2ndMay

2ndMay

2ndMay

 

January 01,1970

ปปช.แจ้งข้อกล่าวหา ๕๕ คน รวม ‘อดีตนายก อบจ.นม.’ สร้างศูนย์ดาราศาสตร์ ๒๐๘ ล.

 

กรณี “อบจ.นครราชสีมา” ก่อสร้างศูนย์ดาราศาสตร์ฯ หรือท้องฟ้าจำลอง ใกล้โรงเรียนเตรียมอุดมน้อมเกล้าฯ และ สตง.เคยเข้าตรวจสอบเมื่อหลายปีก่อน มูลค่าโครงการ ๒๐๘.๘๗ ล้านบาท ล่าสุด ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาผู้เกี่ยวข้อง ๕๕ ราย มีอดีตนายก อบจ.รวมอยู่ด้วย

ตามที่มีกระแสข่าวว่า ป.ป.ช.มีการแจ้งข้อกล่าวหาอดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา (นายก อบจ.นครราชสีมา) กับพวกรวมกว่า ๕๐ คน กรณีการก่อสร้างท้องฟ้าจำลองนั้น

เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๖๖ “โคราชคนอีสาน” ได้ติดต่อไปยังสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัดนครราชสีมา เพื่อสอบถามรายละเอียดในเรื่องนี้ โดยผู้อำนวยการกลุ่มงานปราบปรามการทุจริตฯ เปิดเผยว่า เรื่องนี้ยังไม่มีการชี้มูลความผิด เป็นเพียงการแจ้งข้อกล่าวหาไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๖ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการไต่สวน ซึ่งต้องให้ผู้กล่าวหายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเข้ามายังป.ป.ช.จังหวัดฯ จากนั้นก็ต้องดูว่ามีการนำหลักฐานหรือชี้แจงมาว่าอย่างไร แล้วทางป.ป.ช.จังหวัดฯ จะนำเสนอต่อป.ป.ช.ใหญ่ต่อไป สำหรับเรื่องนี้หากมีการชี้มูลจะต้องมีการแถลงข่าวเพราะเป็นคดีใหญ่พอสมควร แต่ขณะนี้เป็นเพียงการแจ้งข้อกล่าวหาเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่า กรณีนี้ ป.ป.ช.ได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งหมด ๕๕ คน ซึ่งมีอดีตนายก อบจ.นครราชสีมา รวมอยู่ด้วย นอกนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและเอกชน

อนึ่ง ศูนย์ดาราศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา หรือท้องฟ้าจำลอง ดำเนินการโดย อบจ.นครราชสีมา เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ บนเนื้อที่กว่า ๓๐ ไร่ บริเวณโรงเรียนเตรียมอุดมน้อมเกล้า นครราชสีมา ถนนโคกกรวด–หนองปลิง ตำบลโคกกรวด อำเภอเมืองนครราชสีมา แบ่งการดำเนินงาน ๓ ส่วน คือ ส่วนที่ ๑ ห้องฉายดาว ส่วนที่ ๒ ศูนย์เรียนรู้วิทยาศาสตร์ ๑๔ โซน และส่วนที่ ๓ การจัดภูมิทัศน์โดยรอบ ซึ่งมีหอนาฬิกาโลกและน้ำพุดนตรีเป็นไฮไลต์ของส่วนนี้

โดยต่อมาสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าตรวจสอบการก่อสร้างศูนย์ดาราศาสตร์ฯ กรณีมีประชาชนร้องเรียนว่า โครงการนี้ไม่แล้วเสร็จตามที่กำหนด จึงเปิดใช้งานไม่ได้อย่างสมบูรณ์
ทั้งนี้ ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม ๒๕๕๙ สำนักตรวจสอบพิเศษภาค ๔ กลุ่มตรวจสอบการดำเนินงาน ได้จัดทำรายงานการตรวจสอบการดำเนินงานการบริหารศูนย์ดาราศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัดนครราชสีมา มูลค่าโครงการเป็นเงินจำนวน ๒๐๘.๘๗ ล้านบาท ที่ตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้านครราชสีมา ถนนโคกกรวด-หนองปลิง ตำบลโคกกรวด อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา โดยมีการเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (https://www.audit.go.th) ด้วย ซึ่งมีรายละเอียด ๖ หน้ากระดาษขนาดเอ ๔ ระบุว่า

ศูนย์ดาราศาสตร์ฯ ดําเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จตามโครงการเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๖ ล่าช้ากว่าแผนงาน ๑ ปี ๒ เดือน โดยมีวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อใช้เป็นสถานที่ศึกษาเรื่องท้องฟ้าจําลอง ดวงดาว อวกาศ และปรากฏการณ์ทางธรรมชาติให้กับประชาชนแต่ละจังหวัด เพื่อเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์สาขาดาราศาสตร์ให้กับนักเรียนนักศึกษาและประชาชนในแต่ละจังหวัดให้มากยิ่งขึ้น เป็นการเตรียมผู้เชี่ยวชาญทางด้านดาราศาสตร์ของประเทศ เพื่อสนองนโยบายของรัฐบาลอย่างแท้จริง อบจ.นครราชสีมา โดยกองแผนและงบประมาณ ตามที่ได้รับมอบหมายจากที่ประชุมผู้บริหาร ครั้งที่ ๑/๒๕๕๖ เมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๖ จึงได้กําหนดแผนการบริหารจัดการศูนย์ดาราศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา ซึ่งกําหนดแผนงานและกิจกรรมจํานวน ๙ แผน เปิดให้บริการเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๖ ตามการกําหนดรอบบริการแสดงท้องฟ้าจําลอง วันอังคาร-วันศุกร์ ปกติวันละ ๒ รอบ เช้าเวลา ๐๙.๐๐ น. บ่ายเวลา ๑๓.๓๐ น. รอบพิเศษรับจองเป็นหมู่คณะวันละ ๒ รอบ เช้าเวลา ๑๐.๓๐ น. บ่ายเวลา ๑๕.๐๐ น. วันเสาร์-วันอาทิตย์และวันหยุดราชการ ปกติวันละ ๔ รอบ เช้าเวลา ๐๙.๐๐ น. และเวลา ๑๐.๓๐ น. บ่ายเวลา ๑๓.๓๐ น. และเวลา ๑๕.๐๐ น. วันจันทร์หยุดให้บริการ

จากการตรวจสอบ ปรากฏว่า การบริหารศูนย์ดาราศาสตร์ฯ ไม่มีประสิทธิภาพ สิ่งก่อสร้างโครงการปรับภูมิทัศน์รอบศูนย์ดาราศาสตร์ฯ ไม่สามารถใช้งานได้และไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ สรุปเป็นประเด็นข้อตรวจพบ ได้ดังนี้

ข้อตรวจพบที่ ๑ การบริหารศูนย์ดารา ศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา ไม่มีประสิทธิภาพ การบริหารศูนย์ดาราศาสตร์ฯ ในช่วงระยะเริ่มต้นได้ดําเนินการตามแผนการบริหารจัดการศูนย์ดาราศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ๗ รอบ พระชนมพรรษา โดยกําหนดแผนงานและกิจกรรมการบริหารจัดการศูนย์ดาราศาสตร์ฯ จํานวน ๙ แผน จากการตรวจสอบ พบว่า การบริหารศูนย์ดาราศาสตร์ฯ ไม่มีประสิทธิภาพ สรุปประเด็นปัญหาได้ดังนี้

๑. การดําเนินการไม่เป็นไปตามแผนบริหารศูนย์ดาราศาสตร์ฯ จากการตรวจสอบ พบว่าศูนย์ดาราศาสตร์ฯ เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ ๒ กรกฎาคม ๒๕๕๖ ยังประสบปัญหาในการดําเนินการไม่เป็นไปตามแผนงาน/กิจกรรมที่กําหนด เช่น (๑) แผนการตลาดและการประชาสัมพันธ์ ยังไม่ดําเนินการให้มีการจัดกิจกรรมพิเศษในวันสําคัญต่างๆ บริเวณลานกิจกรรมอเนกประสงค์ (Ampritheater) ยังไม่ได้จัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์สัญจร (Road Show) (๒) แผนบุคลากร ยังขาดหัวหน้าศูนย์ดาราศาสตร์ฯ และเจ้าหน้าที่รวม ๘ อัตรา โดยยังไม่เคยเสนอปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการภายในกองแผนและงบประมาณและกรอบอัตรากําลังเพื่อขอกําหนดตําแหน่งเพิ่มเพื่อรองรับภารกิจที่เพิ่มขึ้นใหม่ (๓) แผนการพัฒนาระบบการแสดงท้องฟ้าจําลอง ยังไม่ได้ดําเนินการจัดซื้อภาพยนตร์ฟูลโดมเพิ่มเติมตามที่กําหนด (๔) แผนการบริหารระบบสาธารณูปโภค ไม่ได้ดําเนินการจัดหาระบบประปาตามโครงการก่อสร้างระบบประปาโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาน้อมเกล้านครราชสีมา (๕) แผนการบริหารระบบการเงิน การคลัง และการงบประมาณ ยังไม่สามารถดําเนินการตั้งงบประมาณตามหมวดและประเภทของงบประมาณสําหรับศูนย์ดาราศาสตร์ฯ ไม่สามารถตั้งประมาณการรายรับตามข้อมูลรายได้ที่เกิดขึ้น ยังไม่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการรับส่งเงิน คณะกรรมการเก็บรักษาเงินเจ้าหน้าที่ส่งเงิน รวมถึงไม่ได้มีการควบคุมพัสดุให้เป็นไปตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น พ.ศ.๒๕๓๕ ข้อ ๑๔๕ (๑) เช่น พัดลมไอน้ำ ๒๔ ชุด หอนาฬิกาเวลาโลก (World Clock) กล้องวงจรปิด ๖ ชุด ถังน้ำไฟเบอร์กลาสขนาด ๔๐๐ ลิตร ๒ ถัง Pump ๗.๕ ph ๑ เครื่อง น้ำพุดนตรี (Fountain Dance) เป็นต้น และไม่ได้ตรวจสอบการมีอยู่จริงของครุภัณฑ์ตามที่ได้รับรายงานผลการตรวจสอบการรับ-จ่ายพัสดุประจําปี

๒. ไม่ได้กําหนดแผนการบริหารจัดการให้ครอบคลุมการซ่อมบํารุงรักษา จากการตรวจสอบพบว่าไม่มีแผนการซ่อมบํารุงรักษา เจ้าหน้าที่ประจําศูนย์ดาราศาสตร์ฯ ประสบกับปัญหาอุปสรรคเกี่ยวกับการซ่อมแซมบํารุงรักษา เพราะไม่มีแบบก่อสร้างอาคาร ไม่มีแบบพิมพ์เขียวระบบไฟฟ้า ไม่มีแบบพิมพ์เขียวระบบสุขาภิบาล ไม่มีหนังสือคู่มือการใช้งานและบํารุงรักษาเครื่องและอุปกรณ์ สําหรับใช้ประกอบในการซ่อมแซมบํารุงรักษา เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของทางราชการ
๓. ศูนย์ดาราศาสตร์ฯ มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยที่เกิดจากการใช้วัสดุประดับตกแต่งผนังห้องอยู่ใกล้กับสายไฟฟ้าที่ไม่เรียบร้อย หากเกิดไฟฟ้าลัดวงจรอาจทําให้เกิดอัคคีภัยได้ และมีความชํารุดบกพร่องของอุปกรณ์ภายใน รวมถึงศูนย์วิทยาศาสตร์ในแต่ละโซนยังไม่สามารถใช้งานได้อย่างสมบูรณ์ตามเนื้อหาของการแสดงที่กําหนดไว้ในวัตถุประสงค์ เช่น ไฟฟ้าแรงสูง ท่อเสียงสะท้อน แผ่นดินไหวพายุทอร์นาโด

สาเหตุสําคัญที่ทําให้การบริหารศูนย์ดาราศาสตร์ฯ ไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากผู้บริหารไม่ได้ติดตามผลการปฏิบัติงานเพื่อทราบปัญหาอุปสรรค/ข้อจํากัดต่างๆ ตามแผนการบริหารศูนย์ดาราศาสตร์ฯ ขาดความพร้อมที่สําคัญคือการปรับปรุงโครงสร้างส่วนราชการเพื่อรองรับภารกิจใหม่ ขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้องตามแผนการบริหารงานที่กําหนด ขาดงบประมาณในการดูแล/บํารุงรักษาเพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติสามารถดําเนินการซ่อมแซมในส่วนที่ชํารุดเสียหายได้ทันที

ข้อตรวจพบที่ ๒ สิ่งก่อสร้างโครงการปรับภูมิทัศน์รอบศูนย์ดาราศาสตร์ฯ ไม่สามารถใช้งานได้และไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบศูนย์ดาราศาสตร์ฯ วัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงสภาพภูมิทัศน์โดยรอบศูนย์ดาราศาสตร์ฯ เพื่อบูรณาการพื้นที่ให้เกิดความสวยงามและมีความประทับใจ มีความเหมาะสมเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจแก่ชาวโคราช การออกแบบปรับปรุงภูมิทัศน์ต้องการเชื่อมโยงความรู้ทางวิทยาศาสตร์กับการจัดสภาพแวดล้อมโดยรอบอาคารเข้าด้วยกัน โดยสื่อสารผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามแนวคิด Crop Circle Crop Circle เป็นปรากฏการณ์ทางวิทยาศาสตร์เหมือนความมหัศจรรย์ของลวดลายที่เกิดขึ้นทางธรรมชาติ ประติมากรรมระดับโลก World Clock ถือเป็นมูลค่าเพิ่มทางประติมากรรมที่ซับซ้อนมากขึ้นเป็นจุดขายที่ประทับใจให้ผู้เข้าชม น้ำพุดนตรี เป็นเทคโนโลยีการจัดแสดงภายนอกให้เกิดความตื่นตา น่าประทับใจ มีฉายภาพแสงบนน้ำพุ ให้น้ำส่ายไปมาดั่งการเต้นระบําเสียงดนตรีประกอบ เขาวงกตกับการจัดสวนเปลี่ยนภาพสวนหย่อมตามปรกติให้หลากหลายขึ้น จากการตรวจสอบพบว่า สิ่งก่อสร้างที่สําคัญของโครงการไม่สามารถใช้งานได้และไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ ประกอบด้วย
๑. สิ่งก่อสร้างที่ไม่สามารถใช้งานได้ ได้แก่ หอนาฬิกาเวลาโลก (World Clock) มูลค่า ๑๑.๓๓ ล้านบาท ระบบนาฬิกาเคลื่อนไหวทํางานตามเวลาสากล ๒๔ ชั่วโมงของเวลาแต่ละประเทศ ควบคุมการทํางานด้วยระบบ Timer พร้อมโปรแกรมคําสั่งชุดแปลงสัญญาณ โปรแกรมเข้าจังหวะเวลาสากล จากการตรวจสอบเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๘ พบว่า หอนาฬิกาเวลาโลกชํารุด ระบบไม่สามารถทํางานได้โดยอัตโนมัติ และเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ได้สังเกตการณ์เพื่อทดสอบการทํางานของระบบและอุปกรณ์นาฬิกา ดูการเคลื่อนไหวพร้อมระบบไฟฟ้าดิจิทัล LED แสงสี ระบบเสียงการทํางานตามเวลาสากล ๒๔ ชั่วโมง การควบคุมการทํางานด้วยระบบ Timer ปรากฏว่า ระบบนาฬิกาชํารุดไม่สามารถทํางานได้ เมื่อเชื่อมต่อกับไฟฟ้าจะทําให้ระบบไฟฟ้าขัดข้อง สาเหตุเนื่องจากกระแสไฟฟ้าภายในศูนย์ดาราศาสตร์ฯ ไม่เพียงพอสําหรับกําลังไฟฟ้าของหอนาฬิกาเวลาโลก

๒. สิ่งก่อสร้างที่ไม่ได้ใช้งาน ดังนี้ (๑) ทะเลสาบน้ำพุดนตรี (Fountain Dance) มูลค่า ๑๑.๑๖ ล้านบาท ระบบน้ำพุดนตรี น้ำพุเต้นระบํา ขึ้นลง พลิ้วไหว เคลื่อนไหว พร้อมระบบแสงสี ระบบเสียง ม่านน้ำฉายโปรเจ็กเตอร์ ทํางานตามจังหวะเสียงดนตรี ควบคุมการทํางานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ รูปแบบน้ำพุมี ๗ รูปแบบ กําหนดรอบการแสดงน้ำพุดนตรีในหนึ่งวัน คือ รอบที่ ๑ เวลา ๑๘.๐๐-๑๘.๓๐ นาฬิกา รอบที่ ๒ เวลา ๑๙.๐๐-๑๙.๓๐ นาฬิกา จากการตรวจสอบเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๘ พบว่า น้ำพุดนตรีไม่เคยเปิดการแสดงให้ชมเป็นการทั่วไปตามวัตถุประสงค์ มีการกําหนดรอบการแสดงน้ำพุดนตรีในหนึ่งวันๆ ละ ๒ รอบ แต่ไม่เคยเปิดการแสดงเช่นเดียวกัน และเมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๘ ได้สังเกตการณ์เพื่อทดสอบการทํางานของระบบและอุปกรณ์น้ำพุดนตรี ดูระบบไฟแสงสีส่องสว่าง ดูน้ำพุเต้นระบํา ขึ้นลง พลิ้วไหว เคลื่อนไหว ทํางานตามจังหวะเสียงดนตรี ปรากฏว่า สามารถแสดงน้ำพุได้ดีทุกอย่างตามจังหวะเสียงดนตรีเป็นรูปแบบชุดเทคนิคกลไกหัวน้ำพุที่เคลื่อนไหวได้ (๒) สวนเขาวงกต (Maze Garden) มูลค่า ๐.๖๗ ล้านบาท อบจ.นครราชสีมา ได้จัดหาชุดต้นไม้ประกอบ Maze Garden คือ ต้นลีลาวดีขาวพวง ๓ ต้น ต้นจันผา ๘ ต้น ต้นไทรคอมแพ็คตัดแต่งพุ่มแน่น ๑,๒๐๐ ต้น จากการตรวจสอบเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๕๘ พบว่า สวนเขาวงกต มีสภาพใช้งานได้ แต่ไม่เคยมีผู้คนสนใจเข้ามาใช้หรือเข้ามาชม อย่างไรก็ดีจากการตรวจสอบข้อมูลด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่า ศูนย์ดาราศาสตร์ฯ เปิดให้บริการตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๕๖ ถึงปัจจุบัน ณ เดือนมีนาคม ๒๕๕๘ มีผู้สนใจเป็นกลุ่มหรือเป็นหมู่คณะได้เข้าชมท้องฟ้าจําลองและศูนย์วิทยาศาสตร์ มีการฉายดาวและภาพยนตร์ ๕๘๑ รอบ จํานวน ๙๙,๑๐๐ ราย จากการสัมภาษณ์ผู้เข้าชมศูนย์ดาราศาสตร์ฯ จํานวน ๖๕๓ ราย พบว่า ทุกรายไม่ทราบว่ามีสิ่งที่น่าสนใจเหล่านี้ เจ้าหน้าที่ประจําศูนย์ดาราศาสตร์ฯ ไม่นําเสนอข้อมูลความน่าตื่นตาและน่าประทับใจ ความสนุกสนาน ของหอนาฬิกาเวลาโลก (World Clock) ทะเลสาบน้ำพุดนตรี (Fountain Dance) และสวนเขาวงกต (Maze Garden) จึงสรุปว่า ไม่ได้ใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

สาเหตุที่ทําให้สิ่งก่อสร้างที่สําคัญของโครงการไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ คือ เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไม่ได้มีการกําหนดแผนการให้บริการในส่วนของโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบศูนย์ดาราศาสตร์ฯ เช่น ไม่ได้ประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้สนใจเป็นกลุ่มหรือเป็นหมู่คณะก่อนเข้าห้องฉายดาวและภาพยนตร์ ไม่ได้จัดทําคลังข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหอนาฬิกาเวลาโลก ทะเลสาบน้ำพุดนตรี สวนเขาวงกต

ข้อสังเกต การควบคุมภายใน ตามระเบียบของคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการกําหนดมาตรฐานการควบคุมภายใน พ.ศ. ๒๕๔๔ กําหนดให้หน่วยรับตรวจต้องดําเนินการจัดวางระบบการควบคุมภายในโดยใช้มาตรฐานการควบคุมภายในตามระเบียบดังกล่าว รวมถึงให้รายงานต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้กํากับดูแล และคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับการควบคุมภายในอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้งภายในเก้าสิบวันนับจากวันสิ้นปีงบประมาณ จากการตรวจสอบ พบว่า ศูนย์ดาราศาสตร์ฯ อบจ.นครราชสีมาไม่มีระบบการควบคุมภายในที่ดี มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เนื่องจากยังมีความเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อการไม่บรรลุวัตถุประสงค์ของการดําเนินงาน เช่น ความเสี่ยงเกี่ยวกับการควบคุมครุภัณฑ์ เจ้าหน้าที่ละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย จัดทําทะเบียนพัสดุไม่ถูกต้องครบถ้วน ไม่จัดทําหมายเลขรหัสครุภัณฑ์ไว้ที่ตัวครุภัณฑ์ ความเสี่ยงเกี่ยวกับระบบการซ่อมแซมบํารุงรักษาตัวอาคารและระบบไฟฟ้าซึ่งไม่มีแบบแปลน โครงสร้างอาคาร เพื่อการซ่อมแซมบํารุงรักษากับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบ ความเสี่ยงด้านอัคคีภัยของวัสดุอุปกรณ์ภายในที่ยังไม่เรียบร้อย รวมถึงไม่มีป้ายบอกทางออกฉุกเฉินภายในห้องฉายดาว เป็นต้น

ข้อเสนอแนะ เพื่อให้การบริหารศูนย์ดาราศาสตร์ฯ เป็นไปตามแผนและบรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อให้โครงการลงทุนภาครัฐมีการใช้จ่ายเงินอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ สํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน มีข้อเสนอแนะให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ดําเนินการดังนี้ ๑. ต้องจัดให้มีแผนการติดตามผลการดําเนินงานตามแผนบริหารศูนย์ดาราศาสตร์ฯ อย่างสม่ำเสมอโดยกําหนดกรอบเวลาในการรายงานผลการดําเนินงานทุกไตรมาส และประเมินประสิทธิภาพการปฏิบัติงานทุกสิ้นปีงบประมาณ

 
๒. แผนการบริหารศูนย์ดาราศาสตร์ฯ ๒.๑ เรื่องใดยังไม่ดําเนินการตามแผนการบริหารฯ ต้องพิจารณาทบทวนปรับปรุงใหม่ เช่น แผนการตลาดและประชาสัมพันธ์ แผนบุคลากร แผนการพัฒนาระบบการแสดงท้องฟ้าจําลอง แผนการบริหารระบบสาธารณูปโภค แผนการบริหารระบบการเงิน การคลังและการงบประมาณ และกําหนดแผนงานเพิ่มให้ครอบคลุมการบริหารงานทั้งระบบ เช่น แผนการซ่อมบํารุงรักษาเครื่องและอุปกรณ์ตามหนังสือคู่มือการใช้งานและรายละเอียดที่ผู้ผลิตกําหนด เป็นต้น ๒.๒ ให้ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา (ก.จ.จ.นม.) พิจารณาการจัดโครงสร้างส่วนราชการและโครงสร้างกรอบอัตรากําลัง แบ่งส่วนราชการภายในกองแผนและงบประมาณ ตามภารกิจและปริมาณงานที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ ตามประกาศคณะกรรมการข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัด จังหวัดนครราชสีมา เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลขององค์การบริหารส่วนจังหวัด ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ หมวด ๒ การกําหนดจํานวนและอัตราตําแหน่ง

๓. จัดให้มีการประชุมร่วมกันของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบที่ปฏิบัติงานด้านพัสดุในแต่ละงาน/ฝ่าย/กอง/สํานัก เพื่อให้เกิดความเข้าใจและมีความชัดเจนในขั้นตอนการปฏิบัติงาน เป็นการช่วยเสริมสร้างให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และดําเนินการ ดังนี้ ๓.๑ ดําเนินการบริหารระบบการเงิน ตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการรับเงิน การเบิกจ่ายเงินการฝากเงิน การเก็บรักษาเงิน และการตรวจเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ๒๕๔๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยใช้ระบบนําเงินรายได้จากค่าจําหน่ายบัตรผ่านประตู และรายได้จากการจัดกิจกรรมต่างๆ ส่งเข้าคลังเป็นรายได้เบ็ดเตล็ด แต่งตั้งคณะกรรมการรับส่งเงิน คณะกรรมการเก็บรักษาเงิน และแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ส่งเงิน ให้เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้านการเงินจัดทําบัญชี ๓.๒ ดําเนินการเกี่ยวกับแบบก่อสร้างอาคารศูนย์ดาราศาสตร์ฯ หนังสือคู่มือการใช้งานบํารุงรักษาเครื่องและอุปกรณ์ เพื่อส่งมอบให้กับหัวหน้าศูนย์ดาราศาสตร์ฯ เป็นผู้รับผิดชอบและเก็บรักษา ๓.๓ ดําเนินการเกี่ยวกับการควบคุมพัสดุ โดยกําหนดหลักเกณฑ์การปฏิบัติงานให้เกิดความชัดเจนและผู้รับผิดชอบงานบันทึกทะเบียนคุมพัสดุ รวมถึงการดําเนินการเกี่ยวกับการจัดทําหรือติดเลขรหัสไว้ที่ตัวครุภัณฑ์กับการ์ดให้ถูกต้องตรงกัน

๔. สั่งการให้เร่งรัดดําเนินการแก้ไข/ปรับปรุงห้องจัดแสดงการฉายดาวและภาพยนตร์ประกอบ และอุปกรณ์จัดแสดงนิทรรศการภายในโซนวิทยาศาสตร์ ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย จํานวน ๔ โซนโดยเร่งด่วน และให้หาวิธีการควบคุมความเสี่ยงดังกล่าวเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งก่อสร้าง และจัดทํารายงานการประเมินผลและปรับปรุงการควบคุมภายในต่อไปด้านความปลอดภัย ๕. สั่งการให้ดําเนินการซ่อมแซมวัสดุและครุภัณฑ์พร้อมอุปกรณ์ที่ชํารุดเสียหายไม่สามารถใช้งานได้โดยเร่งด่วน รายละเอียดดังภาพที่ ๑๓-๓๒

๖. กรณีหอนาฬิกาเวลาโลกไม่สามารถใช้งานได้เลย เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาของการประกันความชํารุดบกพร่องไม่ดําเนินการแจ้งให้ผู้รับจ้างแก้ไขหรือซ่อมแซมตามการประกันสัญญาเป็นเหตุให้ทางราชการเสียหายให้ดําเนินการตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการพัสดุของหน่วยการบริหารราชการส่วนท้องถิ่นพ.ศ.๒๕๓๕ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๕๔๕ ข้อ ๘ กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และหากพบว่ามีเจตนาไม่สุจริตให้ดําเนินการตามกฎหมายต่อไปและพิจารณาทางละเมิดกับผู้เกี่ยวข้อง

๗. ให้จัดทําแผนการให้บริการโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบศูนย์ดาราศาสตร์ฯ ดังนี้ ๗.๑ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ประจําศูนย์ดาราศาสตร์ฯ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารแก่ผู้เข้าชมเป็นกลุ่มหรือเป็นหมู่คณะก่อนเข้าห้องฉายดาวและภาพยนตร์ ๗.๒ จัดทําคลังข้อมูลศูนย์ดาราศาสตร์ฯ และเผยแพร่ในเว็บไซต์ของหน่วยงาน ๘. สั่งการให้จัดวางระบบควบคุมภายในเฉพาะส่วนงานย่อยของศูนย์ดาราศาสตร์ฯ พร้อมทั้งจัดทํารายงานการประเมินผลและปรับปรุงการควบคุมภายใน (แบบ ปย.๒) และรายงานผลการประเมินองค์ประกอบการควบคุมภายใน (แบบ ปย.๑) ตามระเบียบคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินว่าด้วยการกําหนดมาตรฐานการควบคุมภายใน พ.ศ. ๒๕๔๔ อย่างเคร่งครัด เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดําเนินงานของศูนย์ดาราศาสตร์ฯ

๙. ให้หน่วยตรวจสอบภายในจัดทําแผนการตรวจสอบภายในให้ครอบคลุมความเสี่ยงตามลักษณะงานของแต่ละสํานัก/กอง เพื่อทดสอบกิจกรรมควบคุมที่มีอยู่กับความเสี่ยงที่เกิด พร้อมทั้งให้คําแนะนําในการปรับปรุงการควบคุมภายในเพื่อให้สามารถจัดกิจกรรมควบคุมเพื่อลดความเสี่ยงที่มีอยู่ต่อไป

หากมีความคืบหน้า จะนำมาเสนอต่อไป

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๒๗๖๐ วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๖ - วันที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๗

 

เพิ่มเติมภาพที่ถ่าย ณ วันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๖ ซึ่งอบจ.ไม่อนุญาตให้เข้าชมด้านใน


208 2,282