลค่าเงินลงทุน ๑,๐๗๗ ล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนตามมาตรการพิเศษ ดังนี้ ๑.มาตรการส่งเสริมการลงทุนปรับปรุงประสิทธิภาพ มีโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน จำนวน ๕ โครงการ เงินลงทุน ๔๗๗ ล้านบาท อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมตามมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการประหยัดพลังงาน โดยเป็นโครงการผลิตสินค้ากึ่งสำเร็จรูปของเครื่องรับโทรทัศน์ที่ผลิตเอง กิจการผลิตสารให้ความหวาน อยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี กิจการผลิตยางแท่ง อยู่ในจังหวัดชัยภูมิ กิจการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ๒.มาตรการส่งเสริม SMEs มีโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน ๑ โครงการ เงินลงทุน ๑๑๓ ล้านบาท อยู่ในจังหวัดนครราชสีมา เป็นกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
ส่วนโครงการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนจำแนกตามพื้นที่เป้าหมาย มีการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย ๒๐ จังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำ ซึ่งจะได้รับสิทธิและประโยชน์เพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการ กระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาคของรัฐบาล โดยในพื้นที่อีสานตอนล่างมีโครงการที่อนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุน จำนวน ๑๒ โครงการ เงินลงทุน ๓,๙๗๓ ล้านบาท อยู่ในจังหวัดชัยภูมิ ๔ โครงการ เป็นกิจการผลิตเครื่องนุ่งห่ม เครื่องประกอบการแต่งกายและเคหะสิ่งทอ , กิจการบำบัดหรือกำจัดของเสีย, กิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานหมุนเวียน ๒ โครงการ อยู่ในจังหวัดบุรีรัมย์ ๔ โครงการ เป็นกิจการผลิตยางขั้นต้น ๓ โครงการ และกิจการสถานพยาบาล อยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี ๒ โครงการ เป็นกิจการผลิตยางขั้นต้น และกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานหมุนเวียน อยู่ในจังหวัดสุรินทร์และจังหวัดศรีสะเกษ จังหวัดละ ๑ โครงการ เป็นกิจการสถานพยาบาล และกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานไฟฟ้าและไอน้ำจากพลังงานหมุนเวียน
นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๒๗๕๕ วันที่ ๑๕ กรกฎาคม - วันที่ ๑๔ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
51 1,563