2ndMay

2ndMay

2ndMay

 

January 01,1970

‘เทอร์มินอลโคราช’โล่งอก ไม่ต้องทุบสะพานลอยสร้างทางลอด

 

กรณีสร้างทางลอดแยกบิ๊กซีพบปัญหา จ่อรื้อสะพานลอยเทอร์มินอลและหน้าโรงเรียนเทศบาล ๔ นำเครื่องจักรสูงกว่า ๒๐ ม. เข้าปฏิบัติงานไม่ได้ ท้ายสุดปรับเครื่องเจาะให้ต่ำกว่าสะพาน ต้องทำข้อตกลงกับผู้รับจ้างและศูนย์การค้าฯ เพราะมีค่าใช้จ่ายกว่า ๗ หลัก

ตามที่กรมทางหลวง (ทล.) มีการก่อสร้างทางลอด ๒ จุด ได้แก่ บริเวณทางแยกนครราชสีมา (บิ๊กซี) และทางแยกประโดก (พีกาซัส) ซึ่งต่อมา ครม.อนุมัติงบประมาณจำนวน ๓๗๓ ล้านบาท ให้ดำเนินโครงการทางลอดแยกนครราชสีมา รองรับการจราจรจาก จ.ขอนแก่น เลี้ยวขวาไป จ.สระบุรี จำนวน ๒ ช่องจราจร รวมระยะทาง ๑,๑๘๑ เมตร เริ่มต้นบริเวณหน้าศูนย์เพาะชำเทศบาลนครนครราชสีมา ถึงหน้าสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงพีที โดยมี บริษัท รัชตินทร์ จำกัด เป็นผู้รับจ้าง ใช้เวลา ๙๖๐ วัน งบประมาณ ๔๘๐ ล้านบาท และทางลอดแยกประโดก รองรับการจราจรขาเข้า-ออกตัวเมืองนครราชสีมา จำนวน ๖ ช่องจราจร ระยะทาง ๑.๗๕๐ กิโลเมตร งบประมาณดำเนินการ ๘๕๐ ล้านบาท ใช้เวลา ๑,๐๘๐ วัน ซึ่งอยู่ระหว่างรื้อถอนและเริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้วนั้น

ต่อมานายทวีศักดิ์ ศักดิ์ศินานนท์ ผู้แทนกรมทางหลวง ในฐานะผู้จัดการโครงการก่อสร้างทางลอดแยกนครราชสีมา ได้ร่วมพูดคุยถึงขั้นตอนการเจาะผนังอุโมงค์ทางลอดมีความลึกจากพื้นถนน ๑๓-๒๐ เมตร กับนายสุรวุฒิ เชิดชัย อดีตนายกเทศมนตรีนครฯ นายประพจน์ ธรรมประทีป สมาชิกสภา อบจ.นครราชสีมา อ.เมือง เขต ๔ นายธีรพงษ์ อโณทัยไพบูลย์ ประธานกรรมการสถานศึกษาโรงเรียนเทศบาล ๔ (เพาะชำ) นายวัชรพล หมื่นทรัพย์ ผู้จัดการส่วนบริหารอาคารและสถานที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล ๒๑ โคราช และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรณีปัญหาอุปสรรคไม่สามารถใช้เครื่องเจาะ D-Wall ที่มีความสูงประมาณ ๒๐ เมตร เข้าไปปฏิบัติงานใต้สะพานลอยคนข้ามหน้าเทอร์มินอล ๒๑ ซึ่งออกแบบโดยไม่มีเสาตอม่อตรงกลางและอาจเกิดความเสียหายต่อโครงสร้างค่อนข้างมาก และสะพานลอยโรงเรียนเทศบาล ๔ มีเสาตอม่อตรงกลาง จึงต้องรื้อถอนตัวสะพานทั้งสองแห่ง เบื้องต้นเสนอแนวทางว่า สะพานลอยโรงเรียนเทศบาล ๔ ใช้รถเครนยกตัวสะพานออกหลังเจาะอุโมงค์เสร็จจะดำเนินการก่อสร้างให้ใช้งานเหมือนเดิม และใช้เทคนิคทางวิศวกรรมโยธาปรับความสูงของเครื่องเจาะให้ต่ำกว่าตัวสะพานเทอร์มินอล แต่มีค่าใช้จ่ายมูลค่าเลข ๗ หลัก อยู่ระหว่างนำเสนอแผนให้ผู้รับผิดชอบรับทราบ

โดยนายสุรวุฒิ เชิดชัย เปิดเผยว่า ขอบคุณนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง ได้ติดตั้งอุปกรณ์แผงผ้าใบลายต้นไม้ใส่ใจด้านภูมิทัศคนเมือง ตีเส้นจราจรจัดระเบียบให้ผู้ใช้ทาง และเพิ่มจุดล้างล้อรถก่อนออกจากพื้นที่ก่อสร้าง เพื่อไม่ให้มีเศษดินตกหล่นบนผิวจราจร รวมทั้งรับข้อเสนอปรับเปลี่ยนระบบไฟฟ้าแสงสว่างในอุโมงค์ เดิมใช้หลอดโซเดียมเป็นหลอดแอลอีดีมีคุณสมบัติใช้พลังน้อยและมีความร้อนต่ำช่วยลดสภาวะโลกร้อน สามารถบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนในระหว่างก่อสร้างได้ค่อนข้างดี

ในขณะที่ต่อมา ที่ห้องประชุมฤทธิรงค์ แขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ นายชิตพล เหล่าอัน ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครราชสีมาที่ ๒ พร้อมด้วยนายทวีศักดิ์ ศักดิ์ศินานนท์ ผู้จัดการโครงการก่อสร้างทางลอดแยกนครราชสีมา รวมทั้งทีมวิศวกรของบริษัท รัชตินทร์ จำกัด ผู้รับจ้าง และผู้แทนศูนย์การค้าเทอร์มินอล ๒๑ โคราช ร่วมประชุมแก้ไขปัญหาสะพานลอยคนเดินข้ามหน้าเทอร์มินอล ๒๑ กีดขวางการใช้เครื่องจักร D-Wall ความสูงประมาณ ๒๐ เมตร ไม่สามารถเข้าไปปฏิบัติงานขุดเจาะผนังอุโมงค์ทางลอดความลึกจากพื้นถนน ๑๓-๒๐ เมตร ซึ่งสะพานดังกล่าวออกแบบโดยไม่มีเสาตอม่อตรงกลางและตั้งอยู่บนพื้นที่ต้องขุดเจาะลงใต้ดินค่อนข้างลึก การรื้อถอนจะสร้างความเสียหายต่อโครงสร้าง เบื้องต้นได้ข้อสรุปใช้เทคนิคทางวิศวกรรมโยธา โดยปรับความสูงของเครื่องจักร D-Wall ให้ต่ำกว่าตัวสะพานเทอร์มินอล ซึ่งอยู่ระหว่างข้อตกลงกับผู้รับจ้างและเทอร์มินอล ๒๑ กรณีมีค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินการเป็นตัวเลขประมาณ ๗ หลัก

ทั้งนี้ ศูนย์การค้าเทอร์มินอล ๒๑ โคราช เปิดบริการเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๙ ภายใต้ บริษัท สยามรีเทล ดีเวลล้อบเม้นท์ จำกัด ต่อมาเสนองบ ๖๔ ล้านบาท ใช้ก่อสร้างสะพานลอยเชื่อมต่อระหว่างเทอร์มินอล ๒๑ กับห้างบิ๊กซีนครราชสีมา แต่การเจรจาไม่ลงตัว ผู้บริหารเทอร์มินอลได้ทุ่มซื้ออาคารพาณิชย์ ๒ คูหา ฝั่งตรงข้ามมูลค่าประมาณ ๔๐ ล้านบาท เพื่อปรับจุดเชื่อมต่อใหม่พร้อมก่อสร้างลิฟต์โดยสาร เพื่อความสะดวกปลอดภัยในการเดินเท้าข้ามถนนมิตรภาพ ทำให้สะพานเทอร์มินอลมีความยาวมากที่สุดในภูมิภาคและไม่มีเสาตอม่อตรงกลาง เป็นภูมิทัศน์เมืองที่สวยงาม มูลค่ารวมกว่า ๑๐๐ ล้านบาท

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๒๗๖๑ วันที่ ๑๕ เดือนมกราคม - วันที่ ๑๔ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๗


106 1,429