2ndMay

2ndMay

2ndMay

 

January 01,1970

ชาว ต.นากลาง อ.สูงเนิน ต้านรถขนขยะผ่านชุมชน กระทบคุณภาพชีวิต จี้ตรวจสอบคณะพิจารณาโครงการฯ เอื้อประโยชน์ไม่โปร่งใส


เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2566 ที่บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอสูงเนิน อ.สูงเนิน นครราชสีมา นางสาวอัญชลี  ยศสูงเนิน อายุ 43 ปี ชาวบ้าน ต.นากลาง อ.สูงเนิน พร้อมนางคำพัน  ละโลงสูงเนิน อายุ 53 ปี ชาวบ้านหมู่ 9 ต.นากลาง อ.สูงเนิน นายกฤษณพงษ์  สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ทนายความที่ปรึกษาชาวบ้านตำบลนากลาง ,ดร. ปรียาภัทร์  เมืองทอง นักวิชาการ ผู้จัดทำรายงานศึกษาความเหมาะสมโครงการฯ อดีตที่ปรึกษาฯ โครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนโดยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า องค์การบริหารส่วนตำบลนากลาง และชาวบ้านหมู่ 5 ,หมู่ 9 ต.นากลาง กว่า 20 คน ได้รวมตัวกันยืนถือป้ายประท้วง ข้อความระบุ “ชุมชน หมู่ 9 ไม่ยินยอมให้รถขยะ 500 ตันวิ่งผ่าน ตามที่แจ้งในผลประชาคมโครงการ ตาม TOR ข้อ 5.1, ต้องทนกลิ่นเหม็นใช่ไหม ฯลฯ”

จากนั้นได้ยื่นหนังสือร้องเรียนคัดค้านกับศูนย์ดำรงธรรมอำเภอสูงเนิน ให้กับนายปรัชญา  มันตาทร ปลัดอำเภอสูงเนิน หัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง เป็นผู้รับมอบแทนนายอำเภอสูงเนิน เพื่อขอให้ตรวจสอบความโปร่งใสของคณะกรรมการพิจารณาผลโครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนโดยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้าองค์การบริหารส่วนตำบลนากลาง อ.สูงเนิน เนื่องจากวันนี้มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาผลที่อบต.นากลาง ในช่วงเช้าวันนี้เวลา 09.00 น. มีชาวบ้านกว่า 100 คนไปยื่นหนังสือถึง อบต.นากลาง ให้ประธานคณะกรรมการและกรรมการพิจารณาผลโครงการให้ปฏิบัติหน้าที่ตาม TOR ที่มีผลประชาคมระบุไว้และรับแจ้งว่าจะเลื่อน ยกเลิกการประชุมไปก่อนโดยมีปลัดอำเภอสูงเนินรับหนังสือส่งให้ อบต. ถึงประธานคณะกรรมการต่อมากลุ่มชาวบ้านได้ทราบข่าวว่ามีการลักลอบจัดการประชุม อย่างกะทันหันโดยไม่มีเหตุอันควร ชาวบ้านมีความกังวลว่าคณะกรรมการเร่งพิจารณาผลโดยเร็ว อาจมีการเอื้อผลประโยชน์ทับซ้อน ไม่สุจริตโปร่งใส กับนิติบุคลลรายใดรายหนึ่ง ที่ได้ประโยชน์จากการเร่งรีบพิจารณา เพื่อป้องกันเหตุความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ลุกลามวงกว้าง รวมทั้งขอให้ประธานฯและคณะกรรมการเปิดซองโครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนโดยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า ลงพื้นที่ตรวจสอบ เพื่อปฎิบัติหน้าที่ตรวจความละเอียดถูกต้องตาม TOR ข้อ 5.1  ของที่ตั้งโครงการฯ หมู่ที่ 9 ต.นากลาง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา อย่างเคร่งครัด

บรรยากาศเป็นไปด้วยความตึงเครียด เนื่องจากมีการดำเนินการประชุมพิจารณาผลโครงการฯ บนห้องประชุมชั้น 2 ที่ว่าการอำเภอสูงเนิน ไม่มีท่าทีเสร็จสิ้น ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ อส.และตำรวจ คอยเฝ้าระวังเกรงจะมีการเผชิญหน้าปะทะคารม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมดำเนินกิจกรรมด้วยความสงบเน้นนำเสนอให้ข้อมูล ปัญหาความเดือดร้อนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ไม่มีเหตุการณ์ความวุ่นวายแต่อย่างใด

ดร.ปรียาภัทร์ฯ นักวิชาการ ผู้จัดทำรายงานศึกษาความเหมาะสมโครงการฯ เผยว่า สืบเนื่องจากความขัดแย้งในตำบลนากลางที่ อบต.นากลาง ได้จัดทำโครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชนโดยการแปรรูปเป็นพลังงานไฟฟ้า องค์การบริหารส่วนตำบลนากลาง จังหวัดนครราชสีมา โดยที่ตั้งเดิมจาก หมู่ 5 และมีการล้มโครงการโดยภาคประชาชนไม่ยอมจนผู้ว่าฯให้ชะลอไว้จนกว่าชาวบ้านจะยินยอม ต่อมา อบต.นากลาง ทำความเข้าใจกับประชาชนจนยอมให้ทำโครงการฯ โดยชาวบ้านยินยอมแบบมีเงื่อนไข เป็นชุมชนผู้เสียสละที่รับขยะชุมชนพื้นที่อื่น 500 ตันต่อวันเข้ามาในพื้นที่ จนในที่สุดข้อกังวลนี้ มาระบุใน TOR และขอให้คณะกรรมาการเปิดซองฯบรรเทาความเดือดร้อนกังวลใจชาวบ้าน หมู่ 9 ต.นากลาง โดยขอร้องให้พิจารณาอย่างเข้มงวด จะต้องไม่มีรถขยะวิ่งเข้าผ่านชุมชนตำบลนากลาง ซึ่งจะมีทั้งกลิ่นขยะและน้ำจากรถขยะ เนื่องจากทราบว่ามีนิติบุคคลผู้ยื่นข้อเสนอบางรายใช้ที่ตั้งโครงการฯ โดยใช้ถนนเส้นทางสัญจรเข้าออกโครงการฯที่ผ่านชุมชนอยู่อาศัยพื้นที่หมู่ 9

ชาวบ้านพื้นที่หมู่ 9 มีความกังวลใจว่าจะได้รับผลกระทบจากนิติบุคคลบางราย หากคณะกรรมการพิจารณาให้ที่ตั้งโครงการฯผ่านเกณฑ์ตาม TOR 5.1 ที่ระบุตามผลประชาคมว่าไม่ผ่านชุมชนดังนี้ ข้อความที่ระบุในข้อ 5.1 ที่ว่า อบต.นากลาง กำหนดพื้นที่ตั้ง โครงการฯ อยู่ใน หมู่ที่ 9 บ้านนากลางพัฒนา ต.นากลาง อ.สูงเนิน นครราชสีมา ตามรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการฯ และตามพื้นที่ที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ภายใต้รูปแบบการดำเนินการโครงการที่ให้เอกชนเป็นผู้ลงทุนและบริหารจัดการทั้งหมด(Build Owner Operate; BOO) ปรากฏตามแผนที่ตั้งโครงการฯ และเพื่อความสะดวก ไม่สร้างความรบกวนให้กับชุมชน และปลอดภัยในการขนส่งขยะมูลฝอยชุมชน ที่ตั้งโครงการฯ ต้องมีถนนทางเข้าโครงการฯเป็นเส้นทางสัญจรสำหรับขนส่งขยะมูลฝอยที่ไม่ควรผ่านชุมชนและเชื่อมต่อไปยังทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 290 เป็นหลัก ซึ่งถนนทางเข้าโครงการต้องสามารถรอรับการขนส่งขยะมูลฝอยในแต่ละวันได้   ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องตรวจสอบพื้นที่ตั้งโครงการและพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่ตั้งโครงการด้วยตนเอง ตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ 1.ต้องไม่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมถึง 2.ต้องไม่อยู่ในพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยว และ/หรือสันทนาการ 3.ต้องไม่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ด้านนิเวศ/ศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ 4.ต้องไม่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์แหล่งน้ำดิบเพื่อการประปา 5.ต้องมีระยะห่างจากพื้นที่อยู่อาศัย(Residential Area) ไม่น้อยกว่า 300 เมตร 6.ต้องไม่ขัดกับกฎหมายว่าด้วยโรงงาน 7.ต้องไม่ขัดกับกฎหมายผังเมือง

ขอให้ประธานฯ และคณะกรรมการเปิดซองฯ ปฎิบัติหน้าที่ร่วมกัน ตรวจสอบทางสัญจรเข้าออกของนิติบุคคลผู้ยื่นข้อเสนอราคาทุกรายก่อนการพิจารณาผลให้คะแนน โดยตรวจสอบความจริงในสถานที่จริง ไม่ใช้พิจารณาจากภาพถ่ายเพียงอย่างเดียว เพื่อหยุดความขัดแย้งในการตัดสินคะแนนเอื้อประโยชน์ให้นิติบุคคลรายใดหรือไม่แล้วทิ้งความเดือดร้อนให้ชาวบ้านไปชั่วชีวิตลูกหลาน

นางสาวอัญชลี ยศสูงเนิน อายุ 43 ปี ชาวบ้าน ต.นากลาง อ.สูงเนิน เผยว่า ประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ต่อต้านการพัฒนาความเจริญในพื้นที่รวมทั้งการเกิดขึ้นของโครงการบริหารจัดการมูลฝอยชุมชน แต่ขอให้ผู้มีอำนาจและรับผิดชอบในการดำเนินการยึดหลักความถูกต้อง เพื่อป้องกันความเดือดร้อนปัญหาผลกระทบจากโครงการฯ ในอนาคตทั้งระยะสั้นและระยะยาว

ด้านนายปรัชญาฯ ปลัดอำเภอสูงเนิน หัวหน้ากลุ่มงานบริหารงานปกครอง เผยว่า ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนในพื้นที่ช่วยเป็นหูเป็นตาให้กับภาครัฐ หากการดำเนินโครงการ ขัดต่อ TOR ทำให้มีผลกระทบต่อพี่น้องประชาชน ทั้งสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบในพื้นที่ไม่ยินยอมให้ความเดือดร้อนเกิดกับประชาชนในพื้นที่อย่างแน่นอน

 


238 1,462