2ndMay

2ndMay

2ndMay

 

January 01,1970

๒ รมว.‘โคราชต้องเปลี่ยน’ เจรจาเปิดบิน“กองบิน ๑” ส่งเสริมเที่ยว“๓ มรดกโลก”

 

‘ประเสริฐ’ ย้ำโคราชมีส.ส.เพื่อไทย ๑๒ คน แถมเป็นรัฐมนตรีด้วย ไม่เปลี่ยนก็ไม่รู้จะยังไงแล้ว ด้าน ‘สยาม’ ยืนยันแอร์เอเชียพร้อมบินที่สนามกองบิน ๑ รัฐมนตรีรับปากเจรจา พร้อมเสนอเปิดใช้มอเตอร์เวย์โดยเร็ว และสร้างถนนวงแหวนรอบ ๓ มรดกโลกหนุนจีโอพาร์ค ส่วนสกายวอล์คเขายายเที่ยงรอขอใช้พื้นที่ ด้าน “พืชสวนโลก” รอลุ้นเจ้าภาพ สั่งลุยหาที่ดินสร้างสนง.เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไม่ต้องห่วงเรื่องเงิน

เมื่อวันที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๓.๓๐ น. ณ ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเศรษฐกิจเพื่อสังคม (ดีอี) และน.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รวมทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเพื่อไทย ในจังหวัดนครราชสีมา เข้าพบปะหารือหัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครราชสีมา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และภาคเอกชนในจังหวัดนครราชสีมา นำโดยนายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ รองผู้ว่าฯ และนางยลดา หวังศุภกิจโกศล นายก อบจ. เป็นต้น

นายสยาม ศิริมงคล กล่าวว่า ในวันนี้เป็นการหารือแบบไม่เป็นทางการ รัฐมนตรีทั้งสองคนที่เป็นความหวังของชาวนครราชสีมา ในการสร้างความเจริญเติบโตทุกด้าน ไม่ว่าเป็นด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว รวมทั้งการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนและเกษตรกร และดีใจที่มาพบปะพวกเรา

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง กล่าวว่า สาเหตุที่ประชุมในวันนี้เพราะงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๖๗ ณจะเข้าสภาวาระที่ ๑ เดือนมกราคม ๒๕๖๗ จึงถือว่าช่วงนี้ยังพอมีเวลาในการที่ลงพื้นที่มาพบปะข้าราชการเพื่อขับเคลื่อนโคราชไปด้วยกัน และมารับฟังด้วย จะไม่พูดเรื่องที่ผ่านมา แต่จะพูดว่าโคราชเราจะทำอะไร เช่น เห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้โคราชมีศูนย์ประชุมระดับนานาชาติ ก็ให้ฟันธงเลย หรือเห็นด้วยหรือไม่ที่โคราชจะต้องเป็นสมาร์ทซิตี้ซึ่งเป็นงานที่ตนดูแลอยู่ สมาร์ทซิตี้มีตัวชี้วัดหลายอย่าง ในวันนี้จึงมารับฟังความคิดเห็น และในโอกาสต่อไปเมื่อส่วนราชการแถลงนโยบายแล้ว อาจจะต้องมาพบผู้ว่าฯ และส่วนราชการอีกครั้ง โดยจะมีการเชิญทุกพรรคการเมืองมาร่วม และเราจะต้องทำงานแบบไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเหมือนที่นายกรัฐมนตรีพูดไว้ อยากเห็นโคราชเปลี่ยนแปลง วันนี้พรรคเพื่อไทยในโคราชมีส.ส. ๑๒ คน ถ้าไม่เปลี่ยนก็ไม่รู้จะยังไงแล้ว และยังมาเป็นรัฐบาลอีก เพราะฉะนั้นจึงเป็นโอกาสของคนโคราช

น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล กล่าวว่า อยากเร่งมาหารือ และใดใดที่สามารถควิกวินได้ภายใน ๓-๔ เดือนนี้เราก็อยากจะทำ ดังนั้น การหารือในวันนี้ถ้าภาคส่วนได้บอกกล่าวเลย และผลักดันให้เกิดขึ้น รวมทั้งในส่วนของจังหวัดนครราชสีมาอีกไม่กี่เดือนก็จะต้องจัดการแข่งขันกีฬาผู้พิการ หากมีสิ่งใดติดขัดอย่างใดอยากให้ช่วยนำเสนอและหาแนวทางในการจัดงานอย่างราบรื่นด้วย

เป้าหมายพัฒนาโคราช ๒๐ ปี
นายสุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดนครราชสีมา นำเสนอเป้าหมายและแผนพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งตามพ.ร.ฎ.ว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ.๒๕๖๕ ได้กำหนดให้ทุกจังหวัดรวมถึงจังหวัดนครราชสีมา ได้กำหนดจัดทำเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดระยะ ๒๐ ปี (๒๕๖๖-๒๕๘๕) จ.นครราชสีมามีการประชุมและรับฟังความคิดเห็น และจัดส่งเป้าหมายให้สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้เห็นชอบ โดยวางเป้าหมายว่า ต่อไปโคราชจะเป็นมหานครแห่งโอกาสและการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งแบ่งการพัฒนาออกเป็น ๕ ปี ๔ ช่วง โดย ๕ ปีแรก (๒๕๖๖-๒๕๗๐) จะมีการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในภาคการเกษตร ภาคการผลิตและบริการ แก้ปัญหาและตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน สร้างองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ควบคู่กับภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีโครงการนำร่อง ๘ โครงการ

ส่วน ๕ ปีที่สอง (พ.ศ.๒๕๗๐-๒๕๗๕) ให้ภาคเอกชนและประชาชนมีโอกาสในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และโครงการนำร่องจะต้องมีความคืบหน้าไม่น้อยกว่าร้อยละ ๓๐ ในขณะที่ ๕ ปีที่สาม (๒๕๗๕-๒๕๘๐) จังหวัดนครราชสีมาจะเป็นศูนย์กลางด้านการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคและเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก โดยโครงการนำร่องจะต้องมีความคืบหน้าไม่น้อยกว่าร้อยละ ๘๐ และ ๕ ปีที่สี่ (๒๕๘๐-๒๕๘๕) โคราชจะมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และโครงการนำร่องทุกอย่างจะต้องเสร็จเรียบร้อย ๑๐๐%

ศูนย์กลางโครงข่ายคมนาคม
โดยจังหวัดนครราชสีมาจัดทำแผนพัฒนาในระยะ ๕ ปีแรก (๒๕๖๖-๒๕๗๐) วางเป้าหมายว่า จังหวัดฯ จะต้องเป็นศูนย์กลางโครงข่ายคมนาคม การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ และศิลปวัฒนธรรมของภูมิภาค นวัตกรรมการเกษตรและอุตสาหกรรม และเป็นสังคมคุณภาพสูง ซึ่งในเป้าหมายนี้จะมีประเด็นยุทธศาสตร์ในการพัฒนาจังหวัดฯ ๕ ประเด็น ดังนี้ ๑.ส่งเสริมและพัฒนาและยกระดับด้านการเกษตร และเกษตรแปรรูปมูลค่าสูง ซึ่งจะเป็นการพัฒนาแหล่งน้ำ พัฒนาพื้นที่เกษตรกรรม เกษตรอัจฉริยะ และเพิ่มเทคโนโลยีทางการเกษตรนวัตกรรม แปรรูปสินค้าเกษตร อุตสาหกรรม เพิ่มช่องทางการจำหน่ายทั้งด้านการเกษตร ประมง และปศุสัตว์ ๒.ส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การค้าการลงทุน อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ BCG และเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยวางแนวทางในการพัฒนาและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยว การจัดกิจกรรมส่งเสริมเมืองท่องเที่ยวสร้างสรรค์นวัตกรรม ส่งเสริมไมซ์ซิตี้ ส่งเสริมระบบบริหารจัดการท่าเรือบก (Dry pot) ส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ส่งเสริมให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมภาครัฐ ในลักษณะ PPP ส่งเสริมอุตสาหกรรมมูลค่าสูง อุตสาหกรรมเป้าหมาย และอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ๓.เสริมสร้างและพัฒนาคน ชุมชน เมือง และยกระดับการบริหารจัดการภาครัฐเพื่อสังคมคุณภาพสูง ผ่านแนวทางการขับเคลื่อนกิจกรรมผู้สูงวัย สร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนและชุมชน แนวคิดจิตอาสาให้พลเมืองดีมีคุณธรรม สร้างโอกาสให้วัยแรงงานมีการ Up Skill และ Re Skill ให้มีทักษะเพียงพอ บริหารจังหวัดโดยเชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน มุ่งสู่การเป็นสมาร์ทซิตี้ และพัฒนาพื้นที่โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

๔.ยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เกิดสมดุลและยั่งยืน โดยการป้องกันและฟื้นฟูพื้นที่ป่า ป้องกันและติดตามสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ การบริหารจัดการพื้นที่ดินเค็ม ฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) การบริหารจัดการขยะมูลฝอย น้ำเสีย การบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภค พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อติดตามปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม ส่งเสริมการผลิตและใช้พลังงานทางเลือก พลังงานทดแทน บริหารจัดการโคราชจีโอพาร์ค พื้นที่สงวนชีวมณฑล และพื้นที่มรดกโลกผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ให้เกิดความยั่งยืน ส่งเสริมกิจกรรมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และ ๕.ยกระดับความมั่นคงและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยมีแนวทางการดำเนินการคือ การสร้างเครือข่ายบูรณาการการป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่ ติดตั้งกล้อง CCTV ในพื้นที่จุดเสี่ยงรวมถึงการตั้งจุดสกัดจุดตรวจในพื้นที่เสี่ยง การสร้างการรับรู้และเสรีภาพขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน การสร้างแนวทางป้องกันและลดผลกระทบจากสาธารณภัยและอุบัติเหตุ เพื่อให้ประชาชนมีความปลอดภัย กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด จัดกิจกรรมทูบีนัมเบอร์วัน กิจกรรมบำบัดรักษาและสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน

โครงการใหญ่ในโคราช
ทั้ง ๕ ประเด็นยุทธศาสตร์นั้น ในปัจจุบันจังหวัดนครราชสีมามีโครงการใหญ่ของรัฐบาล (Mega Project) ได้แก่ โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข ๖ หรือมอเตอร์เวย์ (M6) สายบางปะอิน-นครราชสีมา คืบหน้าร้อยละ ๙๕ คาดว่าจะเปิดบริการเต็มรูปแบบในปี ๒๕๖๘, โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ๓ ช่วง คือ มาบกะเบา-ชุมทางจิระ, ชุมทางจิระ-อุบลราชธานี และชุมทางจิระ-ขอนแก่น (เปิดให้บริการแล้วในระยะทาง ๑๘๗ กม.) ส่วนรถไฟความเร็วสูงสายแรกกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง ๒๕๑ กม. มีผลงานการก่อสร้างสะสมร้อยละ ๒๒ มีเป้าหมายเปิดใช้งานประมาณปี ๒๕๗๐, โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา หรือรถไฟฟ้าสายสีเขียว (เซฟวัน-บ้านนารีสวัสดิ์) อยู่ระหว่าง รฟม.ทบทวนความเหมาะสม และปรับปรุงรูปแบบของรถ รวมทั้งการใช้พลังงาน คาดว่าจะเข้าสู่ ครม.ประมาณปี ๒๕๖๘, โครงการก่อสร้างทางลอดจุดตัดในตัวเมืองนครราชสีมา จำนวน ๒ จุด คือแยกนครราชสีมา (แยกบิ๊กซีโคราช) และทางลอดแยกประโดก ซึ่งทั้งสองโครงการมีการลงนามในสัญญาก่อสร้างแล้ว และคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี ๒๕๖๙, โครงการก่อสร้างวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา จำนวน ๗ ตอน เสร็จแล้ว ๔ ตอน เหลืออีก ๓ ตอน คาดว่าจะสามารถเปิดบริการเต็มรอบในปี ๒๕๖๗, โครงการก่อสร้างแลนด์มาร์คหรือจุดชมวิวในรูปแบบสกายวอล์ค บริเวณหน้าผาเขายายเที่ยง และก่อสร้างพระชัยเมืองนครราชสีมาบริเวณวัดเขาเขื่อนลั่น อำเภอสีคิ้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาขออนุญาตใช้พื้นที่จากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, การจัดมหกรรมพืชสวนโลก จังหวัดนครราชสีมา ปี ๒๕๗๒ ซึ่ง ครม.มีมติเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๕ เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดมหกรรมพืชสวนโลก ปี ๒๕๗๒ ซึ่งสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) จะเดินทางมาจังหวัดนครราชสีมาในวันที่ ๑๑-๑๔ กันยายน ๒๕๖๖ และลงพื้นที่ที่ตำบลเทพาลัย อำเภอคง จากนั้นทางจังหวัดฯ และกระทรวงเกษตรฯ จะเดินทางไปนำเสนอที่อินชอน เกาหลีใต้ และโครงการพัฒนาท่าเรือบก ซึ่งอยู่ระหว่างที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมอีกครั้ง

โคราช EV City
จากนั้น นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผวจ.นครราชสีมา นำเสนอเรื่องโคราชสมาร์ทซิตี้ ซึ่งดำเนินการมาค่อนข้างนานแล้ว ได้รับการอนุมัติทั้ง ๗ ด้านเรียบร้อยแล้ว มีการวางแผนดำเนินการเป็นโซน ทั้งนี้ในส่วนของ อปท.ได้ส่งประกวด เช่น อบต.หนองสาหร่าย เป็นต้น ในส่วนของสมาร์ทซิตี้ในเมืองคิดว่า ถ้าดำเนินการในแต่ละพื้นที่โดยที่ไม่มีโครงการนำร่องขึ้นมาให้เห็นเป็นรูปธรรมก็ยากที่จะดำเนินการแต่ละด้านได้ ที่ผ่านมามีการจัด EV Expo โดยการนำรถไฟฟ้าทุกชนิดมาจัดแสดงในโคราช และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโคราชจะเป็น EV City ซึ่งระยะทางจากรุงเทพฯ มาโคราช ๒๕๐ กม.เป็นระยะทางที่รถไฟฟ้าสมควรที่จะต้องแวะเพื่อจะเติมไฟฟ้าหรือชาร์จไฟ เพราะฉะนั้น ไม่มีจังหวัดไหนในภาคอีสานที่เหมาะสมเท่าโคราชแล้ว ที่จะเป็น EV City เป็นศูนย์กลางสถานีชาร์จ ซึ่งผู้ว่าฯ ได้ประสานกับการไฟฟ้าฯ เพื่อตั้งตู้ชาร์จหรือสถานีชาร์จไฟฟ้า ๒ หัวบริเวณอนุสาวรีย์คุณย่าโม ส่วนพื้นที่กลางเมืองและรอบคุณย่าโมเรามีโครงการโคราชสมาร์ทสแควร์ จะทำให้พื้นที่ตัวอย่างทุกอย่างในเรื่องสมาร์ทซิตี้ทั้ง ๗ ด้าน มีการประสานกับเทศบาลนครฯ และบริษัทที่เป็น Provider ต่างๆ ที่เป็นผู้นำด้านความสมาร์ท ไม่ว่าจะเป็น Smart Energy หรือ Smart Living ที่จะสามารถนำไปติดตั้งบริเวณอนุสรณ์สถาน รอบๆ คุณย่าโม เพื่อที่จะเป็นโครงการนำร่องให้เมืองต่างๆ เข้ามาดูงาน ซึ่งจุดนี้เป็นจุดกลางเมืองโคราชอยู่แล้ว หากสามารถทำเป็นโครงการนำร่องและประสบความสำเร็จจะขยายผลได้ง่ายขึ้น

นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผวจ.นครราชสีมา

สายสื่อสารยังวุ่นวายในซอย
“ภายหลังจากได้รับงบประมาณจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและนำสายไฟฟ้าลงดินไปแล้ว ปัญหาที่เกิดขึ้นคือสายสื่อสารยังไม่สามารถเคลียร์ลงดินได้ทั้งหมด และส่วนใหญ่ไปลงอยู่ในซอยต่างๆ ฉะนั้นจากถนนสายหลักที่เรานำสายไฟฟ้าลงดินแล้ว สายที่รกรุงรังตอนนี้ไปโผล่อยู่ในซอยต่างๆ แทน จึงฝากว่า ถ้าเป็นไปได้อยากจะให้สายสื่อสารต่างๆ ในโคราชลงใต้ดินให้หมด นอกจากนี้ สิ่งที่คณะกรรมการสมาร์ทซิตี้ต้องการและเสนองบประมาณไปหลายครั้งแล้วแต่ยังไม่ได้ คือศูนย์รวมแพลตฟอร์มของโคราชที่จะทำในเรื่องสมาร์ทซิตี้ทั้งหมด หากได้งบประมาณ มทส.พร้อมที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ให้กับสมาร์ทซิตี้โคราช เคยของบประมาณไปที่ DEPA เพื่อทำระบบแจ้งเตือนน้ำท่วมผังเมือง ก็ยังไม่ได้รับ นอกจากนี้ยังมีเรื่องโคราชเวลเนสซิตี้ เมืองนวัตกรรมสุขภาพ โดยในเขตเมืองแบ่งเป็น ๓ โซน แล้วปากช่อง วังน้ำเขียว ก็แบ่งเป็นอีกโซน เป็นเขตนวัตกรรมการท่องเที่ยวคุณภาพสูง” นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ กล่าว

สนง.เศรษฐกิจสร้างสรรค์
ในขณะที่ภาคเอกชนนั้น นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ กรรมการที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดฯ นำเสนอว่า สิ่งที่ภาคเอกชนเรียกร้องคืออยากให้โคราชมีสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่แค่ในส่วนกลาง โดยในส่วนภูมิภาคน่าจะเกิดขึ้นได้แล้ว เนื่องจากว่าจังหวัดนครราชสีมาเป็นพื้นที่การผลิตทั้งภาคเกษตรและอุตสาหกรรมจำนวนมาก ต้องการความช่วยเหลือในเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาต่อยอด หากมีข้อจำกัดทางด้านกฎหมายที่ทำให้การตั้งสำนักงานฯ ไม่ได้ อย่างน้อยก็ขอให้เป็น TCDC ก็ยังดี คือเป็นศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบต่างๆ ในเชิงพาณิชย์ ที่จะช่วยภาคเอกชนทุกระดับทั้ง S M L

‘ถนน ๓ มรดกโลก’รองรับท่องเที่ยว
“ส่วนอีกเรื่องที่มีความสำคัญมาก ซึ่งหอการค้าฯ เชื่อว่าภาคเอกชนไม่มีศักยภาพมากพอที่จะทำให้ประสบความสำเร็จได้ถ้าไม่ใช่นโยบายของรัฐบาลหรือของกระทรวง เป็นที่ทราบกันดีว่า โคราชได้รับการรับรองเป็นพื้นที่ ๓ มรดกโลกของยูเนสโก ซึ่งยินดีกับสิ่งที่ได้รับแต่จุดอ่อนคือไม่มีกระบวนการใดเลยที่จะสร้างสรรค์สิ่งที่ได้รับให้กลายเป็น Destinations ของโลก ที่ผ่านมาภาคเอกชนลงทุนตามภาครัฐ เมื่อไม่มีความชัดเจนก็จะกลายเป็นธรรมชาติในเชิงธรรมชาติค่อยๆ พัฒนาไป ในเมื่อไม่ชัดเจนในด้านการลงทุนของภาคเอกชนก็จะเกิดความไม่เชื่อมั่นว่าการลงทุนไปแล้วจะเกิดการตอบรับที่ดีมากน้อยเพียงใด จึงอยากให้รัฐบาลลงทุน ๒ ประเด็น คือ ต้องการให้สร้างถนนที่เรียกว่า UNESCO Ring Road คือถนนที่มีอยู่แล้วรอบพื้นที่ ๘ อำเภอ คือเริ่มต้นจากสาย ๒๐๙๐ ถนนธนะรัชต์วิ่งไปถึงกลางเขาใหญ่ เลี้ยวซ้ายอยู่ในเส้น ๓๕๒ เขาใหญ่-วังน้ำเขียว แล้วออกมาสาย ๓๐๔ ผ่านอำเภอปักธงชัย มาถึงสามแยกปักธงชัย แล้วเข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ (ถนนมิตรภาพ) แล้วกลับไปธนะรัชต์ เส้นนี้จะเป็นวงแหวนครอบคลุม ๘ อำเภอและ ๓ มรดกโลกด้วย ซึ่งภาคเอกชนต้องการให้ปรับปรุงกายภาพและภูมิทัศน์ต่างๆ ให้กลายเป็นถนนมรดกโลกให้ได้ ใครก็ตามที่วิ่งอยู่บนถนนนี้จะต้องมีความรู้สึกว่าตัวเองอยู่พื้นที่มรดกโลก ไม่ว่าจะเป็นกายภาพด้านถนน ข้างทาง ความสวยงาม และอัตลักษณ์ของถนนในวงแหวนนี้” นายชัยวัฒน์ กล่าว

นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ กรรมการที่ปรึกษาหอการค้าจังหวัดฯ

สร้างแลนด์มาร์ค ๓ มรดกโลก
นายชัยวัฒน์นำเสนออีกว่า ส่วนที่สองที่ต้องการจะเป็นการลงทุนร่วมกันของภาครัฐและเอกชน แต่อยากให้เป็นนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ผลักดันเกิดเป็นภาพที่อลังการมองเห็นได้ชัดเจน ต้องการให้ลงทุนในเรื่องแลนด์มาร์คของ ๓ มรดกโลกนี้ ให้เป็นแลนด์มาร์คระดับนานาชาติ ซึ่งในปัจจุบันทั้ง ๓ มรดกโลกนี้มีแลนด์มาร์คของแต่ละพื้นที่อยู่แล้ว แต่ยังขาดความเด่นชัดเนื่องจากเป็นการใช้งบประมาณจากภาครัฐ ซึ่งเมื่อเป็น ๓ มรดกโลกแล้วหากไม่ทำตอนนี้ก็จะเสียโอกาสที่คนทั้งโลกจะรู้จัก หากรัฐบาลนำไปพิจารณาแล้วเห็นความสำคัญเชื่อว่าโคราชจะเป็น Destinations ของคนทั้งโลก ต่อจากภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ กรุงเทพฯ เราจะเป็น Destinations ที่ ๕ ของโลก

ต้องการใช้สนามบินกองบิน ๑
นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นครราชสีมา เสริมว่า เรื่องมอเตอร์เวย์หากเป็นไปได้ให้เปิดใช้ในช่วงที่สร้างเสร็จแล้วไม่ต้องรอด่านเก็บเงิน ส่วนเรื่องสนามบินในวันนี้ที่ยังไปที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติไม่ได้ ไม่ใช่ไม่อยากไป แต่เอกชนไม่ยอมบิน หากวันนี้ที่จะ Quick Win ซึ่งผมเคยร่วมกับหอการค้าฯ และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวฯ คุยแล้วมีหนังสือแล้ว และเชิญผู้บริหารแอร์เอเชียมา เขาก็พร้อมจะบิน แต่ไม่บินที่สนามบินอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ขอบินที่กองบิน ๑ โดยผม ผู้การตำรวจ แม่ทัพ นายก อบจ. นายกเทศมนตรีนครฯ และภาคเอกชน หอการค้าฯ สภาอุตสาหกรรมฯ เซ็นหนังสือไปแล้ว แต่ตอนนี้เรื่องอยู่ที่กองทัพอากาศ หากตามได้ สายการบินก็พร้อมบิน แต่ว่ามีรายละเอียดเยอะที่ต้องมาคุยกัน เงื่อนไขคือ มีความถี่ที่ดี เวลาที่ดี ค่าตั๋วเครื่องบินที่เหมาะสม หากประสบความสำเร็จก็จะเปิดโอกาสทางธุรกิจ ทั้งธุรกิจไมซ์ การค้าการลงทุน และอีกหลายอย่าง ทุกวันนี้คนข้ามหัวเราไปหมด ไปสัมมนาที่ขอนแก่น อุบลฯ อุดรฯ ข้ามโคราชไปหมด ผมมาอยู่โคราชผมต้อนรับผู้ใหญ่น้อยกว่าตอนอยู่นครพนมด้วยซ้ำ เพราะไม่มีสนามบินจึงไม่ค่อยมีใครอยากมา มาแค่ปากช่อง ไม่เข้าเมือง ไม่ผ่านเมือง ทำให้เสียโอกาสมาก ซึ่งแนวคิด ๒ เรื่องนี้ ๒ เดือนก็ทำได้เลย

นายสยาม ศิริมงคล ผวจ.นครราชสีมา

ช่วยกันผลักดัน
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง กล่าวว่า ในเรื่องมอเตอร์เวย์นั้น จากปากช่องมาถึงขามทะเลสอตอนนี้เสร็จแล้ว ซึ่งเข้าใจว่าหากมีระบบความปลอดภัยหรือระบบป้องกันอันตรายก็จะทำได้ แต่เรื่องนี้ตนจะรับไปดำเนินการ ส่วนเรื่องสนามบินก็เห็นด้วย และถ้าไปคุยกับกองบิน ๑ ก็พอเป็นไปได้แล้ว สมัยที่เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเคยไปเจรจาแต่ไม่ได้ แต่ภายหลังตนคิดว่าบรรยากาศเปลี่ยนไป หากทำสำเร็จแล้วสนามบินที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติจะใช้ทำอะไรต้องช่วยกันคิดด้วย

จุดติดก่อนแล้วค่อยขยับ
นายสยาม ศิริมงคล กล่าวว่า นอกจากจะเป็นศูนย์ซ่อมศูนย์ฝึกแล้ว ในส่วนกองบิน ๑ เราไม่ได้บินเป็นหลัก แต่ทำอย่างไรให้จุดติดก่อน ให้คนโคราชคุ้น และถ้านอกเวลากองบิน ๑ ให้ได้ แล้วหากฉุกเฉินก็ให้คนไปใช้คู่ขนานกันได้ แต่ตอนนี้ขอเริ่มที่กองบิน ๑ ก่อน แอร์เอเชียเข้าใจแล้วว่าถ้าเราให้ Incentive บางอย่างแล้วก็ไป มีการเช็คอินล่วงหน้า แต่เขาบอกว่าเขารอมา ๒๐ ปีแล้วไม่สำเร็จ จึงขอทำที่กองบิน ๑ ได้ไหม หากมีคนใช้บริการหนาแน่นขึ้นก็เป็นไปไม่ได้ที่จะใช้ท่าอากาศยานของทหารต่อ ก็ต้องขยับไปที่เฉลิมพระเกียรติ

โคราชต้องมีศูนย์แสดงสินค้า
ทางด้านรองประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา นำเสนอความต้องการว่า อยากให้โคราชมีศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ เพราะโคราชเป็นเมืองไมซ์ซิตี้ แต่โคราชไม่มี Exibhition Center สำหรับการจัดงานต่างๆ ที่เป็นระดับนานาชาติ ต้องการขนาดพื้นที่มากกว่า ๒๐,๐๐๐ ตร.ม.ขึ้นไป มีพื้นที่ Out door ที่เพียงพอเหมาะสม และต้องการให้โคราชเป็นศูนย์กลางจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ และระดับโลกอย่างต่อเนื่อง มีโครงการพัฒนาสนับสนุนนักกีฬาไปสู่อันดับโลกด้วย รวมทั้งปรับปรุงสนามกีฬาในจังหวัดฯ ให้พร้อมใช้งานและเพียงพอ มีการแข่งขันกีฬาเยาวชนระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดนครชัยบุรินทร์ นอกจากนี้ขอให้เพิ่มงบเก็บตัวให้นักกีฬาในการแข่งขันระดับชาติในกีฬาที่มีศักยภาพ และต้องการเห็นป้ายบอกทางแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นภาษาอังกฤษในเส้นทางสำคัญ รวมทั้งมีการส่งเสริมสินค้าอัตลักษณ์ท้องถิ่น เช่น แฟชั่นผ้าไทย ผ้าไหม ผ้าทอมือ รวมทั้งของฝากเอกลักษณ์ท้องถิ่นต่างๆ ด้วย

สร้างแล็บอินโนเวชั่นกันสมองไหล
ส่วนเรื่องเดิมที่ต้องการให้เร่งคือการคัดเลือกพื้นที่สร้างท่าเรือบกและให้รีบดำเนินการ รวมทั้งเรื่องผังเมืองที่เป็นปัญหาและอุปสรรคของภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งอาจมีพื้นที่ป่าทับซ้อนหรือการระบุสีผังเมืองที่ไม่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจ/อุตสาหกรรม ซึ่งในเรื่องผังเมืองส่วนใหญ่เป็นโซนสีเขียว การจะเป็นระเบียงเศรษฐกิจทำให้เข้ามาประกอบการค่อนข้างยาก นอกจากนี้ ต้องการให้สร้างศูนย์วิจัย หรือแล็บอินโนเวชั่น ทางด้านเกษตรและอุตสาหกรรมเอไอ ให้โคราชเป็นแล็บเซ็นเตอร์ที่สมบูรณ์แบบ เป็นแหล่งที่นักศึกษาทั่วประเทศสามารถมาใช้ประโยชน์ได้ ในการที่จะใช้มันสมองของตัวเองเข้ามาทำแล็บตรงนี้ เมื่อทำเสร็จแล้วก็สามารถมีเอกชนหรือภาครัฐนำอินโนเวชั่นที่เด็กทำไปขายไอเดียให้กับบริษัทเอกชน ซึ่งในต่างประเทศขณะนี้จะมีตรงนี้ จะเป็นสถานที่ให้นักศึกษาสร้างผลงานและไม่ต้องใช้ทุนด้วย ในต่างประเทศมีแล็บทันสมัย ใครมีมันสมองก็สามารถเข้ามาทำวิจัย เมื่อเสร็จก็จะมีอาจารย์คอยส่งเสริมให้ผลงานประสบความสำเร็จและจดลิขสิทธิ์ได้ นำไอเดียไปขายให้กับบริษัทเอกชน ทำให้ประเทศเจริญเติบโตขึ้นได้ ที่สำคัญคือป้องกันสมองไหล ซึ่งส่วนใหญ่เด็กที่เรียนดีจะสอบชิงทุนไปเรียนต่างประเทศและเป็นทุนที่ไม่ต้องใช้หนี้ พอเรียนจบเกิน ๘๐% ที่ไม่กลับมาเมืองไทย เรามาทรัพยากรธรรมชาติ ทรัพยากรมนุษย์ ที่ไม่ด้อยกว่าประเทศอื่น ฉะนั้น จึงมาร่วมกันสร้างสิ่งเหล่านี้ให้กับเด็กที่จะเติบโตเป็นเยาวชนที่มีคุณค่าของประเทศ

คาดหวังโคราชเปลี่ยนแปลง
จากนั้นนางวัชรี ปรัชญานุสรณ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดนครราชสีมา นำเสนอด้านการท่องเที่ยวหลายประเด็น โดยย้ำว่า คนโคราชมีความคาดหวังเพราะมีรัฐมนตรี ๒ คน จะทำให้โคราชมีความเปลี่ยนแปลงและเป็นมหานครแห่งโอกาส และพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ จึงอยากให้ส่งเสริมและสนับสนุนเรื่องการท่องเที่ยว ๓ มรดกโลก ซึ่งมีปัญหา ๓ เรื่องที่แก้ไม่ยากหากเรามีความตั้งใจ คือ สร้างการรับรู้ในเรื่อง ๓ มรดกโลกในจังหวัดฯ, รถโดยสารสาธารณะเข้าไปแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ในพื้นที่ และการไม่มีสายการบิน หากเกิดขึ้นที่กองบิน ๑ ซึ่งอยู่ในเมือง จะทำให้นักท่องเที่ยวเข้าสู่โคราชมากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาทรัพยากรบุคคลด้านการท่องเที่ยว แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานท่องเที่ยว รวมทั้งจัดทำศูนย์ข้อมูลของจังหวัดฯ

น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

สนามกีฬาโคราชมีมาตรฐาน
ภายหลังการนำเสนอของภาคเอกชนแล้ว น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล กล่าวว่า การจัดอีเวนต์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ก็เป็นนโยบายของรัฐบาลอยู่แล้ว และน่าจะมีการผลักดันอีกหลายรอบ ซึ่งจะต้องมีการพูดคุยกันนอกรอบ ในส่วนของการนำอีเวนต์ใหญ่มาลงเป็นนโยบายของรัฐอยู่แล้ว เพราะนายกรัฐมนตรีต้องการกระตุ้นท่องเที่ยวเพื่อหารายได้เข้าประเทศอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องฟรีวีซ่า เรื่องสนามบินต่างๆ ที่ยังติดขัด การเดินทางของนักท่องเที่ยว และความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว ส่วนเรื่องการแข่งขันกีฬานั้น โคราชก็มีอีเวนต์ด้านกีฬาอยู่เสมอ สนามกีฬาก็ค่อนข้างมีมาตรฐานไม่ว่าจะเป็นอินดอร์-เอาท์ดอร์ ส่วนเรื่องสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ก็เช่นเครื่องปั้นดินเผาด่านเกวียน ก่อนหน้านี้ของเราดังมาก ต่างชาติแถบยุโรปสนใจซื้อเยอะมาก แต่ปัจจุบันอาจจะซบเซาลงไปหน่อย ต้องการให้มหาวิทยาลัยหรือผู้เกี่ยวข้องมีการอบรมเพื่อออกแบบ ไม่ใช่ว่าเข้าไปทุกร้านแล้วเหมือนกันหมด จะได้มีเอกลักษณ์ของแต่ละร้านเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าที่มีอยู่แล้ว นอกจากนี้ ของดีที่เรามีอยู่ เช่น โรงละครแห่งชาติอาจจะลืมไปแล้วว่ามีอยู่ที่จังหวัดนครราชสีมา จะบูรณาการสิ่งที่มีอยู่แล้วแล้วจัดอีเวนต์ขึ้น เพื่อที่จะผลักดันต่อ เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามา โดยการผลักดันสิ่งที่มีอยู่แล้วและใช้ประโยชน์ต่อไป ไม่ใช่แค่เพียงการสร้างสิ่งใหม่เข้ามา ซึ่งจะต้องขอความร่วมมือหลายหน่วยงานเพื่อบูรณาการร่วมกันต่อไป

“ส่วนเรื่องสนามบินคุยกันเยอะมาก ซึ่งรัฐมนตรีประเสริฐจะนำเรื่องนี้ไปหารือ แต่โดยส่วนตัวคิดว่าอีกไม่นานจะมีทางด่วนหรือรถไฟความเร็วสูง คนอาจจะเลือกใช้รถไฟความเร็วสูงเยอะ เนื่องจากเดินทางได้ตลอด และระยะทางจากกรุงเทพฯ มาโคราชก็ไม่ได้ไกลมาก แต่ในระยะสั้นคิดว่ารัฐมนตรีน่าจะประสานต่อได้” น.ส.สุดาวรรณ กล่าว

สรุปประเด็นหารือ
ในขณะที่นายประเสริฐ จันทรรวงทอง กล่าวว่า “ในการประชุมวันนี้ขอมอบหมายภารกิจแก่ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ เป็นหลักเพื่อที่จะทำงานร่วมกันต่อไป สรุปเป็นประเด็น ดังนี้ ๑.มอเตอร์เวย์ที่อยากให้เปิดใช้จะรับไปประสานเอง เพราะเป็นการพูดในระดับนโยบาย ๒.ศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ มีความจำเป็นและโคราชได้มาแล้วก็ถูกแย่งไป และจะนำกลับมา ผมอยากให้ดูเรื่องสถานที่ ซึ่งเรื่องนี้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบคือสำนักนายกรัฐมนตรี มีปลัดกระทรวงดีอีเอสเป็นคณะทำงานด้วย จึงอยากให้ผู้ว่าฯ ช่วยดู เราจะเอาสำนักงานนี้มาตั้งที่โคราช ต้องมีความพร้อมเรื่องที่ดิน บุคลากร ทำงานร่วมกับภาคเอกชนก็ได้ ยังไม่รู้ว่าจะใช้ที่ดินเท่าไหร่ ๓.โคราชจีโอพาร์คเป็นเรื่องใหญ่ เรามีของดีแต่อยากให้คนทั่วโลกมาดู ความจริงแล้วจุดเริ่มต้นเริ่มต้นที่สีคิ้ว มาสูงเนิน ขามทะเลสอ เมือง ซึ่งผมเคยคุยกับการท่องเที่ยวเรื่องวันเดย์ทริป แต่ต้องมีจุดดึงดูดที่จะต้องให้คนเหล่านั้นมา สกายวอล์คที่เขาเขื่อนลั่นจะเป็นที่แรกของโคราช บริเวณนั้นมีวิวค่อนข้างสวย มองเห็นกังหันลม ลำตะคอง ส่วนด้านขวาจะเห็นรถไฟความเร็วสูง ด้านซ้ายเห็นมอเตอร์เวย์ ครบเลย อยากให้ทำ พูดกันมาหลายปีแล้ว อยากให้จริงจัง”

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี)

ไม่ต้องห่วงเรื่องเงิน
“เรื่องศูนย์แสดงสินค้าฯ ขอมอบหมายผู้ว่าฯ ดำเนินการหาสถานที่สร้าง ส่วนเรื่องงบประมาณไม่ต้องเป็นห่วง (เสียงปรบมือ) เลือกสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดไม่ใช่เหมาะสมสำหรับประโยชน์ของคนใดคนหนึ่ง (ประมาณ ๒๕ ไร่ขึ้นไป) ส่วนเรื่องสนามบินที่กองบิน ๑ ผมจะรับไปดำเนินการ จะหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม แต่ในเรื่องโครงสร้างอื่นๆ จะรองรับได้หรือไม่ เช่นถ้าเป็นสนามบินทั่วไปจะมีขนาดรันเวย์ ๒,๕๐๐ ม. ถ้าเป็นสนามบินนานาชาติรันเวย์ขนาด ๓,๕๐๐ ม. แต่ทั้งนี้จะขอเจรจาก่อน ผมคิดไปถึงขนาดที่เรียกว่าถ้าอยากให้สนามบินเวิร์คต้องดึงประเทศเพื่อนบ้านหรือประเทศในอาเซียนมาเที่ยวไทยบ้าง เพราะโลจิสติกส์ประเทศเราดีที่สุดในอาเซียน ในเรื่องนี้จะนำไปคุยกับผู้เกี่ยวข้อง ในขณะที่เรื่องจีโอพาร์คจะต้องมีคณะทำงานอย่างจริงจัง โคราชจะดังก็เรื่องนี้ด้วย เพราะเป็น ๑ ใน ๔ ประเทศที่มีครบ ๓ มรดกโลก แต่การจะดังได้จะต้องสร้างสตอรี่ขึ้นมา เรื่องซิตี้ดาต้าแพลตฟอร์มเป็นเรื่องสำคัญ อยากทำทั้งประเทศ ไม่ได้ทำเฉพาะโคราช ซึ่งเรื่องนี้ขอสั่งการให้ทำได้เลย ส่วนเรื่องพืชสวนโลกมุ่งไปที่เมืองคง ซึ่งมีคนโทรมาหาผมแล้วบอกว่า ที่อำเภอคงมีดินเค็ม ผมก็รับฟังไว้” นายประเสริฐ กล่าว

พืชสวนโลก’ไม่เกี่ยวกับดินเค็ม
นายสยาม ศิริมงคล กล่าวขึ้นว่า “เรื่องพืชสวนโลกตนทำตั้งแต่อยู่ที่อุดรธานี ซึ่งในการจัดกิจกรรมพืชสวนโลกไม่ได้อยู่ที่สภาพพื้นที่ ทะเลทรายก็ทำได้ ไม่มีดินก็ยังทำได้ เนื่องจากที่โคราชเป็น Type A1 ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเป็นเจ้าของเรื่อง คนที่เลือกพื้นที่คือกระทรวงเกษตรฯ ผู้ที่เลือกวันและปีในการจัดงานก็คือ สสปน. (ทีเส็บ) เข้าครม.ไปแล้ว และได้ไปเชิญผู้ชำนาญการของสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) ที่เป็นต่างชาติที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์มาดูสองพื้นที่ สุดท้ายก็แนะนำให้ไปที่อ.คง และเดินหน้าให้มีการพัฒนาต่อไป ฉะนั้น พื้นที่ไหนก็ไม่ได้เป็นปัญหาในการปลูกต้นไม้หรือการจัดการเพราะว่าไม่ได้ปลูกลงดินบริเวณนั้น เรื่องดินจึงไม่ได้เป็นอุปสรรค และผมได้ปรึกษาท่านผู้ว่าฯ วิเชียรซึ่งเป็นคนริเริ่ม สาเหตุที่ไปอ.คง เพราะต้องการดึงดูดการท่องเที่ยวและพัฒนาบริเวณนั้น หากจะเปลี่ยนแปลงคงเป็นเรื่องในระดับรัฐบาล เพราะเสนอโดยกระทรวงเกษตรฯ”

ภายหลังการประชุม นายประเสริฐ, น.ส.สุดาวรรณ และนายสยาม ร่วมแถลงข่าวผลการประชุมต่อสื่อมวลชน โดยนายประเสริฐ กล่าวว่า วันนี้เป็นการหารือนอกรอบระหว่างรัฐมนตรี ๒ กระทรวง กับผู้ว่าฯ หัวหน้าส่วนราชการ และเชิญภาคเอกชนเข้ามาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จึงขอสรุปในการประชุมที่มีการพูดคุยในวันนี้ซึ่งหลักๆ มี ๒ เรื่อง ๑.โครงการ Quick Win คือใช้เวลาไม่นานก็สามารถทำได้เลย เรื่องแรกคือให้มีการประสานกับกระทรวงคมนาคมให้เปิดถนนมอเตอร์เวย์ช่วงปากช่อง-ขามทะเลสอ ซึ่งขณะนี้การก่อสร้างเสร็จแล้วสามารถเปิดใช้ได้ และเคยเปิดใช้มาแล้วในช่วงเทศกาลสำคัญ เช่น ปีใหม่ สงกรานต์, การเปิดเส้นทางการบินสายนครราชสีมา โดยใช้สนามบินกองบิน ๑ อยู่ในการดูแลของกองทัพอากาศ กระทรวงกลาโหม ในเรื่องนี้จะนำไปประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ และการผลักดันให้โคราชเป็นศูนย์กลางการจัดการแข่งขันกีฬาระดับโลก เป็นเรื่องสำคัญ และ ๒.เป็นเรื่องที่จะร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในการขับเคลื่อน เรื่องแรกคือการสร้างและโปรโมตการท่องเที่ยวในเขต ๓ มรดกโลก ซึ่งผู้ว่าฯ ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาแล้ว เพื่อสร้างแลนด์มาร์คในการท่องเที่ยวของโคราช, ให้โคราชเป็นศูนย์กลางการประชุมและแสดงสินค้านานาชาติและอีเวนต์ต่างๆ ทั้งระดับชาติและระดับโลก ซึ่งเตรียมหาพื้นที่และศึกษาความเป็นไปได้เพื่อรีบดำเนินการ, โคราชสมาร์ทซิตี้ จังหวัดทำไปแล้วส่วนหนึ่งและจะดำเนินต่อไป, การสร้างสำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งจะเป็นสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจและการลงทุน สร้างผู้ประกอบการใหม่ เช่น สตาร์ทอัพ หรือเอสเอ็มอี จะช่วยประชาชนและผู้ประกอบการที่มาลงทุนในโคราช, แลนด์มาร์คในจังหวัดฯ ที่มีการพูดคุยในวันนี้คือการสร้างสกายวอล์คที่เขาเขื่อนลั่น ต.คลองไผ่ อ.สีคิ้ว ซึ่งจะบูรณาการร่วมกันระหว่างภาคราชการหลายส่วน, การจัดแสดงพืชสวนโลกที่โคราชในปี ๒๐๒๙ (พ.ศ.๒๕๗๒) ซึ่งอยากให้โคราชได้เป็นเจ้าภาพ, ศูนย์กลางการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งได้สั่งการให้ไปทำแบบแผนและรายละเอียดเพื่อมาพิจารณาว่า จะมีทิศทางอย่างไร สามารถส่งเสริมเศรษฐกิจในด้านใดบ้างที่เป็นประโยชน์กับเกษตรกร และผู้ประกอบการพาณิชยกรรม ทั้งภาคการท่องเที่ยวและอื่นๆ ในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเรียกว่า NeEC

น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล กล่าวว่า กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาที่เข้ามาหารือก็จะเน้นในเรื่องท่องเที่ยวเพื่อสุขภาพ และการนำอีเวนต์ใหญ่มาจัดในพื้นที่โคราชเพื่อส่งเสริมท่องเที่ยวดีขึ้นไปอีก แต่ต้องมีการหารือเพิ่มเติมอีก และอีกไม่กี่เดือนนี้จังหวัดนครราชสีมาจะจัดแข่งขันกีฬาคนพิการ ซึ่งได้หารือและให้ทางจังหวัดเตรียมจัดการแข่งขันและการต้อนรับต่างๆ

พูดคุยทุกเดือน
นายสยาม ศิริมงคล กล่าวว่า ในวันนี้เป็นดำริของรัฐมนตรีทั้งสองที่ประสงค์จะเข้ามาปรึกษาหารือ เนื่องจากทั้งสองท่านเป็นคนโคราชโดยแท้ ซึ่งทางจังหวัดก็รับภาระในการเชิญส่วนราชการต่างๆ อปท. ภาคเอกชนเพื่อปรึกษาหารือถึงทิศทางและสิ่งที่รัฐมนตรีทั้งสองจะช่วยขับเคลื่อน ซึ่งในที่ประชุมนอกจากจะนำเรื่องที่เป็นปัญหาสำคัญๆ และโอกาสในการพัฒนาที่สำคัญของจังหวัดฯ เราพูดคุยกันด้วยความเมตตาของรัฐมนตรีทั้งสองว่าจะมีการพูดคุยกันเพื่อประโยชน์ของชาวโคราชเป็นระยะ อาจจะไม่ใช่ทุกสัปดาห์แต่อย่างน้อยทุกเดือนก็มีโอกาสมาพบกันเพราะปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นเร็ว ปัจจุบันทันด่วน เพราะฉะนั้น พวกเราทุกฝ่ายจะได้มีโอกาสมาพบกันโดยการนำของรัฐมนตรีทั้งสองและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ไปช่วยเป็นปากเป็นเสียงในสภา ตนเชื่อมั่นว่าทิศทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดฯ จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสร้างความเติบโตได้เป็นอย่างดี จึงขอขอบคุณรัฐมนตรีและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

จำเป็นต้องมีสายการบิน
นายประเสริฐ จันทรรวงทอง กล่าวย้ำถึงโครงการที่สามารถทำได้เลย (Quick Win) คือ การเปิดใช้มอเตอร์เวย์ และเรื่องสนามบินซึ่งเคยใช้ความพยายามหลายครั้งแล้ว ได้รับข้อคิดเห็นจากประชาชนว่าหากมาใช้ที่กองบิน ๑ จะสะดวกกว่า จะต้องมีการพูดคุยกับกระทรวงกลาโหม ซึ่งคิดว่าการง่ายการยากเป็นเรื่องของเหตุผลที่ต้องรับฟัง ซึ่งทางกระทรวงจะต้องรับฟังเหตุผลของโคราชว่าได้รับความเดือดร้อนในเรื่องการคมนาคมและถ้าจะพัฒนาขีดความสามารถของโคราชในอนาคต จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสนามบินที่มีศักยภาพเพียงพอ สุดท้ายคือการผลักดันให้โคราชเป็นเมืองแห่งกีฬา ซึ่งทั้งสามเรื่องจะทำให้คนโคราชได้มีชีวิตและมีสิ่งต่างๆ เข้ามาเป็นการเพิ่มรายได้ให้กับคนโคราช

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๒๗๕๗ วันที่ ๑๕ เดือนสิงหาคม - วันที่ ๑๔ เดือนกันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖


281 1,453