20thSeptember

20thSeptember

20thSeptember

 

January 20,2024

‘มอเตอร์เวย์’ เปิดแล้ว ถ้า ‘โคราช’ ไม่รับมือ ระวังจะเป็น ‘เมืองอับ’

 

กรมทางหลวงเปิดใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) หมายเลข ๖ ช่วงปากช่อง-นครราชสีมา ตลอด ๒๔ ชั่วโมง ระยะทาง ๗๗ กิโลเมตร ตั้งแต่ค่ำวันที่ ๒๗ ธันวาคม ๒๕๖๖ จากเดิมเปิดให้ใช้เฉพาะช่วงปีใหม่ สงกรานต์ และวันหยุดยาว ตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ จากนั้นจะปิดการจราจร

ผลตอบรับที่ตามมาก็คือ มีประชาชนที่อยาก “ลองของใหม่” เข้ามาใช้เส้นทาง จำนวนมาก ก่อนเทศกาลปีใหม่ไม่เท่าไหร่ แต่หลังเทศกาลปีใหม่ ๒๕๖๗ รถแน่นมาก เคลื่อนตัวช้า ก่อนถึงทางลงบรรจบกับถนนมิตรภาพ แต่ถนนมิตรภาพ ช่วงที่ผ่าน ลำตะคองกลับเคลื่อนตัวได้ดี ก่อนจะเจอรถติดตั้งแต่ลำตะคองถึงมวกเหล็กยาวกว่า ๕๐ กิโลเมตร

สภาพมอเตอร์เวย์ที่เปิดให้บริการฟรี ๗๗ กิโลเมตร ทางเข้า-ออกทั้งหมด ๔ จุด ได้แก่ จุดแรก ถนนมิตรภาพ กิโลเมตรที่ ๖๕ อ.ปากช่อง, จุดที่สอง ถนนสีคิ้ว-ชัยภูมิ เมื่อออกจากมอเตอร์เวย์ เมื่อเลี้ยวซ้ายจะไปสีคิ้ว โชคชัย นางรอง บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี หรือกลับรถเพื่อไปยังด่านขุนทด ชัยภูมิ เลย และเชียงคาน

จุดที่สาม ถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ที่ก่อสร้างไปได้เกือบจะครบวงแหวน สามารถเลี้ยวซ้ายเพื่อไปยังถนนสุรนารายณ์ หรือถนนมิตรภาพ บริเวณ อ.โนนสูง แต่มีสภาพเปลี่ยวในยามค่ำคืน โปรดใช้ความระมัดระวังในการขับรถ และจุดที่สี่ ถนนบายพาส เลี่ยงเมืองนครราชสีมา เลี้ยวซ้ายไปขอนแก่น หรือขึ้นสะพานเพื่อไปยังสี่แยกปักธงชัย

บอกไว้ก่อนว่า มอเตอร์เวย์ที่เปิดฟรีเวลานี้ ยังไม่มีปั๊มน้ำมัน มีห้องน้ำน็อกดาวน์บางจุด เพื่อความอุ่นใจ เลยทางแยกต่างระดับปากช่องไปแล้ว มีปั๊มน้ำมันอยู่ ๓-๔ แห่ง เลือกเติมน้ำมันตามสะดวก ส่วนใครที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ปั๊มน้ำมันตรงถนนบายพาส มีหัวจ่ายไฟฟ้า ๒ หัว คนต่อคิวเยอะมาก เตรียมพร้อมสักหน่อยก็ดี

มีคนสงสัยว่ามอเตอร์เวย์บางปะอิน-โคราช ที่เริ่มก่อสร้างเมื่อปี ๒๕๕๙ ผ่านไป ๘ ปียังไม่มีทีท่าว่าจะเสร็จ ติดขัดตรงไหน? ข้อมูลเมื่อสิ้นปี ๒๕๖๖ ก่อสร้างเสร็จแล้ว ๒๙ สัญญา จากทั้งหมด ๔๐ สัญญา กำลังก่อสร้าง ๑๑ สัญญา พื้นที่ อ.บางปะอิน อ.วังน้อย อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา อ.แก่งคอย อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี และ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา

บางช่วงมีการแก้แบบก่อสร้างให้สอดคล้องกับสภาพชั้นดิน เพราะตอนสำรวจออกแบบสภาพชั้นดินแบบหนึ่ง พอก่อสร้างจริงพบสภาพพื้นที่เปลี่ยนไป รวมทั้งก่อสร้างกำแพงบังสายตา เรือนจำกลางคลองไผ่ อ.สีคิ้ว และก่อสร้างสะพานข้ามมอเตอร์เวย์ อ.ขามทะเลสอ คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเต็มรูปแบบในปี ๒๕๖๘

เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีโครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ หมายเลข ๖ ช่วงนครราชสีมา-ขอนแก่น ระยะทาง ๒๐๒ กิโลเมตร เริ่มต้นที่ด่านขามทะเลสอ ผ่านด่านโนนไทย ด่านโนนสูง ด่านคง ด่านบัวใหญ่ ด่านบัวลาย ด่านพล ด่านบ้านไผ่ ด่านโกสุมพิสัย สิ้นสุดที่ด่านขอนแก่น บริเวณถนนเลี่ยงเมืองขอนแก่น (ต.พระลับ) วงเงินลงทุน ๕๑,๔๙๓ ล้านบาท

แล้วในอนาคตยังมีแผนจะขยายมอเตอร์เวย์ หมายเลข ๖ ช่วงขอนแก่น-หนองคาย รองรับรถจากสะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งที่ ๑ หากแล้วเสร็จตลอดสายจะเป็นมอเตอร์เวย์ภูมิภาคสายแรก เมื่อเทียบกับมอเตอร์เวย์สายใต้ หมายเลข ๘ นครปฐม-ชะอำ ที่ยังไม่ได้เสนอเข้าคณะรัฐมนตรี และมอเตอร์เวย์สายเหนือ หมายเลข ๕ ที่ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน

แม้จะวาดฝันเอาไว้ว่า มอเตอร์เวย์หมายเลข ๖ จะสร้างอนาคตให้กับภาคอีสาน โดยเฉพาะ “จังหวัดบิ๊กทรี” นครราชสีมา ขอนแก่น และอุดรธานี ซึ่งเป็นหัวเมืองหลักทางเศรษฐกิจที่สำคัญ แต่ถ้ายังไม่ปรับตัวหรือทำอะไรที่จะรองรับความเจริญเหล่านี้ ท้ายที่สุดจะกลายเป็นเพียงทางผ่านและเป็นเมืองอับในที่สุด

ที่กล่าวเช่นนี้เพราะในประวัติศาสตร์ เมื่อครั้งประเทศไทยมีถนนสายเอเชีย มีอยู่สองพื้นที่จากที่เศรษฐกิจเคยเจริญรุ่งเรือง เพราะเป็นทางผ่านมุ่งหน้าสู่ภาคเหนือ ได้แก่ ตัวอำเภอตาคลี จ.นครสวรรค์ และตัวเมืองชัยนาท จ.ชัยนาท แต่เมื่อเปิดใช้ถนนสายเอเชีย บางปะอิน-นครสวรรค์ เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน ๒๕๑๕ ยุครัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร

ปรากฏว่าหลังจากนั้น ทั้งตาคลีและชัยนาท กลายเป็นเมืองอับ แทบจะร้างสนิท...

สมัยก่อนการเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปภาคเหนือ ไม่ได้วิ่งฉิว ๑๐ ชั่วโมงถึงเหมือนทุกวันนี้ ต้องค้างคืนที่ปากน้ำโพ จ.นครสวรรค์ ๑ คืน และค้างคืนที่ จ.ตาก อีก ๑ คืน ก่อนที่จะไปถึง จ.เชียงใหม่ เพราะถนนลาดยางมีแค่จากกรุงเทพฯ ถึงโคกสำโรง จ.ลพบุรี กับช่วงตาคลี-ชัยนาท-มโนรมย์ นอกนั้นเป็นถนนลูกรัง ยิ่งช่วงกำแพงเพชร-ตาก สภาพทางทารุณที่สุด

ภายหลังถนนพหลโยธิน ก่อสร้างเป็นทางลาดยางตลอดสายในปี ๒๕๑๕ แต่ก็ยังมีทางหลวงสายใหม่ ตัดแนวถนนใหม่ให้เป็นเส้นตรง ย่นระยะทางไปมากต่อมาก นั่นก็คือ “ถนนสายเอเชีย” สร้างในระบบทางด่วน โดยไม่ผ่านเข้าไปในตัวเมือง จึงไม่จำเป็นต้องแวะเข้าไปในตัวเมือง นอกจากจะตั้งใจแวะ โดยเลี้ยวเข้าไปจากทางหลวงสายใหญ่เท่านั้น

เปรียบได้กับ “ออโต้บาห์น” ในเยอรมัน และ “ฟรีเวย์” ในสหรัฐอเมริกา

ทำให้เมืองชัยนาท ซึ่งแต่เดิมรถยนต์ที่ไปภาคเหนือทุกคันต้องผ่าน กลายเป็นเมืองอับไปในที่สุด จากที่เคยคึกคักด้วยรถยนต์และรถบัส จอดแวะหาข้าวกินก่อนขึ้นภาคเหนือ ก็เงียบสนิท ส่วนอำเภอตาคลี เงียบเหงาไม่แพ้กัน จากเดิมทหารอเมริกันเต็มเมืองสมัยสงคราม ก็มีแต่ตึกร้าง โรงแรมไร้แขก ภัตตาคาร บาร์ที่ปิดตาย

ไม่ใช่ว่าการที่มีมอเตอร์เวย์เข้ามาจะต้องนำพาความเจริญเข้ามาเสมอไป ถ้าเมืองหรือย่านเศรษฐกิจไม่แข็งแรงจริงก็ได้รับผลกระทบ เพราะแตกต่างจากการตัดถนนมิตรภาพ ที่เริ่มสร้างในสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ตอนนั้นสามแยกหนองคาย ห่างจากศูนย์กลางของเมือง คือ อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) เพียง ๑ กิโลเมตรเศษ

แต่สำหรับมอเตอร์เวย์บางปะอิน-นครราชสีมา วัดจากทางลงถนนบายพาส ห่างจากศูนย์กลางของเมืองมากถึง ๖-๗ กิโลเมตร ถือว่าน่าเป็นห่วง ในวันนี้อาจจะยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจน แต่ต่อไปหากไม่ทำอะไรเพื่อดึงดูดกิจกรรมทางเศรษฐกิจเข้ามาในตัวเมืองโคราช วันหนึ่งอาจจะกลายเป็นเมืองร้าง เพราะผู้คนจะย้ายไปยังทำเลอื่นกันหมด

ต่อไปยานพาหนะที่มาจากกรุงเทพฯ จะไม่ได้เข้าตัวเมืองนครราชสีมา แต่จะลงมอเตอร์เวย์ไปใช้ถนนบายพาส ไปยังจังหวัดขอนแก่นแทน คนที่ไม่ได้ตั้งใจแวะ ก็จะมองข้ามตัวเมืองโคราช ส่วนคนที่ตั้งใจแวะก็จะแวะเข้าไป ซึ่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจบางอย่างกระจายความเจริญไปถึงระดับอำเภอ หรือมีเทคโนโลยีทดแทนแล้ว ไม่จำเป็นต้องเข้าไปในเมืองอีก

นอกเสียจากว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา จะก่อสร้างแล้วเสร็จ แต่คนที่มีกำลังซื้อมีโอกาสใช้บริการ เพราะค่าโดยสารแพงกว่ารถทัวร์กว่า ๒ เท่า คือ ๕๓๕ บาทต่อเที่ยว อีกทั้งจังหวัดหัวเมืองภาคอีสานทั้งเมืองหลักและเมืองรอง หลายจังหวัดมีท่าอากาศยานภูมิภาคอยู่แล้ว ผู้คนก็หันมาใช้เครื่องบินแทนรถทัวร์กัน

เทียบกับจังหวัดชลบุรี แม้ว่าการเปิดมอเตอร์เวย์หมายเลข ๗ กรุงเทพฯ-ชลบุรี-พัทยา มองผิวเผินเหมือนยังคงเจริญ แต่เมื่อนั่งรถผ่านถนนสุขุมวิทสายเก่า เข้าตัวเมืองชลบุรีแล้ว บรรดาสถานประกอบการ โรงแรม ตึกแถวอาคารพาณิชย์ก็ไม่ได้คึกคัก ส่วนหนึ่งปล่อยทิ้งร้าง จะคึกคักอีกทีก็ช่วงบางแสน ศรีราชา หรือพัทยา ซึ่งเป็นเมืองที่มีจุดแข็งอยู่แล้ว

ที่กล่าวมาเช่นนี้ ก็อยากจะให้ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองทั้งภาครัฐและเอกชน มีโอกาสหาทางฟื้นฟูตัวเมืองโคราชเพื่อรับความเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น นอกจากการปรับปรุงสาธารณูปโภคพื้นฐานแล้ว ต้องปรับปรุงลักษณะทางกายภาพของเมือง ให้เอื้อต่อการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โดยไม่ปล่อยให้เมืองเสื่อมโทรม และอาคารพาณิชย์ถูกทิ้งร้าง

ขณะเดียวกัน ต้องหาจุดเด่นของความเป็นเมืองโคราชให้เจอ นอกจากอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) ซึ่งเป็นจุดศูนย์กลางที่ประชาชนทั่วทุกสารทิศเข้ามาสักการะบูชา ทำอย่างไรถึงจะมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ หรือการท่องเที่ยวให้กลายเป็นจุดที่ต้องแวะ ไม่ใช่ปล่อยให้บริเวณโดยรอบกลายเป็นแหล่งเสื่อมโทรม และเปล่าเปลี่ยวยามวิกาล

นอกจากนี้ ยังคงต้องแก้ปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในเมือง เช่น การจราจรติดขัด ซึ่งเป็น Pain Point ที่ทำให้ผู้คนส่วนหนึ่ง ไม่อยากเข้าไปในตัวเมืองโคราช ซึ่งขณะนี้เป็นไปได้ยากเพราะกำลังก่อสร้างอุโมงค์แยกนครราชสีมา และแยกประโดก

การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ต้องอาศัยระยะเวลาและความร่วมมือของทุกภาคส่วนในตัวเมืองโคราช ในวันนี้อาจจะยังไม่มีใครเข้าใจและมองว่าไม่เห็นมีอะไร แต่สักวันหนึ่ง เมื่อถึงคราวที่เมืองโคราชซบเซากลายเป็นเมืองอับ อาจจะนึกเสียดายที่ไม่เคยรับมือ แล้วต้องสูญเสียอะไรบางอย่างไป.

• กิตตินันท์ นาคทอง

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๒๗๖๑ ประจำวันที่ ๑๕ มกราคม-๑๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๗


266 1,922