March 22,2024
สปสช.เขต 9 ติวเข้มสื่อโคราชร่วมขับเคลื่อน นโยบาย ‘บัตรปชช.ใบเดียวไปได้ทุกที่’ เฟส 2 เตรียมขยายเฟส 3 ‘นครชัยบุรินทร์’ 1 เมษายนนี้
สปสช.เขต 9 จัดสัมมนาให้ความรู้สื่อมวลชนโคราช ร่วมขับเคลื่อนนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวไปได้ทุกที่เฟส 2 เตรียมพร้อมขยายเฟส 3 เขตนครชัยบุรินทร์
วันที่ 22 มีนาคม 2567 เวลา ๑๐.๓๐ น. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 9 นครราชสีมา(สปสช.เขต ๙ นครราชสีมา) นำโดย ดร.พญ.สาวิตรี วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการฯ และเจ้าหน้าที่ สปสช. จัดประชุมพัฒนากลไกสื่อสารและประชาสัมพันธ์เครือข่ายนักสื่อสารระบบหลักประกันสุขภาพและสื่อมวลชนจังหวัดนครราชสีมา เพื่อเตรียมความพร้อมให้สื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลและสิทธิประโยชน์สู่ประชาชน และร่วมขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลเพื่อยกระดับบัตร 30 บาท รักษาทุกโรค ภายใต้โครงการ “บัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่” ระยะที่ 2 ณ โรงแรมเซ็นเตอร์ พอยท์ เทอร์มินอล 21 โคราช ทั้งนี้มีสื่อมวลชนให้ความสนใจเข้าร่วมกว่า 30 คน ทั้งนี้ มีนางสาวพรพิศ หนองขุ่นสาร ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ, เภสัชกรหญิงพงศ์ผกา ภัณฑารักษ์ นักวิชาการหลักประกันสุขภาพ, นางสาวสุพรรณี ชูเวช นักบริหารงานหลักประกันสุขภาพ และนายชนกฉัตร อย่าเสียสัตย์ นักวิชาการหลักประกันสุขภาพ ร่วมชี้แจงนวัตกรรมบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ในระบบหลักประกันสุขภาพด้วย นอกจากนี้ ในช่วงบ่ายมีการลงพื้นที่ร้านขายยา "ตะกร้ายา" และคลินิกทันตกรรม "ดีดี สแควร์" ด้วย
ดร.พญ.สาวิตรี วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 9 นครราชสีมา กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมการดำเนินงาน “บัตรประจำตัวประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่” ว่า หลังจากมีการดำเนินงานนำร่องในระยะที่ 1 เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมาในจังหวัดร้อยเอ็ด เพชรบุรี แพร่ และนราธิวาส สปสช.มีความมั่นใจมากขึ้นที่จะดำเนินการต่อไปในระยะที่ 2 โดยจังหวัดนครราชสีมาเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2567 เป็นต้นมา ทั้งนี้เราได้วางระบบรองรับเรื่องการเบิกจ่ายอย่างรวดเร็วหลังให้บริการ ทำให้หน่วยบริการทั้งภาครัฐและเอกชนมีความมั่นใจมากขึ้นในการให้บริการกับประชาชน
“นโยบายยกระดับ 30 บาทรักษาบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ เป็นนโยบายที่ต้องการปฏิรูประบบสุขภาพ ซึ่งมีสาระสำคัญเน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะการเพิ่มความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเข้ารับบริการ ทั้งนี้ สปสช. ได้ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย “30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” ด้วยการเพิ่ม “หน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่” หรือหน่วยบริการนวัตกรรมที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการให้กับประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ไม่ว่าสิทธิบัตรทองจะอยู่ที่ไหนก็สามารถใช้บริการได้” ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 9 กล่าว
ทั้งนี้ หน่วยบริการนวัตกรรมวิถีใหม่ ได้แก่
1) ร้านยา ให้บริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ โดยปรึกษาเภสัชกรและรับยา
2) คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น ให้บริการตรวจรักษาโรคเบื้องต้น 32 อาการ ทำแผล ฝากครรภ์-ตรวจหลังคลอด
3) คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น ตรวจรักษาโรคเฉียบพลัน (Acute) หรือโรคเรื้อรัง (Chronic) 42 กลุ่มโรค
4) คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น ตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน เคลือบหลุมร่องฟัน เคลือบฟูลออไรด์
5) คลินิกการแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น นวด ประคบ อบสมุนไพร เพื่อการรักษา เป็นต้น
6) คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น ให้บริการตรวจวัดระดับไขมันในเลือด ตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ ตรวจการตั้งครรภ์ ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง (อายุ 50-70 ปี)รวมถึงตรวจแล็บตามใบสั่งตรวจของแพทย์ และ
7) คลินิกกายภาพบำบัด ให้บริการผู้ป่วย 4 กลุ่มโรค คือ โรคหลอดเลือดสมอง สมองบาดเจ็บ การบาดเจ็บที่ไขสันหลัง ภาวะกระดูกสะโพกหัก เป็นต้น
ดร.พญ.สาวิตรี วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 9 นครราชสีมา
พญ.สาวิตรี กล่าวอีกว่า นอกจากประชาชนที่ใช้สิทธิบัตรทอง สามารถใช้บริการในหน่วยบริการทั้ง 7 ประเภทได้แล้ว คนไทยทุกสิทธิสามารถใช้บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคได้จากร้านยา ไม่ว่าจะเป็นบริการรับยาคุมกำเนิด ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน บริการชุดทดสอบการตั้งครรภ์ บริการรับถุงยางอนามัย บริการยาเม็ดเสริมธาตุเหล็กและกรดโฟลิค บริการคัดกรองสุขภาพกายและสุขภาพจิต ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัย ที่ สปสช.จัดบริการให้ทุกสิทธิ ซึ่งเมื่อได้รับการคัดกรองแล้วเกิดการเจ็บป่วยก็จะมีการนำเข้าสู่การรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ส่วนหน่วยบริการนวัตกรรมวิถีใหม่ ที่เข้าร่วมต้องมีการเชื่อมระบบข้อมูลบริการกับ สปสช. ทำให้ง่ายต่อการดึงข้อมูลที่มีความแม่นยำ ถูกต้อง สามารถตรวจสอบและประเมินผลได้อย่างรวดเร็ว คู่ขนานกับการรักษาความปลอดภัยด้านข้อมูลของประชาชน สามารถประมวลผลแล้วจ่ายเงินค่าบริการให้ได้ภายใน 72 ชั่วโมง ซึ่งหากหน่วยบริการดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนด คือ 1) มีการยืนยันตัวตนผู้รับบริการ เพื่อแสดงว่ามีผู้มารับบริการจริง 2) เกิดการให้บริการขึ้นจริง 3) การให้บริการเป็นไปตามเงื่อนไขที่ สปสช.กำหนด
“ที่ผ่านมา สปสช. สามารถอำนวยความสะดวกเรื่องการเพิ่มสถานพยาบาลให้ประชาชนได้ดีระดับหนึ่ง แต่เมื่อลงไปสำรวจก็ยังพบปัญหาความแออัดในการเข้ารับบริกาจะมีการให้บริการตามสิทธิการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช. จึงพยายามดึงร้านยา คลินิกการพยาบาล เข้ามาอยู่ในระบบ เพื่อให้บริการกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อยสามารถใช้บริการได้ที่ร้านยาและคลินิกการพยาบาลที่เข้ารวมได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เป็นต้น และตอนนี้อยู่ระหว่างการประสานไปยังคลินิกวิชาชีพให้เข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการนอกเวลาราชการเมื่อมีอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย” พญ.สาวิตรี กล่าว
กรณีใช้บัตรประชาชนใบเดียวไปรับบริการที่ไหนก็ได้ อาจจะมีปัญหาหรือติดขัดบ้าง หรือหน่วยบริการยังไม่สามารถให้บริการได้ ประชาชนสามารถติดต่อเข้ามาที่สายด่วน สปสช. 1330 เพื่อให้เจ้าหน้าที่หาหน่วยบริการในบริเวณใกล้เคียง เช่นเดียวกับหน่วยบริการหากเกิดความไม่เข้าใจเรื่องการเบิกจ่ายก็สามารถติดต่อเข้ามาได้เช่นกัน
ปัจจุบันในพื้นที่เขตนครชัยบุรินทร์มีหน่วยบริการเอกชนที่เข้าร่วมบริการประมาณร้อยละ 17 คาดว่า จะมีหน่วยบริการในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ขึ้นทะเบียนร่วมเป็นหน่วยนวัตกรรมปฐมภูมิมากขึ้นในอนาคต เพื่อเตรียมรับนโยบาย “บัตรประจำตัวประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่” ที่เริ่มเฟส 2 ในวันที่ 1 มีนาคม 2567 และกำลังจะเริ่มเฟส 3 ในจังหวัดชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ในวันที่ 1 เมษายนนี้ สามารถตรวจสอบหน่วยบริการที่เข้าร่วมในพื้นที่เขตนครชัยบุรินทร์ได้จาก https://datastudio.google.com/reporting/acc4fad2-52ad-41ff-b613-179cf49003c0/page/alceC
หรือ QR Code
211 12,150