2ndMay

2ndMay

2ndMay

 

January 01,1970

ปธ.มูลนิธิหลักเสียงฯ ยืดเยื้อ ผกก.ชี้ไม่ได้เป็น กกต. ย้ำกรรมการต้องสง่างาม

 

ยังยืดเยื้อสำหรับเก้าอี้ “ประธานมูลนิธิหลักเสียงเซี่ยงตึ๊งฯ” หลังว่างเว้นมากว่าครึ่งปี และอีกกลุ่มจัดประชุมเลือก “ป๋าซิม” แล้วประกาศว่า ผกก.ไปเป็นประธาน กกต. ท้ายสุด ผกก.แจงแค่ได้รับมอบหมายจากผบก. ไปสังเกตการณ์ ด้านที่ปรึกษากม.ออกจม.เปิดผนึก ย้ำกรรมการต้องมาอย่างถูกต้อง จึงจะสง่างาม

ตามที่ “โคราชคนอีสาน” เสนอข่าว “มูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน(หลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง)” กรณีคณะกรรมการสมัยที่ ๔๐ หมดวาระเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๕ แต่ยังไม่สามารถเลือกตั้งคณะกรรมการสมัยที่ ๔๑ ได้ นายอภิภวัส ตั้งนันทนาการ ประธานสมัยที่ ๔๐ จึงรักษาการประธานฯ และเกิดความขัดแย้งภายในขึ้นของ ๖ สมาคม (๖ ซก) ที่บริหารมูลนิธิฯ รวม ๗๒ คน ได้แก่ ๑.สมาคมจีนเตี้ยอันในประเทศไทยสาขานครราชสีมา ๒.สมาคมเตี่ยเอี้ยแห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา ๓.สมาคมโผวเล้ง นครราชสีมา ๔.สมาคมเหยี่ยวเพ้ง ๕.สมาคมจีนเก๊กเอี๊ยแห่งประเทศไทยสาขานครราชสีมา และ ๖.สมาคมเท่งไฮ้แห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา ซึ่งมีนายอภิภวัส ตั้งนันทนาการ ดำรงตำแหน่งประธานมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๐ โดยหมดวาระเมื่อปลายปี ๒๕๖๕ และมีการเลือกตั้งคณะกรรมการสมัยที่ ๔๑ ในวันที่ ๑๙ มกราคม ๒๕๖๖ มีผู้สมัครชิงตำแหน่งประธาน ๒ คน ได้แก่ นายอภิภวัส ตั้งนันทนาการ (สมาคมเหยี่ยวเพ้ง) กับนายทรงศักดิ์ (ซิม) อุไรธรากุล (สมาคมโผวเล้ง) รองประธานฯ แต่ปรากฏว่าเมื่อมีการลงคะแนนลับ ทั้งสองคนกลับได้เท่ากันคือ ๒๑ คะแนน แต่หาข้อยุติไม่ได้ว่าใครจะนั่งเก้าอี้ประธานฯ ส่งผลให้นายอภิภวัสต้องนั่งรักษาการประธานมูลนิธิฯ เรื่อยมา

กระทั่งกลุ่มนายทรงศักดิ์ อุไรธรากุล จัดประชุมเลือกตั้งเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ เวลาประมาณ ๐๙.๐๐ น. โดยประกาศว่า พ.ต.อ.ประสิทธิ์ เปรมกมล ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา เป็นประธาน กกต. ร่วมกับนายสุเทพ ณัฐกานต์กนก โดยมีนายรังสรรค์ อินทรชาธร ทำหน้าที่เลขาฯ ซึ่งมีผู้มาร่วมประชุม ๒๒ คน  ได้แก่ สมาคมโผวเล้ง นครราชสีมา ๗ คน, สมาคมจีนเตี้ยอันในประเทศไทยสาขานครราชสีมา ๗ คน, สมาคมเตี่ยเอี้ยแห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา ๗ คน และสมาคมเท่งไฮ้แห่งประเทศไทย สาขานครราชสีมา ๑ คน ส่วนสมาคมเก๊กเอี๊ย, สมาคมเหยี่ยวเพ้ง และสมาคมเท่งไฮ้ ขาด ๖ คน พร้อมประกาศว่า ผู้ที่ไม่มาลงชื่อในวันนี้ถือว่าขาดการประชุม จึงมีผู้มาประชุมในวันนี้ ๒๒ คนเท่านั้น ดังนั้น คณะกรรมการสมัยที่ ๔๑ มาประชุมในวันนี้มี ๒๒ คน และมีมติเลือกนายทรงศักดิ์เป็นประธานมูลนิธิฯ

ต่อมานายอภิภวัสฯ ได้ทำหนังสือและนำคณะเข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาในฐานะนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดนครราชสีมา แต่กลุ่มของนายทรงศักดิ์ยังไม่ได้ยื่นของจดทะเบียนกรรมการมูลนิธิฯ ชุดใหม่


ผกก.ระบุไปสังเกตการณ์

ทั้งนี้ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๖๖ พ.ต.อ.ประสิทธิ์ เปรมกมล ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา ทำหนังสือถึงรักษาการประธานมูลนิธิสมัยที่ ๔๐ ปีบริหาร ๒๕๖๔-๒๕๖๕ กรณีที่มีการสอบถามการเข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ โดยระบุว่า “ตามหนังสือที่อ้างถึง มูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถาน ได้สอบถามการเข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการมูลนิธิสมัยที่ ๔๑ ในวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๖๖ ดังความละเอียดแจ้งอยู่แล้วนั้น ขอเรียนว่า ในวันประชุมดังกล่าว พันตำรวจเอกประสิทธิ์ เปรมกมล ไม่ได้มีชื่อเป็นกรรมการหรือประธานการเลือกตั้งคณะกรรมการมูลนิธิสมัยที่ ๔๑ แต่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา จึงไปในฐานะผู้สังเกตการณ์เท่านั้น”

พ.ต.อ.ประสิทธิ์ เปรมกมล ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา

 

ที่ปรึกษาร่อนจม.เปิดผนึก
จากนั้นในเดือนกันยายน ๒๕๖๖ นายนพโรจน์ เลิศสุรีภัสร์ ที่ปรึกษากฎหมายคณะกรรมการมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๐ ได้ออกจดหมายเปิดผนึกความยาวกว่า ๓ หน้ากระดาษ โดยมีเนื้อหาดังนี้

จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ ผมนายนพโรจน์ เลิศสุรีภัสร์ ขอกราบเรียนถึงอดีตประธาน อดีตคณะกรรมการทุกสมัย คณะกรรมการสมัยที่ ๔๐ รวมถึงว่าที่กรรมการสมัยที่ ๔๑ กรรมการที่ปรึกษา กลุ่มแม่บ้านสตรี ของมูลนิธิสว่างเมตตาธรรมสถานนครราชสีมา (หลักเสียงเซี่ยงตึ๊ง) และผู้เกี่ยวข้องทุกท่านได้โปรดพิจารณา

จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ ผมมิได้มีความประสงค์ที่จะบอกกล่าวหรือกล่าวโทษว่าใครผิดหรือใครถูก กับปัญหาที่เกิดขึ้นกับมูลนิธิฯ ประเด็นจากการคัดเลือกประธานและคณะกรรมการของมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๑ ที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ ซึ่งผลที่ตามมาจะก่อให้เกิดความเสื่อมศรัทธาของสาธุชนทั่วไป ที่มีความศรัทธาในมูลนิธิฯ ผมอยากจะกราบเรียนทุกท่านให้ทราบว่าเหตุที่มีปัญหาเกิดขึ้นนั้นมาจากผู้ที่จะทําหน้าที่เป็นคณะกรรมการของมูลนิธิฯ ไม่เคารพในหลักการแนวทางในการปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจารีตประเพณีแนวทางปฏิบัติของมูลนิธิฯ ที่มีมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในแนวทางการคัดเลือกผู้ที่จะดํารงตําแหน่งประธานและ กรรมการของมูลนิธิฯ อนึ่ง มูลนิธิฯ มีข้อบังคับ (ตราสาร) ที่ระบุที่มาของคณะกรรมการ จํานวนไม่น้อยกว่า ๔๒ คน ระบุไว้ชัดเจนว่ากรรมการทั้ง ๔๒ คนนั้นมาจากองค์การใด และต้อง ดํารงตําแหน่งอะไรในองค์การนั้น จึงจะมีสิทธิเข้ามาคัดเลือกระหว่างกันเองใน ๔๒ คน ว่า ใครจะดํารง ตําแหน่งอะไร ทําหน้าที่อะไรในคณะกรรมการของมูลนิธิฯ หลักการนี้เป็นเพียงหลักการเบื้องต้น ดังนั้นผู้ที่จะเข้ามาเป็นกรรมการของมูลนิธิฯ จึงต้องสมควรมาอย่างถูกต้อง ตามครรลองแต่ละองค์กร จึงจะสง่างามที่สมควรจะเข้ามารับตําแหน่งเป็นกรรมการของมูลนิธิฯ

การดํารงตําแหน่งของนายกหรือประธาน รวมถึงกรรมการของแต่ละองค์กรที่จะมาเป็นกรรมการของมูลนิธิฯ ก็สมควรเป็นนายกหรือประธาน รวมถึงกรรมการขององค์กรนั้นอย่างถูกต้องสมบูรณ์ มิใช่มาอย่างไม่ถูกต้อง ซึ่งทุกท่านก็ทราบดีว่า การกระทําของท่านนั้นถูกต้อง และสง่างามหรือไม่ สมควรหรือไม่ที่จะมาเป็นคณะกรรมการของมูลนิธิฯ

๔๐ สมัยที่ผ่านมายึดจารีต
เนื่องจากข้อบังคับ (ตราสาร) ของมูลนิธิฯ ไม่ได้กําหนดระเบียบหรือมีข้อบังคับ (ตราสาร) เกี่ยวกับวิธีการว่า การที่จะคัดเลือกประธานและกรรมการของมูลนิธิฯ ใช้วิธีการอย่างไร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็มิได้กําหนดไว้เช่นกัน ดังนั้น ที่ผ่านมามูลนิธิฯ ใช้วิธีการปฏิบัติและใช้จารีตประเพณีทํากันมาถึง ๔๐ สมัยว่า การคัดเลือกประธานและกรรมการ มูลนิธิฯ ใช้วิธีการอย่างไร หากมีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีการคัดเลือก หรือการได้มาของประธานและคณะกรรมการจะต้องแก้ไขข้อบังคับ (ตราสาร) ของมูลนิธิฯ รวมถึงคณะกรรมการมูลนิธิฯเท่านั้นที่จะต้องออกระเบียบวิธีการ แนวทางปฏิบัติ การคัดเลือกประธานและคณะกรรมการมูลนิธิฯ ให้เรียบร้อย แต่ก็คงต้องอยู่ภายใต้จารีตประเพณี แนวทางปฏิบัติของมูลนิธิฯ ที่ใช้มาอย่างต่อเนื่อง


ให้รักษาการต่อไปก่อน

ในเมื่อขณะนี้ ยังไม่สามารถคัดเลือกประธานและคณะกรรมการสมัยที่ ๔๑ ได้ ตามข้อบังคับ (ตราสาร) และตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ รวมถึงข้อหารือที่ทางนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดนครราชสีมา ได้มีถึงมูลนิธิฯ และข้อหารือกับนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดนครราชสีมา (ท่านผู้ว่าราชการจังหวัด) สรุปไว้ชัดเจนว่า
๑.เมื่อยังไม่สามารถดําเนินการคัดเลือกประธานและคณะกรรมการมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๑ ได้ตามข้อบังคับ (ตราสาร) ให้คณะกรรมการมูลนิธิฯที่จดทะเบียนถูกต้อง (สมัยที่ ๔๐) ที่ครบกําหนดตามวาระเมื่อวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๖๕ เท่าที่เหลืออยู่ทําหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการของมูลนิธิฯ ไปจนกว่าทางนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดนครราชสีมา จะได้รับแจ้งการจดทะเบียนกรรมการมูลนิธิฯ ที่ตั้งใหม่

๒.ประธานและคณะกรรมการสมัยที่ ๔๐ ที่จดทะเบียนถูกต้องเท่าที่เหลือ มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่และทําหน้าที่บริหารมูลนิธิฯ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ดังนั้น นายอภิภวัส ตั้งนันทนาการ ประธานคณะกรรมการมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๐ ตามกฎหมายเป็นผู้มีอํานาจหน้าที่ตามกฎหมายแต่เพียงผู้เดียว ทําหน้าที่เป็นตัวแทนผู้มีอํานาจของมูลนิธิฯ รองประธานหรือเลขาธิการ หรือบุคคลอื่นใดที่เป็นกรรมการก็ไม่มีสิทธิกระทําการต่างๆ แทนได้ เพราะมิได้มีการมอบหมายให้กระทําแทน

๓.อํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการสมัยที่ ๔๐ ที่จะต้องดําเนินการคือการออกระเบียบการคัดเลือกประธานและคณะกรรมการมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๑ และดําเนินการให้ว่าที่คณะกรรมการสมัยที่ ๔๑ มาทําการคัดเลือกประธานและคณะกรรมการกันเองว่าใครจะดํารงตําแหน่งอะไรในคณะกรรมการ ซึ่งระบุไว้ในข้อบังคับ

๔.เมื่อดําเนินการคัดเลือกประธานและคณะกรรมการมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๑ เรียบร้อยแล้ว หน้าที่ของคณะกรรมการสมัยที่ ๔๐ จะต้องดําเนินการเป็นผู้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการชุดใหม่ต่อนายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดนครราชสีมา เมื่อรับแจ้งการจดทะเบียนคณะกรรมการชุดใหม่ทางนายทะเบียนออกหนังสือรับแจ้งจดถูกต้อง คณะกรรมการมูลนิธิฯ สมัยที่ ๔๐ จึงหมดหน้าที่

 

หันหน้ามาแก้ไขปัญหาร่วมกัน
เรื่องที่ผมได้กราบเรียนทุกท่านมานั้น เป็นแนวทางตามข้อบังคับ (ตราสาร) รวมถึงกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ที่ใช้บังคับกับมูลนิธิฯ และแนวทางปฏิบัติตามข้อหารือที่นายทะเบียนมูลนิธิจังหวัดนครราชสีมาได้วางแนวทางปฏิบัติไว้ ด้วยความเคารพในความคิดเห็นที่อาจจะแตกต่างกัน แต่ผมเชื่อมั่นว่า ถ้าทุกท่านเคารพในข้อบังคับ (ตราสาร) จารีต ในการคัดเลือกประธานและประเพณี และแนวทางปฏิบัติที่มูลนิธิฯ ใช้มาถึง ๔๐ สมัย ในการคัดเลือกประธาน และคณะกรรมการมูลนิธิ ท่านจะไม่มีข้อสงสัยหรือข้อกังขาในแนวทางที่ปฏิบัติกันมาตลอด แต่สิ่งที่หลายท่านกระทํามาในระยะเวลา ๘ เดือนนั้น มีแต่จะก่อให้เกิดความเสื่อมศรัทธา ความแตกแยกในมูลนิธิฯ เพราะเอกสารข้อมูลที่ออกมามีลักษณะการกล่าวหาความไม่โปร่งใสในเรื่องการเงินของมูลนิธิฯ รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องการเงิน ซึ่งเรื่องดังกล่าวนั้นเป็นเรื่องภายในมูลนิธิฯ รวมถึงการคัดเลือกประธานและคณะกรรมการมูลนิธิฯ ก็เป็นเรื่องภายในมูลนิธิฯ ทุกท่านที่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิฯ ที่ผมได้ทําหนังสือเปิดผนึกฉบับนี้ถึงท่าน ขอให้ทุกท่านได้ร่วมกันไตร่ตรองถึงเรื่องความถูกต้องของข้อบังคับ และแนวทางปฏิบัติจารีตประเพณี มูลนิธิฯ มีมาอย่างต่อเนื่อง และหยุด กระทําการในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และหันหน้ามาแก้ไขปัญหาร่วมกัน หากทุกท่านอยากจะเปลี่ยนแปลง ขอให้ใช้เวทีการประชุมเป็นที่ยุติ การเปลี่ยนแปลง เป็นสิ่งที่ดี แต่ควรจะเป็นการเปลี่ยนแปลงแนวทางการปฏิบัติงานและการดําาเนินงานตาม วัตถุประสงค์ของมูลนิธิฯ เพื่อความโปร่งใส ธรรมาภิบาล และให้สาธุชนทั้งหลายมีศรัทธาต่อมูลนิธิฯ อย่าให้ลูกหลานบอกเลยว่า เราเป็นผู้หนึ่งที่ทําให้เกิดความเสื่อมศรัทธา


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๒๗๕๗ วันที่ ๑๕ เดือนสิงหาคม - วันที่ ๑๔ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖


300 1,445