2ndMay

2ndMay

2ndMay

 

January 01,1970

ลุยต่อวงแหวนรอบเมืองโคราช เวนคืน ๒ อ. ชดเชย ๑๑๕ ล. วงเงินก่อสร้าง ๑,๗๐๐ ล้าน

 

ครม.อนุมัติหลักการ ร่างพ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดินใน ๓ ตำบล ๒ อำเภอ สร้างถนนวงแหวนรอบเมืองโคราช วงเงินก่อสร้าง ๑,๗๐๐ ล้าน จ่ายทดแทน ๑๑๕ ล้าน

ตามที่เมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ๓ ฉบับ โดยมีในจังหวัดนครราชสีมารวมอยู่ด้วยนั้น โดยร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหนองงูเหลือม อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และตำบลใหม่ ตำบลโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. …. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้

๑. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหนองงูเหลือม อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และตำบลใหม่ ตำบลโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ ๒. ให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

 

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม เสนอว่า ๑. เนื่องจากโครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๙๐ สายถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ตอนบ้านบึงขามทะเลสอ-บ้านหนองบัวศาลา บริเวณจุดตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ สายสระบุรี-สะพานมิตรภาพที่หนองคาย (เขตแดนไทย/ลาว) ที่ตำบลหนองงูเหลือม-บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๖ สายหัวทะเล-วารินชำราบ ที่ตำบลพระพุทธ รวมทางแยกต่างระดับ (INTERCHANGE ๒) จุดตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ เป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ และพัฒนาโครงข่ายทางหลวงแผ่นดิน โดยดำเนินการบูรณะซ่อมแซมให้ได้มาตรฐาน หรือให้เหมาะสมกับสภาพการให้บริการในปัจจุบันเพื่อรองรับปริมาณการจราจร ทั้งในปัจจุบันและในอนาคตที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกต่อการเดินทาง การค้า และการขนส่งสินค้า ซึ่งเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงพื้นที่สำคัญและลดระยะเวลาในการเดินทางระหว่างพื้นที่ ซึ่งช่วยให้ต้นทุนด้านโลจิสติกส์ของประเทศลดลง นอกจากนี้ ยังช่วยแก้ปัญหาจราจรติดขัดในตัวเมืองนครราชสีมา ลดอุบัติเหตุ เพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับจราจร ช่วยอำนวยความสะดวกรวดเร็วแก่การจราจรและขนส่ง โดยไม่ต้องผ่านตัวเมืองนครราชสีมา แก้ปัญหาจุดตัดกับทางรถไฟและรองรับปริมาณจราจรทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน-นครราชสีมา

๒. ลักษณะโครงการก่อสร้างทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๙๐ สายถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ตอนบ้านบึงขามทะเลสอ-บ้านหนองบัวศาลา บริเวณจุดตัดทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๒ สายสระบุรี-สะพานมิตรภาพที่หนองคาย (เขตแดนไทย/ลาว) ที่ตำบลหนองงูเหลือม-บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๖ สายหัวทะเล-วารินชำราบ ที่ตำบลพระพุทธ รวมทางแยกต่างระดับ (INTERCHANGE 2) จุดตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ ในท้องที่ตำบลหนองงูเหลือม อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และตำบลใหม่ ตำบลโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา มีจุดเริ่มต้น ที่ กม. ๙+๒๐๐-กม.๑๓+๑๐๐ วงเงินการก่อสร้าง ๑,๗๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท มีปริมาณทรัพย์สินที่ต้องจัดกรรมสิทธิ์ประกอบด้วย ที่ดินประมาณ ๒๗ แปลง สิ่งปลูกสร้างประมาณ ๕ ราย และพืชผลต้นไม้ประมาณ ๙ ราย รวมค่าทดแทนในการเวนคืน รวมเป็นเงินประมาณ ๑๑๕,๕๒๓,๓๘๙ บาท

 

๓. โดยโครงการดังกล่าวมีความจำเป็นที่จะต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์โดยการเวนคืน เพื่อให้การสร้างทางหลวงดังกล่าวเป็นไปตามแผนการที่กำหนดไว้ และเพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจร และการขนส่งทางบกอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค รวมทั้งเพื่อให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจและเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่ต้องได้มาโดยแน่ชัด และเพื่อนำที่ดินไปชดเชยให้เกิดความเป็นธรรมแก่เจ้าของที่ดินที่ถูกเวนคืน ๔. กรมทางหลวงได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในเขตพื้นที่โครงการ ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.๒๕๔๘ แล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว คิดเป็นร้อยละ ๖๘.๙๐ และ ๕. สำนักงบประมาณแจ้งว่า จะพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีให้กรมทางหลวงตามความจำเป็นและเหมาะสมตามแผนการใช้จ่ายเงินงบประมาณ เมื่อร่างพระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับแล้ว

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีการะบุว่า กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน ในท้องที่ตำบลหนองงูเหลือม อำเภอเฉลิมพระเกียรติ และตำบลใหม่ ตำบลโตนด อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา พ.ศ. .... เพื่อสร้างทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๒๙๐ สายถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา ตอนบ้านบึงขามทะเลสอ-บ้านหนองบัวศาลา บริเวณจุดตัดทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒ สายสระบุรี-สะพานมิตรภาพที่หนองคาย (เขตแดนไทย/ลาว) ที่ตำบลหนองงูเหลือม-บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข ๒๒๖ สายหัวทะเล-วารินชำราบ ที่ตำบลพระพุทธ รวมทางแยกต่างระดับ (INTERCHANGE 2) จุดตัดทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข ๒ มีกำหนดใช้บังคับ ๕ ปี และกำหนดให้เริ่มต้นเข้าสำรวจที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ภายในแนวเขตที่ดินที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกานี้ภายใน กำหนด ๑๘๐ วัน นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ

สำหรับ โครงการทางหลวงหมายเลข ๒๙๐ หรือถนนวงแหวนรอบเมืองนครราชสีมา มีระยะทางรวมทั้งสิ้น ๑๑๓ กิโลเมตร ใช้งบประมาณ ๑๒,๗๕๙ ล้านบาท ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างเสร็จแล้ว ๘๒.๘ กิโลเมตร รวมค่าก่อสร้าง ๗,๒๔๙.๓๔๖ ล้านบาท และอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ๓๐.๒ กิโลเมตร ค่าก่อสร้าง ๕,๕๐๙.๖๕๔ ล้านบาท 

นสพ.โคราชคนอีสาน ปีที่ ๔๙ ฉบับที่ ๒๗๖๒ วันที่ ๑๕ เดือนกุมภาพันธ์ - วันที่ ๑๔ เดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๖๗


93 1,843