2ndMay

2ndMay

2ndMay

 

January 01,1970

ดัน ‘ป๋าซิม’ สำเร็จ นั่งประธานหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง อีก ๓ ซกไม่เข้าร่วมเลือกตั้ง

 

ตามที่มีหนังสือที่ มต.๘๙๕/๒๕๖๖ ลงวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๖ ลงนามโดยนายศิวัช เตียเจริญวรรธน์ ระบุตำแหน่งเลขาฯคณะกรรมการยกร่างข้อบังคับการเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ และรักษาการเลขานุการประธานมูลนิธิฯ ส่งหนังสือเชิญเรื่อง การประชุมเลือกตั้งประธานมูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน (มูลนิธิหลักเซี่ยงตึ๊ง) สมัยที่ ๔๑ ระบุว่า “ตามที่มูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน (มูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง) สมัยที่ ๔๐ ปีบริหาร ๒๕๖๔ - ๒๕๖๕ (รักษาการ) ได้หมดวาระการดํารงตําแหน่งประธานมูลนิธิฯ และคณะกรรมการมูลนิธิ ลงเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ นั้น ในการนี้ได้มีการเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ และคณะ คณะกรรมการไปแล้วจํานวน ๒ ครั้ง แต่การเลือกตั้งยังไม่ เสร็จสมบูรณ์ตามข้อบังคับของตราสารมูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน (มูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง) ต่อมามูลนิธิฯ จึงได้มีการจัดประชุมเมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๖ มีมติให้มีการเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ ให้แล้วเสร็จภายใน ๔๕ วัน และมีมติให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจจํานวน ๑๒ คน เป็นผู้ยกร่าง ข้อบังคับระเบียบ และกําหนดกฎเกณฑ์ ในการเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ เพื่อดํารงตําแหน่งประธานมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๑ ปีบริหาร ๒๕๖๖ ๒๕๖๗ และให้มีคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งอีกจํานวน ๕ ท่าน เพื่อดําเนินการ เลือกตั้งประธานมูลนิธิให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ต่อไป จึงขอเรียนเชิญท่านคณะกรรมการมูลนิธิสมัยที่ ๔๑ ดังกล่าวเข้าร่วมเลือกตั้งในวันอาทิตย์ที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ น. ณ มูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน (มูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง) ตําบลในเมือง อําเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา” นั้น

ล่าสุดในวันอาทิตย์ที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. ที่มูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง (สว่างเมตตาธรรมสถาน) ถนนโยธา เมืองนครราชสีมา มีการประชุมเพื่อเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ โดยมี พ.ต.อ.ประสิทธิ์ เปรมกมล ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา เป็นประธาน กกต. ร่วมกับ นายสุเทพ ณัฐกานต์กนก โดยมีนายรังสรรค์ อินทรชาธร ทำหน้าที่เลขาฯ ทั้งนี้ มีผู้ร่วมสังเกตการณ์ อาทิ นายรัฐประทีป กีรติอุไร, นายอังคาร เมธาบุตร, นายยงยุทธ ปริญญวัฒน์ และนายโสภณ ศุภสีห์ เป็นต้น รวมทั้งนายอุทัย มิ่งขวัญ อดีตผู้สมัคร ส.ส.ยโสธร เขต ๑ พรรคภูมิใจไทย ด้วย

นายสุเทพ ณัฐกานต์กนก ในฐานะ กกต.ประกาศว่า การประชุมในวันนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งประธานฯ มาครบองค์ประชุม จึงขอให้มีการเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ ให้เสร็จสมบูรณ์ตามมติที่ประชุมสมัยที่ ๔๐ ปีบริหาร ๒๕๖๔-๒๕๖๕ เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๖ ตามตราสารของมูลนิธิฯ และกฎหมายต่อไป  


นายสุเทพ ชี้แจงระเบียบการเลือกตั้งว่า ข้อบังคับการเลือกตั้ง คณะกรรมการเลือกตั้ง ๕ คน มาครบแล้ว ๓ คนมีคนนอก ๑ คนคือ ผกก. สำหรับการเลือกตั้ง กรณีมีคู่แข่งขัน และมีคะแนนเสียงเท่ากันให้มีการจับฉลากในทางลับ แล้วนำคะแนนนั้นมาประกาศให้ที่ประชุมรับทราบ, กรรมการ ๔๒ คนที่มีสิทธิลงคะแนน สมาคมใดสมาคมหนึ่งจะเปลี่ยนคณะกรรมการไม่ได้ ยกเว้นการจะมีการยินยอมจากบุคคลที่จะถูกเปลี่ยน และไม่มีการมอบอำนาจ ซึ่งการเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ กำหนดเป็นวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ ตามมติเสียงส่วนใหญ่เมื่อวันที่ ๒๒ ซึ่งไม่มีผู้ใดทักท้วง

นายรังสรรค์ อินทรชาธร

จากนั้น นายรังสรรค์ อินทรชาธร แจ้งต่อที่ประชุมว่า มูลนิธิฯ มีกรรมการจาก ๖ สมาคมๆ ละ ๗ คน รวม ๔๒ คน แต่ในวันนี้มีผู้มาร่วมประชุม ๒๒ คน โดยอ่านรายชื่อผู้เข้าร่วม ได้แก่ สมาคมโผวเล้ง นครราชสีมา ๗ คน, สมาคมจีนเตี้ยอันในประเทศไทยสาขานครราชสีมา ๗ คน, สมาคมเตี่ยเอี้ยแห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา ๗ คน และสมาคมเท่งไฮ้แห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา ๑ คน ส่วนสมาคมเก๊กเอี๊ย, สมาคมเหยี่ยวเพ้ง และสมาคมเท่งไฮ้ ขาด ๖ คน ไม่มาลงชื่อในวันนี้ถือว่าขาดการประชุม จึงมีผู้มาประชุมในวันนี้ ๒๒ คนเท่านั้น ดังนั้น คณะกรรมการสมัยที่ ๔๑ มาประชุมในวันนี้ มี ๒๒ คน

จากนั้นเปิดโอกาสให้แต่ละสมาคมเสนอชื่อผู้ที่จะเข้ามารับเลือกตั้งเป็นประธานมูลนิธิฯ โดยนายอนันตศักดิ์ ตั้งสิทธิประเสริฐ เสนอนายประยูร พิทักษ์วาณิชย์ แต่นายประยูร สละสิทธิ์ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องสุขภาพ จากนั้นนายชัยชนะ ประพฤทธิพงษ์ เสนอชื่อนายทรงศักดิ์ (ซิม) อุไรธรากุล มีผู้ยกมือรับรอง และไม่มีการเสนอรายชื่ออื่นเพิ่มเติม จึงเท่ากับมีผู้สมัครเพียงคนเดียว และนายทรงศักดิ์ตอบรับ จากนั้นมีการยกมือรับรอง

ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการการเลือกตั้ง นายทรงศักดิ์ อุไรธรากุล แถลงต่อสื่อมวลชนว่า “ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณสมาชิกมูลนิธิฯ สมัย ๔๑ ที่พร้อมใจมาเลือกตั้ง ผมเองมีความรู้สึกว่า อยากเข้ามาบริหารในครั้งนี้เพื่อแก้ไข ปรับปรุง ในสิ่งที่เป็นอยู่ให้ดีขึ้น มูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊งไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน มูลนิธิเป็นของประชาชน จะต้องทำให้ทั้ง ๖ ซกมีความสามัคคีกัน จึงจะเข้ามาปรับปรุงแก้ไขให้มีความรักใคร่สามัคคีกัน”

ทั้งนี้ นายทรงศักดิ์ อุไรธรากุล หรือ “ซิม” เป็นนักธุรกิจใหญ่ในจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมักจะแทนตัวเองว่า “ป๋า” ปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทแผ่นดินทองและในเครือ ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ในชื่อ “แผ่นดินทอง” และเป็นผู้แทนจำหน่ายรถยนต์ในเครือ “ปฐพีทอง”

อนึ่ง ในส่วนของรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๑ ปีบริหาร ๒๕๖๖-๒๕๖๗ ประกอบด้วย ๖ สมาคมๆ ละ ๗ คน ดังนี้

๑.สมาคมจีนเตี้ยอันในประเทศไทยสาขานครราชสีมา ได้แก่ ๑) นายมงคล สธนเสาวภาคย์ ๒.นายยรรยง มานะเสถียร ๓) นายวิชัย ศิริจรูญวงศ์ ๔) นายกรวิวัฒน์ ตันอมรศุภวัฒน์ ๕) นายอนันตศักดิ์ ตั้งสิทธิประเสริฐ ๖) นายประทักษ์ ติรกาญจน์ ๗) นายสุรพงษ์ พัวอมรพงศ์

๒.สมาคมเตี่ยเอี้ยแห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา ได้แก่ ๑) นายประยูร พิทักษ์วาณิชย์ ๒) นายภูเบศ โชติถาวรศักดิ์ ๓) นายศิวัช เตียเจริฐวรรธน์ ๔) นพ.ไชยรัตน์ บุญทวียุวัฒน์ ๕) นายอรรณพ สัณธนะ ๖) นายสมศักดิ์ จรัสจินดารัตน์ ๗) นายสมศักดิ์ เจตน์วิทยาชาญ

๓.สมาคมโผวเล้ง นครราชสีมา ได้แก่ ๑) นายทรงศักดิ์ อุไรธรากุล ๒) นายลอฮ้ง แซ่กัว ๓) นายสุวิช วงศ์เบญจรัตน์ ๔) นายชัยชนะ ประพฤทธิพงษ์ ๕) นายสัญชัย ธีรการุณย์วงศ์ ๖) นายกฤชรัช จูเจิดจรัส ๗) นายเฉลิมชัย วิชิตธนาคม

๔.สมาคมเหยี่ยวเพ้ง ได้แก่ ๑) นายอภิภวัส ตั้งนันทนาการ ๒) นายประวิทย์ บูรณะบัญญัติ ๓) นายธนาวัฒน์ วงศ์ธนากิจเจริญ ๔) นายธนาคม วิมลวัตรเวที ๕) นายเชวงศักดิ์ หลวงเมือง ๖) นายวิชาญ ศรีนวกุล ๗) นายไพบูลย์ พฤกษ์พนาเวศ

๕.สมาคมจีนเก๊กเอี๊ยแห่งประเทศไทยสาขานครราชสีมา ได้แก่ ๑) นายกิตติศาสตร์ ลิ้มประยูรสวัสดิ์ ๒) นายศรรบ หล่อธราประเสริฐ ๓) นายซำ สันติเศรษฐสิน ๔) นายณรงค์ศักดิ์ วงศ์จร ๕) นายไพฑูรย์ ชาญปรีชารัตน์ ๗) นายธนพงษ์ สุทธิกุลเวทย์

๖.สมาคมเท่งไฮ้แห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา ได้แก่ ๑) นายธงชัย ทองแสงสุข ๒) นายสมศักดิ์ ชื้อรัตนากร ๓) นายวัลลภ นิ่มเจริญนิยม ๔) นายพงษ์พิพัฒน์ จินดาประเสริฐ ๕) นายยุทธชัย ชื้อรัตนากร ๖) นายจีรวัฒน์ ศิริวิกุล ๗) นายสหพล กาญจนเวนิช

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของนายอภิภวัส ตั้งนันทนาการ รักษาการประธานมูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน มีหนังสือที่ ม.ต. ๘๙๙/๒๕๖๖ ลงวันที่ ๓ สิงหาคม ๒๕๖๖ ส่งถึงคณะกรรมการมูลนิธิสมัยที่ ๔๐ และคณะกรรมการทั้ง ๖ สมาคมที่มีรายชื่อส่งเข้าเป็นกรรมการสมัยที่ ๔๑ เรื่องการออกหนังสือการประชุมเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๑ ไม่ถูกต้องตามขั้นตอน โดยระบุว่า “การดําเนินการที่ถูกต้องต้องจัดประชุม “คณะอนุกรรมการร่างระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งเฉพาะกิจในการเลือกตั้งประธาน สมัยที่ ๔๑” ซึ่งจะต้องทําการร่างระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งเฉพาะกิจในการเลือกตั้งคณะกรรมการ สมัยที่ ๔๑ และแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้งขึ้นมา ๑ คณะ ทําหน้าที่เป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง สมัยที่ ๔๑ (คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องยินยอมและพร้อมเป็นคณะกรรมการการเลือกตั้ง) เป็นหน้าที่ของคณะอนุกรรมการจะต้องเป็นผู้ดําเนินการ)”

 

ทั้งนี้ ต้องติดตามต่อไปว่า ในส่วนของสมาคมที่ไม่เห็นด้วยกับการจัดประชุมเลือกประธานมูลนิธิฯ ในครั้งนี้ และไม่ได้เข้ามาร่วมจะมีการดำเนินการอย่างไร โดยก่อนหน้านี้มีความขัดแย้งกันเกิดขึ้นระหว่างสองกลุ่ม กระทั่งหวิดมีการทำร้ายร่างกายกันเกิดขึ้นภายในมูลนิธิฯ โดยอดีตผู้สมัครส.ส.คนหนึ่งเงื้อกำปั้นจะไปชกหนึ่งในคณะกรรมการ ซึ่งเป็นทายาทของอดีตประธานมูลนิธิฯ


หากมีความคืบหน้าจะนำเสนอข่าวต่อไป

 

 


1062 1,455