November 24,2023
‘ผู้ว่าฯสยาม’สร้าง‘พระพุทธนครราชสีมาภิรักษ์’ ไม่ได้หารายได้แต่ให้บูชาเป็นที่ระลึก เผยเป็นมติ กก.จัดงานสมโภชเมืองโคราช ๕๕๕ ปี
วันที่ ๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ เวลา ๑๔.๐๐ น. ณ โรงปั้นจงเจริญการช่าง ตำบลสีมุม อ.เมืองนครราชสีมา ซึ่งเป็นของนายกิตติชัย ตรีรัตน์วิชชา ศิลปินชาวโคราช นายสยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา แถลงข่าวการจัดสร้างพระพุทธนครราชสีมาภิรักษ์ โดยมีนายสามารถ สุวรรณมณี ปลัดจังหวัดนครราชสีมา นายสุรพันธ์ ศิลปสุวรรณ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดฯ พร้อมด้วย นางปทุม พรรพิสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์ประสานงานเพื่อสาธารณประโยชน์และการกุศลจังหวัดฯ เข้าร่วมด้วย
นายสยาม เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากมีหลักฐานในกฎหมายตราสามดวงสมัยสมเด็จพระนารายณ์พบว่า มีการสถาปนาเป็นเมืองนครราชสีมา นับมาถึงวันที่ ๑๘ มีนาคม ๒๕๖๕ ก็ครบ ๕๕๕ ปี ในช่วงนี้จึงเป็นช่วงเฉลิมฉลองนครราชสีมา ๕๕๕ ปีตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ คณะกรรมการจัดงานสมโภชเมืองนครราชสีมา ๕๕๕ ปี มีกิจกรรมหลากหลายเช่น การมอบรางวัลเพชรสาธรแก่ ๕๕๕ คน/องค์กร ที่ผ่านมา และการสมโภชท้าวสุรนารีมีทั้งกิจกรรมใหม่และเดิมที่ยิ่งใหญ่ในวาระครบรอบ ๕๕๕ ปีซึ่งคณะกรรมการจัดงานสมโภชเมืองฯ จึงมีมติที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยหน่วยงานราชการ อปท. ภาคประชาสังคม เอกชน และประชาชนเห็นพ้องต้องกันว่า ควรสร้างวัตถุมงคลขึ้นเป็นที่ระลึกในโอกาสครบรอบ ๕๕๕ ปีเมืองนครราชสีมา
และเห็นว่าควรสร้างเป็นพระพุทธ จะประดิษฐานมั่นคงอยู่ในจ.นครราชสีมา ซึ่งถือว่าโคราชเป็นเมืองพุทธอย่างแท้จริง เพราะมีวัดมากที่สุดในประเทศไทย จากนั้นก็หารือถึงรูปแบบต่างๆ และตกผลึกเป็นพระพุทธรูป เป็นพระนาคปรก (ปรกโคราช) พระประจำวันเสาร์ วันตั้งเมืองก็เป็นวันเสาร์
“ในการสร้างพระครั้งนี้ ขอให้เป็นเรื่องที่ถูกต้องตามเชิงพุทธศิลป์ มีความเป็นงานศิลปะ หรืองานอาร์ต ต้องถูกต้องสมบูรณ์ในเชิงพิธีกรรม ต้องสวยงาม พิธีกรรมถูกต้อง เพื่อให้คนโคราชที่อยู่ในช่วงครบรอบ ๕๕๕ ปีได้เช่าบูชาอย่างภาคภูมิใจจริงๆ” นายสยาม กล่าว
นายสยาม กล่าวย้ำอีกว่า “พระที่สร้างนี้ คนโคราชเป็นคนคิด ศิลปินก็เป็นคนโคราช ผู้ว่าฯ ไม่ใช่คนคิด แต่คนโคราชเป็นผู้ดำริว่าอยากทำพระนี้ขึ้นมา แล้วเมื่อวันที่ ๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ได้ขอให้สมเด็จพระสังฆราชเป็นผู้ถวายพระนามว่า “พระพุทธนครราชสีมาภิรักษ์” และได้พระราชทานไฟพระฤกษ์ในการประกอบพิธีปลุกเสกด้วย จึงถือเป็นมงคลยิ่งสำหรับชาวจังหวัดนครราชสีมา มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนเช่าบูชา การตั้งราคาจึงไม่ได้คิดที่จะแสวงหากำไร ถ้ามีเงินเหลือจะนำไปเป็นต้นทุนในการสร้างพระขนาดหน้าตัก ๓๒ นิ้ว เนื้อบรอนซ์นำไปตั้งในอาคารศาลากลางหลังใหม่ สำหรับพระพุทธฯ มีความสมบูรณ์และควรค่าแก่การเช่าบูชาเป็นที่ระลึก แต่การเช่าบูชานั้นทางจังหวัดไม่เคยตั้งเป้า เพราะผลิตเท่าที่จอง จึงจะไม่มีเหลือ”
นายกิตติชัย ตรีรัตน์วิชชา ศิลปินผู้ออกแบบ/ปั้นต้นแบบและหล่อพระ กล่าวว่า รูปแบบของพระพุทธรูปได้มาหน้าพระเมรุ ตรงกับยุคสมเด็จพระนารายณ์ ทรงเครื่องใหญ่ เรียกว่าปางสมาธิทรงเครื่องจักรพรรดิ์ เนื่องจากร่วมสมัยกับอยุธยา ความโดดเด่นของอยุธยาจะมีฐานที่เป็นเส้นโค้งแบบเรือสำเภา ใบหน้าดูมีเมตตา เคร่งขรึม เพราะดวงเมืองเป็นดวงวันเสาร์ ส่วนความต่างที่จะไม่เหมือนอยุธยานั้นคือเสมาที่ออกแบบให้ตรงกับวันเสาร์ซึ่งตรงกับดวงเมืองโคราช และข้างหลังจะมีดวงเมืองในวาระครบ ๕๕๕ ปี”
ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวเสริมว่า “พระพุทธนครราชสีมาภิรักษ์” จะมีพิธีพุทธาภิเษกในวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๕๖๗ โดยในส่วนของประธานสงฆ์ได้กราบนมัสการนิมนต์สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ และสมเด็จพระราชมงคลมุนี (เจ้าคุณธงชัย วัดไตรมิตร) เป็นองค์ประธาน ส่วนประธานฝ่ายฆราวาสได้เรียนเชิญเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย คือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอนุทิน ชาญนุกูล ซึ่งเปรียบแล้วก็เป็นคนโคราช เพราะมีบ้านอยู่ที่ปากช่องและทำธุรกิจอยู่ที่นี่ด้วย สำหรับพิธีจัดขึ้นที่วัดพระนารายณ์ ซึ่งถือว่าเป็นจุดศูนย์กลางของเมือง ที่ตั้งของหลักเมืองนครราชสีมา ทั้งนี้ ในส่วนของพระต้องการปิดยอดจองสิ้นเดือนธันวาคม ๒๕๖๖
สำหรับการจัดสร้างวัตถุมงคลครั้งนี้ประกอบด้วย ๑. พระพุทธรูปเนื้อบรอนซ์ หน้าตัก ๙ นิ้ว ราคา ๑๒๐,๐๐๐ บาท, หน้าตัก ๕ นิ้ว ราคา ๕๐,๐๐๐ บาท และหน้าตัก ๓ นิ้ว ราคา ๒๕,๐๐๐ บาท ๒. เหรียญรูปไข่ ประกอบด้วย เนื้อทองคําลงยา ราคา ๘๙,๐๐๐ บาท, ทองคํา ๘๕,๐๐๐ บาท, เนื้อเงินแท้ลงยา ราคา ๑,๙๐๐ บาท, เนื้อเงินแท้ ราคา ๑,๕๐๐ บาท, เนื้อนวะ ราคา ๙๐๐ บาท, เนื้อทองแดงชุบทอง ราคา ๓๐๐ บาท, เนื้อทองแดง ราคา ๒๐๐ บาท และเนื้อทองทิพย์ ราคา ๒๐๐ บาท ๓. เหรียญนาคปรกใบมะขาม ประกอบด้วย เนื้อทองคํา ลงยา ราคา ๑๑,๙๙๙ บาท, ทองคํา ราคา ๑๐,๙๙๙ บาท, เนื้อเงินแท้ลงยา ราคา ๙๙๙ บาท, เนื้อเงินแท้ ราคา ๗๙๙ บาท, เนื้อนวะ ราคา ๕๙๙ บาท, เนื้อทองแดงชุบทอง ราคา ๒๙๙ บาท, เนื้อทองแดง ราคา ๑๙๙ บาท และเนื้อทองทิพย์ ราคา ๑๙๙ บาท
ผู้สนใจสั่งจองได้ที่ ศูนย์ประสานงานเพื่อสาธารณประโยชน์และการกุศลจังหวัดฯ โทร.๐๔๔-๒๕๕๙๘๘, ๐๔๔-๒๕๗๗๒๓, ที่ทําการปกครองจังหวัดฯ ชั้น ๒ ศาลากลางจังหวัดฯ โทร.๐๔๔-๒๔๒๑๐๒, ๐๔๔-๒๔๔๒๕๒, ๐๔๔-๒๔๒๐๒๔ และที่ว่าการอําเภอทุกแห่ง
โดยโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย สาขาศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เลขที่บัญชี : ๖๙๔-๐-๔๑๖๔๒-๐ ชื่อบัญชี “กองทุนสร้างพระ ๕๕๕ ปี นครราชสีมา” กําหนดรับวันที่ ๑-๓๐ เมษายน ๒๕๖๗ ณ สถานที่สั่งจอง
นสพ.โคราชคนอีสาน ฉบับพิเศษ ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๒๗๕๙ วันที่ ๑๕ เดือนพฤศจิกายน - วันที่ ๑๔ เดือนธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖
78 1,586