27thDecember

27thDecember

27thDecember

 

February 01,2024

ไม่เอา‘รถไฟ’เบี่ยงนอกเมือง ขอยกระดับ ๗.๘๕ กม.เข้าโคราช ทั้ง ‘ทางคู่-ความเร็วสูง’

 

การรถไฟฯ ยืนยัน ‘รถไฟความเร็วสูง’ ยกระดับช่วงเข้าตัวเมืองโคราช ๗.๘๕ กม.ตามข้อร้องเรียนประชาชน งบเพิ่ม ๔,๗๙๑ ล้านบาท ก่อสร้าง ๓๖ เดือน ส่วน ‘รถไฟทางคู่’ เสนอ ๓ ทางเลือก ทุบ-ไม่ทุบสะพานสีมาธานี และเบี่ยงออกนอกเมือง แต่ย้ำเป็นแค่แนวคิด ประชาชนนอนไอซียูรอค่าเวนคืน มั่นใจช่วงพฤษภาคมนี้ทยอยจ่ายได้

เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๗ ที่ห้องประชุมหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา นายกิตติศักดิ์ ธีระวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะการดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ และรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคระยะที่ ๑ (กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) โดยมีนายจรูญ จงไกรจักร ขนส่งจังหวัดนครราชสีมา, นายกฤษดา มัชฌิมาภิโร วิศวกรกำกับการก่อสร้าง เขต ๒ ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), นายศุภฤกษ์ สุดยอดประเสริฐ กรมการขนส่งทางราง และผู้เกี่ยวข้อง โดยมี อจร.จังหวัดนครราชสีมา ภาคเอกชนและประชาชน เข้าร่วม อาทิ นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ และนายสหพล กาญจนเวนิช ผู้แทนหอการค้าจังหวัดนครราชสีมา, นายประพจน์ ธรรมประทีป สมาชิกสภา อบจ.นครราชสีมา อ.เมือง เขต ๔, นายรัฐกิตติ์ วัชรไพศาลสิน (ทอม)  ผู้แทนภาคประชาชน และ ดร.จารุพงษ์ บรรเทา ผู้ช่วยอธิการบดี มทร.อีสาน เป็นต้น

นายกิตติศักดิ์ ธีระวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา

นายกิตติศักดิ์ ธีระวัฒนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สืบเนื่องจากมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการจัดระบบการจราจรทางบกจังหวัดนครราชสีมา (อจร.นม.) ครั้งที่ ๕/๒๕๖๖ เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๖๖ เห็นชอบให้จังหวัดนครราชสีมาเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมกลุ่มย่อยเพื่อร่วมเสนอข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ข้อดี ข้อเสีย กรณีการเสนอเปลี่ยนแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ ๒ ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระ จังหวัดนครราชสีมา และประเด็นความชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ระยะที่ ๑ (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย หน่วยงานจากส่วนกลาง ได้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) กรมทางหลวง (ทล.) และกรมการขนส่งทางราง (ขร.) โดยเข้าร่วมประชุมผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล (VCS) พร้อมทั้งเชิญส่วนราชการ องค์กร ภาคเอกชน และผู้แทนภาคประชาชนในจังหวัดนครราชสีมาที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะฯ

เสนอเบี่ยง ‘ทางคู่’ ออกนอกเมือง
โดยในประเด็นการนำเสนอแนวทางเลือกการเปลี่ยนแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญาที่ ๒ ช่วงคลองขนานจิตร-ชุมทางถนนจิระนั้น ในส่วนของความคืบหน้ากรณีนี้การรถไฟฯ รายงานว่าได้มีข้อเสนอการเปลี่ยนแปลงแนวเส้นทางรถไฟทางคู่ ตามแนวเส้นทางวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา (MR-MAP) และแนวเส้นทางของโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ (สัญญาที่ ๒ ช่วง คลองขนานจิตรชุมทางถนนจิระ) ๓ แนวทาง ดังนี้ แนวทางเลือกที่ ๑ : ต้องทุบสะพานสีมาธานี แนวเส้นทางปัจจุบันของรถไฟ, แนวทางเลือกที่ ๒ : ไม่ต้องทุบสะพานฯ ของกรมทางหลวง ซึ่งแนวเส้นทางรถไฟเบี่ยงจากสถานีโคกกรวดเข้าสู่ MR2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย และแนวทางเลือกที่ ๓ : ไม่ต้องทุบสะพานฯ ของกรมทางหลวง โดยแนวเส้นทางรถไฟเบี่ยงจากสถานีโคกกรวดเข้าสู่ ทางหลวงหมายเลข ๒๙๐ และแนวรถไฟสายปัจจุบัน

ศึกษาไว้แก้ปัญหาให้ชาวโคราช
นายกฤษดา มัชฌิมาภิโร วิศวกรกำกับการก่อสร้าง เขต ๒ ฝ่ายโครงการพิเศษและก่อสร้าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นำเสนอผ่านระบบวิดีทัศน์ทางไกล (VCS) ว่า ในส่วนนี้ทางกระทรวงคมนาคมมีแนวความคิดอาจจะต้องปรับแนวเส้นทาง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาตามข้อร้องเรียนของประชาชน เพราะว่ากระทรวงฯ ไม่ค่อยสบายใจนักที่จะให้มีการทุบสะพานหน้าโรงแรมสีมาธานี จึงเกิดเป็นแนวคิดว่าอาจจะมีความจำเป็นที่จะต้องเบี่ยงออกไปตามแนวเส้นทางวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา (MR-MAP) ซึ่งการเบี่ยงเส้นทางวงแหวนฯ ที่กระทรวงฯ ให้บริษัทที่ปรึกษาศึกษาแนวทางนั้น ไม่ได้อยู่ในส่วนที่การรถไฟฯ รับผิดชอบโดยตรง

ความเร็วสูง’ยืนยันยกระดับ
จากนั้นเป็นการประชุมในประเด็นความชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบโครงการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ระยะที่ ๑ (กรุงเทพฯ-นครราชสีมา) สัญญาที่ ๓-๕ ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา มีการดำเนินการปรับรูปแบบการก่อสร้างบริเวณโคกกรวดถึงบ้านใหม่ จากทางวิ่งระดับดิน ๗.๘๕ กม. เป็นทางวิ่งยกระดับ ตามข้อเรียกร้องของประชาชนจังหวัดนครราชสีมาอย่างไร พร้อมทั้งมีการขอทราบสถานะความคืบหน้าในปัจจุบัน ตามแนวทางการแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้อง ๔ แนวทาง

นายกฤษดาฯ กล่าวว่า ในส่วนของ รฟท.ได้นำเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งเดิมในส่วนของรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่จะเป็นลักษณะคันดิน แต่มีข้อเรียกร้องของทางจังหวัดฯ ต้องการให้การรถไฟฯ ปรับแบบเป็นยกระดับในระยะทาง ๗.๘๕ กม. ซึ่งการรถไฟฯ ได้จัดทำรายละเอียดทั้ง ๔ แนวทางออกมา ซึ่งแนวทางที่ ๑ คงคันดินไว้ไม่ยกระดับ งบและระยะเวลาก่อสร้างไม่เปลี่ยนแปลง, แนวทางที่ ๒ เพิ่มสะพานลอย สะพานบก งบประมาณเพิ่มขึ้น ๑,๖๙๒.๘๑ ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีก ๑๒ เดือน, แนวทางที่ ๓ ยกระดับ ๔.๐๕ กม. งบประมาณเพิ่ม ๒,๙๐๕.๕๓ ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีก ๒๒ เดือน และแนวทางที่ ๔ คือยกระดับทั้งหมด ๗.๘๕ กม. งบประมาณเพิ่มขึ้น ๔,๗๙๑.๔๕ ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้างเพิ่มขึ้นอีก ๒๘ เดือนนับจาก รฟท.แก้ไขสัญญา

ยกระดับ ๗.๘๕ กม. สร้าง ๓ ปี
“ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๕ รฟท.ได้นำเสนอและขอเป็นทางเลือกที่ ๓ โดยการปรับเท่าที่จำเป็น คือการยกระดับ ๔ กม.แต่ปรากฏว่ามติที่ประชุม อจร.จังหวัดฯ นำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ขอให้รฟท.ปรับเป็นยกระดับ ๗.๘๕ กม. เนื่องจากในรูปแบบที่ ๓ ยังมีผลกระทบในเรื่องการระบายน้ำบางส่วน หลังจากนั้นก็มีการนำเสนอเรื่องผ่านกรมการขนส่งทางราง และกระทรวงคมนาคม ในปัจจุบันกระทรวงคมนาคม ให้รฟท.ทำเป็นยกระดับ ๗.๘๕ กม. จะต้องใช้งบประมาณเพิ่ม ๔,๗๙๑.๔๕ ล้านบาท และต้องเพิ่มระยะเวลาในการก่อสร้างเป็น ๓๖ เดือนหรือประมาณ ๓ ปี โดยในปัจจุบันการรถไฟฯ เสนอไปแล้ว กระทรวงคมนาคมโดยกรมราง ก็ให้การรถไฟฯ นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะกรรมการการรถไฟฯ ซึ่งปัจจุบันเพิ่งได้คณะกรรมการ รฟท.ชุดใหม่ คาดว่า รฟท.เสนอเข้าคณะกรรมการรถไฟฯ และเสนอเรื่องไปที่กระทรวงคมนาคมอีกครั้งได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ นี่คือความชัดเจนเรื่องการปรับแบบการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง สัญญาที่ ๓-๕” นายกฤษดา กล่าว

หากสร้างก็เสร็จแล้ว
นายรัฐกิตติ์ วัชรไพศาลสิน (ทอม) กล่าวว่า ในเรื่องนี้ ผู้ว่าการ รฟท.รับทราบเรื่องของ อจร.จังหวัดฯ แล้ว และเห็นพ้องกับแนวทางที่ ๔ ซึ่งหากลงมือสร้างตั้งแต่ปี ๒๕๖๔ มาถึงต้นปี ๒๕๖๗ ก็เสร็จไปแล้ว พอกลับไปกลับมา จะเป็นทางเบี่ยงเมือง พวกเราคุยกันแล้วว่าเป็นไปได้ยากมาก เพราะว่าการไปเลาะเส้นทางตามนั้นต้องเวนคืนที่ดินเป็นสิบกิโลเมตร ถามว่าแค่ในเขตทางรถไฟอย่างเดียวยังทำได้ยาก ประชามติก็ทำไปแล้ว จึงควรลงมือทำได้แล้ว ในวันนี้เราทุกคนยังยืนยันว่าเป็นแนวทางที่ ๔ และขอให้ยกระดับ

นายรัฐกิตติ์ วัชรไพศาลสิน (ทอม)

 

‘โคกกรวด-บ้านใหม่’ขอยกระดับ
นายประพจน์ ธรรมประทีป สมาชิกสภา อบจ.นครราชสีมา อำเภอเมือง เขต ๔ กล่าวว่า ต้องขอบคุณรัฐบาลที่ผ่านมาที่มีการอนุมัติเมกะโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ ให้กับจังหวัดนครราชสีมาถึง ๓ โครงการคือ มอเตอร์เวย์ ซึ่งยังไม่เสร็จ ต่อมาคือรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งในส่วนที่มีปัญหาตั้งแต่รัฐบาลมีโครงการมาคือตั้งแต่ตำบลโคกกรวดมาถึงชุมทางถนนจิระจะเป็นคันดิน จึงคิดว่าการออกแบบมีความผิดพลาด ช่วงนั้นนายสุรวุฒิ เชิดชัย (นายกเทศมนตรีฯ ขณะนั้น) ได้เรียกร้องกับการรถไฟว่า ช่วงที่ผ่านตัวเมืองในเขตเทศบาลนครฯ  ขอเป็นยกระดับ เพราะความจริงแล้วในโลกนี้ไม่มีประเทศไหนที่นำคันดินมาแบ่งเมืองออกเป็นสองฝั่ง แม้แต่กำแพงเบอร์ลินยังต้องเจาะกำแพงแล้ว วันนี้ในเขตเทศบาลนครฯ ได้ยกระดับตามการเรียกร้องแล้ว จึงเหลือเพียงช่วงโคกกรวด บ้านเดื่อ มาถึงตำบลบ้านใหม่บริเวณหมู่บ้านบุรีสีมา หมู่ ๑๐ ที่ยังเป็นคันดิน จึงอยากถามว่าช่วงนั้นเรามีการเรียกร้องไปที่การรถไฟฯ เพื่อขอให้เป็นทางยกระดับแบบตอม่อได้หรือไม่ ทำไปทำมาพอเราเรียกร้องไปถึงการรถไฟฯ ประชาชนชาวตำบลบ้านใหม่ก็ดีใจที่เห็นว่ามีการสร้างเป็นตอม่อ แต่ที่กลับเป็นการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งในสัญญา ๓-๕ ตั้งแต่บ้านเดื่อ หมู่บ้านบุรีสีมา มาชนกับเขตเทศบาลนครฯ นั้น ก็ยังเป็นการยกระดับแบบคันดิน ดังนั้น ตำบลโคกกรวด ตำบลบ้านใหม่ และบ้านเดื่อนั้นก็จะได้รับผลกระทบและเกิดปัญหาตามมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม น้ำท่วม และปัญหาเศรษฐกิจต่างๆ ตลอดจนเรื่องภัยพิบัติต่างๆ ตอนนั้นการรถไฟฯ บอกว่า จะเจาะเป็นช่องทางลอดบริเวณจุดตัดต่างๆ สูงประมาณ ๓-๔ เมตร เราก็เรียกร้องให้เป็น ๖ เมตรเพื่อให้รถดับเพลิงหรือรถบรรทุกขนาดเล็กวิ่งได้ แต่สิ่งสำคัญคือความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เพราะฉะนั้นถ้าสองโครงการเกิดขึ้นพร้อมกันก็จะมีคันดินสองข้าง คันดินแรกเป็นของรถไฟความเร็วสูง พอลอดรถไฟความเร็วสูงไปก็เจอคันดินรถไฟทางคู่ ปัญหาจะเกิดกับตำบลบ้านใหม่

ทางกลุ่มบ้านใหม่และกลุ่มโคกกรวดได้เรียกร้องไปถึงรัฐบาล ยื่นหนังสือไปถึงกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และรัฐสภา กมธ.คมนาคมของวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร สมัยนั้นนายวัชรพล โตมรศักดิ์ เป็นผู้แทนราษฎรของโคราช ได้นำเรื่องนี้ไปอภิปรายในสภา รวมทั้งนายวิเชียร จันทรโณทัย ก็ติดตามเรื่องนี้ตลอด ปรากฏว่า มาถึงวันนี้ก็ยังอึมครึมว่า ยกระดับหรือไม่ยก หรือว่ายกระดับแล้ว งบประมาณได้หรือยัง ๔ พันกว่าล้าน

นายประพจน์ ธรรมประทีป สมาชิกสภา อบจ.นครราชสีมา อำเภอเมือง เขต ๔

 

ทางคู่’ต้องยกระดับ
“วันนี้รถไฟความเร็วสูงยกระดับแบบตอม่อแล้ว แต่รถไฟทางคู่ยังเป็นคันดินอยู่จะเกิดอะไรขึ้น จึงขอถามการรถไฟฯ ว่า ตั้งแต่ตำบลโคกกรวด บ้านมะเดื่อ บุรีสีมา ชนกับเขตเทศบาลนครฯ ระยะทาง ๒.๘๕ กม.จะยกระดับได้หรือไม่ในระยะทาง ๗.๘๕ กม. เราเคยไปคุยเรื่องรถไฟทางคู่ แต่คุยไปคุยมาก็ไปชนกับรถไฟความเร็วสูง แต่ก็ต้องขอบคุณการรถไฟฯ ที่ลงมาดูเพื่อแก้ปัญหาแล้วบอกว่า รถไฟความเร็วสูงทำอย่างไร รถไฟทางคู่ก็จะทำแบบนั้น แต่ก็เป็นที่น่าเสียใจเพราะว่าการรถไฟฯ ระหว่างทางคู่กับความเร็วสูง เป็นคนละหน่วยงานไม่สามารถคุยกันได้ จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการบริหาร โดยเฉพาะขณะนี้รถไฟทางคู่จากโคราชไปขอนแก่นไปหนองคายเสร็จแล้วแต่ยังไม่สามารถเปิดใช้ได้เพราะจากบ้านพะเนามาถึงชุมทางถนนจิระยังไม่เสร็จ และได้ข่าวว่าจะมีการเบี่ยงเส้นทาง อาจจะไม่ผ่านตัวเมืองนครราชสีมา ก็ยิ่งไปกันใหญ่ เป็นไปไม่ได้ ไหนจะค่าเวนคืน และต้องไปก่อสร้างทาง ซึ่งจะมีผลกระทบตามมา ทั้งการขนดินเข้ามาทำในระยะทาง ๗.๘๕ กม. ไม่รู้ต้องใช้ดินกี่แสนล้านคิว แหล่งดินจะมาจากไหนถ้าไม่ใช่การต้องไปบุกเบิกป่า แต่ถ้ามีการยกระดับตั้งแต่บ้านเดื่อก็ลงทุนแค่ ๔ พันกว่าล้าน กับที่ต้องไปบุกเบิกและเวนคืนที่ดิน ก็จะไปเกี่ยวข้องกับระยะเวลาในการก่อสร้าง เศรษฐกิจต่างๆ จึงอยากถามว่า สิ่งที่เราต้องการให้รถไฟทางคู่ยกระดับเหมือนรถไฟความเร็วสูงเพื่อสวยงามของเมือง การคมนาคม และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ต้องกราบขอร้องให้มีการยกระดับ แม้จะล่าช้าไปอีกสักหน่อยแต่ก็พยายามจะรักษาชีวิตให้อยู่ให้ได้เพื่อให้ได้ใช้รถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ เมืองโคราชเป็นเมืองกำลังพัฒนา ก็จะเกิดประโยชน์สูงสุด พื้นที่ด้านล่างตอม่อก็จะใช้ประโยชน์ได้เยอะ อาจจะเป็นการเพิ่มหรือทำถนนได้อีก ๑ เส้น หรือการรถไฟฯ อาจจะให้เช่าพื้นที่ด้านล่าง เพราะฉะนั้นการคมนาคมในจังหวัดนครราชสีมาโดยเฉพาะในตัวเมืองนั้น ก็จะคล่องตัวยิ่งขึ้น ส่วนปัญหาน้ำท่วมก็อาจจะวางท่อระบายน้ำเพื่อไม่ให้น้ำท่วมในเขตเมือง” นายประพจน์ กล่าว

นายประพจน์ ธรรมประทีป กล่าวอีกว่า “ผมคิดว่ารถไฟทางคู่น่าจะเข้าสถานีนครราชสีมา ต้องไต่ขึ้นระดับ สถานีฯ มี ๓ ชั้น ชั้นล่างเป็นร้านค้าต่างๆ ชั้น ๒ เป็นลานจอดของรถไฟทางคู่ และชั้นที่ ๓ รถไฟความเร็วสูง ถ้าเป็นไปได้จริงๆ เกาะเสาต้นเดียวกันมาตั้งแต่บ้านเดื่อจนถึงสถานีนครราชสีมาก็จะทุ่นระยะเวลาและทุ่นค่าใช้จ่ายได้มาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับนโยบาย ฝากถึงการรถไฟฯ ขอร้องว่า นครราชสีมาเป็นจังหวัดที่เป็นประตูสู่อีสาน จึงขอให้มีการยกระดับตั้งแต่บ้านเดื่อจนถึงเขตเทศบาลนครฯ”

รอแก้ปัญหาความเร็วสูงให้จบ
นายกฤษดา ชี้แจงว่า รถไฟความเร็วสูงที่มีการยกระดับนั้นปฏิบัติตามมติที่ประชุม อจร.จังหวัดฯ สำหรับรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงเป็นหน่วยงานเดียวกัน ในส่วนของรถไฟทางคู่สัญญาที่ ๒ เรายังยืนยันว่าเรารอให้การแก้ไขปัญหาในส่วนของรถไฟความเร็วสูงตกผลึกก่อน พูดง่ายๆ คือถ้ารัฐบาลอนุมัติงบเพิ่มเติม ๔ พันกว่าล้านบาทมาเพื่อให้ยกระดับในส่วนของรถไฟความเร็วสูง ในส่วนของรถไฟทางคู่ก็จะยกระดับเหมือนกัน เราพยายามแก้ปัญหาไปทีละจุด ในส่วนของความเร็วสูง เรามีผู้รับจ้างเข้าดำเนินการก่อสร้าง และจะมีผลกระทบโดยตรงกับระยะเวลาการแล้วเสร็จของโครงการ สำหรับความเร็วสูงในปัจจุบันเรายังไม่ได้ทำเรื่องขออนุมัติขอดำเนินโครงการต่อมติ ครม. เรารอให้รถไฟความเร็วสูงเรียบร้อยก่อนจึงจะเสนอรูปแบบทั้งหมด เนื่องจากรูปแบบทั้งหมดที่คุยกันก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่บริเวณสะพานสีมาธานีที่เราได้รูปแบบที่ชัดเจนแล้วว่าเป็นการทุบสะพานแล้วสร้างเป็นทางลอด แล้วทางรถไฟยกระดับที่ขยายออกมาจากสะพานเลี่ยงเมืองจนถึงสถานีรถไฟโคกกรวดเราก็มีการหารือร่วมกับทางจังหวัดนครราชสีมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นในส่วนของรถไฟทางคู่จะติดปัญหาแค่ในส่วนของรูปแบบที่ขนานกับรถไฟความเร็วสูงในระยะ ๗.๘๕ กม. ก็จะสามารถดำเนินการเรื่องได้ ส่วนในเรื่องของรูปแบบที่จะทำตัวเลี่ยงเมืองอาจจะต้องสอบถามไปในเชิงนโยบายไปยังกระทรวงคมนาคม เพราะการรถไฟฯ เป็นหน่วยงานปฏิบัติ เพราะฉะนั้นจะสั่งให้ดำเนินการอย่างไร การรถไฟฯ ก็ต้องปฏิบัติตาม

คาดกลางปีนี้ครม.เห็นชอบ
“สำหรับความคืบหน้าของโครงการรถไฟความเร็วสูงนั้น นำเสนอเรื่องไปที่กระทรวงคมนาคมเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๖ แต่ก็เหมือนมีความเห็นจากทางกรมการขนส่งทางรางผ่านไปที่กระทรวงฯ ว่า ให้การรถไฟฯ ดำเนินการที่จะชี้แจงประมาณ ๔-๕ ข้อ ซึ่งการรถไฟฯ ตอบกลับไปเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๖๖ จากนั้นพฤศจิกายน ๒๕๖๖ ทางกรมรางมีความเห็นให้การรถไฟฯ นำเรื่องเข้าคณะกรรมการการรถไฟฯ ซึ่งปัจจุบันเรากำลังเขียนรายงานเสนอไปที่คณะกรรมการการรถไฟฯ ที่เพิ่งได้คณะกรรมการฯ ชุดใหม่ คาดว่าภายในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ เรื่องน่าจะผ่านคณะกรรมการการรถไฟฯ แล้วเสนอเรื่องไปที่กระทรวงฯ อีกครั้ง เป็นการปฏิบัติการตามขั้นตอนให้ครบถ้วนเพื่อนำไปสู่การนำเสนอต่อ ครม. คาดว่าจะเข้า ครม. ประมาณกลางปี ๒๕๖๗ เพราะต้องเข้าคณะกรรมการบริหารรถไฟความเร็วสูงก่อนที่จะเสนอ ครม. ซึ่งปัจจุบันกำลังพิจารณากันอยู่ว่าจะแยกการเสนอเพื่อขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมเป็นรายโครงการ เนื่องจากทางโครงการฯ เคยมีความเห็นว่า อาจจะมีความจำเป็นต้องเสนออนุมัติงบเพิ่มเติมทุกสัญญาก่อน ซึ่งกำลังอยู่ในระหว่างทำโครงการร่วมกับกรมราง และเป็นแนวทางที่ ๔ ถ้าทุกอย่างเป็นไปตามที่วางแผนไว้ โดยที่ไม่มีข้อคัดค้านหรือขัดข้องใดๆ คิดว่าภายในกลางปี ๒๕๖๗ ครม.น่าจะเห็นชอบ” นายกฤษดา กล่าว

นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ ผู้แทนหอการค้าฯ

ระบุไม่เคยเห็นรูปแบบ
นายชัยวัฒน์ วงศ์เบญจรัตน์ กล่าวว่า หอการค้าฯ ตามเรื่องนี้มาตลอด เพราะมีผลกระทบทั้งสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ ในเบื้องต้นที่มีรูปแบบออกมาที่เป็นคันดินส่วนหนึ่งและการทุบสะพานสีมาธานีเมื่อหลายปีก่อน เมื่อตรวจสอบไปที่กรมทางหลวงบอกว่าใช้เวลาในการทำสะพานฯ ๒.๖ ปี งบประมาณออกก็จะเสนอได้ในปี ๒๕๖๖ แต่ก็ต้องได้รับความเห็นจากการรถไฟฯ ก่อนว่า ถ้า รฟท.ทำเสร็จใน ๓ ปี ทล.ก็พร้อมลงมือ ทล.จะดูไทม์ไลน์ของรฟท.ก่อนว่า ถ้าเสร็จภายใน ๓ ปี ทล.ก็จะเสนอของบและใช้เวลาในการทำ ๒.๖ ปี เวลาไล่เลี่ยกันระหว่างทางลอดสีมาธานีกับโครงการของ รฟท. ซึ่งเหล่านี้เป็นข้อมูลก่อนหน้า หลังจากนั้นมีการประชุม อจร.หลายครั้ง เราก็ถามว่าหลังจาก รฟท.รับข้อมูลไปแล้ว สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการเห็นคือรูปแบบการก่อสร้างว่า หลังจากเปลี่ยนจากคันดินเป็นยกระดับรูปแบบการก่อสร้างในระยะ ๗.๘๕ กม.เป็นอย่างไร ผ่านมา ๓ ปีไม่เคยเห็นรูปแบบ รอมาตลอด เพราะอยากรู้ว่าเมื่อยกระดับแล้วยังมีงานเทคนิคอีกหลายอย่าง เช่น ตัวระดับสถานีนครราชสีมาเปลี่ยนแปลงหรือไม่ และหลังจากผ่านมาถึงช่วงบริเวณหน้าค่ายสุรนารีเป็นอย่างไร เพราะจำเป็นต้องสูงกว่า ๕ เมตรขึ้นไป เมื่อผ่านค่ายสุรนารีแล้วก็จะไปสู่ถนนเบญจรงค์ ซึ่งเป็นทางผ่านของรถสัญจรที่เป็นเส้นทางเข้าสู่เมือง บวกกับมีข้อมูลมาอีกว่า หลังช่วงนั้นถ้าสูงได้ก็อยากรู้ว่าลงทันสะพานหัวทะเลหรือไม่ ที่จะต้องลอดสะพานหัวทะเลไปเพื่อเชื่อมกับฝั่งที่จะไปขอนแก่น สิ่งเหล่านี้เราขอข้อมูลไปหลายครั้งก็ไม่ได้

“วันนี้อยากเห็นข้อสรุปว่า คนโคราชยังอยากให้เป็นเงื่อนไขที่ ๔ เท่านั้น เพราะไม่เกิดผลกระทบอื่นๆ ตามมา ระบบระบายน้ำได้รับการแก้ไข ประชาชนในพื้นที่มีความพึงพอใจและอดทนกับการก่อสร้าง แต่เมื่อเสร็จแล้วสามารถอยู่ในพื้นที่ได้อย่างปกติสุข นอกนั้นก็เป็นเรื่องของภาครัฐที่จะต้องยื่นของบประมาณเพิ่มเพื่อให้แล้วเสร็จ หาก รฟท.มุ่งมั่นที่จะเดินหน้าในแนวทางที่ ๔ ก็อยากให้ช่วยประชุมและสนับสนุนไปจนถึงระดับมติ ครม.” นายชัยวัฒน์ กล่าว

อยากให้ทันพืชสวนโลกปี ๗๒
นายชัยวัฒน์ กล่าวอีกว่า การที่ระบบขนส่งสาธารณะและขนส่งขนาดใหญ่เข้ามาเป็นระบบรางจะเกิดประโยชน์กับจังหวัดก็จริง แต่ก็เกิดอิมแพ็ค สูงกว่านั้นอีกถ้ามองเงื่อนไขของจังหวัดด้วย กำลังจะมีโอกาสได้รับการเป็นเจ้าภาพจัดงานพืชสวนโลก ในปีพ.ศ. ๒๖๗๒ ซึ่งภายในเดือนมีนาคมนี้ก็จะทราบผลแล้ว เพราะฉะนั้นถ้ารถไฟยังช้าอยู่ สิ่งที่ไปโปรโมตไว้ในระดับโลกว่าการคมนาคมของเราดี จะล้มเหลวทั้งระบบ ซึ่งก็ต้องถามรัฐบาลเพราะเป็นโครงการที่มีมูลค่าเกือบหมื่นล้านเหมือนกัน หลายเรื่องมีความเกี่ยวข้องกัน และคนโคราชกำลังรออยู่ว่าจะมาทันพร้อมกันไหม ถ้าจะไปขายของให้ต่างชาติเอาเงินเข้าโคราชเป็นหมื่นล้าน มีคนเข้ามาเป็นล้านคน สิ่งที่เราไปเสนอว่าจะมีรถไฟทั้งทางคู่/ความเร็วสูง ส่วนมอเตอร์เวย์ชัดเจนแล้วว่าจะเสร็จในปี ๒๕๖๙ แต่รถไฟทางคู่/ความเร็วสูงก็บอกเขาว่าจะเสร็จในปี ๒๕๖๙ เช่นกัน แต่ปัจจุบันปี ๒๕๖๗ แล้ว ดูจากแนวโน้มแล้วปี ๒๕๗๒ ยังไม่แน่ใจว่าจะเสร็จหรือไม่ จึงฝากถึงการรถไฟฯ ว่า เป็นแนวทางที่ ๔ และเป็นการใช้งบประมาณของรัฐ ซึ่งประชาชนไม่มีสิทธิ์ไปเย้วๆ อีกเลย เพราะได้รับการทบทวนมาหลายรอบ ผ่านมา ๔-๕ ปีแล้ว

รูปแบบส่งให้นานแล้ว
นายกฤษดา กล่าวว่า ไม่แน่ใจว่าเอกสารเดินทางช้าหรือไม่ แต่ความจริงแล้วเรารับข้อมูลมาจาก อจร. และส่งข้อมูลไปแล้ว ไม่มีความลับใดๆ ทั้งนี้รูปแบบที่มีการยกระดับ ๗.๘๕ กม. ไม่ได้กระทบกับระดับของตัวสถานีนครราชสีมา เนื่องจากตัวยกระดับเป็นรูปแบบเดิมที่ยกระดับไว้และกำลังก่อสร้างในปัจจุบัน เพราะฉะนั้น เรื่องของระดับและเทคนิคไม่ได้มีผลกระทบ ส่วนบริเวณที่เลยจากชุมทางถนนจิระไปนั้น เราเคยลงพื้นที่ร่วมกับหอการค้าฯ และรับปากแล้วว่าจะปรับเป็นสะพานประมาณ ๑๕ เมตร เพื่อรองรับการขยายถนนเป็น ๔ ช่องจราจรในอนาคต ส่วนบริเวณหน้าค่ายสุรนารีนั้น เคยเข้าไปหารือกับกองทัพภาคที่ ๒ หรือมณฑลทหารบกที่ ๒๑ โดย Commit กับทหารแล้วว่า จะมีระยะปลอดภัยแนวดิ่งไม่น้อยกว่า ๕ เมตร ส่วนรถไฟความเร็วสูงจะมีการยกระดับเมื่อเลยจากสถานีนครราชสีมาไปทางชุมทางถนนจิระ เมื่อเลยไปสักหน่อยจะมีการยกเป็นระดับ ๓ เพื่อข้ามสะพานหัวทะเล ส่วนรถไฟทางคู่จะปรับตัวชุมทางถนนจิระขึ้นมาประมาณ ๒ เมตรเพื่อรองรับกับโครงสร้างยกระดับที่จะลดระดับลงจากแถวหน้าค่ายสุรนารี เพื่อลงมาที่ระดับดิน ส่วนตัวรถไฟทางคู่จะลอดใต้สะพานหัวทะเล ซึ่งตนพยายามจะแก้ไขปัญหานี้มาโดยตลอด ปรับเพื่อให้การก่อสร้างดำเนินต่อไปได้ ซึ่งมีรูปแบบออกมาแล้ว ตั้งแต่สมัยผู้ว่าฯ คนก่อน และส่งแบบให้แล้ว”

นายสุวกิจ รังสิโรจน์ ประธานชุมชนป่าไม้ ๑๙๑ เขตเทศบาลนครนครราชสีมา

ทวงเงินค่าเวนคืน
ทางด้านนายสุวกิจ รังสิโรจน์ ประธานชุมชนป่าไม้ ๑๙๑ เขตเทศบาลนครนครราชสีมา กล่าวว่า การรถไฟได้ประกาศพ.ร.ฎ.เวนคืนฯ วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ มีการรังวัด ๒-๓ ครั้ง มีการนัดที่จะทำสัญญาที่ปากช่องโดยบริษัทที่ปรึกษาประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ปรากฏว่าขอเลื่อนใหม่เป็นเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ๒๕๖๖ ซึ่งตอนที่มารังวัดก็เร่งรีบมาก เราก็กลัวย้ายออกไม่ทัน จึงทำการไปจองบ้าน จองเสร็จก็ยังไม่ได้รับเงินเวนคืน และมีหลายรายที่เสียชีวิต ซึ่งก่อนนี้ก็เคยคุยว่าไม่รู้ว่าจะได้ใช้เงินไหม และอีกคนตอนนี้ก็ยังอยู่ในห้องไอซียู เครียดมากเพราะตอนนี้สร้างบ้านแล้ว รอเพียงเงิน จึงขอความกรุณาทางการรถไฟฯ ให้รีบจ่าย ขนาด ๖๔ แปลงยังไม่เรียบร้อยเลย แล้วจะเบี่ยงไปนอกเมืองอีกจะกี่ร้อยแปลง เราไม่ได้คัดค้าน แต่ยินดีทำตามเงื่อนไขของ รฟท. แต่ขอให้รีบจ่ายเงิน เพราะบางคนต้องเอาบ้านเรือกสวนไร่นาไปจำนอง เพราะพ.ร.ฎ.เวนคืนฯ เอาเข้าแบงก์ไม่รับ

นายสหพล กาญจนเวนิช อดีตรองนายกเทศมนตรีนครฯ (มีที่ดินที่ถูกเวนคืน)

 

นอนไอซียูรอเงินเวนคืน
ในขณะที่นายสหพล กาญจนเวนิช อดีตรองนายกเทศมนตรีนครฯ กล่าวว่า ถ้าเป็นอย่างนี้คนโคราชคงจะสับสน เพราะเรารับรู้ตลอดว่าจะมีรถไฟทางคู่กับความเร็วสูง มีสถานี ๒-๓ ชั้น และสถานีเก่าก็จะทุบทิ้ง วันนี้ทางโคราชมีแนวทางชัดเจนว่ารถไฟความเร็วสูงเลือกแนวทางที่ ๔ โดยวิ่งเข้ามาในเมือง แต่ในรถไฟทางคู่กลับกลายเป็นว่าจะเบี่ยงออกไปข้างนอก จะเกิดความสับสนของคนทั้งเมือง เพราะมีการตั้งรับแล้วว่าจะทำอะไรกันบ้าง แต่สุดท้ายกลับมีแนวคิดที่จะเบี่ยงรถไฟทางคู่ออกนอกเมือง ซึ่งเป็นคนโคราชก็คิดว่ารถไฟจะไม่เข้าเมืองหรือ จึงขอคำตอบชัดๆ ด้วย เพราะได้ออกพ.ร.ฎ.เวนคืนฯ ตั้งแต่วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๕ เป็นการรอนสิทธิ์ไม่ให้มีการขายที่ดิน เพราะจะมีการนำรถไฟทางคู่และความเร็วสูงเข้ามาในเมืองแล้วจะมีการเวนคืน แต่อยู่ๆ กลับมีประเด็นที่ว่าอาจจะมีแนวคิดที่จะนำรถไฟทางคู่ไปนอกเมือง แล้วที่มีการออกพ.ร.ฎ.เวนคืนฯ ก็ยังไม่แน่ใจว่าจะจ่ายหรือเปล่า มีเงินในกระเป๋าแล้วหรือจึงออกพ.ร.ฎ.เวนคืนฯ ประชาชนเดือดร้อนเพราะออกพ.ร.ฎ.เวนคืนฯ ต้องไปหาที่อยู่ใหม่ รฟท.ไปสัญญากับเขาว่าจะให้เงินเดือนตุลา แต่วันนี้มาบอกว่ายังไม่รู้จะให้เมื่อไหร่ คนที่อยู่แถวนั้นส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ต้องดิ้นรนเพื่อจะหาบ้านใหม่อยู่ เพราะท่านจะไล่เขา มาถึงวันนี้กลับยังไม่แน่ใจว่าจะไล่เขาหรือเปล่า ทั้งที่เขาไปซื้อบ้านใหม่แล้ว มีภาระใหม่แล้ว ไม่มีเงินไปผ่อน คนอยู่ในไอซียูก็มี เขาอยากได้เงินก่อนเสียชีวิต ไม่ใช่ได้ตอนอยู่หน้าเมรุ นอกจากนี้ยังอยากเห็นรูปแบบ จะได้วางแผนชีวิตถูกว่าจะย้ายหนีหรือเพิ่มธุรกิจตลอดเส้นทางที่รถไฟผ่าน

คาดทยอยจ่ายช่วงพฤษภาคม
ทั้งนี้ ในท้ายสุด นายกฤษดา มัชฌิมาภิโร วิศวกรกำกับการก่อสร้างฯ รฟท. กล่าวว่า ในส่วนที่จะเอารถไฟทางคู่เบี่ยงไปนอกเมือง จะไม่เกี่ยวกับพ.ร.ฎ.เวนคืนฯ ที่ประกาศบังคับใช้ในปัจจุบันเพราะว่าที่เชิญผู้ได้รับผลกระทบมาทำสัญญานั้นอยู่ในส่วนของรถไฟความเร็วสูง ซึ่งมีแนวเส้นทางเข้ามายังสถานีนครราชสีมาเหมือนเดิม ส่วนแนวคิดที่จะเบี่ยงออกไปนอกเมืองนั้นเป็นเฉพาะรถไฟทางคู่ สำหรับการจ่ายเงินเวนคืนนั้นหลังเดือนพฤษภาคมนี้จะมีการเร่งรัดทยอยให้ผู้ที่ถูกเวนคืนที่เหลือมาทำสัญญาและจ่ายเงินให้ตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากต้องไปเกี่ยวพันกับพ.ร.บ.งบประมาณปี ๒๕๖๗ ที่กำลังเข้าสภา

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๒๗๖๑ วันที่ ๑๕ เดือนมกราคม - วันที่ ๑๔ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๖๗

 


182 1,774