2ndMay

2ndMay

2ndMay

 

January 01,1970

ยื่นหนังสือค้าน‘ป๋าซิม’ นั่งประธาน‘มูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง’ ชี้ไม่ถูกตามตราสารและไม่ชอบด้วย กม.

 

เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 9 สิงหาคม 2566 ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายอภิภวัส  ตั้งนันทนาการ รักษาการประธานมูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน (หลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง) องค์กรการกุศลไม่แสวงหาผลกำไรใหญ่ที่สุดในจังหวัดนครราชสีมา พร้อมคณะกรรมการ 3 สมาคม (3 ซก) ได้แก่ สมาคมเหยี่ยวเพ้งนครราชสีมา, สมาคมจีนเก๊กเอี๊ยแห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา และสมาคมเท่งไฮ้แห่งประเทศไทย อาทิ นายวิชาญ ศรีนวกุล, นายสหพล กาญจนเวนิช และนายธนาคม วิมลวัตรเวที เป็นต้น พร้อมด้วยนายนพโรจน์ เลิศสุรีภัสร์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย  เดินทางมาพบนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ในฐานะนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดนครราชสีมา พร้อมยื่นหนังสือคัดค้านการคัดเลือกประธานมูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง วันที่ 6 สิงหาคม 2566 ไม่ถูกต้องตามข้อบังคับ (ตราสาร) และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

โดยในหนังสือที่นำมายื่นคัดค้านฯ ต่อนายทะเบียนมูลนิธิฯ มีรายละเอียดดังนี้

"ตามที่มูลนิธิฯ ได้รับแจ้งจากทางนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดนครราชสีมา ให้คณะกรรมการมูลนิธิฯ สมัยที่ 40 ตามเอกสาร ม.น.4 (ลงวันที่ 3 พฤษภาคม 2564) ทําหน้าที่ คณะกรรมการมูลนิธิฯ จนกว่าจะได้จดทะเบียนคณะกรรมการมูลนิธิชุดใหม่ (สมัยที่ 41) ถูกต้อง และให้คณะกรรมการมูลนิธิฯ สมัยที่ 40 ดําเนินการเลือกตั้งคณะกรรมการมูลนิธิฯ ชุดใหม่ตามข้อบังคับโดยเร็ว คณะกรรมการมูลนิธิฯสมัยที่ 40 ได้ดําเนินการประชุมคณะกรรมการ และมีมติให้ดําเนินการตามขั้นตอนต่างๆ เพื่อทําการเลือกตั้งคณะกรรมการมูลนิธิฯ สมัยที่ 41 ให้ถูกต้องตามข้อบังคับและระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้ง แต่ปรากฏว่า คณะอนุกรรมการยกร่างระเบียบว่าด้วยการเลือกตั้งดังกล่าวมิได้ดําเนินการตามขั้นตอนต่างๆ ให้เสร็จสิ้นตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการมูลนิธิฯสมัยที่ 40 ซึ่งทางคณะกรรมการมูลนิธิฯสมัยที่ 40 ได้มีหนังสือแจ้งให้นายทะเบียนมูลนิธิ จังหวัดนครราชสีมา ทราบแล้วตามหนังสือที่อ้างถึงลําดับที่ 1 ดังนั้นการที่นายศิวัช เตียเจริญวรรธน์ เลขาคณะกรรมการยกร่างข้อบังคับการเลือกตั้งประธาน มูลนิธิและรักษาการเลขานุการประธานมูลนิธิฯ ออกหนังสือเชิญ ว่าที่คณะกรรมการมูลนิธิฯ สมัยที่ 41 มาประชุมเพื่อเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2566 จึงไม่ถูกต้องตามขั้นตอนตามมติที่ประชุม และไม่ชอบด้วยข้อบังคับของมูลนิธิฯ

"อนึ่ง ปรากฏข้อเท็จจริงอีกว่า นายประยูร พิทักษ์วาณิชย์ รองประธานมูลนิธิฯ สมัยที่ 40 ยังได้มีหนังสือตามสิ่งที่ส่งมาด้วยลําดับที่ 1 ถึงนายอนันต์ บูรณะบัญญัติ (อดีตประธานมูลนิธิ) และบุคคลอื่นอีกหลายคนให้มาเป็นกรรมการเลือกตั้งประธานมูลนิธิฯ ในวันที่ 6 สิงหาคม 2566 และยังได้มีหนังสือรายงานผลการเลือกตั้งถึงนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดนครราชสีมา ตามสําเนาหนังสือที่อ้างถึงลําดับที่ 3 ซึ่งเป็นการกระทําที่ไม่ถูกต้อง และไม่มีอํานาจ เพราะเนื่องจากประธานมูลนิธิฯสมัยที่ 40 (นายอภิภวัส ตั้งนันทนาการ) ยังดํารงตําแหน่งรักษาการประธานมูลนิธิฯสมัยที่ 40 ยังมิได้ลาออก ตาย หรือขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับ ประธานและกรรมการยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ประธานและคณะกรรมการสมัยที่ 40 ตามข้อบังคับจนกว่าจะได้จดทะเบียนแต่งตั้งคณะกรรมการสมัยที่ 41 (ชุดใหม่) ประกอบกับ ประธานมูลนิธิฯ มิได้แต่งตั้งหรือมอบหมายให้นายประยูร พิทักษ์วาณิชย์ รักษาการรองประธานมูลนิธิฯ ทําหน้าที่ในตําแหน่งรักษาการประธานมูลนิธิฯ สมัยที่ 40 การออกหนังสือดังกล่าวของนายประยูร พิทักษ์วาณิชย์หนังสือฉบับดังกล่าวจึงไม่ถูกต้องและชอบด้วยตาม ข้อบังคับ (ตราสาร)

"เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าการแจ้งให้ว่าที่คณะกรรมการมูลนิธิฯสมัยที่ 41 มาทําการเลือกตั้งประธานมูลนิธิสมัยที่ 41 ในวันที่ 6 สิงหาคม 2566 นั้นไม่ถูกต้องตามขั้นตอนตามมติที่ประชุมและไม่ถูกต้องตามข้อบังคับ (ตราสาร) ของมูลนิธิฯแล้ว ปรากฏว่ามีว่าที่คณะกรรมการของมูลนิธิฯ สมัยที่ 41 มาประชุมเพียง 22 คน ไม่ตรงตามข้อบังคับ เพราะการคัดเลือกกรรมการมูลนิธิฯ นั้น ข้อบังคับ (ตราสาร ข้อ 6 ได้กําหนดไว้ชัดเจนว่า คณะกรรมการ มูลนิธิฯมีอย่างน้อย 42 คน ซึ่งจะต้องมาจาก 6 สมาคมการกุศลของจังหวัดนครราชสีมาคัดเลือก กรรมการบริหารของแต่ละสมาคม สมาคมละ 7 คน เข้ามาเป็นกรรมการมูลนิธิฯ ซึ่งปรากฏว่ามี หนึ่งสมาคมนําผู้ที่มิใช่กรรมการของสมาคม เข้ามาประชุมเพื่อคัดเลือกประธาน และ คณะกรรมการมูลนิธิฯ ทั้งนี้ได้ลงคะแนนคัดเลือกด้วย การประชุมดังกล่าวมิได้มีกรรมการจาก 6 สมาคมมาร่วมระชุมครบทั้ง 6 สมาคม นอกจากนี้ในวันดังกล่าวยังทําการคัดเลือกประธาน มูลนิธิฯเพียงตําแห่งเดียว ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกคือ นายทรงศักดิ์ อุไรธรากุล รายละเอียดตาม เอกสารเผยแพร่ที่ส่งมาด้วยลําดับที่ 2 2 ผลการดําเนินการเลือกตั้งดังกล่าวในวันที่ 6 สิงหาคม 2566 จึงไม่ชอบด้วยข้อบังคับ เพราะการดําเนินการดังกล่าวไม่ครบถ้วนและไม่เป็นไปตาม ข้อบังคับข้อ 6 (ตราสาร ) ที่ให้กรรมการทั้ง 42 คนทําการคัดเลือกประธานและกรรมการตาม ข้อบังคับให้ครบถ้วน ดังนั้นถือว่าเป็นการคัดเลือกประธานกรรมการมูลนิธิสมัยที่ 41 ที่ไม่ชอบด้วยข้อบังคับและข้อกฎหมายกฎหมาย

"ทางคณะกรรมการมูลนิธิฯสมัยที่ 40 ที่ยังต้องปฏิบัติหน้าที่ตามข้อบังคับจึงขอคัดค้านการคัดเลือกประธานมูลนิธิฯสมัยที่ 41 เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2566 ต่อนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดนครราชสีมาว่า ไม่ชอบด้วยข้อบังคับ (ตราสาร) ของมูลนิธิฯ และไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอสงวนสิทธิ์ในการฟ้องร้องดําเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในการ ดําเนินการจัดการประชุมคัดเลือกประธานมูลนิธิฯ สมัยที่ 41 ในวันที่ 6 สิงหาคม 2566 และมาดําเนินยื่นขอจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการมูลนิธิฯ ชุดใหม่สมัยที่ 41 ต่อนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดนครราชสีมา"

ทางด้านนายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นครราชสีมา ในฐานะนายทะเบียนมูลนิธิฯ เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า ได้ให้แนวทางกับคณะผู้บริหารและคณะกรรมการให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ยึดกฎระเบียบตราสารของมูลนิธิ ที่ผ่านมายังไม่สามารถหาข้อสรุปการเลือกตำแหน่งประธานสมัยที่ 41 จนเวลาล่วงเลยกว่า 8 เดือน ก็ไม่สามารถบริหารงานได้เต็มประสิทธิภาพ ขอให้บุคคลที่เกี่ยวข้องทั้ง 6 สมาคมในคณะบริหารมูลนิธิหันหน้าคุยกันบนพื้นฐานความสามัคคีปรองดอง ใช้ความอดทนจนกว่าจะได้วิธีการเลือกตั้งเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

(กลาง) นายอภิภวัส ตั้งนันทนาการ รักษาการประธานมูลนิธิฯ

ในขณะที่ นายอภิภวัส ตั้งนันทนาการ รักษาการประธานมูลนิธิฯ เปิดเผยว่า ชาวหลักเสียงเซี่ยงตึ๊งโคราชต้องการความชัดเจน ความถูกต้องและชอบธรรมในการปฏิบัติหน้าที่องค์กรต่อไปว่าจะเป็นเช่นไร ซึ่งไม่เคยมีปัญหาเช่นนี้มาก่อน ที่ผ่านมามูลนิธิมีที่มาที่ไป ปฏิบัติตามประเพณียึดหลักอาวุโส แต่การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นการตัดสินใจของกลุ่มบุคคลไม่กี่คน ออกหนังสือเรียกประชุมโดยพลการ จึงมีปัญหาความวุ่นวาย ที่สำคัญไม่ได้ปฏิบัติตามมติที่ประชุมเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2566 ให้สรรหาบุคคลภายนอกเป็นคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 5 คน เพื่อให้กระบวนการเลือกตั้งบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม แต่มีเพียง 1 คนเท่านั้น และคณะกรรมการทั้งหมด 42 คน ก็มาเพียงส่วนหนึ่ง แล้วเลือกตั้งกันเอง แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนายทะเบียนจังหวัดนครราชสีมาจะมีความเห็นเช่นไร 

 

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา มีการพูดคุยกันทั้งสองกลุ่มเพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปและยังมีความขัดแย้งกันเกิดขึ้น หวิดมีการทำร้ายร่างกายกันเกิดขึ้นภายในมูลนิธิฯ โดยอดีตผู้สมัครส.ส.คนหนึ่งซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานสภาเทศบาลฯ ที่เงื้อกำปั้นจะไปชกหนึ่งในคณะกรรมการซึ่งก็เคยดำรงตำแหน่งประธานสภาเทศบาลนครฯ เช่นกัน กระทั่งฝ่ายที่เกือบโดนทำร้ายได้ไปลงบันทึกประจำไว้ที่สถานีตำรวจแล้ว

อนึ่ง หากมีความคืบหน้าในเรื่องนี้จะนำเสนอข่าวต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

https://www.koratdaily.com/blog.php?id=15783

https://www.koratdaily.com/blog.php?id=15916

https://www.koratdaily.com/blog.php?id=15921

 

 

 


982 1,445