2ndMay

2ndMay

2ndMay

 

January 01,1970

๒ อดีตส.ส.โคราชยืนยัน เสา ๒,๐๐๐ ต้นไม่กีดขวาง ตุลานี้เห็น‘ลำตะคอง’เปลี่ยน

 

หลังเดินหน้าปักเสาเข็มกว่า ๒,๐๐๐ ต้นในลำตะคองเพื่อปรับภูมิทัศน์เหมือน “ชองเกชอน” เกาหลีใต้ ประชาชนหวั่นกีดขวางทางน้ำ ทำให้ต้นเขินและน้ำท่วม แต่ ๒ อดีตส.ส.โคราช ‘เกษม-บุญถึง’ ชี้แจงไม่กีดขวาง เดือนตุลาคมเห็นเป็นรูปเป็นร่างแน่นอน


ตามที่กรมโยธาธิการและผังเมืองมีแนวคิดที่จะปรับปรุงภูมิทัศน์ลำตะคองในช่วงตัวเมืองโคราช โดยใช้แนวคิดเดียวกับ “คลองชองเกชอน” ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งองค์ประกอบหลักของโครงการคือ ๑.ทำเขื่อนป้องกันตลิ่งสองฝั่ง ๒.ปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบ ๓.เพิ่มไฟฟ้าส่องสว่าง ๔.เพิ่มจุดแวะพักสวนขนาดย่อม และ ๕.ทางเดินริมน้ำ โดยข้อสำคัญในการปรับปรุงลำตะคองคือ จะต้องมีการระบายน้ำที่ดีตามระบบของโครงการชลประทาน ซึ่งต่อมามีการออกแบบโดยกรมโยธาธิการและผังเมืองและได้ตั้งงบประมาณของกรมโยธาธิการฯ ไว้จำนวน ๒๖๐ ล้านบาท (แบ่งเป็นเฟส) ระยะทางดำเนินการประมาณ ๒,๕๐๐ เมตร จากโรงเรียนอัสสัมชัญนครราชสีมาถึงอ่างอัษฏางค์ประมาณ ๒ กิโลเมตร และบริเวณรอบอ่างอัษฎางค์อีกประมาณ ๕๐๐ เมตร ซึ่งนายเกษม ศุภรานนท์ อดีตส.ส.เขต ๑ โคราช เคยให้ข่าวว่า จะมีการปักเสาปูนทั้งหมด ๒,๒๖๖ ต้น และคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี ๒๕๖๖ โดยการดำเนินการในปัจจุบันอยู่ในเฟสแรกของโครงการพัฒนาพื้นที่ลำตะคอง (บริเวณเทศบาลนครนครราชสีมา) อำเภอเมืองนครราชสีมา ซึ่งปริมาณงานประกอบด้วย งานก่อสร้างปรับปรุงภูมิทัศน์ลำตะคองฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ฝั่งละ ๗๒๕ เมตร มี หจก.อึ้งแซ่เฮง (จ.ศรีสะเกษ) เป็นผู้รับจ้าง โดยเริ่มต้นสัญญาวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๖๔ สิ้นสุดสัญญาวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๖ ค่าก่อสร้างจำนวน ๑๑๘,๗๓๙,๖๐๐ บาท

ทั้งนี้ ขณะที่มีการก่อสร้างนั้น จะต้องวางเสาเข็มจำนวน ๒,๒๖๖ ต้น ทำให้ประชาชนที่มีบ้านเรือนและที่พักอาศัยอยู่ริมลำตะคอง รวมทั้งประชาชนบางส่วนตั้งข้อสงสัยว่าจะเป็นการขวางทางน้ำและส่งผลให้น้ำท่วมนั้น

โดยเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ นายปกป้อง ปุสุรินทร์คำ อดีต ส.ท.นครนครราชสีมา ได้ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา และแม่ทัพภาคที่ ๒ เรื่องโครงการพัฒนาพื้นที่ลำตะคอง (บริเวณเทศบาลนครนครราชสีมา) โดยเนื้อหาในหนังสือระบุรายละเอียดว่า “ในฐานะประชาชนที่อาศัยอยู่ติดลำตะคอง ใกล้โรงเรียนอัสสัมชัญ อำเภอเมือง ซึ่งอยู่ใกล้บริเวณก่อสร้างโครงการฯ มีความกังวลอย่างมากเมื่อได้พบว่า การก่อสร้างมีการปักเสาปูน เทหิน ถมดิน และเทปูนจำนวนมาก กินพื้นที่ในคลองกว่าครึ่งในบริเวณที่ก่อสร้างโครงการฯ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ลำตะคองช่วงนี้อุดตันหรือตื้นเขิน กีดขวางทางไหลของน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมขึ้น อีกทั้งบริเวณข้างเคียงยังมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ๒ แห่ง โรงเรียนขนาดใหญ่ ๒ แห่ง และสถานีขนส่งแห่งใหม่ เป็นต้น ซึ่งล้วนแต่เป็นสถานที่สำคัญต่อชาวจังหวัดนครราชสีมาเป็นอย่างมาก”

นายปกป้องได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับโครงการดังกล่าวว่า ๑.ทางผู้รับผิดชอบโครงการได้มีการขออนุญาตต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ อย่างไร ๒.ได้มีการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างถี่ถ้วนหรือไม่ อย่างไร และ ๓.มีการสอบถามประชาชนที่อาศัยอยู่ริมลำตะคอง และบริเวณใกล้เคียงโครงการหรือไม่ (กระผม ซึ่งอาศัยอยู่ใกล้โครงการฯ มาก กลับมิเคยได้รับการติดต่อเพื่อรับฟังความคิดเห็นใดๆ ทั้งสิ้น)

ต่อมาเมื่อเวลา ๐๙.๓๐ น. วันที่ ๓ กันยายน ๒๕๖๖ ที่สะพานข้ามลำตะคอง หลักกิโลเมตรที่ ๑๘๘+๕๖๕ เขตเทศบาลนครนครราชสีมา นายเกษม ศุภรานนท์ อดีต ส.ส.เขต ๑ จ.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะเป็นผู้สนับสนุนและช่วยผลักดันโครงการ ซึ่งมีเป้าหมายให้ลำตะคองสวยน้ำใสเป็นแลนด์มาร์คเมืองโคราช รองรับการพัฒนาในอนาคต เป็นแหล่งท่องเที่ยว สถานที่พักผ่อนหย่อนใจรวมทั้งแก้ปัญหาน้ำท่วมและระบบนิเวศช่วงน้ำแล้ง พร้อมด้วยนายบุญถึง ผลพานิชย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะสมาชิกกลุ่มพลังโคราช พรรคพลังประชารัฐ ลงพื้นที่ติดตามการก่อสร้างโครงการดังกล่าว พบวิศวกรและคนงานของ หจก.อึ้งแซเฮง กำลังใช้เครื่องจักรกลตัดเสาเข็มที่ตอกลงไปในลำตะคอง เพื่อใช้เป็นตอม่อสร้างแนวสันเขื่อนริมตลิ่งและนำรถแบคโฮลงโป๊ะเก็บงานในลำตะคอง โดยกำชับให้นายช่างควบคุมงานให้เรียบร้อยและป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมทั้งรวบรวมข้อมูลนำเสนอให้ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ รับทราบความก้าวหน้า

นายเกษม ศุภรานนท์ ในฐานะอดีต ส.ส.เขตพื้นที่ เปิดเผยว่า เมื่อช่วงกลางปี ๒๕๖๒ เมื่อครั้ง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำคณะลงเรือตรวจสภาพเส้นทางคลองน้ำธรรมชาติ ช่วงไหลผ่านเขตเมือง จากท่าน้ำวัดท่าตะโกถึงท่าน้ำวัดสุสาน ระยะทางประมาณ ๒ กิโลเมตร พบเห็นปัญหาหลากหลายมิติ เนื่องจากลำตะคองเป็นคลองน้ำขนาดใหญ่ที่มีกิจกรรมทั้งส่งและระบายน้ำอยู่ในที่เดียวกัน ประกอบกับสองข้างทางเป็นที่ตั้งสถานที่ราชการทั้งโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน โรงเรียนขนาดใหญ่ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า โครงการบ้านจัดสรรและตลาดสด จึงได้สอบถามกับหัวหน้าส่วนที่ลงเรือลำเดียวกันด้วยความสนใจ รวมทั้งรับทราบปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากที่ส่งผลกระทบถึงโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จึงห่วงใยและผลักดันเสนอของบประมาณจากกรมโยธาธิการและผังเมือง มูลค่ากว่า ๒๗๐ ล้านบาท ที่ได้ออกแบบไว้ก่อนหน้านี้ ให้ดำเนินการโดยเร็ว

“ทั้งนี้ สภาพที่เห็นในขณะนี้เป็นระยะเริ่มต้นการวางโครงสร้างต่างๆ ซึ่งดำเนินได้ประมาณ ๕๐% ส่งผลให้ภูมิทัศน์อาจดูไม่สวยงาม ขอยืนยันว่าได้วางแผนออกแบบลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุด โดยขุดลอกเพิ่มพื้นที่ระบายน้ำให้มีระดับความลึกกว่า ๔ เมตร รวมทั้งปรับปรุงพัฒนาภูมิทัศน์สองฝั่ง โครงการนี้เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องชาวโคราชอย่างแน่นอน คาดว่าจะเห็นเป็นรูปร่างช่วงกลางเดือนตุลาคมปีนี้ เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะมีการประกวดตั้งชื่อสถานที่เน้นความเป็นเอกลักษณ์ของเมืองโคราช” นายเกษม กล่าว


นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๒๗๕๗ วันที่ ๑๕ เดือนสิงหาคม - วันที่ ๑๔ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖

 


281 2,429